อาจารย์จุฬาฯ ฟันธง! เครื่องจักรไม่มีวันแทนที่มนุษย์ นี่คือยุค Learning machine ไม่ใช่ Machine Learning

  • 12.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

เป็นเรื่องที่ทำให้หัวใจ “มนุษย์โลก” พองโตที่สุด ในยุคดิจิทัลเข้ามาเขย่าขวัญสั่นประสาทในทุกวงการ ทุกสาขาอาชีพ

ว่ากันว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาแทนที่แรงงานคน จนทั้งโลกเกิดมายาคติ วาดฝันไปถึงวันที่ มนุษย์จะพาตกงานบานสะพรั่ง

Tesco Lotus A place to get on 01

ความคิดดังกล่าวอาจต้องเปลี่ยนไป เมื่อรับฟังสิ่งที่ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดไว้ในการเปิดตัวโครงการพัฒนาบุคลากร Personalized Learning for 4.0 Workforce  จัดโดย เทสโก้ โลตัส ร่วมกับภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย 4 แห่งทุกภูมิภาค ทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่เหมาะกับแรงงานและองค์กรในธุรกิจค้าปลีกยุค 4.0 ที่มีความต้องการที่เปลี่ยนไป

หลายคนพยายามหาคำตอบว่า อนาคตทักษะอะไรที่จำเป็นสำหรับตลาดแรงงานในยุค 4.0 ที่ดิจิทัลเข้ามาแทนที่ทุกเรื่องในชีวิต  เรื่องนี้แม้จะตอบยาก แต่ก็มีคำตอบคือ ทักษะที่หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้  ที่ผ่านมามีข้อมูลจากงานวิจ้ยของแมคแคนซีออกมาแสดงให้เห็นว่า เครื่องจักรจะเข้ามาแทนมนุษย์ได้เพียง 5% เท่านั้น

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีทักษะอีกมากมายที่เครื่องจักรทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางสังคม ความสามารถในทักษะที่หลากหลายหรือมัลติสกิล  ซึ่งไม่ใช่ความหมายในยุค 4.0 ที่ผู้คนเข้าใจว่ามีแต่เรื่องความก้าวหน้าในด้านนวัตกรรม หรือเทคโนโลยี

“ยุค 4.0 ที่พูดกันในปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มีเรื่องอายุขัยมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะคนจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น  จากงานวิจัยจะพบว่าทุกๆ 10 ปี อายุเฉลี่ยของคนจะเพิ่มขึ้น 2 ปี การทำงานในปัจจุบันจึงไม่ได้จบแค่อายุ 60 ปี แต่กำลังจะยาวนานออกไป ซึ่งมีความจำเป็นที่บุคลากรจะต้องมีการเรียนรู้แบบ Life Long Learning มนุษย์ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Learning Machine เพื่อรับมือกับ Machine Learning”

ตัวเลขอายุขัยเฉลี่ยที่พบล่าสุด ของผู้ชายทั่วโลกจะอยู่ที่ 90 ปี (ชายไทยอยู่ที่ 80 ปี) ส่วนผู้หญิงจะอยู่ที่ 80 ปี (ผู้หญิงไทยอยู่ที่ 70 กว่าปี) ดังนั้น รศ.ดร.พสุ จึงย้ำถึงการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับแรงงานในยุคสมัยใหม่ที่จะต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีอายุเท่าใดก็ตาม

Tesco Lotus A place to get on 02

“ทักษะสำคัญคือมัลติสกิล ซึ่งความยากของทักษะนี้ คือเราต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่า …เราไม่เก่ง… และพร้อมเรียนรู้  อันนี้เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง โดยโครงการพัฒนาบุคลากร ‘Personalized Learning for 4.0 Workforce’  ของเทสโก้ โลตัส เป็นรูปแบบหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาที่เข้ามาตอบโจทย์ยุคแห่งการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะมัลติสกิล”

นางอรกานดา อรรถวิภัชน์  ประธานกรรมการฝ่ายทรัพยากรบุคคล  เทสโก้ โลตัส กล่าวเสริมว่า “หัวใจของการรับมือกับความท้าทายของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบันและอนาคต คือ พนักงานและองค์กรต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สิ่งที่เรียนรู้ในวันนี้ อาจจะไม่สามารถใช้ได้ในวันพรุ่งนี้ ฉะนั้น การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพพนักงานต้องไม่มีวันหยุดนิ่ง เทสโก้ โลตัส ในฐานะองค์กรที่มีการจ้างงานพนักงานประจำและชั่วคราวกว่า 50,000 คน ให้ความสำคัญกับการให้โอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกเจนเนอเรชั่น โดยต้องตอบโจทย์ความต้องการของแรงงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์องค์กรด้วย เพื่อที่พนักงานจะสามารถนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนได้ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพแรงงานของไทยโดยรวมด้วย”

รศ.ดร.พสุ  กล่าวอีกว่า “โครงการพัฒนาบุคลากรของเทสโก้ โลตัส โปรแกรมนี้ถือว่า ตอบโจทย์ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน เนื่องจากกรณีศึกษาจริงๆ อยู่ในภาคธุรกิจ การเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างการเรียนการสอนที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เรียนซึ่งเป็นพนักงานระดับหัวหน้างานและบริหารในโปรแกรมนี้ หลายเคสสามารถนำกลับไปใช้ในการสอนได้เลย”

อนาคตข้างหน้า ปัญญาประดิษฐ์ AI หรือเทคโนโลยีสุดล้ำ อาจไม่น่ากลัวเท่ากับ “การหยุดที่จะเรียนรู้”

เพราะเวลากำลังพาทุกคนเข้าสู่ยุค Learning machine ไม่ใช่ Machine Learning


  • 12.8K
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE