SCB สร้างประสบการณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เปิดห้องปฏิบัติการ SCB Investment Lab จำลองการลงทุนจริงผ่านรูปแบบ Simulation พร้อมเล็งเปิดตัวแอปพลิเคชั่น WeMahidol แอปฯ ที่จะถูกพัฒนาให้กลายเป็น ID ของเด็กนักศึกษาทุกคน พร้อมระบบชำระเงินผ่าน QR Code ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์การใช้จ่ายแบบ Cashless ทั่วมหาวิทยาลัยมหิดล
ตั้งแต่ธนาคารหันมารุกหนักเรื่อง Cashless Society บอกเลยว่า ‘Watokung’ ต้องมาคอยตอบคำถามการใช้งานให้กับอากงอาม่าอาเจ็กอากู๋ทั้งหลายที่บอกเลยว่าสมาร์ทโฟนมีไว้สำหรับส่งภาพทาง LINE ที่เดี๋ยวนี้เริ่มซาลงกับการส่งภาพสวัสดีรายวันและFacebook ที่คอยส่องคลิปดังๆมากมายโดยที่ไม่รู้ว่าสมาร์ทโฟนที่มีทำอะไรได้มากกว่านั้นครั้นแนะนำให้ลองเล่นก็มักจะเกิดคำถามตามมา
จะรู้ได้ยังไงว่าจ่ายแล้ว?…แล้วมือถือหายเงินก็หายด้วยซิ!!!
แม้จะอธิบายจนปากเปียกปากแฉะแต่ก็ยังเป็นสิ่งที่กังวลไม่เลิกสำหรับผู้ใหญ่ทั้งหลายนั่นเพราะการใช้จ่ายผ่านสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องใหม่มากตลอดเวลากว่า 40-60 ปีที่ผ่านมาใช้แต่เงินสดเพียงอย่างเดียวเทคโนโลยีเดียวที่ผู้ใหญ่กลุ่มนี้ใช้เป็นคือ ATM เฉกเช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นเรื่องใหม่เช่นกัน ข้อสงสัยก็มีมากมาย แต่อย่างที่รู้ไม่อ่อนดัดง่ายการสร้างประสบการณ์กับกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า ยิ่งไปกว่านั้นหากคนรุ่นใหม่ได้เคยใช้ระบบอะไรจนเคยชิน รับรองเปลี่ยนยาก
ไม่เชื่อก็ดูอย่างระบบปฏิบัติการ Windows ซิ!!! เริ่มเรียนคอมพ์ก็ Windows ไปทำงานก็ Windows ใครไปเจอระบบปฏิบัติการอื่น รับรองงงตาแหก!!!
SCB จับมือ ม.มหิดล
สร้าง Simulation
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และมหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมมือสานต่อโครงการ Smart University ภายใต้แนวคิด “Digital Convergence University” หรือการร่วมมือกันครั้งนี้เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านการลงทุน (Financial Literacy) ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ SCB ยังได้สร้าง SCB Investment Lab ห้องปฏิบัติการเรียนรู้ด้านการลงทุนเสมือนจริงแห่งแรกของประเทศไทย

ซึ่งในแล็ปแห่งนี้จะเป็นการจำลองห้องซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ผ่านระบบ Simulation โดยนักศึกษาที่สนใจจะได้ลองเรียนรู้การลงทุนตลาดหุ้น แต่จะไม่ส่งผลต่อตลาดหุ้นเนื่องจากเป็นเพียงแค่รูปแบบ Simulation เท่านั้น รวมไปถึงความรู้ต่างๆ ในด้านการลงทุน เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้โดยธนาคารจะนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสอนทักษะความรู้ต่างๆ ให้กับบุคลากรและนักศึกษา ก่อนที่จะส่งส่อองค์ความรู้ต่างๆ ไปยังนักศึกษาแต่ละรุ่นต่อไป
4 รูปแบบการเรียนรู้
Financial Literacy
ไม่เพียงแค่เรื่องของ SCB Investment Lab หรือห้องปฏิบัติการเรียนรู้ด้านการลงทุนเสมือนจริงเท่านั้นที่ SCB เข้ามาร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็น 1 ในการปูพื้นฐานด้านการเงินการลงทุน (Financial Literacy) หากแต่ SCB ยังนำโครงการจ่างๆ มามากมายเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่าน e-Learning แบบ Web Base ของมหาวิทยาลัยที่จะนำเสนอความรู้ด้านการเงินการลงทุน ช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและทุกที่
Mahidol Virtual Classroom Powered by SCB ระบบห้องเรียนอัจฉริยะแห่งแรกของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ที่เชื่อมต่อการเรียนการสอนด้วยระบบ Interactive ระหว่างวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทั้งที่ศาลายา, กาญจนบุรี, นครสวรรค์และอำนาจเจริญ ผ่านรูปแบบ Video Conference และการสร้างแอปฯ WeMahidol แอปพลิเคชันที่จะกลายเป็นสิ่งสำคัญของนักศึกษา ม.มหิดล

ส่วนหนึ่งนั่นเพราะแอปฯ ดังกล่าวจะผูกกับข้อมูลของนักศึกษา รวมไปถึงแอปฯ ดังกล่าวจะกลายเป็น e-Wallet ไปในตัว โดยนักศึกษาสามารถใช้แอปฯดังกล่าวในการซื้ออาหารที่โรงอาหารผ่านรูปแบบการชำระเงินแบบ QR Code เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้ทดลองใช้จ่ายผ่าน QR Code รวมไปถึงสร้างประสบการณ์การชำระเงินแบบดิจิทัล ไม่เพียงเท่านี้มหาวิทยาลัยสามารถเก็บข้อมูลของนักศึกษาได้เพื่อใช้ในการดูแลนักศึกษาได้อย่างทั่วถึง
ประสบการณ์การใช้งาน
พื้นฐานการใช้งานในอนาคต
นี่คือรูปแบบการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งานรูปแบบหนึ่ง แน่นอนว่าอาจจะไม่เห็นผลในระยะเวลาอันสั้น แต่เชื่อเถอะว่าในอนาคตระยะยาว เมื่อเด็กนักศึกษากลุ่มนี้ออกมาหากต้องการลงทุนก็ต้องเลือกใช้บริการจาก SCB ไม่ใช่เพราะดีกว่าหรือเหตุผลใดๆ แต่เพราะเข้าใจในระบบและคล่องในการลงทุนกว่า เฉกเช่นเกียวกันกับแอปฯ WeMahidol เมื่อเด็กเหล่านี้จบออกมา เด็กเหล่านี้จะออกมาพร้อมกับทักษะการใช้จ่ายแบบดิจิทัล
จากเดิมที่ตลาดเคยระแวงว่า จ่ายผ่านรูปแบบดิจิทัลจะจ่ายแล้วเงินไปมั้ย? หรือขายสินค้าผ่านดิจิทัลแล้วเงินจะเข้าบัญชีมั้ย? คำถามเหล่านี้จะหมดไปเพราะประสบการณ์ในการใช้จ่ายผ่านดิจิทัลที่มหาลัยจะเป็นตัวสร้างความมั่นใจให้กับคนรุ่นใหม่ ต่อไปอาจจะเป็นคำถามที่ว่า…หุ้นตัวไหนคุ้มค่าการลงทุน?