จับตาอุตสาหกรรมไอซีทีในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจก็ยังมีการควบรวมกิจการของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกา ล่าสุด Verizon Wireless กับทาง Alltel จะมีการควบรวมกิจการกัน ซึ่งหลังจากควบรวมกิจการกันแล้วจะทำให้เป็นโอเปอเรเตอร์มือถือรายใหญ่ที่สุด โดยทั้งสองเคยเป็นเบอร์สอง และเบอร์ห้าในตลาดตามลำดับ   ส่งผลให้สามารถแซงหน้าโอเปอเรเตอร์เบอร์หนึ่งอย่าง AT&T ไปได้

จากวิกฤตเศรษฐกิจที่คาดกันว่าคงจะไม่สามารถปรับตัวให้ดีขึ้นได้ในเวลาอันสั้น จากการสำรวจของบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ DLA Piper พบว่ากว่า 75 % ของผู้ตอบความคิดเห็นซึ่งมาจากผู้บริหารระดับสูงในหลายหน่วยงานเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เมื่อถามว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้หรือไม่ มีเพียง 21 % ที่ตอบว่าไม่มีผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้

จากผลสำรวจพบว่า กว่า 66 % รู้สึกว่า การลดการใช้จ่ายของลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รายได้ลดลง ผู้ผลิตอุปกรณ์เชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้จะไม่จางหายไปในอนาคตอันใกล้ เกินกว่าครึ่ง (สูงถึง 55  % ) เชื่อว่าตลาดจะไม่ฟื้นตัวจนกระทั่งปี ค.ศ. 2010 หรืออาจจะนานกว่านั้น เพียง 2 % เท่านั้นที่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลังของปี ค.ศ. 2008 นี้ ขณะที่ 83 % เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ค.ศ. 2009

อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังในบางกลุ่มเทคโนโลยีอย่างเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology)   Cloud computing และ Software as a service (SaaS) ที่ยังมีแนวโน้มที่เติบโตอยู่   เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยมจากองค์กรเนื่องจากช่วยลดต้นทุนจากการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังได้รับแรงกดดันทางการเมืองให้ต้องมีเทคโนโลยีที่ยั่งยืนอีกด้วย ผลจากการสำรวจพบว่า Clean Technology จะมีโอกาสทางธุรกิจสูงที่สุดในอุตสาหกรรมในอีก 12 เดือนข้างหน้า

นอกจากนั้น องค์กรต่างๆ จะหันมาใช้งานซอฟต์แวร์ในแบบ SaaS มากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องไอทีลงในช่วงเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้   กว่า 60 % เชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้จะไม่แย่เหมือนครั้งวิกฤต dot com ในปี ค.ศ. 2000 และเชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นผลกระทบที่ไม่ตรงทีเดียว ต่างจากวิกฤตที่เกิดในช่วง dot com

มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการขาย (Sales and marketing expense) และอีกส่วนน้อยเท่านั้นที่จะตัดงบวิจัยและพัฒนา ทำให้กล่าวได้ว่าผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นน่าจะเป็นในช่วงสั้นมากกว่า

ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่อย่าง Alcatel-Lucent เริ่มเห็นแววที่จะกลับมามีผลประกอบการที่มีกำไรมากขึ้น การปรับโครงสร้างและลดการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ การเข้าถึงลูกค้าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในระดับต้นๆ เพื่อนำพาองค์กรให้เติบโตต่อไป

Alcatel-Lucent นับเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ Fixed-line ป้อนให้กับโอเปอเรเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ต้องประสบกับปัญหาชะลอการลงทุนของโอเปอเรเตอร์ในยุโรปและอเมริกา จากสภาพเศรษฐกิจและจำนวนผู้ใช้งานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทได้ประกาศปรับกลยุทธ์ใหม่ให้สอดคล้องกับผลประกอบการในไตรมาสที่สาม ถึงเวลาที่เบอร์หนึ่งของบริษัทจะต้องตอบตัวเองว่าจะขายหุ้นจำนวน 21 %  (มูลค่ามากถึง 1.63 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามราคาตลาดในปัจจุบัน) ให้กับพันธมิตรธุรกิจอย่าง Thales SA หรือไม่

บริษัทอยู่ในขบวนการปรับโครงสร้างองค์กร โดยมีแผนว่าจะลดการจ้างงานอีก 16,500 ตำแหน่งในปีหน้า จากพนักงานทั้งหมดของบริษัทมีอยู่ 77,000 ราย เมื่อปลายปีที่แล้ว และมีอยู่ 89,000 รายหลังการควบรวมกิจการ ทางบริษัทได้เตรียมงบประมาณไว้มากถึง 894  ถึง 1,150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้โดยกว่าสองในสามของงบประมาณจะนำมาใช้ภายในปีนี้ ผลพวงจากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการโทรคมนาคมลดลง โอเปอเรเตอร์ต่างชะลอการลงทุนส่งผลให้ยอดขายของบริษัทลดลงถึง 13 %     

เราลองมาดูทางฝ่ายผู้ผลิตมือถือที่สร้างนวัตกรรมในการออกแบบตัวเครื่องจนเป็นมือถือต้นแบบของยุคนี้ไปเลยก็ว่าได้ เป็นผู้นำให้ผู้ผลิตรายอื่นต่างออกผลิตภัณฑ์ที่มีหน้าตาใกล้เคียง แถมยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานคล้ายกันอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าทางบริษัท Apple ใช้การตลาดแบบ viral marketing ในช่วงก่อนเปิดตัวไอโฟน จนทำให้ฮิตติดตลาดจนมาถึงทุกวันนี้   จากผลการวิจัยของไอดีซี (IDC) พบว่าตลาดมือถือทั่วโลกในไตรมาสที่สามได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางการเงิน ทำให้ยอดขายตกลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ

ยอดขายทั้งหมด 299 ล้านเครื่อง ในไตรมาสที่สาม เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วอยู่  3.2  %  แต่ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำอยู่เมื่อเทียบกับยอดที่น่าจะมากกว่านี้เป็นไว้ขายในช่วงเทศกาลที่กำลังจะมาถึง ผู้ผลิตเกือบทุกรายได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า แต่ทาง Apple ได้ประกาศว่าเป็นไตรมาสที่ประสบความสำเร็จ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างโนเกียก็คาดว่าภาพรวมทั้งปีจะเป็นบวก แม้ว่าในไตรมาสที่สามจะเป็นช่วงที่ค่อนข้างลำบากอยู่ซักหน่อย

ราคาขายเฉลี่ยต่อเครื่องลดลง ขณะที่แคมเปญการตลาดต่างๆ ค่อนข้างมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงมากขึ้น ไอดีซีคาดว่ายอดจะอยู่ที่ 1.26 พันล้านเครื่องในปี ค.ศ. 2008 เพิ่มขึ้น 10.4 %  ในทำนองเดียวกันทาง ABI Research ก็มีตัวเลขใกล้เคียงกันอยู่ที่ 1.27 พันล้านเครื่อง คิดเป็น 10.5 % เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว

แม้ว่าตลาดมือถือในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง กลุ่ม Smartphone ถูกมองว่ามียอดขายที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจากไอโฟนที่ออกมาเขย่าวงการไปไม่นานมานี้ และตามมาด้วยเครื่อง G1 ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android จากกูเกิล ซึ่งจะดึงดูดลูกค้าที่ใช้งานเป็นครั้งแรกหรือกลุ่มที่ชอบของเล่นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงนักธุรกิจที่ต้องการข่าวสารอย่างเรียลไทม์ แต่กลุ่มนักการเงินอาจจะไม่มีผลเพิ่มยอดมากนักกเนื่องจากภาวะวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้น

สำหรับโนเกียยังคงครองตำแหน่งอันดับหนึ่งเหมือนเดิมในไตรมาสที่สาม โดยมียอดขายมากกว่ายอดขายรวมจากผู้ผลิตสามรายที่อยู่ในอันดับรองลงมารวมกันเสียอีก โนเกียมีส่วนแบ่งตลาดอยู่มากถึง 39  %  ในไตรมาสที่สามมียอดสูงถึง 118 ล้านเครื่อง ซัมซุงมีส่วนแบ่งอยู่ 17 % หรือยอดขาย 52 ล้านเครื่อง ส่วน Sony Ericsson มียอด 25.6 ล้านเครื่อง คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 8.6 %  โมโตโรล่า มีส่วนแบ่ง 8.5%  (25.4 ล้านเครื่อง) แอลจีมียอดอยู่ที่ 23 ล้านเครื่องคิดเป็น 7.7 % ทาง ABI ได้ให้ข้อมูลส่วนแบ่งตลาดของ Apple และ Research in Motion (RIM) อยู่ที่ 2.2 และ 2 % ตามลำดับ

ยอดขายตลาดเครื่องมือถือรวมเพิ่มขึ้น 3.2 % ในไตรมาสที่สามของปี ค.ศ. 2008 เทียบกับยอดของปีที่แล้ว (ตัวเลขจากไอดีซี) อย่างไรก็ตาม ABI Research ให้ตัวเลขอยู่สูงถึง 8.2 %  แต่สิ่งที่ทั้งสองบริษัทวิจัยกล่าวเป็นเสียงเดียวกันก็คือตลาดของ Smartphone ค่อนข้างสดใสในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน แต่เราคงจะเห็นยอดขายในช่วงเทศกาลไม่สูงอย่างที่เคยเป็น

ตลาดมือถือในแต่ละพื้นที่มีเคลื่อนไหวดังนี้ (ข้อมูลจากไอดีซี)

  • อเมริการเหนือ: จากการเปิดตัวของเครื่องรุ่นใหม่ๆ จาก Apple Palm และ Research In Motion (ผู้ผลิต Blackberry) รวมถึงการแจ้งเกิดของเครื่อง HTC G1 ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android จากกูเกิล ส่งผลให้มือถือที่มีลักษณะ Convergence มากขึ้น ในทางกลับกันกลุ่มมือถือที่มีฟังก์ชั่นเดิมๆ มียอดขายลดลงเมื่อเทียบกับยอดปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามตลาดโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี
  • ละตินอเมริกา ตลาดมือถือเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ แต่มือถือที่มีฟังก์ชันหลากหลายอย่างไอโฟนกลับได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศหลักๆ ในโซนนี้
  • ในยุโรปตะวันตกมียอดขายลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอุปกรณ์ Converged mobile device  วิกฤตเศรษฐกิจกระทบยอดขายของรัสเซียและยุโรปตะวันออก รวมถึงตลาดที่เพิ่งเริ่มมีการให้บริการ
  • ตลาดเอเชีย: แม้จะมีสัญญาณของการเติบโตในจีนและอินโดนีเซีย ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างลำบากในช่วงไตรมาสนี้ โดยเฉพาะออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจประกอบกับไตรมาสที่สามเป็นช่วงที่ยอดขายไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ผลประกอบการแย่ลงไปอีก ขณะที่ตลาดไฮเทคอย่างเกาหลีใต้ประสบปัญหายอดขายลดลงมากถึงหลักสิบเปอร์เซนต์ เนื่องจากการทำ Subsidy นั้นเอง

เราลองมาพิจารณาผู้ผลิตมือถืออย่างซัมซุง บริษัทมียอดขายในไตรมาสที่สามสูงถึงห้าสิบล้านเครื่องซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ บริษัทได้รับการตอบรับจากตลาดค่อนข้างดีจากผลิตภัณฑ์ที่มีระบบสัมผัสหน้าจออย่างในรุ่น C260 และ B130 ผลประกอบการครั้งนี้ นับว่าอัตราการเติบโตสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดถึงสองเท่า ทำให้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินการเป็นจำนวน 11 %  ถ้าพิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้ซัมซุงประสบความสำเร็จพบว่า บริษัทได้ใช้กลยุทธ์ราคาที่ดุเดือด โฟกัสในตลาดที่เกิดใหม่ซึ่งมีความต้องการสูง และใช้แคมเปญแบบเข้าถึงตลาดอย่างครอบคลุม

Sony Ericsson อยู่ในตำแหน่งที่สามซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างภายในองค์กรและผลประกอบการที่ขาดทุนในไตรมาสนี้ก็ตาม ในไตรมาสนี้ก็มีเครื่องมือถือที่นับว่าเป็นไฮไลทของบริษัทอยู่บ้างอย่างรุ่น XPeria X1 และ TM506 ซึ่งเป็นเครื่อง 3G รุ่นแรกของบริษัทในตลาดอเมริกาเหนือ

จากก่อนหน้านี้มีข่าวว่า โมโตโรล่าจะแยกธุรกิจมือถือออกมาเป็นอีกบริษัท ขณะนี้ได้ชะลอการตัดสินใจไปแล้ว แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ในปัจจุบันส่งผลให้บริษัทจะลดพนักงานลงสามพันคน ส่วนที่สร้างกำไรได้มากกว่าในกลุ่ม Home-networks ทำให้โมโตโรล่าตัดสินใจที่จะแยกธุรกิจมือถือออกไป ถ้าลองวิเคราะห์ดูแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าบริษัทตกเทรนด์ในการพัฒนามือถือรุ่น Smartphone ที่โดนใจลูกค้า ถ้าพอจำกันได้จะเห็นว่ารุ่นที่ฮิตๆ ติดตลาดก็คือรุ่น Razr ซึ่งวางตลาดมานานกว่าสามปีแล้ว

ตลาดเครดิตในปัจจุบันก็นับว่ามีความตึงเครียดจากวิกฤตที่เกิดขึ้น นักวิเคราะห์ต่างตั้งคำถามว่าบริษัทจะมีเม็ดเงินในมือเพียงพอหรือไม่ เพื่อที่จะดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจขาลงยิ่งทำให้การดันยอดขายมือถือเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ทางโมโตโรล่าจะยืดเวลาการแยกบริษัทออกไปก่อน ซึ่งแน่นอนก่อนที่จะแยกบริษัทออกไปต้องมีธุรกิจที่น่าดึงดูดมากกว่านี้ คาดกันว่าน่าจะมีมือถือรุ่นใหม่ๆ ออกมาโดนใจลูกค้าในช่วงปลายปี ค.ศ. 2009 ซึ่งยอดขายน่าจะไปปรากฏให้เห็นในงบดุลปี ค.ศ. 2010

ยอดขายต่างจากที่นักวิเคราะห์คาดไว้กว่า 15.1% โดยอยู่ที่ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รายได้จากการดำเนินงานขาดทุนไปกว่า 840 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปีที่แล้วขาดทุนที่ 248 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขายเครื่องมือถือก็ลดลงไปอยู่ที่ 25.4 ล้านเครื่อง ลดลงกว่า 31.7%

Source: IDC Worldwide Quarterly Mobile Phone Tracker, October 30, 2008

แอลจีอยู่ในอันดับห้าในไตรมาสที่สามนี้ เนื่องจากยอดจำนวนเครื่องที่ขายได้ในตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงลดลงประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย  อย่างไรก็ตามเรียกได้ว่าบริษัทตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีด้วยเครื่องระบบสัมผัสหน้าจอ มือถือที่สามารถเล่นเพลงได้ ส่งผลให้รายได้สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว รุ่นหลักๆ ที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับแอลจีในช่วงนี้ก็คือ Secret กับ Viewty ส่วนรุ่น Decoy และ Dare น่าจะได้เริ่มมียอดและรายได้ให้บริษัทมากขึ้นเรื่อย ๆ

Source: Telecom Journal


  •  
  •  
  •  
  •  
  •