มารู้จัก บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ที่กำลังจะ IPO เข้าตลาดหุ้น

  • 9.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

เราคงผ่านหู ผ่านตากันมาบ้างแล้วว่า BAM กำลังจะ IPO เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเร็วๆ นี้ แต่คงมีหลายท่านอาจจะยังไม่รู้จักว่า BAM คือใคร ทำธุรกิจและมีจุดเด่นอะไรบ้าง และ น่าสนใจอย่างไร

ประวัติ BAM บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM จัดตั้งขึ้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2541 ตามมติคณะรัฐมนตรี ตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 54,700 ล้านบาท ต่อมาลดทุนจดทะเบียนเหลือ 13,675 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือ BBC นั่นเอง โดยที่ BAM มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถือหุ้น 99.99%

BAM ทำธุรกิจอะไร

BAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยประกอบธุรกิจหลัก ดังนี้

  1. ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ( NPLs ) โดยจะซื้อ NPLs จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ และนำมาบริหารจัดการด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยลูกหนี้ สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ และสถาบันการเงินได้เงินที่ปล่อยกู้กลับคืน
  2. ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย ( NPAs ) โดยที่ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ ทาง BAM จะเข้าไปช่วยฟื้นฟูอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพให้เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนใหญ่จะเป็น ที่ดินเปล่า โรงแรม อาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และ อาคารชุด หรือ ซื้อ NPAs ตรงกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อนำมาจำหน่ายต่อในราคาที่น่าสนใจให้กับผู้สนใจในตลาดอสังหาฯ มือสอง

BAM มีจุดเด่นอะไร

BAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม (ตามข้อมูลในรายงานภาวะอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดยบริษัท อิปซอสส์ จำกัด) และมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากว่า 20 ปี

BAM มีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง BAM นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 บริษัทฯ ได้ปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ NPLs ไปแล้วกว่า 90,000 ล้านบาท

สำหรับผลการดําเนินงานและฐานะทางการเงินของ BAM 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2559 – 2561 นั้น มีรายได้เติบโตเฉลี่ย 5.5% ต่อปี มีกําไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 3.0% ต่อปี และมีกำไรสุทธิรวมปีละกว่า 4,500 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือน ปี 2562 BAM มีรายได้รวม 9,206 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท อีกทั้ง BAM มีศักยภาพในการเติบโตจาก NPLs และ NPAs ในระบบธนาคารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ราคาประเมินของหลักทรัพย์คํ้าประกันมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ NPLs ของ BAM กว่า 2.4 เท่า (ราคาประเมินของหลักทรัพย์คํ้าประกัน = 195,554 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 79,136 ล้านบาท)  และราคาประเมินของ NPAs ของ BAM มีมูลค่าสูงกว่า มูลค่าทางบัญชีกว่า 2.3 เท่า (ราคาประเมิน  = 54,467 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 23,245 ล้านบาท) BAM มีสินทรัพย์เติบโตเฉลี่ยปีละ 7%  ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 BAM มีสินทรัพย์รวมถึง 121,701 ล้านบาท

ทั้งนี้ BAM มีกระแสเงินสดรับทุกปี ปีละกว่าหมื่นล้านบาท และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 ที่ผ่านมาทำได้สูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท เติบโตสูงถึง 22.6% เมื่อเทียบกับปี 2560

BAM มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40.0 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย สําหรับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BAM มีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 80%, 97% และ 60% ตามลำดับ

BAM มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งมีเครือข่ายสาขามากที่สุดประกอบด้วยสำนักงานใหญ่และสาขา 26 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานกว่า 1,200 คน ช่วยให้บริษัทสามารถติดตาม และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้ง เป็นธุรกิจที่ที่สามารถสร้างโอกาสธุรกิจได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ เรียกได้ว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี แต่ธุรกิจของ BAM ก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเศรษฐกิจดี ลูกหนี้ของบริษัทฯ มีศักยภาพในการชำระหนี้ ลูกค้ามีกำลังซื้อทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะมี NPLs มากขึ้น ส่งผลให้ BAM สามารถเลือกซื้อ NPLs ได้ในราคาที่สร้างผลตอบแทนที่ดีมากขึ้น

3 ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะพา BAM เติบโตอย่างยั่งยืน และแข็งแกร่ง

  1. ขยายฐานทรัพย์สิน BAM ติดตามการขาย NPLs และ NPAs อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และคัดเลือกสินทรัพย์ ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่บริษัทฯ มีสาขาทั่วประเทศ มีพนักงานที่มีประสบการณ์สูงและมีความเข้าใจในตลาดอย่างดี ทำให้บริษัทฯ สามารถประเมินศักยภาพและราคาทรัพย์ได้แม่นยำ
  2. ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น BAM ให้ความสำคัญกับการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลังที่สามารถ BAM ให้ความสำคัญกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ พร้อมกันนี้ BAM ยังทำการตลาดเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เว็บไซต์ และช่องทาง Social Media ขององค์กร ฯลฯ
  3. การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร BAM เชื่อว่าพนักงานที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจ จึงได้จัดการฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมทั้งมีการเตรียมแผนการสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน

BAM จะ IPO ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ รายละเอียดมีดังนี้

  • Ticker ย่อที่ใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์ “BAM”
  • เสนอขายไม่เกิน 1,535 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท
  • สามารถจองซื้อหุ้น IPO ของ BAM ได้ที่สาขาต่าง ๆ ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ ในช่วงเวลาทำการ ทั้งนี้ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและ ตัวแทนจำหน่ายหุ้นทั้ง 3 ราย ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดรับจองซื้อหุ้นก่อนครบกำหนดระยะเวลาการจองซื้อ หากจำนวนหุ้นที่จองซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้นทั้ง 3 ราย รวมกันเท่ากับ 1,765 ล้านหุ้น
  • บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ

โดยจะนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจโดยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดที่ออกโดยบริษัทฯ และ/หรือตั๋วเงินจ่าย และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

นับเป็นโอกาสอันดีที่มีบริษัทที่มีธุรกิจที่ดี พื้นฐานแข็งแกร่ง และรับมือได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เข้ามาระดมทุน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของกิจการ และรับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน 2562 นี้ ที่ช่วงราคาเสนอขาย 15.50 – 17.50 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทฯ จะคืนเงินส่วนต่างในกรณีที่ไม่ได้รับการจัดสรรหรือราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย) โดยผู้จองซื้อที่เป็นประชาชนทั่วแต่ละรายจะได้รับการจัดสรรสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านหุ้นต่อหนึ่งราย ทั้งนี้ ผู้จัดการการจัดจำหน่าย (Lead Underwriters หรือ “UWs”) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ (จำกัด) และ ตัวแทนจำหน่ายหุ้นขอสงวนสิทธิในการปิดรับจองซื้อหุ้นก่อนครบกำหนดระยะเวลาการจองซื้อ หากพบว่าจำนวนหุ้นที่รับจองซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้นทุกรายรวมกันมีจำนวนเท่ากับหรือสูงกว่า 1,765 ล้านหุ้น

ผู้สนใจสามารถติดต่อ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ท่านสะดวก หรือ ติดตามข่าวสารที่เว็บไซต์ http://www.bam.co.th

เรามาดู VDO Clip ที่ทาง BAM จัดทำขึ้นมากัน


  • 9.5K
  •  
  •  
  •  
  •