มื้อพิเศษที่ “เบญจรงค์” ห้องอาหารไทยในตำนาน อำลาร่วมดุสิตธานี ก่อนปรับเป็น “มิกซ์ยูส” ในอีก 3 ปี

  • 47
  •  
  •  
  •  
  •  

เบญจรงค์

นับตั้งแต่ปีนี้จะถึงปีหน้า ถือเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล โดยเฉพาะการปรับปรุง และขยายพื้นที่บริเวณโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ พลิกไปเป็น Mixed-use Project มูลค่ากว่า 36,700 ล้านบาท

โดยจะมีทั้งศูนย์การค้าโรงแรมอาคารสำนักงาน และเตรียมเริ่มขยายสู่อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ภายใต้ชื่อ Dusit Residence ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างดุสิตกับ CPN ซึ่งจะทำให้ “ดุสิตธานี” เชนโรงแรมรายใหญ่เก่าแก่ของไทย ที่ปัจจุบันมีกิจการทั้งลงทุนเองและรับบริหาร จะมีความคล่องตัว รวมทั้งกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ ขยายไปยังธุรกิจอื่นใหม่ๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Core Business ซึ่งคือโรงแรม แต่ไม่ต้องพึ่งพาธุรกิจโรงแรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจที่ได้วางไว้

IMG_2139

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี เคยให้สัมภาษณ์ว่า โรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่บนที่ดินเดิมจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ต้องใช้เวลาออกแบบค่อนข้างมาก กำหนดการล่าสุดของการปิดโรมแรม จึงได้กำหนดเป็นวันที่ 5 ม.ค. ปี 2562 ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงวางแผนขนย้ายสิ่งของหลายๆ อย่าง ที่เป็นเอกลักษณ์และความโดดเด่นของโรงแรมในปัจจุบัน ไปสู่โรงแรมแห่งใหม่อย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และพิถีพิถันให้มากที่สุด

ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการปรับย้ายที่ตั้ง ที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนประกอบอาหารเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ไปเปิดสอนในที่แห่งใหม่ นั่นคือที่อาคารเซ็น ทาวเวอร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ ชั้น 17-19 ที่มีพื้นที่รวม 3,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนไปกว่า 300 ล้านบาท

ซึ่งจะเป็นโรงเรียนสอนประกอบอาหารที่สะดวกครบครัน และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยจะเปิดสอนเป็นทางการในวันที่ 14 มกราคม 2562 รวมทั้งเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 11 ปี ของความสัมพันธ์ในการร่วมทุนระหว่าง ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กับ เลอ กอร์ดอง เบลอ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เปิดโรงเรียนสอนการทำอาหารมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550

นอกจากการให้เวลากับการออกแบบโครงการ ที่ต้องใส่ใจ พิถีพิถัน ในรายละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อให้โครงการนี้ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งด้านงานอนุรักษ์ และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาไว้ด้วยกัน เช่น การทำพื้นที่สีเขียวรอบโครงการ เชื่อมต่อกับพื้นที่สีเขียวของสวนลุมพินี เชื่อมการจราจรทุกระนาบ ทั้งใต้ดิน บนดิน หรือลอยฟ้าเข้าด้วยกัน รวมทั้งองค์ประกอบที่เป็นส่วนสำคัญต่างๆ

DTBK - Benjarong

และหนึ่งในเอกลักษณ์ของดุสิตธานี นั่นคือ ห้องอาหาร ‘เบญจรงค์’ ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังและละเอียดอ่อนในการรื้อถอน เพราะนอกจากโครงสร้างต่างๆ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ไทย ห้องอาหารเบญจรงค์ยังมีชิ้นงานศิลปะอันทรงคุณค่า ที่ประดับประดาเบญจรงค์โดยมีเสาเพ้นท์ลายไทยฝีมือปรมาจารย์ช่างศิลป์ ‘ท่านกูฏ’ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ เป็นไฮไลท์ ซึ่งจะมีการเก็บงาน Art บางส่วนของห้องอาหารไว้ แล้วนำไปใส่ในที่ใหม่ก่อนที่โรงแรมจะปิดและสร้างใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า

เบญจรงค์ เป็นห้องอาหารที่มีเรื่องราวมากมาย เช่น ภาพศิลป์ มีโครงการเก็บรักษาดูแลห้องนี้ แล้วเอากลับมาใหม่เหมือนเดิมเมื่อโรงแรมใหม่เปิด การเก็บสิ่งของต่างๆ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วยดูแลเรื่องการเก็บเรื่องราวต่างๆ

