เมื่อความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัว IKEA ประเทศไทย กับแนวทาง 3 ด้านที่ลงมือทำจริง ตั้งแต่ในบ้านสู่ชุมชน

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

ภายในร้านเฟอร์นิเจอร์ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการออกแบบเพื่อการใช้ชีวิตที่ดี อิเกีย ประเทศไทย กำลังเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและยั่งยืนกว่าที่ตาเห็น ไม่ใช่แค่โต๊ะ เก้าอี้ หรือของแต่งบ้าน แต่เป็นวิถีชีวิตทั้งของลูกค้า พนักงาน และชุมชนที่แบรนด์ระดับโลกนี้มุ่งหวังจะยกระดับให้ดียิ่งขึ้นในทุกวัน

เบื้องหลังความสำเร็จของอิเกีย คือกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Healthy & Sustainable Living), การหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Climate, Nature & Circularity), และการดูแลผู้คนอย่างเท่าเทียม (Fair & Caring) ทั้งหมดนี้สะท้อนวิสัยทัศน์สำคัญของอิเกียในการ “สร้างชีวิตที่ดีกว่าสำหรับคนส่วนมาก” อย่างแท้จริง

คุณคณิศร์ อุนจะนำ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ อิเกีย ประเทศไทย

คุณคณิศร์ อุนจะนำ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ อิเกีย ประเทศไทย อธิบายว่า “เราต้องการให้อิเกียเป็นแรงบันดาลใจและเป็นเครื่องมือที่จับต้องได้สำหรับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพและยืดอายุการใช้งานสินค้า ความยั่งยืนไม่ควรเป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ควรเข้าถึงได้สำหรับทุกคน”

ในประเทศไทย อิเกียดำเนินงานด้านความยั่งยืนครอบคลุมทั้งสามมิติ ได้แก่ สินค้า (Product), สถานที่และกระบวนการดำเนินงาน (Place), และผู้คน (People)

คุณพิมพ์ชนก จิตขันแข็ง ผู้จัดการฝ่ายผลิตในครัว อิเกีย ประเทศไทย

ในด้านสินค้า อิเกียใช้หลัก Democratic Design ที่ให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของดีไซน์ ฟังก์ชัน คุณภาพ ราคา และความยั่งยืนไปพร้อมกัน เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจึงถูกออกแบบด้วยวัสดุที่ทนทาน รีไซเคิลได้ และเหมาะกับการใช้งานในระยะยาว อิเกียยังขยายแนวทางนี้ไปถึงเมนูอาหาร โดยเพิ่มสัดส่วนอาหารจากพืชให้เป็น 50% ของเมนูหลัก เช่น Plant Balls และเลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่ยั่งยืน เช่น แซลมอนที่ได้รับการรับรองจาก ASC และผลิตภัณฑ์จากกาแฟและโกโก้ที่ได้รับการรับรองจาก Rainforest Alliance และ UTZ

ในด้านการดำเนินงานและสถานที่ อิเกียได้ลงทุนกว่า 25 ล้านบาทเพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปที่อิเกีย บางนา ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 2,890 เมกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 1,152 เมตริกตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้เกือบ 19,000 ต้นต่อปี ส่งผลให้พลังงานที่ใช้ในสโตร์มีสัดส่วนจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 35%

นอกจากนี้ อิเกียยังขยายการใช้รถขนส่งสินค้าไฟฟ้า (EV) โดยเริ่มต้นจากอิเกีย สุขุมวิท ในปี 2566 และล่าสุดได้เปิดตัวรถบรรทุกไฟฟ้า 20 คันในกรุงเทพฯ โดยร่วมมือกับ Mober พร้อมตั้งเป้าให้การจัดส่งในกรุงเทพฯ 40% เป็น EV ภายในสิ้นปี 2568 และเพิ่มเป็น 70% ทั่วประเทศภายในปี 2573 การเปลี่ยนผ่านนี้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้สูงสุดถึง 87% ต่อกิโลเมตร หรือประมาณ 950 เมตริกตันต่อปี

ส่วนในมิติของผู้คน อิเกียให้ความสำคัญกับสวัสดิการพนักงาน ส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วม รวมถึงโครงการ “Social Day” ที่เปิดโอกาสให้พนักงานหยุดงาน 1 วันต่อปีเพื่อทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยยังได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้ยังร่วมมือกับมูลนิธิต่าง ๆ เช่น มูลนิธิกระจกเงา และโรงเรียนมีชัยพัฒนา รวมถึงการบริจาคให้ชุมชนที่ขาดแคลนในช่วงวิกฤต เช่น น้ำท่วม

อิเกียยังใช้แนวทาง IWAY Supplier Code of Conduct ในการควบคุมห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการจัดหาทรัพยากรอย่างมีจริยธรรม ครอบคลุมถึงสภาพการทำงาน สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกซัพพลายเออร์ปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืนอย่างเคร่งครัด

จากแนวคิดบนกระดาษ สู่การลงมือทำในชีวิตจริง อิเกีย ประเทศไทย เชิญชวนทุกคนมาร่วมสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้น ด้วยการเลือกใช้ชีวิตอย่างมีจิตสำนึก เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ภายในบ้าน สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคม


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •