เดี๋ยวนี้ใครๆ ต่างก็พูดถึงเทคโนโลยี พูดความโลกเสมือนจริง (Virtual world) หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สร้างความตื่นเต้น และความสะดวกสบายให้กับเรามากขึ้น ลองคิดดูว่าถ้าเทคโนโลยีนั้นๆ ถูกใช้กับรายการโทรทัศน์, ละคร, ภาพยนตร์ต่างๆ จะเพิ่มความสนุกสนานมากขนาดนั้น
ประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับคนในยุคนี้ ถือว่ามีมูลค่าสูง และสร้างดีมานด์ใหม่ๆ จากผู้บริโภคได้มากขึ้น ทั้งนี้มีตัวอย่างรายการจาก Fox ของสหรัฐอเมริกาที่อยากจะหยิบมาพูดถึง ด้วยคอนเซ็ปต์รายการที่ถือว่ามีความแปลกใหม่ และน่าจะเป็นไอเดียที่ทำให้รายการหรืออุตสาหกรรมอื่นนำไปต่อยอดได้
รายการ Alter Ego Singing Show เป็นรายการร้องเพลง TV series รูปแบบใหม่ผ่านการสร้างตัวอวตารของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งเปิดตัวรายการเป็น EP แรกเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ดำเนินรายการโดย Rocsi Diaz และออกอากาศทางช่อง Fox
สิ่งที่คนพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ก่อนจะมีการเปิดตัวรายการจนถึงตอนนี้ก็คือ เทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกับรายการ Alter Ego หลักๆ ที่สำคัญก็คือ เทคโนโลยีในการสร้างภาพเสมือนด้วยคอมพิวเตอร์ (CGI) และ เทคโนโลยีการตรวจจับความเคลื่อนไหว (Motion Capture) ซึ่งความล้ำสมัยของรายการนี้คือ ผู้เข้าแข่งขันจะสร้างตัวอวตารเพื่อใช้ขึ้นเวทีและร้องเพลงแทนพวกเขาทั้งหมดแบบเรียลไทมส์ โดยรูปแบบรายการจะเป็นเหมือนกรรมการ และผู้ชมจะอยู่ร่วมกับอวตารนั้นๆ ซึ่งมันก็คือการใช้เทคโนโลยี AR (Augmented reality) เป็นการผสมผสานระหว่างอวตารเสมือนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมจริง ณ ขณะนั้น
แน่นอนว่าใครๆ ก็ต่างยอมรับว่า Alter Ego Fox ที่ว่านี้คือความแปลกใหม่ที่สุดโต่ง เพราะไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อน เป็นรูปแบบรายการโทรทัศน์ครั้งแรกของโลกที่ใช้คอนเซ็ปต์นี้
แม้แต่ โปรดิวเซอร์สาวชาวแคนาดา ‘ไกรมส์’ (Grimes) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการในรายการนี้ ก็เอ่ยปากชมว่า “รายการนั้นน่าตื่นตาตื่นใจ เราะนอกจากเสียงเพราะๆ ของผู้เข้าแข่งขันเรายังจะเห็นเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะปรากฏขึ้นตรงที่หน้าเราแล้วมันเหมือนจริงมากๆ”
มุมที่น่าเศร้าของรายการ Alter Ego
ถึงแม้ว่าหลายๆ คนที่ได้ดูรายการ Alter Ego กระแสทั้งใน Twitter และ Facebook: Alter Ego FOX ส่วนใหญ่ที่โฟกัสไปที่รูปแบบและความอลังการของเทคโนโลยีที่ใช้ว่ามันเหมือนจริงมากแค่ไหน แต่มีบางมุมทั้งจากคนดู และนักเขียนอย่าง Kori Williams เธอได้ชี้ถึงมุมที่น่าเศร้าจากรูปแบบรายการนี้ว่า การที่เราใช้ตัวอวตารเพื่อแสดงความสามารถต่อหน้าผู้คนทั้งโลก ลึกๆ แล้วมันแสดงให้เห็นว่าเรามันมีจุดอ่อนที่ข้ามไปไม่ได้ เช่น ความมั่นใจ ความเชื่อมั่น หรือการยอมรับกับคำติชมจากรอบด้านแบบจริงๆ
Kori Williams ได้พูดถึง EP หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่เล่าให้ฟังว่าเธอมักจะโดนแกล้งเพราะเสียงที่มัน deep กว่าคนอื่น และมองว่า Alter Ego ช่วยให้เธอปิดบังความไม่มั่นใจนั้นได้ด้วยอวตารของเธอ แต่ในมุมของ Williams กลับมองว่า แม้ว่าเธอจะสามารถปลดปล่อยตัวเองได้จริงๆ ผ่านอวตารนั้น แต่ที่สุดแล้วในโลกแห่งความจริงเธอก็ยังกลัวและไม่กล้าข้ามจุดอ่อนแอได้อยู่ดี
มันคงคล้ายๆ กับพาร์ทหนึ่งในซีรีส์ Black Mirror หากว่าใครเคยดูมาก่อน เทคโนโลยีช่วยบรรเทาความทุกข์ของมนุษย์ได้ ช่วยคลายเหงาได้ แต่มันก็จบลงด้วยความเศร้าที่ว่า “ความเป็นมนุษย์ของเราถูกดูดกลืนไปจนหมดสิ้น”
อย่างไรก็ตาม หากพูดในแง่ของความล้ำสมัยของรายการโทรทัศน์ ต้องยอมรับว่า Alter Ego ทำไว้ค่อนข้างดี สามารถดึงเทคโนโลยีและมุมของการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันที่ขี้อาย หรือมีปมในใจให้กล้ามาลองประกวดร้องเพลงได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอนาคตเราอาจจะเห็นอุตสาหกรรมรายการโทรทัศน์ หรืออุตสาหกรรมอื่นพลิกโจทย์การใช้เทคโนโลยีกับโลกแห่งความจริงให้กลมกลืนมากขึ้นอย่างไร ซึ่งไอเดียของ Alter Ego น่าจะเป็นรายการนำร่องให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ในยุคนี้ได้ kick off อะไรใหม่ๆ กันบ้าง
ที่มา: fox29, theatlantic, theguardian, distractify