233237

มื้อพิเศษกับอาหารไทยในตำนานครั้งนี้ที่ห้องอาหารไทยเบญจรงค์ และยังสามารถเข้าไปชมความงดงามของชิ้นงานศิลปะในห้องอาหารแห่งนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2561 จึงถือเป็นการร่วมอำลาไปกับโรงแรมดุสิตธานี ก่อนที่จะปิดและปรับเป็นMixed-use Project ในอีก 3 ปีข้างหน้า ร่วมกับอาจารย์อำฤทธิ์ ชูสุวรรณ อดีตคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และทายาทของท่านกูฏ คุณนาคนิมิตร สุวรรณกูฏ

อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ กล่าวว่า แนวทางในการอนุรักษ์จิตรกรรมไทย บนเสาและฝาผนังที่อยู่คู่ดุสิตธานี มาเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของห้องอาหารแห่งนี้ จากการตกแต่งด้วยงานศิลป์ชิ้นเอกของอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ท่านกูฎ’ ปรมาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถในศิลปไทยประเพณีเป็นอย่างดี เพื่ออนุรักษ์ผลงานภาพเขียนลายไทยทรงคุณค่าบนเสาขนาดใหญ่จำนวน 2 ต้น รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของท่าน มหาวิทยาลัยศิลปากร จะรับหน้าที่ในการบูรณะ เพื่อเก็บรักษาไว้ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด ก่อนจะนำกลับมาติดตั้งใหม่ในโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่จะก่อสร้างเสร็จในปี 2564

IMG_1816

“เสาสองเสากับจิตรกรรมฝาผนังเป็นสเกลที่ใหญ่เหลือเกิน ใจคิดตอนแรกว่าควรจะตัดเสาเอาไว้ เพราะมันไม่มีทางอื่นที่จะอนุรักษ์ได้ แต่เรื่องสำคัญคือชั้นนี้เป็นชั้นข้างล่างสุด ทำยังไงตอนรื้อจะไม่ให้กระทบมากที่สุด ทำยังไงให้สภาพคงอยู่มากที่สุดเป็นหน้าที่ของโบราณคดี วิศวกร เรามีหน้าที่ทำให้คงอยู่มากที่สุด วิธีจะจัดเก็บ อนุรักษ์ จึงมีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยกันคิด สรุปคือต้องเก็บเสาที่มีน้ำหนักต้นละ 5 ตัน รวมอีก 1 ผนัง ความคิดเรื่องการตัดเสา และให้เก็บทั้งห้องเลย คือพวกงานไม้ทั้งหมดด้วย คุณชนินทร์ก็ตกลง ท่านก็พูดว่าเสียดาย เป็นโรงแรมที่คุณแม่ท่านสร้างมา จริงๆ ก็ไม่อยากทำ ในชีวิตนี้ขอทำครั้งเดียว คือทุบในสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วทำใหม่”

“เราก็มีความรู้สึกว่าไม่ใช่เล่นๆ แล้ว ก็ค่อนข้างจริงจังจากทีมใหญ่ขึ้นที่เข้ามา สร้างโมเดลให้เหมือนที่ดีสุด ดีที่สุด ในโมเดลที่พวกเราเคยทำ ให้ภาพนี้ยังคงอยู่ คณะโบราณคดีก็เข้ามา พยายามหาข้อมูลย้อนกลับไป เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ดูว่าพีเรียดตรงนั้นของโรงแรมมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง พยายามจัดหมวดหมู่กึ่งๆ เหมือนมิวเซียม”

233248

“ผมจะเอาทีมมาคัดลอกลายต่างๆ ออกไป ให้มันมีต้นแบบเก็บไว้ ส่วนการอนุรักษ์ตัวเสาตัวจริง อาจารย์ชวลิตจะเป็นหัวหน้าทีม ทีมผมก็จะกลับมาดูว่า ตรงไหนชำรุดก็จะเติมเต็มให้อีกที”

“ท่านกูฎถือเป็นกลุ่มศิลปินในอดีตที่หัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งของเมืองไทย อันนี้คืองานหนึ่งชิ้นที่มีการประยุกต์ มีที่มาที่ไป เฉดสี ก็ไม่ใช่ไทยเลย รายละเอียดต่างๆ ได้ลายมาจากไหน ได้มายังไง ซึ่งใน 50 ปีที่แล้วมีการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินกับสถาปนิกเป็นเรื่องไม่ธรรมดาแน่ การออกแบบ การคุยกัน ทำให้งานออกมาเป็นอย่างนี้ ยิ่งมองเห็นคุณค่า ยิ่งน่าสนใจ ที่จะจัดเก็บ”

“วิธีการทำงานก็ไม่ใช่การเขียนธรรมดา เป็นการการผสมลายและสลักลงบนเสา เทคนิคเป็นอะไรที่น่าเรียนรู้ น่าสนใจ โรงแรมดุสิตธานีสามารถเป็นโรงเรียนให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากรได้เลย ในช่วงเวลา 4 เดือนหลังจากนี้ เราสามารถเข้ามาได้เลยคณะจิตรกรรม คณะโบราณคดี คณะสถาปัตย์ คณะมัณฑนศิลป์ ได้ครบทุกแขนง เราสามารถเข้ามาเรียนรู้วิธีคิดได้เลยในโรงแรมแห่งนี้จากจากวิธีคิดของคนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว”อาจารย์อำมฤทธิ์ กล่าว

233251

อาจารย์ชวลิต ขาวเขียว กล่าวว่า ผมตัดวัด ตัดกำแพงอะไรมาก็เยอะ แต่พอมาดูที่นี่จะตัดยังไง เพราะมันใหญ่มาก แล้วทำไมไม่ลอกออก แต่ความจริงก็คือ สีไปแตะต้องไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้ ต้องเคลือบ และต้องมีวิธีการวิทยาศาสตร์เท่านั้น รวมทั้งต้องหาที่เก็บด้วย

ความยาก คือ ตอนรื้อ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดริ้วรอย วิธีการคือต้องเฝือกด้วยเหล็ก แล้วก็ดาม ดึงออก ซึ่งย้ายไม่ยาก แต่โจทย์คือ ต้องตัดผนังออกไปอีก

“ดุสิตธานีเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ เป็นโรงแรมหรูเมื่อ 50 ปีก่อน ตอนนั้นสูงที่สุดในประเทศ วิธีคิดก็คือย่อมาจากพระปรางค์วัดอรุณ ย่อลงมาเป็นดุสิตธานี เป็นของคนกรุงเทพฯ ผมเป็นสำนักโบราณคดีเรื่องการใช้พื้นที่ แลนด์สเคป มันเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่ลงมา เหมือนสวรรค์ เดินลงมามีต้นไม้ ท่ามกลางรายล้อมด้วยตึกรามบ้านช่อง อารมณ์ในอดีตจากดุสิตธานีมันสามารถไปต่อสามารถเผยแพร่ไปทั่วโลก สามารถเก็บประวัติศาสตร์จากที่นี่ ห้อง Library ห้องรับแขกที่มีอัตลักษณ์ ต้นไม้ทุกต้น ให้ทุกคนได้สัมผัสกับดุสิตธานี ใครๆ ก็มาสัมผัสได้ เราอยากเผยแพร่ออกไปให้คนได้รู้จัก ซึ่งจะมีหลายอีเว้นท์ที่จะเกิดขึ้น”

233246

“ค่าย้าย ค่าเคลือบ ค่าลอกลาย ต้นเสาที่มีน้ำหนัก 5 ตัน อาจจะต้องใช้ตัวสแกนสามมิติเพื่อเก็บรายละเอียด อาจจะมีค่าใช้จ่ายประมาณล้านบาทเศษๆ ซึ่งจะมีเก็บเป็นไทม์ไลน์ว่าแนวคิดมาจากไหน เพื่อจัดเป็นรีเสริชดีๆ เล่มหนึ่ง สร้างเป็นองค์ความรู้เอาไว้”อาจารย์ชวลิต กล่าว

คุณนาคนิมิตร หรือ คุณต้น ทายาทท่านกูฎ กล่าวถึงที่มาของผลงานภาพเขียนลายไทยบนเสาอันทรงคุณค่าของอาจารย์ไพบูลย์ ที่เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกการเขียนภาพจิตรกรรม ฝาผนังขนาดใหญ่ในอาคารสถานที่ต่างๆ ว่า เมื่อ 50 ปีก่อนคุณพ่อมีผลงานภาพเขียนลายไทยเพื่อตกแต่งเสาขนาดใหญ่ทั้ง 2 ต้น ของห้องอาหารเบญจรงค์ ความพิเศษของลวดลายจิตรกรรมไทยบนเสานี้ ใช้เวลาถึง 3 ปีในการค้นคว้าหาข้อมูลที่วัดโพธิ์ เพื่อเรียนรู้เรื่องสีและลวดลายต่างๆ และได้ใช้เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะไทยร่วมสมัย

