รบ.เร่งเดินเครื่อง Thailand 4.0 ใช้เทคโนโลยีสร้างความโปร่งใส-ตรวจสอบได้ ผลักดันก้าวสู่ ‘ปีแห่งข้อมูลภาครัฐ’

  • 147
  •  
  •  
  •  
  •  

ega hili

เราพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 กันมาจนจะสิ้นปีแล้ว แต่เราได้เห็นอะไรเป็นรูปธรรมแล้วหรือยัง นี่อาจจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เราได้เห็นอะไรที่ยกระดับความขึงขังจริงจังมากขึ้นจากทางภาครัฐ เมื่อเร็วๆ นี้จากการเปิดงาน Digital Government Summit 2017 ที่เซ็นทรัลเวิล์ด

ดร.วิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดงาน เปิดเผยความพร้อมในการพัฒนาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ว่า รัฐบาลได้เร่งเครื่องเดินหน้ารัฐบาลดิจิทัลให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตามแนวทาง “เปิดเผย เชื่อมโยง เปลี่ยนผ่าน สู่รัฐบาลดิจิทัล” เริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลให้มั่นคง เพื่อให้ภาครัฐทั้งหมดมีเสถียรภาพในการทำงานแบบอัจฉริยะด้วยการสร้างระบบเพื่อให้เกิดการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกันสำหรับการบริหารงานและให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มั่นคง ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็แบ่งปันและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน ไม่ต้องลงทุนเองเพียงเข้ามาใช้บริการที่มีอยู่แล้ว ก็ช่วยชาติประหยัดงบประมาณได้ปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้มีการลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาให้มีความทันสมัยมากขึ้นสามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้อย่างเท่าทัน

สิ่งที่รัฐบาลผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด คือการทำงานอย่างโปร่งใสซึ่งไม่ใช่เพียงการเปิดเผยข้อมูลที่มีอยู่จากอนาล็อกมาสู่ดิจิทัลเท่านั้น แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เริ่มตั้งแต่ การเปิดเผยขั้นตอนการทำงานของทุกหน่วยงานให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชนสามารถใช้อ้างอิงข้อมูลร่วมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ data.go.thแหล่งค้นหาชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ และภาษีไปไหน ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ปัจจุบันได้พัฒนาถึงเวอร์ชัน 2 แล้วทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ govspending.data.go.th และแอปพลิเคชัน นับเป็นการเปิดประตูสู่สังคมแห่งการเปิดเผยที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมาของรัฐบาลไทย”

นอกจากนี้ รองนายฯ ยังย้ำด้วยว่า ในปี 2018 จะเป็นปีแห่ง Year of Data หรือปีของข้อมูลภาครัฐอย่างแท้จริง โดยจะมีการประกาศ National Data Set หรือชุดข้อมูลแห่งชาติ เบื้องต้นคาดว่าจะมีชุดข้อมูลภาครัฐที่อยู่ในโครงการนี้ประมาณ 300-500 ชุดข้อมูล เพื่อให้ให้ประชาชนนำไปใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็ง และความก้าวหน้าด้วยความสามารถของการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ ในส่วนภาคเอกชนยังสามารถนำชุดข้อมูลเผยแพร่ต่างๆ ไปวิเคราะห์ข้อมูลที่กระจายตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เช่น ธุรกิจ E-commerce, Social Media เป็นต้น ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาเชื่อมโยงเพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้นได้

ega 2

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGAเปิดเผยว่า ในการจัดงาน “Digital Government Summit 2017 : เปิดเผย เชื่อมโยง เปลี่ยนผ่าน สู่รัฐบาลดิจิทัล” ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2560 ณ ลาน Eden และ Central Court ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ประชาชนจะได้เห็นพลังความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรที่ต่างนำบริการอัจฉริยะมานำเสนอให้ได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด ภายในงานมีการประกาศผลการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในภาพรวมของประเทศไทย ประจำปี 2560 เบื้องต้น พบว่า หน่วยงานภาครัฐระดับกรม ได้ค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 57.2 โดยคะแนนสูงสุดอยู่ที่ มิติด้านศักยภาพเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านดิจิทัล และหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัดได้ค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 36.9 โดยมิติด้านการบริหารจัดการภายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ค่าคะแนนสูงสุด ซึ่งจากผลการสำรวจดังกล่าว จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่กำลังเดินหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยเร่งสร้างความชัดเจนในการนำประเทศไทยเข้าสู่ Digital Transformationทั้งในด้าน คน กระบวนการ และกฎหมาย ดังนี้

  • การนำ Digital Transformation Program ของสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ (Thailand Digital Government Academy: TDGA) ปรับเปลี่ยนบุคลากรภาครัฐ ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในทักษะทางด้านดิจิทัล
  • ต้นแบบบริการใหม่โดยใช้หลัก Design thinking
  • พ.ร.บ.ว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล ตามมติ ค.ร.ม.
  • ด้านบทบาทใหม่ของ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตามมีมติค.ร.ม. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 เป็น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ Digital Government Development Agency (Public Organization) (DGA) ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลคล่องตัวยิ่งขึ้น ภายในปีหน้าจะมีโครงการใหม่เกิดขึ้น อาทิ Government Data Exchange หรือศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ,  Government Data Center หรือศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ, Government Data Analytics Center หรือ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลแห่งชาติ, GIN (Government Secured Intranet) จะเปลี่ยนเป็น Government Secure Intranet หรือระบบโครงข่ายภาครัฐที่มีความปลอดภัยสูง

รวมทั้งจะมีการสร้าง Open Data Platform หรือ แพลตฟอร์มแบบเปิดที่มีความเสถียรและฉลาด ก็จะทำให้ปีของข้อมูลกลายเป็นความเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่อย่างจริงจังมากขึ้น


  • 147
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!