“คนหลายคนในยุคนี้ไม่ได้ทำงานเพราะต้องการรวยไวๆ หรือเลื่อนตำแหน่งไวๆ แต่เค้าทำเพราะงานที่เค้าเลือกมันตอบโจทย์ชีวิตเค้า มันตอบโจทย์เส้นทางที่เค้าเลือก งานที่ทำมันจึงมีความหมายสำหรับตัวเค้า ซึ่งผมว่ามันเป็นสิ่งที่จะ unlock potential ของคน”
หนึ่งในประโยคน่าสนใจจากการพูดคุยกับ คุณพอล สิริสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มาแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวที่จะเติมไฟให้กับทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจในงานด้านการตลาด จากประสบการณ์การทำงานในสายนี้มากว่า 10 ปี ถูกกลั่นออกมาเป็นบทสนทนาสนุกๆ ที่ให้ทั้งความรู้และแรงบันดาลใจ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่คุ้นกับ ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ แต่ถ้าบอกว่าเป็นบริษัทผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คุณภาพชั้นนำในประเทศไทย เจ้าของแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Johnnie Walker และ Smirnoff เชื่อว่า ทุกคนต้องรู้จักอย่างแน่นอน
โดยก่อนหน้านี้คุณพอลเคยทำอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม โดยดูแลการจัดตั้งระบบธุรกิจเชิงนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ จากตลาดเฉพาะกลุ่มสู่การมีบทบาทในตลาดที่กว้างขึ้น และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการทำตลาดสร้างยอดขายให้กับผลิตภัณฑ์ของดิอาจิโอ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ Johnnie Walker ภายใต้แคมเปญ Keep Walking และแบรนด์ Smirnoff Midnight 100 จนได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมแห่งปี
อย่างตัวผมเองที่ผ่านมาไม่ได้คิดว่าทำงานเพราะต้องการรวย แต่ผมรักในตัวงานที่ผมทำ งานที่เราได้เข้าไปอยู่ในโมเมนต์สังสรรค์ มันมีการเคลื่อนไหว มีการคอนเนคกับเพื่อนกับคนรอบตัว นั่นคือ ช่วงเวลาที่เราอยู่กับเค้า ช่วงเวลาที่คนกำลังมีความสุขในช่วงหนึ่งของวัน ผมว่ามันเป็นงานที่ยูนีค ผมอยู่กับดิอาจิโอมา 10 ปี อยู่มา 4 ประเทศ ดูทั้งในตลาดระดับโลก ภูมิภาค และในประเทศ มันทำให้ผมมองเห็นเอกลักษณ์เฉพาะของงานเราที่มันเข้าไปเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์คน นั่นคือแรงผลักดันที่ไม่ได้เกิดกับแค่ผมคนเดียว แต่เป็นทั้งองค์กร
สังคมเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา เราจึงใช้ตำราเล่มเดิมไม่ได้
บริษัทเราไม่ได้เป็น depth-work marketing คือเราไม่ได้ดูข้อมูลอยู่หลังคอมพิวเตอร์ โทรคุยกับคน แล้วก็ทำแคมเปญออกไป ถ้าให้จำกัดความ คือเราทำงานกันแบบ real entrepreneur คือทุกแบรนด์ ทีมจะดูทั้งหมดตั้งแต่ Profit & Loss, Financial ต้องคุยกับซัพพลายเออร์ ทำงานกับเอเจนซี่โฆษณา จะได้รู้ทั้งการบริหารจัดการธุรกิจ บวกกับมาร์เก็ตติ้งไปพร้อมๆ กัน ว่าใช้เงินเท่านี้ ได้กำไรเท่านี้ จะต้องโตเท่านี้ แนวทางการทำงานมันจะกว้างกว่าแค่งานมาร์เก็ตติ้ง และงานของเรามันจะโฟกัสไปที่ behavior insight เยอะ ต้องเข้าใจว่าทำไมวันนี้คนถึงเดินเข้ามาในร้านแบบนี้ (เรานั่งคุยกับคุณพอลในร้าน ROAST ที่ THE COMMONS) มันไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่ทำไมคนต้องสั่งอาหารแบบนี้ หรือทำไมคนต้องแต่งตัวแบบนี้เดินเข้ามาในร้าน เพราะพฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคมันมี underlining insight อยู่ คนที่จะมาทำมาร์เก็ตติ้งจึงควรเป็นคนช่างตั้งคำถาม เช่นว่าทำไมวันนี้เทรนด์คราฟต์มันมา มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะห้าปีที่แล้วมันไม่มีนะ ทำไมร้านคาเฟ่แบบนี้จึงเกิดขึ้น ผมคิดว่าสังคมเราเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่ตามเทรนด์ ไม่รู้พฤติกรรม ก็ตีโจทย์ไม่แตก แต่ความสนุกก็อยู่ตรงที่มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี่แหละ เพราะฉะนั้นตำราที่ทำไว้เมื่อปีที่แล้วมันใช้ไม่ได้กับปีนี้ ตัวเราเองก็ต้องเคลื่อนที่เร็วด้วย
ยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงแบบเห็นภาพชัดๆ นะครับ ในอดีตเมื่อสักสิบปีที่แล้ว เวลาเราจะนัดสังสรรค์ก็ต้องไปผับ หรือร้านที่มีอยู่แค่ไม่กี่ย่าน ทองหล่อ เอกมัย ข้าวสาร แต่มาตอนนี้มันมีร้านที่ไปสังสรรค์กันได้โดยที่ไม่ต้องไปผับ มันมีคาเฟ่ มีบาร์ฟังดนตรีนั่งชิล นั่งดื่มพูดคุยกันได้กระจายอยู่ทุกที่ อาหารและดริ้งค์ก็จะเปลี่ยนไปด้วย มีตัวเลือกที่หลากหลายเข้ามามากขึ้น
ผมทำงานอยู่นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ โฮจิมินห์ ผมมองเห็นความแตกต่างของแต่ละเมือง ผมคิดว่าเมืองไทย เป็นเมืองที่มีความหลากหลายและมีความสร้างสรรค์สูงมาก เห็นชัดๆ ก็คือแคมเปญโฆษณาบ้านเราไปชนะรางวัลใหญ่ที่ Cannes Lion ทุกปี และสังคมไทยเป็นสังคมที่คนเปิดรับแล้วต้องการหาอะไรใหม่ๆ ตลอด และมีความกล้าลองสูง โดยเฉพาะกับคนยุคนี้ การผลักดันมันมีสองด้านคือ กลุ่มคนที่อยากเปิดร้านใหม่ๆ อยากสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ที่แตกต่าง ซึ่งมันจะมีกลุ่มคนที่กล้าทำเกิดขึ้นพร้อมๆ กับกลุ่มที่สอง คือกลุ่มผู้บริโภคที่พร้อมจะลองเพราะเค้าต้องการค้นหา การเคลื่อนที่มันเกิดจากจุดนี้ ไลฟ์สไตล์คนสมัยนี้ไม่ได้เหมือนเดิมซ้ำกันทุกสัปดาห์ คนยุคนี้แสวงหาและต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ตัวเค้าอยู่ตลอด ยิ่งสมัยนี้มี social media เป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อกับคน ทุกอย่างมันยิ่งเกิดขึ้นได้ง่ายและไปข้างหน้าได้ไว
