10 เหตุการณ์โดดเด่นแห่งปี 2008

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

ปีที่ผ่านมาตลาดโลกต้องเผชิญภาวะยากลำบากจากอุปสรรคหลากหลายโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่สหรัฐฯที่ต้องฝ่าวิกฤตมาตั้งแต่ต้นปีไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาน้ำมัน ตามมาด้วยวิกฤตการเงิน และต่อเนื่องด้วยภาวะล่มสลายของดีทรอยต์ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิ๊กเพลเยอร์ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ  Advertising Age ประมวล TOP 10 เรื่องราวที่เป็นที่สุดในแง่มุมต่างๆ นำเสนอ โดย Business Thai คัดไฮไลต์ TOP 10 เด่นๆ มานำเสนอ 

  1. บารัค โอบามา:
    ในปี 2008 ชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่มีชื่อกลางว่า “ฮุสเซ็น” ได้รับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ก่อนหน้านี้ หลายคนเคยสบประมาทว่าเขาไม่น่าจะสามารถก้าวข้ามฮิลลารี คลินตันได้ แต่นายโอบามาไม่ใช่แค่มีคำปราศรัยที่เพราะพริ้งจับใจเท่านั้น  เขาและลูกทีมมีแผนการตลาดที่ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกัน จากกลยุทธ์ตั้งแต่การระดมเงินทุน การใช้ Social Networking รวมถึงการสร้างแบรนด์ตามแบบฉบับดั้งเดิม ทั้งหมดนี้คือกรณีศึกษาที่บารัค ฮุสเซ็น โอบามามอบให้กับนักการเมืองและนักการตลาดได้เรียนรู้กันต่อไป
  2. ภาวะถดถอย:
    อันที่จริงภาวะถดถอยกลายเป็นปัญหาสร้างความหนักใจให้ใครต่อหลายคนตั้งแต่ปีก่อนเข้าสู่ปี 2008  ทั้งนักการตลาดและผู้บริโภคคงไม่ต้องการหลักฐานอย่างเป็นทางการมากมายมายืนยันว่าปี 2008 ไม่ใช่ปีที่ราบรื่นอีกต่อไป  สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเลวร้ายมากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ ตัวเลขการว่างงาน และปัญหาน้ำมันแพง (แม้ว่าถึงตอนนี้ ราคาจะลดลงแล้วก็ตาม)  ยอดขายสินค้าทุกหมวดต่างหดหาย งบประมาณถูกตัด และยังมีข่าวร้ายอีกมากมายที่เป็นผลพวงมาจากพิษเศรษฐกิจ
  3. เซ็กเตอร์การเงินถึงจุดปะทุ:
    พื้นฐานเศรษฐกิจของเรายังคงแข็งแกร่ง” นายจอห์น แมคเคนกล่าวไว้ในวันที่ 15 กันยายนปี 2008 แต่เมื่อถึงเดือนตุลาคม เขาเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “วิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ยุค the Great Depressionระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง?  รัฐบาลเข้าคุมกิจการแฟนนี เมและเฟรดดี แมค, แผนการช่วยชีวิตเมอร์ริล ลินช์ โดยแบงก์ ออฟ อเมริกา, การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส, แผนการช่วยชีวิตบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ AIG  และการล่มสลายของธนาคารรายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ (วอชิงตัน มูชวล ซึ่งถูกกลืนเข้ากับ Chase)  และสภาคองเกรสอนุมัติผ่านแผนการ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อกอบกู้อุตสาหกรรมการเงินภายในประเทศ  แน่นอนว่าวิกฤตคงยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้
  4. ดีทรอยต์ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุด:
    เรารู้ดีว่าปี 2008 ไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับ Big 3 แห่งอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ แต่มีใครเคยคิดบ้างว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายถึงเพียงนี้  แม้ฟอร์ดจะเห็นความหวังเล็กๆ จากผลประกอบการในไตรมาสแรกมาบ้าง แต่ปัญหาน้ำมันแพงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางสินค้าเด่นของพวกเขา ซึ่งได้แก่ SUV และรถกระบะที่ล้วนกินน้ำมัน  บวกกับปัญหาด้านแบรนด์ของรถในเครือจีเอ็ม และความล้มเหลวด้านการจัดการของไครสเลอร์ พ่วงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย และวิกฤตสินเชื่อ  ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พวกเขาทั้งสามต้องรี่เข้าขอความช่วยเหลือจากวอชิงตัน  สุดท้าย Big 3 อาจกลายเป็น Not So Big 2  แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม นี่คือข่าวร้ายสำหรับเอเยนซีและวงการสื่อ
  5. มหากาพย์ไมโครฮู:
    ดีลเสนอซื้อกิจการยาฮูเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อนเข้าสู่ปี 2008  เมื่อยักษ์ใหญ่ธุรกิจซอฟต์แวร์แห่งเมืองเรดมอนด์เปิดประมูลซื้อธุรกิจคู่แข่งด้านเสิร์ชที่อยู่คนละฝั่งมหาสมุทร การเจรจาเริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อกูเกิลเข้ามาเอี่ยว หวังช่วยชีวิตยาฮูด้วยแผนธุรกิจเสิร์ช  ต่อมา ไทม์ วอร์เนอร์เริ่มเจรจากับทั้งสองฝ่าย โดยเป้าหมายเพื่อเทขาย AOL  และเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีส่วนในการตัดสินอนุมัติเล็งเห็นว่าบางทีพวกเขาสมควรจับตามองพื้นที่ออนไลน์แห่งนี้อย่างใกล้ชิด  ปัจจุบันทั้งคู่เตรียมพร้อมยุติดีล และรักษาจุดยืนเดิม ด้วยการทำงานเดี่ยว และยังคงไล่ตามกูเกิลต่อไป  
  6. อินเบฟควบกิจการอันเฮาเซอร์-บุช:
    ในที่สุด หนึ่งในเครื่องยนต์การตลาดสัญชาติอเมริกันที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศต้องสูญเสียอิสรภาพให้กับบริษัทสัญชาติเบลเยียม-บราซิล เมื่ออินเบฟซื้อกิจการอันเฮาเซอร์-บุชด้วยวงเงินมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  ผู้คนต่างประณามบริษัทเบียร์ชื่อดังแห่งนี้ที่ขายกิจการให้กับชาวต่างชาติ  ซีอีโอคาร์ลอส บริโตแห่งอินเบฟ ซึ่งขึ้นชื่อในการบริหารงานระบบงบประมาณฐานศูนย์ กล่าวว่าบริษัทเข้าใจในวัฒนธรรมของอันเฮาเซอร์-บุชเป็นอย่างดี และสัญญาว่าจะไม่ทำลายระบบการตลาด ในขณะเดียวกัน Miller และ Coors จับมือรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับอันเฮาเซอร์-บุช
  7. การจากไปของพอล ทิลลีย์:
    การฆ่าตัวตายของนายพอล ทิลลีย์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ที่ DDB Chicago เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในแวดวงโฆษณา  เหตุการณ์ที่ตามมากลายเป็นความอัปยศ เมื่อหลายคนพยายามกล่าวโทษเหล่าบล็อกเกอร์ที่กดดันให้เขาต้องปลิดชีวิตตัวเอง  นายโจนาห์ บลูม บรรณาธิการ Ad Age ถึงกับเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “เป็นการกระทำที่หลงตัวเอง และน่าเกลียดที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นในอุตสาหกรรมโฆษณา”  เขากล่าวต่อว่า “ผู้บริหาร นักข่าว และนักวิจารณ์กล่าวตำหนิและแสดงความเห็นไร้สาระมากมายราวกับว่านั่นเป็นความจริง และสุดท้ายจึงใช้โอกาสนี้เพื่อโฆษณาบล็อกตัวเอง”
  8. การแข่งขันโอลิมปิก:
    จีนเป็นหนึ่งในประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีประชากรล้นหลาม ทั้งยังเป็นประเทศลึกลับในสายตาหลายๆ คน รวมถึงนักการตลาด  ความจริงแล้วอาจกล่าวได้ว่าว่าทั่วทั้งโลกต่างเฝ้ามองปักกิ่งเปิดการแข่งขันโอลิมปิก 2008   แน่นอนว่าจีนจะไม่ผิดหวังถ้าเป้าหมายคือต้องการเป็นที่จับตามมองเช่นนี้  พิธีเปิดช่างยิ่งใหญ่ ตระการตา จนหลายคนต่างยกโทษให้สำหรับคำโกหก ความเจ็บปวด และประวัติด้านสิทธิมนุษยชน  ถึงกระนั้นก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่านักการตลาดระดับนานาชาติจะสามารถเข้าถึงประชากรชาวจีนได้หรือไม่
  9. บริษัทสื่อค้นพบวิดีโอออนไลน์:
    สองปีหลังจากที่ยูทูบสร้างความตื่นตระหนกให้กับบริษัทสื่อหลายๆ แห่งด้วยคดีฟ้องร้องมูลค่ามหาศาล ในที่สุด วิดีโอออนไลน์กลายเป็นสินทรัพย์ทำกำไรให้กับ NBC, นิวส์ คอร์ป และเวียคอม ซึ่งพวกเขาทั้งหมดนี้ได้เข้าไปลงทุนใน Hulu  และสามารถประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ด้วยการให้บริการคลิปวิดีโอเต็มเวลา และรายการดังต่างๆ เช่น “Saturday Night Live,” “Family Guy,” “The Daily Show” และ “Colbert” เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ดี แผนการนี้ยังคงเสี่ยงกระทบต่อความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้ประกอบการเคเบิล
  10. บัลลังก์สตาร์บัคส์สั่นคลอน
    สถานการณ์ของสตาร์บัคส์ในปีนี้ทั้งแปรปรวนและจมดิ่งลง  ปัญหาแบรนด์เจือจาง การขยายตัวเกินขอบเขต และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกลายเป็นพายุโหมกระหน่ำยักษ์ใหญ่ธุรกิจกาแฟที่ครั้งหนึ่งเคยเติบโตไม่มีวันหยุด  สตาร์บัคส์ปิดสาขามากกว่าร้อยแห่ง พร้อมตัดลดตำแหน่งผู้บริหาร และกลับมาตั้งหลักใหม่  ยอดขายเปรียบเทียบปีต่อปีในแต่ละสาขายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการแจกสินค้าทดลองทั่วประเทศ ทำแคมเปญการตลาดและโฆษณา มีโปรโมชันลดราคา หรือแม้แต่ออกโฆษณาทีวีในบางโอกาสก็ตาม  ไม่เพียงเท่านี้ ดูท่าว่าสถานการณ์ปีหน้ายังไม่น่าจะดีขึ้น  

Source:  Business Thai


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •