เปิดโลก Influencer Marketing กลยุทธ์การตลาดที่ยิงตรงกลุ่มเป้าหมายแบบ Sniper ผ่านมุมมองของ Influencer Agency และ Creator แถวหน้าจาก 5 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก

  • 35
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนไปอย่างมากมาย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมของการทำโฆษณาและการตลาดที่ต้องก้าวมาสู่โลกดิจิทัลมากยิ่งขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดแนวทางในการสื่อสารการตลาดที่นับว่าเติบโตขึ้นมากที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ Influencer Marketing ซึ่งกลายเป็นอีกช่องทางในการทำการตลาดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนี้ และแน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังเกิดขึ้นไปทั่วโลกด้วย

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้คุณสุวิตา จริญวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore Thailand ผู้นำแพลทฟอร์มด้าน Influencer Marketing ของไทย และผู้จัดงาน Thailand Influencer Awards 2022 (TIA2022) เชิญผู้บริหารเอเจนซีที่ทำเรื่องอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำจาก 5 ประเทศ พร้อมด้วยอีก 1 ครีเอเตอร์แนวหน้าจากประเทศอินโดนีเซีย มาร่วมเสวนาเปิดโลก Influencer Marketing ที่กำลังเติบโตขึ้นยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ Influencer ประสบความสำเร็จ การเลือก Influencer มาร่วมงาน มาตรฐานราคา รวมไปถึงอนาคตของอุตสาหกรรม Influencer Economy ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วยความเห็นจากท่านเหล่านี้

สุวิตา จรัญวงศ์ CEO of Tellscore, Thailand และผู้จัดงาน TIA2022
อาเจง เฟบริอันติ (Ajeng Febrianti) Community Manager, Tellscore, Indonesia
เมซี่ เคมาลา (Meissie Kemala), Rising star TikToker, Indonesia
เด้ช สิงห์ (Detch Singh) CEO of Hypetap, Australia
ราเด้ ทัมปูโบลอน (Rade Tampubolon) CEO of SociaBuzz, Indonesia
ยูเว็น ฟุง (Yuhwen Foong) CEO of SushiVid, Malaysia
เอซ กาปุซ (Ace Gapuz) CEO of Blogapalooza, the Philippines

 

 

พฤติกรรมและความคาดหวังของ Audience ที่เปลี่ยนแปลงไป

หากพูดถึงเหตุผลที่ทำให้ Influencer Marketing ประสบความสำเร็จในยุคนี้สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยคุณยูเว็น ฟุง (Yuhwen Foong) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง SushiVid เอเจนซี่อินฟลูเอนเซอร์แนวหน้าจากประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า ในอดีตผู้คนอาจไม่มีทางเลือกในการรับสื่อมากนัก เช่นทีวีที่มีช่องให้เลือกแค่ไม่กี่ช่อง แต่ในปัจจุบันผู้ชมสามารถที่จะเลือกเลื่อนผ่านสิ่งที่เราไม่ต้องการจะดูได้แล้วดังนั้นนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ Influencer Marketing ประสบความสำเร็จ เนื่องจากดึงดูดผู้ชมได้มากกว่า

ด้านคุณเด้ช สิงห์ (Detch Singh) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Hypetap เอเจนซี่อินฟลูเอนเซอร์จากประเทศออสเตรเลีย พูดถึงเรื่องของความคาดหวังจาก Audience ที่จะได้ชมผลงานจากบรรดา Creator ที่เกิดขึ้นว่าสิ่งนี้เป็นเหตุผลให้การทำโฆษณาต้องถูกนำโดย Creator เหล่านี้

“สิ่งสำคัญคือเรื่องของความคาดหวังของ Audience ที่เกิดขึ้นกับ Content ที่ผลิตโดย Creator ดังนั้นหากคุณเป็นแบรนด์ และต้องการให้สินค้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ก็จะต้องเตรียมตัวในเรื่องนี้ไว้” เด้ช (Detch) ระบุ

 

คุณเด้ช สิงห์ (Detch Singh) CEO of Hypetap, Australia

 

Sniper ในโลกการตลาด

Influencer Marketing ยังมีความได้เปรียบจากการทำการตลาดแบบเดิมๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นทางเลือกที่มากขึ้นรวมถึงราคาที่ Marketer สามารถมีอำนาจต่อรองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งคุณราเด้ ทามปูโบลอน (Rade Tampubolon) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง SociaBuzz แพลตฟอร์ม Influencer Tipping & Monetization ชั้นนำจากประเทศอินโดนีเซีย เล่าว่า ในอดีตการสื่อสารทางการตลาดทำได้แบบ One Way และทำได้กับสื่อที่มีทางเลือกจำกัด แต่ปัจจุบันในยุคของ Social Media สามารถทำการตลาดด้วย Influencer Marketing ที่มีตัวเลือกไม่จำกัด อีกข้อดีก็คือเรื่องของราคาที่ Advertiser มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ต่างจากในอดีตบริษัทสื่อมีอำนาจต่อรองมากกว่าทำให้ตั้งราคาได้สูงได้

“มันไม่เหมือนกับการ Spray and pray แบบในอดีตอีกต่อไป แต่ในยุคนี้จะเป็นเรื่องของการใช้ Sniper แล้ว” ราเด้ (Rade) ระบุ

 

คุณราเด้ ทัมปูโบลอน (Rade Tampubolon) CEO of SociaBuzz, Indonesia

 

ความเชื่อมั่นและการตลาดแบบปากต่อปาก

อาเจง เฟบริอันติ (Ajeng Febrianti) Community Manager จาก Tellscore ประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่า Influencer Marketing ก็เหมือนกับการตลาดปากต่อปากที่เราคุ้นเคยกันมานาน ในอดีตเราคุ้นเคยกับการแนะนำสินค้าให้กับคนที่รู้จักบอกต่อกันไปในกลุ่มเพื่อนและครอบครัว มาในปัจจุบันเมื่อสื่อสังคมออนไลน์ได้รับความนิยมผู้คนก็จะรับคำแนะนำจากคนที่เราชื่นชอบ แบ่งปันเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้ รีวิวสินค้า และข้อมูลต่างๆ มาให้เรา ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ Influencer Marketing ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต

 

คุณอาเจง เฟบริอันติ (Ajeng Febrianti) Community Manager, Tellscore, Indonesia

 

ด้านคุณสุวิตา จรัญวงศ์ จาก Tellscore ประเทศไทย ยังพูดถึงสิ่งสำคัญอีกเรื่องของ Influencer Marketing ก็คือ Authentication ที่สามารถตรวจสอบตัวตนของบรรดา Influencer ได้ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น ผู้ติดตามที่รู้จัก Influencer จึงเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อสารที่บรรดา Influencer สื่อออกมาและทำให้การตลาดวิธีนี้ได้ผล

 

Influencer Marketing สามารถเก็บ Data ได้

คุณสุวิตา เสริมถึงข้อดีของ Influencer Marketing เป็นเรื่องของ Data ที่บรรดา Influencer ต่างๆ ก็สามารถเห็นข้อมูลของบรรดาผู้ติดตามจากแพลทฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ได้เช่นกันซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์โดยเฉพาะในยุคที่เริ่มมีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่จะทำให้ Third Party Data หายไปจำนวนมาก

“สำหรับข้อมูลของบรรดา Follower ของ Influencer ในโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นแพลทฟอร์มที่สามารถเก็บข้อมูลผู้ใช้งานได้และเราก็สามารถติดตาม Influencer และ follower ที่ให้ความสนใจในตัวแบรนด์ได้ด้วย” คุณสุวิตา ระบุ

 

หลักการเลือก Influencer จากบรรดาเอเจนซี่

คุณเอซ กาปุซ (Ace Gapuz) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Blogapalooza เอเจนซีชื่อดังจากประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่าสำหรับ Blogapalooza มีวิธีการเลือกที่หลากหลายนอกจากเรื่องเชิงประจักษ์อย่างลักษณะเฉพาะของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงถิ่นที่อยู่ที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศเกาะแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องของความคิดเห็นส่วนตัวด้วยเช่นกัน

“เราอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มา 11 ปี เราทำงานกับ Influencer มาหลากหลายรูปแบบ หลายหลายบุคคลและต้องใช้วิธีการทำงานหลากหลายวิธีเช่นกัน แน่นอนว่าคุณก็ไม่ต้องการทำงานกับคนที่ทำให้งานคุณยาก นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นด้วย” คุณเอซ ระบุ

 

คุณเอซ กาปุซ (Ace Gapuz) CEO of Blogapalooza, the Philippines

 

คุณเด้ช (Detch) เสริมว่าสำหรับที่ออสเตรเลียนั้น HypeTap มีขั้นตอนที่ชัดเจนคือ แบรนด์หรือสิ่งที่จะถูกสื่อสารออกไปจะต้องเชื่อมโยงกันได้เช่น Influencer รายนี้มีความเชื่อมโยงกับแบรนด์อย่างไร พูดถึงบ่อยแค่ไหน ต่อมาจะดูที่ Data ว่าข้อมูลของผู้ติดตามนั้นสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์หรือไม่ นอกจากนี้ยังพิจารณาเรื่องของ Brand Safety หมายถึงว่าจะต้องเลือก Influencer ที่จะไม่พูดถึงแบรนด์ในแง่ลบ หรือพูดสิ่งที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบกับแบรนด์ได้

คุณราเด้ (Rade) แชร์ด้วยว่าบางครั้งนอกจากการเลือก Influencer ให้ตรงกับจุดประสงค์ของแบรนด์แล้วสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญก็คือลูกค้าที่บางครั้งอาจไม่เข้าใจวิธีการเลือก Influencer เช่นกรณีที่เอเจนซีเสนอ Influencer แบบ Medium Size และ Micro Size ไปให้เพื่อสื่อสารสู่กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ แต่ผู้บริหารแบรนด์อาจอยากได้คนที่เป็นเซเลปซึ่งอาจไม่สามารถสื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมายนัก ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เอเจนซีต้องทำให้ลูกค้าได้เรียนรู้ร่วมกัน

 

Influencer ก็เลือกแบรนด์ได้

นอกจากแบรนด์ และเอเจนซีที่จะเป็นฝ่ายเลือก Influencer แล้ว Influencer เองก็สามารถที่จะเลือกแบรนด์ที่จะร่วมงานได้ด้วยเช่นกัน โดยคุณเมซี (Meissie Kemala) เจ้าของช่อง TikTok ชื่อดัง (Tiktok.com/@itsmeissie) ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 5 ล้านคน จากประเทศอินโดนีเซีย เล่าว่า Tellscore ในอินโดนีเซีย จะมีการสอบถามก่อนว่าสนใจที่ร่วมงานในแต่ละแคมเปญหรือไม่ ซึ่งตนก็จะตรวจสอบแบรนด์ก่อนว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ติดตามของตนหรือไม่ หากไม่ก็สามารถปฏิเสธได้ แต่ถ้าแบรนด์มีความเชื่อมโยงกับคอนเทนต์และผู้ติดตามก็จะตัดสินใจร่วมงานด้วย

นอกจากนี้คุณเมซี ยังเล่าถึงการทำงานร่วมกับเอเจนซีด้วยว่าตนสามารถดูข้อมูล Analytic ของ TikTok ได้ด้วยว่า ผู้ชมชื่นชอบคอนเทนต์ที่ทำไหม และสามารถมี Feedback ไปยังแบรนด์ได้ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้สามารถสร้างคอนเทนต์เพิ่มเติมตามความต้องการของผู้ชมได้อีกมากมายและก็นับว่าเป็นการทำงานร่วมกันกับทั้งเอเจนซีและแบรนด์ร่วมกัน

 

Influencer หรือครีเอเตอร์ในอุดมคติ

คุณเมซี (Meissie) เล่าถึงมุมมองของการเป็น Influencer ที่ดีว่าจะต้องมีความสม่ำเสมอ นำเสนออย่างจริงใจและไม่จัดฉาก ทำทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติและเป็นตัวของตัวเอง และต้องไม่ขายของมากจนเกินไป ขณะที่มุมของเอเจนซีเองก็มีหลากหลายมุมมอง เช่นเรื่องของความตระหนักรู้ที่ว่าตนเองนั้นมีอิทธิพลต่อคนดูดังนั้นจะต้องมีความเป็นมืออาชีพและมีความรับผิดชอบด้วย

 

คุณเมซี่ เคมาลา (Meissie Kemala), Rising star TikToker, Indonesia

 

“ทั้งเรื่องของความปลอดภัย ไม่ Over Claim เวลาโปรโมทอะไรจะต้องมีความเป็นมืออาชีพเมื่อร่วมมือกับแบรนด์ และเราอยากได้ Influencer ที่สามารถแบ่งปัน Insight ของผู้ติดตามให้กับเราและลูกค้าเราได้” อาเจง (Ajeng) จาก Tellscore อินโดนีเซียระบุ

ด้าน คุณยูเว็น (Yuhwen) จาก SushiVid มาเลเซียระบุว่า Influencer ที่ดีในมุมเอเจนซีก็คือ Influencer ที่เข้าใจว่าแบรนด์ต้องการอะไรไม่ใช่แค่รับบรีฟไปแล้วก็ทำตามเท่านั้น

“ควรที่จะต้องย่อยข้อมูลและคิดว่าเป้าหมายของแบรนด์ที่แท้จริงคืออะไร Influencer อายุน้อยหลายๆ คนโดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 20 สำหรับพวกเขาจะมองว่าเป็นรายได้พิเศษ พวกเขาไม่ค่อยจะสนใจมากนัก แต่หากใครที่ทำได้ก็จะถือว่าโดดเด่นออกมาเลย” ยูเว็น (Yuhwen) ระบุ

 

คุณยูเว็น ฟุง (Yuhwen Foong) CEO of SushiVid, Malaysia

 

ขณะที่คุณสุวิตา พูดถึงคุณสมบัติที่นำมาใช้ในการให้คะแนนเพื่อนจัดอับดับ Thailand Influencer Awards ที่มีการประกาศผลไปเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาว่ามีด้วยกัน 5 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ความสามารถในการเล่าเรื่อง” ที่ทำได้กับหลากหลายช่องทาง อีกเรื่องคือ “Performance” ที่สามารถสร้าง Impact ทำให้เป็นไปตามเป้าหมายของแบรนด์ได้ ซึ่งก็ต้องเป็นผลมาจากความจริงใจในการนำเสนอ เรื่องที่สามคือ “โอกาสที่จะเติบโตต่อไป” หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่มีโอกาสที่จะอยู่ต่อไปในระยะยาว และสุดท้ายเป็นเรื่องของ “ความใส่ใจต่อสังคม” ที่จะต้องมีความใส่ใจทั้งกับผู้ติดตาม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นมุมมองของความยั่งยืนนั่นเอง

 

เงื่อนไขการกำหนดราคา Influencer

ในโลกของ Influencer Marketing นั้นเรื่องที่หลายคนอาจไม่เข้าใจก็คือเงื่อนไขของการกำหนดราคาที่แตกต่างจากการทำการตลาดในช่องทางอื่นๆ โดย Rade เปิดเผยว่า บางครั้ง Influencer ที่มีผู้ติดตาม 100,000 คนเหมือนกันแต่ราคาก็อาจแตกต่างกันได้ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น Influencer บางครั้งก็จะดูว่าแบรนด์นั้นเป็นบริษัทใหญ่ กลาง หรือเล็ก ซึ่งก็จะมีกรณีที่ Influencer จะคิดราคา Premium กับบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่จะคิดราคาที่ถูกกว่ากับบริษัทขนาดกลางหรือขนาดเล็กเพื่อให้การสนับสนุนคนทำธุรกิจรายย่อย

ด้านเด้ช (Detch) ระบุว่านอกจากความต้องการของฝั่ง Influencer แล้วยังมีเรื่องสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดราคาในการทำ Influencer Marketing ด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบของ Content ว่าจะทำ จะเป็นแบบยาว แบบสั้น เป็นวิดีโอ หรือเป็นภาพนิ่งซึ่งจะมีราคาที่แตกต่างกันไป อีกเรื่องคือการใช้งาน Content เหล่านั้นว่าจะมีการดัดแปลงไปใช้ในสื่ออื่นๆ หรือไม่ และสุดท้ายคือเรื่องของ Exclusivity หรือการที่แบรนด์เลือกให้ Influencer ร่วมงานกับแบรนด์แบบ Exclusive ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

คุณเอซ (Ace) เสริมด้วยว่าในฟิลิปปินส์ จะมีเรื่องของ Star Factor เข้ามาเกี่ยวข้องกับราคาของ Influencer ด้วยหมายถึงว่า แม้ Influencer รายนั้นจะมีผู้ติดตามไม่มากนัก แต่หากเป็นคนที่เคยปรากฏในสื่อดั้งเดิมเช่นทีวี มาก่อนแล้วแม้จะมีผู้ติดตามในสื่อสังคมออนไลน์ไม่มากแต่ก็สามารถเรียกราคาที่สูงกว่าได้

ขณะที่คุณเมซี (Meissie) เล่าถึงมุมมองจากฝั่งของ Influencer ว่าการตั้งราคานั้นเป็นเรื่องที่แล้วแต่บุคคล ขึ้นอยู่กับว่า Creator ให้คุณค่ากับวิดีโอนั้นๆ แค่ไหน นอกเหนือจากนั้นแล้วสำหรับตนยังคิดถึงเรื่องของต้นทุนของการผลิตชิ้นงานด้วย

“เช่นถ้าลูกค้าอยากให้ทำอาหารก็ต้องไปซื้อวัตถุดิบต่างๆ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องเตรียมนั่นก็จะถูกคิดรวมไปด้วยในแต่ละแคมเปญ และอีกเรื่องก็คือเรื่องเกี่ยวกับ แบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก ที่ฉันมักจะให้ราคากับแบรนด์เล็กที่ถูกกว่า แบรนด์ใหญ่” เมซี (Meissie) ระบุ

 

ความท้าทายของ Influencer Marketing

ปัจจุบันด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลกส่งผลให้เกิดความท้าทายไปทุกอุตสาหกรรม แน่นอนว่าย่อมกระทบกับอุตสาหกรรมนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณสุวิตา มองว่าปัจจุบันความต้องการทางการตลาดขยับลงมาที่ด้านล่างของ Marketing Funnel มากยิ่งขึ้น ต้องการกระตุ้นยอดขายตั้งแต่ตัว Content จากครีเอเตอร์เลยทันที ซึ่งจริงๆ แล้วการสร้างยอดขายนั้นยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องสร้างความเข้าใจกับลูกค้า

คุณเอซ (Ace) จากฟิลิปินส์ เสริมว่า สิ่งที่ต้องระลึกเสมอก็คือ Influencer Marketing นั้นไม่ใช่ยาวิเศษ ที่จะสร้างยอดขายถล่มทลายให้กับแบรนด์ที่คิดจะทำได้ทันที นี่คือสิ่งที่เอเจนซี่น่าจะเคยประสบกับลูกค้าที่คิดว่า Influencer Marketing จะทำทุกอย่างให้ แต่ Influencer นั้นเป็นเพียงส่วนสำคัญของการทำ Marketing เท่านั้น

“Influencer อาจจะสามารถสื่อสารไปสู่ผู้คนได้มากแต่ถ้าสินค้าคุณไม่อยู่บนชั้นวางล่ะ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นตอนเช็กเอาท์เวลาซื้อสินค้าออนไลน์ล่ะ ดังนั้นฉันคิดว่า Influencer marketing จะเติบโตขึ้นแต่ก็จำเป็นต้องมีปัจจัยอื่นๆ มาเสริมด้วยซึ่งนั้นก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งของเรา” คุณเอซ (Ace) ระบุ

ด้านคุณ ยูเว็น ฟุง (Yuhwen Foong) จากมาเลเซีย ระบุว่าสำหรับตนความท้าทายเกิดขึ้นทุกวันตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจนี้แล้วเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกๆ วัน อย่างไรก็ตามซีอีโอ SushiVid ยืนยันว่าการใช้จ่ายกับ Influencer Marketing จะยังคงมีต่อไปอย่างแน่นอน เพราะเป็นการสื่อสารที่เป็นธรรมชาติกับคนฟังมากที่สุด

“แค่คุณมีเงิน 100 ดอลลาร์คุณก็สามารถทำ Influencer Marketing ได้แล้ว คุณจะมี 1,000 หรือ 10,000 คุณก็สามารถทำได้ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่เหมือนกับโฆษณา TV หรือ Billboard” คุณยูเว็น (Yuhwen) ระบุ

ด้านเมซี (Meissie)  พูดถึงความท้าทายในฐานะ Influencer ด้วยว่าเป็นเรื่องของการที่ต้องปรับตัวตลอดเวลาเพราะสื่อสังคมออนไลน์นั้นใหญ่ขึ้นในทุกๆ วันอย่าง TikTok เองก็เริ่มพัฒนาขึ้นมามี TikTok Shop ดังนั้นก็ต้องวางแผนพร้อมกับไอเดียใหม่ๆ และแน่นอนว่าในฐานะ Influencer ก็ต้องทำงานกับหลายๆ แบรนด์ นั้นก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่จะต้องหาไอเดียใหม่ๆ เช่นกัน

 

 

ความต้องการแบบ Cross-Border ที่เพิ่มขึ้น

การเติบโตของอุตสาหกรรมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความต้องการในการทำงานแบบข้ามประเทศมากขึ้นด้วยในปัจจุบัน โดยคุณสุวิตา เล่าถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้หลายธุรกิจจะถูก Disrupt แต่ก็เป็นโอกาสให้อีกหลายๆ แบรนด์สร้างตัวขึ้นมาได้ และแบรนด์เหล่านี้ก็เกิดมาในยุคของการแพร่ระบาด เกิดมากับความเป็นดิจิทัล สิ่งแรกที่พวกเขาคิดถึงก็คือจะทำตลาดดิจิทัล และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับตลาดในประเทศอื่นๆ เช่นกันที่ต้องการเข้ามาทำตลาดในไทยด้วยไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นสาย Education Tech รวมไปถึง Health Tech ก็เริ่มสนใจทำตลาดแบบ Cross-Border แล้ว

“ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นบริษัทหลายๆ บริษัทเริ่มมีแอปพลิเคชั่นต่างๆ  เช่นแอปเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษาที่ทำให้เราเข้าใจว่า Education Tech ที่สอนภาษาอังกฤษในมาเลเซีย มันก็ง่ายที่จะเข้ามาทำตลาดในไทย เหมือนกันกับ Heath Tech ที่สามารถทำให้เกิด Tele Medicine ในไทยได้และมีการพิสูจน์มาแล้ว พวกเขาก็ต้องการเข้าสู่ตลาด Indonesia ซึ่งก็ได้มีการปรึกษาเราถึงแนวทางการทำตลาดในอินโดนีเซีย” คุณสุวิตา ระบุ

 

อนาคต ของ Influencer Marketing

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คำถามก็คืออนาคตของ Influencer Marketing จะเป็นเช่นไร ในเรื่องนี้ คุณสุวิตามองว่าอุตสาหกรรมนี้สามารถยืนอยู่และเติบโตได้แม้จะเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างที่ผ่านมา นอกจากนี้คุณสิวิตา ยังเน้นย้ำถึงการที่ผู้คนใน Community นี้จะช่วยกันสร้างและทำให้วงการนี้เติบโตต่อไป

“มันไม่ใช่เรื่องอัตโนมัติที่สื่อสังคมออนไลน์จะเติบโต มันเกี่ยวกับคนในวงการนั้นๆ ต่างหากที่จะช่วยกันสร้าง การเติบโตจะเกิดขึ้นหากเราช่วยกันเอาใจใส่ ซึ่งแน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็เป็นอีกเงื่อนไขที่เราจะต้องปรับตัว” คุณสุวิตา ระบุ

นอกจากนี้สิ่งเป็นเหมือนกับอนาคตที่มาถึงแล้วก็คือเรื่องของ Virtual Influencer ที่ซีอีโอ Tellscore ประเทศไทย ระบุว่า ในประเทศไทยเรามี virtual Influencer แล้ว 13 คนด้วยกัน ซึ่งนั่นนับว่าเป็นจำนวนที่มากสำหรับประเทศที่มีประชากร 60-70 ล้านคนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรมดิจิทัลของคนไทยที่ขับเคลื่อนด้วย Social Media

 

Influencer Maketing ยังคงอยู่ตราบใดที่มนุษย์ยังเล่าเรื่องราว

คุณราเด้ (Rade) ซีอีโอ SociaBuzz อินโดนีเซีย มองว่า Influencer Marketing จะยังคงอยู่ต่อไปตราบใดที่มนุษย์ยังคงบอกเล่าเรื่องราว สร้างคอนเทนต์อย่างสร้างสรรค์ดังนั้น Influencer Marketing จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน

“เราจะยังคงสร้างคอนเทนต์ ที่มีคุณค่าให้ผู้คนได้ดูกันต่อไปไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันข้อมูล มีส่วนร่วมระหว่างกัน ผมไม่คิดว่ามันจะหายไป ไม่จนกว่าจะมีหุ่นยนต์มาแทนที่มนุษย์ ดังนั้นตราบใดที่ยังมีมนุษย์ Influencer Marketing ก็จะยังคงอยู่คุณราเด้ (Rade) ระบุ

คุณเอซ (Ace)  ซีอีโอ Blogapalooza ฟิลิปปินส์ปิดท้ายว่าสิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้ก็คือบรรดา Creator จะพัฒนาตัวเองกลายเป็นบริษัทสื่อด้วยตัวเอง พร้อมทั้งยืนยันว่า Influencer Marketing จะยังคงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่อารยะธรรม Storytelling ที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนานยังดำรงอยู่

“แน่นอนว่าเราไม่สามารถมั่นใจอะไรได้ จะมีสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป จะมีแพลทฟอร์มใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ บางทีคนอาจจะฉลาดขึ้น อาจมีวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ แต่แกนหลักก็คือ Storytelling จะทำให้อุตสาหกรรมนี้คงอยู่ไปอีกยาวนานเอซ (Ace) ระบุ

 

 

และนั่นก็คือโลกของ Influencer Marketing ที่มาจากมุมมองของผู้คร่ำหวอดในวงการจาก 5 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ที่ทำให้มองเห็นถึงการเติบโตและช่องทางในการทำการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคนี้ นอกจากนี้ยังจะเป็นโอกาสให้แบรนด์ไทยที่ต้องการบุกตลาดต่างประเทศ ได้ใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารการตลาดด้วย Influencer Marketing อย่างชาญฉลาดและทำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด


  • 35
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE