ลดภาษี 90 วันแต่ไม่ลดผลกระทบข้อตกลงจีน-สหรัฐฯ กับบททดสอบใหม่ของไทยในเวทีโลก

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เริ่มต้นขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจำนวนมหาศาลเพื่อลดการขาดดุลการค้าและกดดันให้จีนเปลี่ยนพฤติกรรมทางการค้า จากนั้นเป็นต้นมาทั้ง 2 ประเทศต่างผลัดกันตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีและควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยี จนเกิดเป็นความตึงเครียดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่สัญญาณบวกก็เริ่มปรากฏ เมื่อมีการเจรจาเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน โดยสหรัฐฯ จะลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนจาก 145% เหลือ 30% ขณะที่ทางจีนเองก็ปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จาก 125% เหลือ 10% ซึ่งนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทั้งเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของไทย

 

จุดเริ่มต้นของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

หากเราข้ามเหตุผลทางด้านการเมืองระหว่างประเทศออกไป จะพบว่า สาเหตุของสงครามการค้าเริ่มมาจากการที่สหรัฐฯ มองว่า การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น

  • การขาดดุลการค้าขนาดใหญ่: โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนสูงกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา: หลังจากที่จีนกลายเป็นแหล่งผลิตของโลก บริษัทอเมริกันที่ต้องการทำธุรกิจในจีน มักถูกบังคับให้ร่วมทุนกับบริษัทจีนและต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้
  • การอุดหนุนเงินทุนของรัฐ: สหรัฐฯ มองว่ารัฐบาลจีนเข้ามาช่วยอุดหนุนบริษัทในประเทศ ทำให้สามารถแข่งขันได้แม้ต้นทุนจริงจะสูง สร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดโลก
  • ความมั่นคงทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม: จีนเดินหน้าแผน Made in China 2025 เพื่อเป็นผู้นำด้าน AI, 5G, Semiconductor ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าเป็นภัยต่ออุตสาหกรรมและความมั่นคง

นั่นจึงทำให้สหรัฐฯ มีมาตรการตอบโต้การทำธุรกิจของจีน ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนทุกชนิดตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ราคาถูกไปจนถึงราคาแพง โดยมีการขยับกำแพงภาษีขึ้นไปถึง 145% ทางจีนเองก็ไม่ยอมโต้กลับด้วยภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เช่นกัน โดยขึ้นภาษีสูงถึง 125% ซึ่งหากถอยออกมามองดูภาพรวมจะพบว่า สินค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ผลิตในจีน ขณะที่สินค้านำเข้าจากจีนหากไม่ใช่สินค้าที่ผลิตในจีนก็จะเป็นสินค้ากลุ่มวัตถุดิบที่นำมาผลิตในสหรัฐฯ ด้วยภาษีที่สูงขึ้นทำให้สินค้ามีราคาที่ปรับตัวสูงตาม

นอกจากนี้จีนยังระงับการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตของสหรัฐฯ ส่งผลต่อกระบวนการผลิตในสหรัฐฯ อย่างแน่นอน นั่นทำให้สหรัฐฯ ต้องปรับท่าทีที่มีต่อจีนให้ลดความแข็งกร้าวลง

 

ลดภาษีสัญญาณฟื้นตัวหรือแค่หยุดพักรบชั่วคราว

ในช่วงพฤษภาคม 2025 การเจรจาระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลจีนเริ่มมีผลลัพธ์เชิงบวกอย่างชัดเจน เมื่อได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการลดภาษี โดยสหรัฐฯ จะลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนลงเหลือเพียง 30% จากที่เคยประกาศเก็บอยู่ที่ 145% ทางด้านจีนก็ขานรับการลดภาษีครั้งนี้ โดยปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ลงเหลือ 10% จากที่เคยประกาศเก็บอยู่ที่ 125% นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นสัญญาณคลี่คลายความตึงเครียด

ผลพวงจากการประกาศลดภาษีดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยดัชนี Dow Jones เพิ่มขึ้น 1,160 จุด หรือ 2.8% ตลาดหุ้น S&P 500 เพิ่มขึ้น 3.3% และ Nasdaq เพิ่มขึ้น 4.3% นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังแข็งค่าขึ้น ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.45%

การเจรจาที่สำเร็จในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเจรจาเพิ่มเติมเพื่อหาข้อตกลงถาวร ซึ่งอาจนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มั่นคงยิ่งขึ้น และนั่นหมายถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่มาตรการลดภาษีอาจช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ขณะที่ในอีกด้านข้อตกลงลดภาษีครั้งนี้อาจเป็นเพียงการพักรบชั่วคราว และอาจกลับสู่ภาวะสงครามการค้าอีกครั้ง และหมายถึงเศรษฐกิจจะยังคงต้องเผชิญวิกฤตอีกครั้ง

 

ประเทศไทยได้อะไรจากข้อตกลงนี้

แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง แต่ในเชิงการค้าระหว่างประเทศแล้ว ไทยก็จะได้รับอานิสงส์จากการเจรจาครั้งนี้ด้วย ที่แน่ๆ ช่วยยืดระยะเวลาการเข้ามาอย่างทะลักถล่มทลายของสินค้าจีน หลังจากที่คาดการณ์กันว่าจีนจะต้องระบายสินค้าออกหากสหรัฐฯ ยังคงภาษีเดิมไว้ ซึ่งช่วยยืดลมหายใจของผู้ประกอบการไทยออกไปอีกหน่อย และพอมีเวลาในการรับมือสินค้าจีนหากกลับไปสู่สงครามการค้าอีกครั้ง

ด้วยมาตรการลดภาษีดังกล่าว หากในอนาคตเป็นมาตรการระยะยาว โอกาสที่นักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็จะมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่สามารถซื้อวัตถุดิบในราคาถูกได้จากจีน และความสามารถของฝีมือแรงงานที่ผลิตสินค้าได้มีคุณภาพ

ในด้านดีก็ต้องมีด้านที่ไม่ดี เพราะหากจีนกลับมาเป็นเพื่อนที่ดีต่อสหรัฐฯ ประเทศไทยก็จะต้องแข่งกับจีนในตลาดสหรัฐฯ ที่ทราบกันดีว่าโอกาสชนะจีนในสหรัฐฯ ค่อนข้างยาก ในแง่การลงทุนหากไม่มีกำแพงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์นักลงทุนอาจย้ายฐานไปที่จีน รวมถึงนักลงทุนจีนที่อาจย้ายกลับไปบ้านตัวเอง

นั่นทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยควรปรับตัวสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเองควบคู่ไปกับการรับจ้างผลิต ไม่ควรรับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียว ควรมีการลงทุนในเทคโนโลยีช่วงที่ราคากำลังลดลงเพื่อเพิ่ม Productivity และควรมองหาตลาดใหม่ๆ อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อลดความเสี่ยงและขยายตลาดส่งออก ขยายอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ EV อาหารเพื่อสุขภาพและ BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่กำลังมองหาฐานการผลิตใหม่

 

แม้การลดภาษีระหว่างจีน-สหรัฐฯ จะดูเหมือนเป็นข่าวดีในระยะสั้น แต่ประเทศไทยต้องไม่นิ่งนอนใจ เพราะภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การปรับตัวให้ไว ใช้จุดแข็งให้ถูกจุด และสร้างความยั่งยืนระยะยาว คือสิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญและต้องทำทันที

 

Source: NBC News2


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา