ตั้งแต่ปี 2022 ต้องยอมรับเป็นช่วงเวลาที่ Big Tech ทยอยปลดพนักงานเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจรับกับเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน พร้อมแผนลดต้นทุนรักษาผลกำไร ยิ่งเมื่อรวมเหล่า Big Tech จะพบว่า มีการปลดพนักงานไปแล้วหลายหมื่นคน เป็นการปลดพนักงานที่สะท้อนไปถึงการทำธุรกิจที่เน้นลดต้นทุนและรักษาผลกำไร บนสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน
เมื่อช่วงปลายปี Spotify ประกาศเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่อีกราว 1,500 คน หรือคิดเป็น 17% ของพนักงานทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา Spotify ยอมรับว่ามีการรับพนักงานเข้ามาร่วมทีมมากเกินไปในช่วงปี 2020-2021 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ต้นทุนกู้ยืมมีอัตราถูก ผลจากการปลดพนักงานทำให้ Spotify สามารถสร้างกำไรได้ถึง 65 ล้านยูโร รวมไปถึงการขึ้นราคาค่าสมาชิกตั้งแต่ต้นปี 2023 และการขยายธุรกิจไปสู่ Podcast และ Audio Book ที่มากขึ้น
หลังผ่านเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ 2024 ไม่นาน Amazon ก็ประกาศเลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคน โดยเฉพาะในแผนก MGM Studio และ Prime Video ทำให้จำนวนพนักงานของ Amazon ที่ถูกปลดออกเพิ่มขึ้นเป็น 27,000 คน นอกจากนี้ แผนก Streaming ของ Twitch ก็ยังถูกประกาศปลดพนักงานลง 500 ตำแหน่งงาน โดยการปรับลดตำแหน่งของ Twitch เกิดขึ้นหลังจากการลาออกของผู้บริหารระดับสูงหลายคนในช่วงปีที่ผ่านมา
ขณะที่ Google เองก็ตามมาติดๆ ด้วยการประกาศเลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคนในหลายแผนก โดยเฉพาะในแผนกวิศวกรรมหลัก แผนกฮาร์ดแวร์ และแผนกที่ทำงานเกี่ยวกับ Google Assistant ที่สั่งงานด้วยเสียงเป็นหลัก ทั้งนี้การปรับลดพนักงานในครั้งนี้เป้นผลมาจากการที่ Google มุ่งเน้นไปที่โครงการด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น ภายใต้การนำของ Sundar Pichai นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดต้นทุน
นอกจากนี้ Big Tech ใกล้ตัวคนไทยอย่าง LAZADA ก็มีการประกาศปรับลดพนักงานทั่วตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากทุกระดับ โดยมีรายงานว่ามีการปรับลดจำนวนพนักงานหลายร้อยตำแหน่ง โดยเฉพาะในส่วนงานด้านการค้า การค้าปลีก และการตลาด ซึ่งที่สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบการปรับลดมากที่สุด แม้ว่าทาง LAZADA ยังไม่ชัดเจนเรื่องการปรับลดพนักงาน แต่ก็ยืนยันกำลังทำการปรับเปลี่ยนเชิงรุกเพื่อเปลี่ยนแปลงพนักงานและวางตำแหน่งเพื่อให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ตอบรับความต้องการทางธุรกิจในอนาคต
แน่นอนว่าสัญญาณในครั้งนี้กำลังจะบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน จนธุรกิจ Big Tech ขนาดใหญ่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือการลดต้นทุนด้วยการปรับลดพนักงานลง ถือเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่ต้องปรับตัว เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะส่งผลกระทบถึงตลาดแรงงานโดยตรง เป็นสัญญาณที่สะท้อนกลับมาที่ธุรกิจไทยให้เตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น