ของมันต้องมี! 5 อาวุธที่ 5 “ชาร์คนักลงทุน” แนะนำให้ SME ไทยมีติดตัวไว้ฝ่าวิกฤติ

  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

SME ไทยวันนี้ต้องเผชิญวิกฤตที่ถาโถมและรุมเร้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปทุกอย่างแบบไม่ทันตั้งตัว แน่นอนว่าการฝ่ามรสุมและคลื่นพายุธุรกิจเหล่านี้ จะต้องมีอาวุธครบมือพร้อมกลยุทธ์การปรับตัวที่ทรงพลัง จึงจะทำให้ SME รายนั้นประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

คำถามคือ SME ควรมีอาวุธแบบไหนและต้องปรับตัวอย่างไร? หนึ่งในกลุ่มคนที่สามารถให้คำตอบได้ดีที่สุดคือ 5 ชาร์คนักลงทุนจากเวที “Shark Tank Thailand ซีซัน 3” (ชาร์คแทงค์ ไทยแลนด์) เพราะทั้ง 5 คนคือนักธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งจะผนึกกำลังร่วมสร้างประวัติศาสตร์การลงทุนครั้งใหม่ในผู้ประกอบการ SME  และสตาร์ทอัพไทย ผ่านรายการเรียลิตี้ชื่อดังระดับตำนานที่สร้างความสำเร็จมาแล้วใน 55 ประเทศทั่วโลก ความเชี่ยวชาญของทั้ง 5 คนในการจุดไฟธุรกิจของคนมีฝันให้เติบโตสำเร็จตามเป้าหมาย รวมถึงการมองขาดเรื่องคุณสมบัติครบเครื่องควรค่าแก่การร่วมทุน ทำให้ “ชาร์ค” ทั้ง 5 สามารถให้คำแนะนำที่ดีมากจากมุมมองเฉียบคม

บทสรุปสั้นๆ ของคำแนะนำที่สามารถเป็นอาวุธชั้นเลิศให้ผู้ประกอบการทุกคนนั้นอาจเป็นสิ่งที่หลายคนรู้กันอยู่แล้ว เช่น การจัดโครงสร้าง ความโปร่งใส การหมั่นทำ R&D การใช้เทคโนโลยี และการเตรียมพร้อม แต่เชื่อว่าอาจมีบางคนที่ยังเข้าไม่ถึงมุมมองแบบลึกและยาว ซึ่งจะถูกสะท้อนในหลายตอนของรายการ Shark Tank Thailand ซีซัน 3 ลิขสิทธิ์แท้จาก SONY ENTERTAINMENT ภายใต้การบริหาร Media Tank ด้วย

 

ปัญหาใหญ่ SME

หนึ่งในปัญหาของ SME ไทยที่ชาร์คทั้ง 5 คนเห็นพ้องต้องกัน คือการไม่ให้ความสำคัญหรือปล่อยปละละเลยเรื่องการทำบัญชีและดำเนินการเรื่องภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งหากไม่แก้ปัญหาที่คาราคาซังนี้ให้ได้ โอกาสที่จะนักลงทุนจะให้ความสนใจให้เม็ดเงินมาลงทุนยิ่งริบหรี่หรือเป็นศูนย์ นอกจากนี้ SME ไทยยังควรต้องมีคู่คิดที่ปรึกษาที่ดี เพื่อให้มีโครงสร้างการบริหารธุรกิจพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ

ชาร์คประพล มิลินทจินดา ประธาน People Park Community Mall อ่อนนุช ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและตลาดหลักทรัพย์ อธิบายปัญหาของ SME จากการมองภาพรวม SME ไทยว่าแบ่งออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ ยุคใหม่ที่ผู้ประกอบการไม่อยู่ในฐานะยากลำบากมากนัก เนื่องจากได้โอกาสเรียนรู้ในเรื่องการดำเนินธุรกิจมาพอสมควร แต่ยุคกลางถึงยุคเก่า จะมีความเหนื่อยยากมากในเรื่องกระบวนการ ตั้งแต่การลงบัญชี การดูแลต้นทุน โครงสร้างบริษัท รวมถึงระบบบริหารจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งหมด ขณะที่ส่วนใหญ่ 70% เป็นธุรกิจครอบครัว

“SME ไทยต้องมีที่ปรึกษาที่ดี ที่จะมาช่วยตั้งแต่วิธีคิด การจัดซื้อ การลงบัญชี การวิเคราะห์คู่แข่งขัน การบริหารความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์  ที่สำคัญมากเลยก็คือยังขาดความรู้เรื่องโครงสร้างการบริหารธุรกิจพื้นฐาน  เช่น ไม่มีระบบโครงสร้างทางบัญชีที่ได้มาตรฐาน และขาดการทำระบบสต็อกที่ได้มาตรฐานโดยใช้เครื่องมือไอทีเข้ามาช่วย”

หาก SME รายใดไม่ให้ความสำคัญกับการจัดโครงสร้างขององค์กรธุรกิจ SME รายนั้นจะไม่มีการจัดรูปแบบการทำงานของกิจการหรือธุรกิจ เช่น ไม่มีการกำหนดงานที่แต่ละคนต้องทำ รวมถึงงานที่หน่วยงานแต่ละหน่วยงานต้องรับผิดชอบ หรืออาจจะไม่มีการกำหนดสายการบังคับบัญชาว่าใครจะขึ้นตรงกับหัวหน้าคนไหน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงานของธุรกิจนั้นๆ

อีกเรื่องที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในองค์กรใหญ่ทั่วไป แต่ SME ไทยกลับไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร คือระบบบัญชี ประเด็นนี้ ชาร์คจิง-ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิทฯ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับแนวหน้าของประเทศ  ชี้ให้เห็นถึงเรื่องน่ากังวลของ SME ไทยว่าส่วนใหญ่อาจจะมีวิธีการลงงบบัญชีที่ไม่ถูกต้อง เช่น นำค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท แต่ถ้าต้องการปั้นให้ธุรกิจเติบโตขึ้น ก็อาจต้องมีหุ้นส่วนหรือนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะฉะนั้นจึงต้องทำบัญชีให้ถูกต้อง เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญมาก

“ลองคิดกลับกัน ถ้า SME สวมหมวกนักลงทุน จะกล้าลงทุนไหมกับบริษัทที่มีงบการเงินไม่ชัดเจน ดังนั้นต้องปวารณาตัวเองในการที่จะสะสางสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งหลายแล้วเสร็จ จัดการให้เรียบร้อย ไม่ควรจะตกม้าตายในเรื่องนี้”

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาของ SME ไทยที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วนคือ ขาดการวิเคราะห์ตลาด โดยเฉพาะการศึกษาคู่แข่ง และการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชาร์คทุกคนจึงต้องการจะกระตุ้นให้ SME ไทยตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้

ชาร์คเต้-ภูริต ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ทายาทรุ่นที่ 4 นักบริหารหนุ่มไฟแรง บอกว่าการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและของตลาดให้ได้ ไม่ใช่ตอบสนองความต้องการของเจ้าของธุรกิจ หรือนึกอยากจะทำอะไรก็ทำ

“จะต้องยึดผลวิจัยเป็นหลัก คิดแบบองค์กรใหญ่ถึงจะมีโอกาสเติบโตแบบองค์กรใหญ่ ไม่ใช้สัญชาตญาณ นอกจากนี้ การสร้างแบรนด์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ SME ไทยไปต่อได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ เพราะถือเป็นสินทรัพย์สำคัญของบริษัท” ชาร์คเต้ระบุ

สอดคล้องกับชาร์คประพลที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า SME ส่วนใหญ่มักมองด้านเดียว  คือมองแค่วิธีการที่จะขายของ ไม่ได้มองคู่แข่งขัน รวมถึงขาดทั้งนวัตกรรมและ R&D

“ยกเว้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่า ส่วนรุ่นกลางต้องปรับตัวแต่ใช้เวลาไม่มาก แต่ยุคเก่าจะลำบาก ต้องให้รัฐบาลช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ปรับตัวให้ได้ทั้งระบบ” ชาร์คประพลกล่าว

 

จัดโครงสร้าง-โปร่งใส-ทำ R&D-ใช้เทคโนโลยี-และเตรียมพร้อม!

นอกจากต้องให้ความสำคัญกับการจัดโครงสร้างขององค์กร (ธุรกิจ) และการทำทุกอย่างให้โปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ SME ยังต้อง “รู้เขา รู้เรา” ด้วยการศึกษาคู่แข่งให้รอบด้านโดยห้ามมองข้ามการวิจัยและพัฒนาหรือ R&D เด็ดขาด ที่สำคัญ ยุคนี้เป็นยุคที่ “เทคโนโลยี” เข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง SME ต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์

ชาร์คหมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท อุ๊คบี จำกัด (Ookbee) และผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks ให้คำแนะนำว่า​ปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจไอทีเท่านั้นที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด ๆ ก็ตามล้วนจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้วยกันทั้งสิ้น และด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยนี้ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจ

“ระบบบัญชี ระบบการเงิน มีซอฟต์แวร์ที่เข้าถึงได้ในราคาไม่แพง แบบจ่ายเป็นรายเดือน น่าจะทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรก ถ้าเป็นไปได้ไม่ต้องทำสองบัญชีแล้ว เพราะถ้าถูกต้องก็สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ง่ายกว่า เพราะทำให้มูลค่าบริษัทลดลงด้วยถ้าทำสองบัญชีหวังประหยัดภาษีนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ในระยะยาวไม่คุ้มค่า ถ้ามีระบบแล้วก็ควรนำเทคโนโลยีมาใช้บ้าง เช่น การตลาดออนไลน์ ซื้อโฆษณา รวมถึงแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มยอดขาย เช่น แอปเดลิเวอรี่ และมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ เป็นต้น”

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด SME ควรต้องรู้จักธุรกิจตัวเองอย่างลึกซึ้ง เตรียมพร้อม ขวยขวายหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอและปรับตัวให้เร็ว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและวิกฤติ เพราะการทำธุรกิจใด ๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายและวิกฤตต่าง ๆ ที่อาจจะมากล้ำกรายในอนาคต

“การขวนขวายและเรียนรู้ด้วยตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ แม้จะเป็นเรื่องยากที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เช่น เจ้าของธุรกิจที่ไม่จบการเงินก็จะเข้าใจเรื่องการเงินได้ยาก แต่ปัจจุบันนี้มีหลักสูตรที่สอนการเงินสำหรับคนที่ไม่ได้จบการเงินมาอยู่มากมาย โดยมากเป็นหลักสูตรระยะสั้น ใช้เวลาเรียนเพียง 4-5 วันเท่านั้น ก็จะทำให้มีความรู้ด้านบริหารการเงินแล้ว” ชาร์คจิงย้ำ

ขณะเดียวกัน ชาร์คจิงให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีกว่าไม่ว่าจะเป็นวิกฤตใดต้องมี Crisis Management (การบริหารจัดการในสภาวการณ์วิกฤต) เพราะการทำธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติและไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นทุกเมื่อ

ชาร์คกฤษน์ ศรีชวาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิโก้ กรุ๊ป และ บริษัท ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เสริมด้วยว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกของผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ คือต้องเข้าใจในธุรกิจของตัวเองอย่างถ่องแท้ และต้องตระเตรียมพื้นฐานของบริษัทให้พร้อมสำหรับนักลงทุน

“ปัญหาส่วนใหญ่ของ SME ไทยที่เจอคือความพร้อม บางคนพูดตัวเลขแต่ไม่เข้าใจว่าตั้งมูลค่าของบริษัทมาจากฐานอะไร ข้อบกพร่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ายังไม่มีความพร้อมในการลงทุน”

 

จะไปต่อได้ไกล ต้องใช้ทีมงานมืออาชีพ

ไม่ใช่อาศัยแต่ One Man Show แต่ SME ควรต้องลงทุนในทีมงานมืออาชีพ จึงจะสามารถไปต่อได้ไกล ซึ่งที่ผ่านมา SME ไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นธุรกิจครอบครัว การบริหารจัดการต่าง ๆ มักขึ้นอยู่กับเจ้าของเพียงคนเดียว หรือเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น แต่หากต้องการจะเติบโตในภายภาคหน้าอย่างยั่งยืน SME จำเป็นต้องสร้างทีมงานมืออาชีพมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ

“ถ้าอยากเติบโตอย่างแข็งแกร่ง  SME ต้องยอมลงทุนที่จะจ้างคนด้วยค่าจ้างที่แพง บริษัทใหญ่ ๆ จ้างเท่าไหร่ ต้องจ้างแพงกว่านั้น อาจไม่ต้องมีสวัสดิการเยอะกว่าบริษัทใหญ่ แต่ SME ต้องสู้ในเรื่องเงินเดือน เพราะคนทำงานยุคใหม่มองผลประโยชน์ที่อยู่ตรงหน้า แต่ก็ต้องคัดเลือกให้ดีว่าบุคลากรในฝ่ายไหนจะต้องจ้างแพง และจะจ้างแพงสักกี่คน ที่เหลือก็ต้องไปลดต้นทุน ลดคน ต้อง lean ให้ได้” ชาร์คจิงให้คำแนะนำ

หากทำได้ SME รายนั้นจะดึงดูดเงินลงทุนมาเลยได้หรือไม่? ชาร์คประพลอธิบายว่านอกจากจะพิจารณาโครงสร้างการลงทุนแล้ว นักลงทุนยังมองหาผู้ประกอบการรายเล็กที่ใจใหญ่ ฝันไกล แต่ยังขาดระบบที่ดี ส่วนตัวชาร์คประพลนั้นไม่ได้ดูที่รายใหญ่ และไม่ได้พิจารณารายที่มีรายได้เกิน 40-50 ล้านบาท เพราะถือว่าอยู่ได้โดยไม่ต้องให้ใครมาช่วย ยกเว้นว่าเป็นธุรกิจที่ “เซ็กซี่” ตกแต่งนิดเดียวก็เข้าตลาดได้

“ผมจะสนใจผู้ประกอบการที่มาแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่มีความตั้งใจจริง มีแรงบันดาลใจที่จะไปต่อ หรือมีใจบันดาลแรง ผมเน้นใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำให้เขาเติบโต 10 เท่า แต่เราได้แค่ 1-2 เท่าก็พอใจแล้ว”

ในประเด็นนี้ ชาร์คเต้กล่าวว่าส่วนตัวมองการลงทุนเป็นการทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่ลงทุนเพื่อให้ร่ำรวย ถือเป็นการลงทุนเพื่อให้รู้ว่าโลกกำลังหมุนไปในทิศทางนี้ ดังนั้นนักลงทุนควรต้องหัดเปลี่ยนแปลงและรู้เท่าทันว่าโลกไปถึงไหนแล้ว เทรนด์ในอนาคตเป็นแบบไหน และใครสามารถที่จะเดินตามโลกได้อย่างไร

“ที่สำคัญ การทำธุรกิจต้องติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง การเริ่มต้นที่ถูกต้องจะนำพาธุรกิจไปได้ไกล ดังนั้นเวลาเลือกลงทุนผมจะมองที่เจ้าของหรือซีอีโอว่ามีความจริงใจในการทำธุรกิจหรือไม่ เพราะการทำธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้นต้องตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรหมกเม็ด”

ด้านชาร์คจิงบอกว่ามีความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายไม่จำกัดเฉพาะในแวดวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งการฟังผู้ประกอบการพิชชิงดีลก็ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ของตัวเองเหมือนกัน หากเห็นว่าน่าสนใจก็อยากจะลงเงินเพื่อที่จะช่วยให้ธุรกิจนั้นเติบโตต่อไป ซึ่งก็เป็นการไดเวอร์ซิฟายด์ธุรกิจของไทยซัมมิทไปในตัว

 

Shark Tank Thailand ซีซัน 3 สะท้อนฉลามอ่าวไทย ไม่ชอบเขมือบ

การมองขาดเรื่องปัญหาและสิ่งที่ SME ต้องเติมให้เต็มเหล่านี้มาจากสายตาของ 5 ชาร์คนักลงทุนจากรายการ Shark Tank Thailand ซีซัน 3 ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังที่จะแสวงหาผลกำไรแบบเอาเป็นเอาตายจากการปิดดีล  แต่เน้นให้โอกาส และสนับสนุน เพื่อต่อยอดธุรกิจ SME ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“ฉลามน่านน้ำอ่าวไทยไม่เหมือนที่อื่น เราไม่ได้ขย้ำเพื่อจะกินเหยื่อ ชาร์คไทยเน้นการให้กำลังใจและสนับสนุนมากว่าจะไปตักตวงผลประโยชน์ เราต้องการโอบอุ้มและช่วยฟูมฟักให้เติบโตและยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว” ชาร์คประพลอธิบาย

วันนี้ รายการ Shark Tank Thailand ซีซัน 3 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น สามารถมอบทั้งเงินทุน มุมมอง และความรู้เพื่อให้ SME ไทยยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว รายการนี้จึงเป็นรายการเรียลลิตี้ประเภทธุรกิจยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก ในเวอร์ชันฉลามในน่านน้ำอ่าวไทยที่มีใจโอบอ้อมอารี

ที่ผ่านมา รายการเริ่มออกอากาศตอนแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565 ทางช่อง 7HD กด 35 เวลา 13 .30 น. จุดยืนของรายการคือมุ่งสนับสนุนนักธุรกิจโดยเฉพาะ SME ไทยที่ต้องการความช่วยเหลือจากนักลงทุนที่มีประสบการณ์ ที่พร้อมให้การสนับสนุนแบบรอบด้าน ตรงนี้น่าจับตาอย่างมากว่าอนาคตของ Shark Tank Thailand จะต่อยอดไปในทิศทางใด เพราะนอกเหนือจากรายการสาระบันเทิง (Edutainment) อย่างแท้จริงแล้ว เราอาจจะได้เห็นคอลเซ็นเตอร์ให้คำปรึกษาธุรกิจ การจัดอบรมสัมมนาชาร์คแทงค์ และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์ Shark Tank ในฐานะตัวจริงในแวดวงธุรกิจและการลงทุน.

 

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของรายการ Shark Tank Thailand ได้ที่
Website : https://www.sharktankthailand.com
Youtube : https://www.youtube.com/c/MEDIAtank
Facebook : https://www.facebook.com/sharktankTH
Instagram : https://www.instagram.com/sharktankthailand/
TikTok : https://www.tiktok.com/@sharktankthailand

#sharktank #sharktankthailand #mediatank


  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •