วัดลมหายใจ SME ไทย TMB Analytics เปิดตัวเลขความเชื่อมั่นรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ต้องปรับตัวใช้ Tech ปูทางเข้าตลาดออนไลน์สู้ต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

  • 6
  •  
  •  
  •  
  •  

“ความก้าวหน้าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้แก่ธุรกิจ SME ได้ นอกจากนี้ความเชื่อมั่นเรื่องของรายได้ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จะเป็นโอกาสให้ภาครัฐ ใช้เรื่องนี้เป็นจุดแข็ง เพราะเป็นคนกลางที่มีข้อมูลทางธุรกิจจำนวนมาก เข้าไปเป็นผู้ช่วยเชื่อมโยงจับคู่ธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ SME ในประเทศ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ SME เชื่อมกับ Supply Chain ในอันที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนอีกส่วนหนึ่งด้วย” คุณเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) พูดถึงดัชนีความเชื่อมั่น TMB-SME Sentiment Index ในไตรมาสที่ 4/2560

ทั้งนี้ TMB Analytics ได้เปิดเผยความเชื่อมั่นของ SME เรื่องของรายได้ในไตรมาส 4 ที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาค จากผลของกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว จากความเห็นของ SME กว่า 1,100 รายทั่วประเทศ ซึ่งสำรวจโดย RMC หรือ ศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี ถึงแม้ผลรวมของดัชนีเชื่อมั่น SME จะลดลง (และความเชื่อมั่นด้านต้นทุน 3 เดือนข้างหน้าก็ลดลงเช่นกัน) จากปัจจัยเรื่องต้นทุนพลังงาน และค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น จนกระทบความเชื่อมั่นด้านต้นทุน (อาจมีผลกระทบกำไรร้อยละ 1) สะท้อนว่า SME ได้พบความท้าทายในแง่การบริหารจัดการต้นทุน

tmb-01

จากกราฟประกอบ ดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบันอยู่ที่ 35.5 ลดลงจาก 37.3 ในไตรมาสก่อน ความเชื่อมั่นด้านรายได้ปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 41.9 เพิ่มจาก 38.9 แต่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุน ปัจจุบันลดลง 29.1 จาก 35.7 มีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในปัจจุบันปรับตัวลดลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 51.9 ลดลงเล็กน้อยจาก 52.4 โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้น 65.9 จาก 62.9 ส่วนดัชนีความเชื่อมันด้านต้นทุน 3 เดือนข้างหน้า ลดลงมาอยู่ที่ 37.8 จาก41.9 กดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเล็กน้อย

IMG_1320

“ในแง่ของความเชื่อมั่นด้านรายได้ในปัจจุบันของ SME นั้นสูงขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ จากการเป็นฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงเดินทางท่องเที่ยวมีการจับจ่าย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของรัฐ สร้างบรรยากาศปลายปีให้คึกคักขึ้น ยกเว้นภาคใต้ ที่ราคายางและปาล์มยังต่ำ ภาคอื่นๆ ก็ยังแข็งแกร่งว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้น จากผลผลิตทั้งข้าว ยาง มันสำปะหลัง อ้อยและปาล์ม 5 จังหวัดที่จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในปี 2561 คือชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ยะลา และพัทลุง ทำให้ SME ในพื้นที่ 1.8 แสนกิจการ มีโอกาสเติบโตจากเศรษฐกิจในพื้นที่”

 

“พวกเขาทราบข่าวการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้วและมีความพยายามปรับตัวมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังกระทบกำไรของ SME ในวงจำกัด ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า แม้รัฐฯ จะลดผลกระทบด้านต้นทุน แต่ SME ก็ต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยลดต้นทุนอาทิ เข้าสู่ตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการขยายสาขา ใช้ระบบไอทีช่วยบริหารจัดการสินค้าคงคลัง เชื่อมต่อธุรกรรมกับคู่ค้าผ่านระบบออนไลน์ ให้เร็วขึ้นในแง่การบริหาร นอกจากช่วยลดต้นทุนแรงงานและการบริหารจัดการได้ ยังช่วยให้ธุรกิจบริหารได้คล่องตัวมากขึ้น”


  • 6
  •  
  •  
  •  
  •