โดยนำสีสันใหม่ๆ มาใส่ในงานจิตรกรรมไทย ตรงกับแนวคิดของดุสิตธานี ที่ต้องการสะท้อนความเป็นไทยแบบร่วมสมัย ถือเป็นผลงานภาพจิตรกรรมไทยร่วมสมัยอันทรงคุณค่า เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการศิลปะไทย ทั้งเรื่องของแนวความคิด และการสร้างสรรค์ผลงาน ที่หลายๆ คนโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ อาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่า มีผลงานของท่านอยู่ในโรงแรมแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่ ที่มีคุณค่าในแง่ของประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยด้วยเช่นกัน

233252

“โครงการนี้คุณพ่อได้เขียนเอาไว้ตั้งแต่ผมยังจำความไม่ได้ ก็เกือบ 50 ปีแล้ว หลังจากทำงานชิ้นนี้ออกมา ก็มีตามมาอีกหลายๆ งาน เป็นลักษณะจำเพาะของศิลปะ ซึ่งมีความหมายกับการเปลี่ยนผ่านของวงการจิตรกรรมไทย มีความหมายของการพัฒนาจิตรกรรมไทยร่วมสมัย”

คุณปฐวี ฉันทารุมัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มของดุสิตธานี เล่าเรื่องราวของห้องอาหารเบญจรงค์ว่า ดุสิตธานี กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมแรกๆ ที่เปิดให้บริการห้องอาหารไทย ภายในห้องอาหารตกแต่งได้งดงามตามแบบศิลปะไทย ทั้งลายแกะฉลุไม้ งานตกแต่งผนังด้วยไม้สัก และลายไทยรอบเสาและฝาผนัง

233250

คณะผู้บริหารนำโดยคุณชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล จึงมีแนวทางตกแต่งห้องอาหารไทย ในโรงแรมโฉมใหม่ให้อยู่ในรูปแบบเดิม เพราะท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้สร้างสรรค์โรงแรมขึ้นมา รวมทั้งห้องอาหารเบญจรงค์แห่งนี้ และรองประธานฯ ผู้เป็นบุตรชาย ก็อยากสืบทอดและรักษาศิลปะไทยเอาไว้ทุกชิ้น โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรจะมาเป็นผู้ศึกษาและค้นคว้ากรรมวิธีการอนุรักษ์ผลงานอันทรงคุณค่าเหล่านี้ เพื่อรักษาไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น และมอบคุณค่าทางจิตใจแก่ลูกค้าที่รักและผูกพันกับเบญจรงค์ตลอดเวลาที่ผ่านมา

233255

คุณสุกัญญา งามศรีขำ หรือ “เชฟบุ๋ม”เชฟประจำห้องอาหารไทยเบญจรงค์ เล่าถึงรายละเอียดของเมนูอาหารไทยตำรับเฉพาะของดุสิตว่า ความแตกต่างในเมนูอาหารไทยคือ สไตล์ของอาหารไทยร่วมสมัย เป็นเมนูคิดค้นขึ้นใหม่อยู่เสมอ รวมเทคนิคสมัยใหม่กับรสชาติแบบต้นตำรับ สร้างเป็นอาหารแนวร่วมสมัย แต่มีความเป็นไทยที่โดดเด่น

233244

เซ็ทเมนูมื้อกลางวันที่เป็นที่นิยม อาทิ ทอดมันกุ้ง ซอสมะขามมายองเนส, กุ้งลายเสือห่มสไบ, ปลาหมึกทอดขมิ้นสด,  เกี๊ยวกรอบทูน่ากับตะไคร้สด, ต้มยำกุ้ง, ยำปลาดุกฟูใส่มะม่วงเขียว และคัสตาร์ดรสต้มยำใส่เนื้อปู, แกงปูใบชะพลูหมี่หุ้น, ปลาย่างสมุนไพร และผัดผักบุ้งหมูคุโรบูตะกรอบ ปิดท้ายด้วยเค้กกะละแม เสิร์ฟพร้อมไอศกรีม และกล้วยหอมทอด

233254

233258

233259

Dusit Thani Bangkok


  • 47
  •  
  •  
  •  
  •