“สังคมไทยเป็นสังคมที่คนเปิดรับแล้วต้องการหาอะไรใหม่ๆ ตลอด และมีความกล้าลองสูง โดยเฉพาะกับคนยุคนี้”
การตลาดจากแคมเปญระดับโลกสู่โลคอล
หนึ่งคือ คนทำมาร์เก็ตติ้งควรจะต้องตั้งคำถามกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต้องอยากรู้ในความเปลี่ยนแปลง เราควรต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในตัว เพราะมันไม่ใช่แค่การทำโฆษณาที่สวยงามแล้วจบ การตลาดมันไม่ได้อยู่แค่ในจอแต่มันลงมาถึงในเมนู บนโต๊ะอาหาร แล้วมันอยู่ไปถึงในแก้ว ในรสชาติ สองคือ เราต้องเข้าใจกลไกการตลาดที่จะทำให้ความแตกต่างให้กับประสบการณ์ของคน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องให้รายละเอียดในทุกๆ touch point สามคือ การทำงานที่ดิอาจิโอ มันจะมีระดับการทำงานที่เป็นทั้งกับทีมงานระดับโลกและในประเทศไปพร้อมๆ กัน เพราะเราเป็น Global Brand แต่เราทำงานต้องเข้ามาทำงานในพื้นที่ Local และทีมดิอาจิโอ ในเมืองไทยก็ต้องคอยคอนเนคกับทีม Global อยู่ตลอดเวลา หรือบางครั้งเค้ามาเมืองไทย Global กับ Local ก็จะต้องทำงานเป็นทีมเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันจะมีสองเลนในการทำงาน คือเลนที่ทำงานกับทีมเมืองนอก และเลนที่ทำกับทีมในเมืองไทย มันจะเป็นการเพิ่มทักษะให้น้องๆ ที่นี่ในรูปแบบที่ยูนีคมาก คนทำงานมาร์เก็ตติ้งที่ดิอาจิโอจะได้รู้ว่าแคมเปญใหญ่ๆ ระดับโลกที่ Johnnie Walker หรือ Smirnoff ทำมันต้องมีกระบวนการคิดยังไงบ้าง และคุณยังจะได้ปรับความคิดที่เป็นแคมเปญใหญ่ๆ ระดับโลกเพื่อมาปรับให้เข้ากับแคมเปญในบ้านเรา และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยมี “ระเบียบปฏิบัติด้านการตลาด” (Diageo Marketing Code) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหลักปฏิบัติด้านการตลาดระดับโลก เพื่อควบคุมให้การดำเนินกิจกรรมการตลาด และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหมด ในทุกช่องทางการสื่อสารรวมถึงสื่อดิจิทัลมีความรัดกุมและเหมาะสมกับตลาดในแต่ละประเทศยิ่งขึ้น
“มันไม่ใช่แค่การทำโฆษณาที่สวยงามแล้วจบ การตลาดมันไม่ได้อยู่แค่ในจอแต่มันลงมาถึงในเมนู บนโต๊ะอาหาร แล้วมันอยู่ไปถึงในแก้ว ในรสชาติ”
“Ownership และ การทดลอง” สองคุณค่าที่ต้องให้ความสำคัญ
นอกจากเรื่องการบริหารธุรกิจและการตลาดแล้วคือ ทุกคนจะต้องทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างน้อย ปีละหนึ่งสินค้า ผมคิดว่าความเป็น ownership เป็นเรื่องสำคัญ อารมณ์เหมือนว่าวันนี้ลายนิ้วมือของฉันประทับลงไปบนโปรดักส์ตัวนี้ เราบอกคนอื่นได้เต็มปากว่า ฉันทำมัน ฉันลอนช์มันเอง ฉันเหนื่อยกับมันมาจนถึงวันที่มันมาอยู่ในแก้วของคุณ จุดนี้เป็นรายละเอียดที่สำคัญกับพนักงาน นอกเหนือจากนั้นคือการเรียนรู้แล้วคนต้องการ ความเป็น ownership แต่ก็ไม่ใช่ว่ามาถึงแล้วเราให้เค้าทั้งโปรเจคไปแล้วไปทำเองนะครับ (หัวเราะ) ก่อนจะเปิดตัวก็ต้องมีการเทรนด์ มีการเรียนรู้ มีการทดลอง แม้เค้าจะเป็นคน lead แต่มันก็จะมีคนหลายๆ คนในองค์กรช่วยคิด ช่วยประคอง แต่ให้ ‘คนนี้’ เป็นคน lead เพื่อที่เค้าจะได้รู้ในทุกแง่มุมการทำงาน และได้รู้จักกับทุกฝ่ายทุกคน ซึ่งเราคิดว่าความผิดพลาดมันอาจเกิดขึ้นได้ แต่เราก็คิดว่า ‘You can fail, but fail better’ ในการทำมาร์เก็ตติ้ง ผมยก 30% ของ budget และ resource ที่เรามีให้กับการทดลอง หมายถึงทำ 10 อย่าง ให้ 3 อย่างเป็นการทดลองเพราะในโลกที่เราทำงานมันมีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ตัวเราเองก็ต้อง explore ต้องทดลองด้วยเหมือนกัน แล้วถ้าที่ทดลองมัน fail ก็ให้มัน fail ไปได้เลย แต่คุณต้องตอบได้ว่าทำไมมันถึง fail
คนยุคนี้ถ้าเค้ารู้สึกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรจากที่นี่ เค้าจะไปหาการเรียนรู้ที่อื่น
เปรียบเหมือนบริษัทเราเป็นมหาวิทยาลัยในโลกการทำงาน ที่คุณจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้วเอาไปใช้ได้จริง ทุกคนจะมี learning curve ของตัวเองตลอดเวลา ตัวผมเองก็จะบอกทุกคนในทีมว่าถ้าคุณอยู่ที่นี่แล้วคุณไม่ได้เรียนรู้อะไร เดินเข้ามาบอกผมได้เลย ว่ามาแล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลย เราก็พร้อมจะคุยและปรับคุณให้ไปเรียนรู้ในพาร์ทใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน เราสื่อสารกันง่ายๆ แบบนี้เลย คือทีมผมจะไม่มีลำดับชนชั้นกันมากนัก เราจึงคุยกันง่าย อีก 5 ปี อยากไปที่ไหนบอกได้ตามตรง พี่จะช่วยให้น้องได้ไปในจุดนั้นได้ ดิอาจิโอคือที่ที่จะช่วยพัฒนาความสามารถของคุณ เพราะฉะนั้นให้คิดมาเลย และคุยกันดูว่าอยากจะเรียนรู้อะไร อย่างถ้าตลาดไทยรู้หมดแล้ว เข้าใจดีแล้ว อยากไปทำเมืองนอก ต้องการที่จะมีไลฟ์สไตล์แบบนั้นทำได้เลย คุยกันได้
องค์กรเราคือ Always Learning เราลงทุนกับการสร้างความรู้และความสามารถให้คน เรามี DIAGEO ACADEMY ซึ่งจะมีโมเดลเพื่อการเรียนรู้ในทุกด้านของการตลาด และทุกส่วนในองค์กร เรามีทั้งโค้ชและแหล่งข้อมูลที่สามารถเอาตัวเข้าไปเรียนรู้และฝึกได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีพื้นฐานการตลาดที่แข็งแรง คุณมีต่อม ‘Why not’ และคุณมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดรับโมเดลการเรียนรู้ที่ดิอาจิโอ โมเดลในการเรียนรู้เรามีเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องหลักๆ ที่เป็น core ไปจนถึงวิธีพรีเซนต์ หรือการบรีฟเอเจนซี่ แม้แต่เรื่อง บาร์เทนเดอร์ การทำค็อกเทล อยากรู้ว่าเค้าทำกันยังไง ไปเทรนเลยสองวัน หรืออย่างเรื่องวัตถุดิบแต่ละชนิดเป็นยังไง ก็จะมีคนจากสกอตแลนด์บินมาอยู่กับเรา 3 วันและเทรนให้รู้ทุกจุด ทุกดิน ทุกไม้ ว่าที่มาเป็นยังไง โมเดลการเรียนรู้เรารีเฟรชตลอดเวลา เพราะโลกมันหมุนเร็ว มีเดียมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด นี่คือชัดเจนแล้วว่าเราลงทุนกับความรู้ความสามารถคนในองค์กรอย่างจริงจัง ย้อนกลับไปอย่างที่ผมบอกว่าถ้าไม่ได้เรียนรู้อะไรให้บอก แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครบอกว่าตัวเองไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่เลย เพราะทุกคนได้เรียนรู้กันอยู่ตลอด
“ถ้าตลาดไทยรู้หมดแล้ว เข้าใจดีแล้ว อยากไปทำเมืองนอก ต้องการที่จะมีไลฟ์สไตล์แบบนั้นทำได้เลย คุยกันได้”
Career Path ในสายการตลาดที่มีความเฉพาะตัวของดิอาจิโอ
ในสายมาร์เก็ตติ้งที่ดิอาจิโอ เราจะเริ่มกันตั้งแต่ Assistant Brand Manager ถัดมาจะเป็น Brand Manager ซึ่งจะดูแลบริหารจัดการหนึ่งแบรนด์ ถัดมาจะเป็น Marketing Manager คุณก็จะได้ดูพวก Portfolio จากนั้นจะเป็น Marketing Director ที่จะได้ดูทั้งหมดในสายงานมาร์เก็ตติ้ง แต่ที่อยากจะบอกคือองค์กรเราเป็น ‘very flat organization globally’ นะครับ เราจะไม่ได้มีเลเยอร์เยอะ อย่าง Brand Manager ก็อาจต้องดูแบรนด์ทั้งในเมืองไทย ทั้งภูมิภาค และทั่วโลก อย่างตัวผมโดยส่วนตัวชอบแบรนด์ Smirnoff มาก เมืองนอกเค้าทำแบรนด์กันดีมาก แบรนด์มันน่าสนใจ ดูสนุก และเข้ากับไลฟ์สไตล์เรา ผมบอกหัวหน้าเลยว่าผมอยากไปทำ Smirnoff กับ Global Brand Team ซึ่งหัวหน้าก็แนะให้ผมลองสมัคร คือที่ดิอาจิโอ เราสามารถบอกความต้องการได้ว่าเราต้องการจะไปทำแบรนด์ๆ นี้ที่เมืองนอก จะมีเว็บไซต์หลักที่ให้เราเข้าไปกรอกได้เลยว่า เรามีความตั้งใจอยากจะทำแบรนด์นี้ที่เมืองนี้ ชื่อเราก็จะไปอยู่ในลิสต์ รอเวลาให้เค้าเรียกตัวเราไปสัมภาษณ์ ซึ่งเราต้องคุยกับหัวหน้าและทีมเราให้เรียบร้อยมาก่อนแล้วนะ พอถึงเวลาทุกอย่างผ่านเราก็ไป ซึ่งเคสของผมคือย้ายจาก Brand Manager เมืองไทยไปเป็น Brand Manager ใน Global Brand Team ที่นิวยอร์ก
ตอนนี้ผมก็คุยกับคนในทีมเลยว่า ใครอยากจะไปลุยงานเมืองนอกบ้าง? อยากจะไปใกล้บ้านหรือไกลบ้าน? เพราะ Global Team จะอยู่ยุโรปกับอเมริกา ส่วน Regional จะอยู่สิงคโปร์ แล้วถ้าคนเก่งๆ ในทีมผมต้องการจะไปแล้วได้งานวันพรุ่งนี้ ผมก็ยินดีให้เค้าไปนะครับ (หัวเราะ) เพราะบริษัทเรามองแบบนั้นจริงๆ เราให้น้ำหนักกับ career path ของพนักงาน เพราะพอคนเก่งเลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมปุ๊ป คนที่อยู่ถัดลงมาก็จะเลื่อนขึ้นมาแทนที่เค้า ซึ่งมันก็ช่วยให้ทั้งบริษัทเติบโตและคนในบริษัทก็โตด้วย แต่ว่าการเลื่อนขั้นหรือโตไปข้างหน้าของพนักงานเราก็ดูหลายอย่าง ไม่ได้ดูแค่ performance ที่เป็นตัวเลข แต่เราดูด้วยว่า “How did you do that?” คุณทำตัวเลขพวกนี้ให้เกิดขึ้นได้ยังไง คุณทรีทลูกน้อง ทรีทคนในทีมยังไง สปิริตและความรับผิดชอบของคุณเป็นยังไง คุณมีความมุ่งมั่นแค่ไหน เราดูเรื่องพวกนี้ด้วย การโปรโมทพนักงานจึงต้องดูทั้ง What และ How ง่ายๆ คือ What คือผลงานที่เค้าทำได้ ส่วน How คือเค้าทำมันได้ยังไง ด้วยวิธีไหน
“เราให้น้ำหนักกับ career path ของพนักงาน เพราะพอคนเก่งเลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมปุ๊ป คนที่อยู่ถัดลงมาก็จะเลื่อนขึ้นมาแทนที่เค้า ซึ่งมันก็ช่วยให้ทั้งบริษัทเติบโตและคนในบริษัทก็โตด้วย”
นักการตลาดที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับดีกรีปริญญา
คุณต้องมีพื้นฐานของมาร์เก็ตติ้งที่ดี ต้องเข้าใจมีเดีย เข้าใจอินไซท์ เข้าใจการเปลี่ยนแปลง แต่อันนั้นคือเบสิค ข้อยูนีคที่เราเฟ้นหาคือ ผมจะมองหาคนที่มีต่อมช่างสงสัย ตั้งคำถาม ‘Why not’ มันเป็นแบบนี้เพราะอะไร หรือมันจะเป็นแบบอื่นได้ไหม และคนที่กระหายอยากจะเรียนรู้ ซึ่งผมคิดว่าคนประเภทนี้จะมองชาเลนจ์เป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล
อย่างที่พูดไปตอนแรก ถ้าเค้ามุ่งมั่นทำงานเพื่อเงิน หรือเพื่อถูกเลื่อนตำแหน่งและจะได้เงินเดือนที่สูงขึ้น ถ้ามาด้วยความตั้งใจแบบนี้ ผมคิดว่าเค้าจะไปถึงจุดสำเร็จในการทำงานได้ไม่ดีเท่าคนที่มาทำงานเพราะว่างานนี้มีความหมายสำหรับเค้า งานมันเติมเต็ม passion ให้เค้าได้มากกว่าอย่างอื่น นั่นคือเค้าอยากจะเจอคนใหม่ๆ เค้าอยากจะเรียนรู้อะไรที่เค้าไม่เคยรู้ เค้าอยากจะหาคำตอบให้กับคำถามของตัวเอง และอยากจะนำเสนอสิ่งใหม่ให้กับคนรอบตัวและสังคม มันเป็นเป้าหมายที่ท้าทายกว่าตัวเงินและตำแหน่ง คนแบบนี้คือคนที่เรามองหา
แล้วที่ผมอยากบอกคือ งานการตลาดไม่ใช่ว่าต้องจบการตลาดมาแล้วถึงจะทำได้ งานการตลาดเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ที่ทำงานร่วมกัน ในเรื่องของ logic ต้องแข็งแรง ต้องเข้าใจมีเดีย เข้าใจการสร้างแบรนด์ เรื่องของ Arts คือคุณต้องพยายามเปิดโลกตัวเอง อ่านหนังสือ เสพย์งาน ดูตัวอย่างจากงานหรือคนที่ประสบความสำเร็จ หรืองานที่ได้รางวัล ไม่ใช่แค่ชื่นชมแต่ต้องดูว่าเค้าได้เพราะอะไร คุณต้องสนใจสิ่งรอบตัวให้เป็นนิสัย ซึ่งถ้าหากมีทั้งสองศาสตร์นี้มันจะทำให้คุณเป็นนักการตลาดที่ดี โดยที่คุณไม่ต้องมาด้วยใบปริญญาการตลาดด้วยซ้ำครับ