Golden Gates Ventures แนะสตาร์ทอัพไทย ต้องฝันให้ใหญ่แล้วมองไกลถึงอาเซียน

  • 80
  •  
  •  
  •  
  •  

Golden Gates Ventures หนึ่งในกลุ่มร่วมลงทุน (วีซี) ที่มีชื่อเสียงจากประเทศสิงคโปร์และได้รับการยอมรับในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มก่อตั้งในปี 2011 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดการลงทุนของไทย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เข้ามาลงทุนในไทยถึง 6 บริษัท จากจำนวนทั้งหมดกว่า 30 บริษัทที่ได้สยายปีกการลงทุนครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันมีขนาดกองทุนรวมกว่า 60 ล้านเหรียญดอล่าร์สหรัฐฯ

Jeffery_panel6

เจฟฟรี เพย์น ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Golden Gates Ventures ซึ่งเป็นหนึ่งใน Mentor ของ dtac accelerate ฉายมุมมองของเขาต่อสตาร์ทอัพไทย

เจฟฟรี มองว่า วงการสตาร์ทอัพของไทยมีความเป็นปึกแผ่น เหนียวแน่น แนบสนิท และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ให้แก่กัน อีกทั้งสตาร์ทอัพเหล่านี้ยังมีโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนมากขึ้นด้วย จากจำนวนวีซีที่เข้ามา รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่เริ่มสนใจและหันมาลงทุนกับสตาร์ทอัพ ผ่าน corporate VC กันเพิ่มมากขึ้น

“เมื่อเงินทุนที่เป็นสายน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงธุรกิจมีเพิ่มมากขึ้น การเปิดธุรกิจก็ง่ายขึ้น พอๆ กับการปิดตัวของธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะจำนวนคู่แข่งที่ทวีจำนวนมากขึ้น การดำเนินธุรกิจก็ยากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นสตาร์ทอัพที่จะอยู่รอดได้ จะต้องดิ้นรนหาหนทางให้ตัวเองมีความพิเศษ โดดเด่น และไม่ซ้ำรอยใคร” 

Jeffery_panel7

เจฟฟรี ตั้งข้อสังเกตว่า สตาร์ทอัพไทย จะให้น้ำหนักไปกับตลาดในประเทศ เพราะไม่มีความทะยานอยากที่จะกระโดดลงไปบุกตลาดต่างประเทศ ทำให้จำนวนเงินที่ลงทุนไปอยู่ในระดับขนาดเล็ก Seed และเป็นแบบ Series A ต่างจากสตาร์ทอัพของสิงคโปร์และมาเลเซียที่มุ่งไปไกล คิดจะจับปลาตัวใหญ่อย่างการเปิดสู่ตลาดภูมิภาคที่มีขนาดของจำนวนประชากรที่ใหญ่ขึ้น ทำให้มีการลงทุนที่สูงขึ้นด้วย

“สตาร์ทอัพไทย อาจจะต้องเดินทางให้บ่อยขึ้น ออกไปเปิดมุมมองและศึกษาในสิ่งที่ต่างประเทศได้เคยทำไว้ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษให้สูงขึ้นด้วย” 

Jeffery_panel3

เขา บอกด้วยว่า การเลือกจะลงทุนอะไรก็ตาม บริษัทจะมองที่ทีมงานเป็นอันดับแรก ว่ามีการลงมือปฏิบัติจริง (execution) สามารถโค้ชได้ไหม มีความเป็นมืออาชีพแค่ใหน และมีความทะเยอทะยานทุ่มสุดตัวแบบบ้าดีเดือด (aggressive) หรือไม่

จากนั้นค่อยมองที่โอกาสทางการตลาดของสินค้าหรือบริการในสตาร์ทอัพว่า จะสามารถสร้างรายได้ในการคืนทุนให้กับกองทุนได้หรือเปล่า  เป็นธุรกิจที่สามารถก็อปปี้หรือทำตามได้ง่ายหรือไม่ เพราะหากธุรกิจไม่มีความแตกต่าง หรือสามารถทำให้ตัวเองโดดเด่นเหนือคู่แข่งได้ เงินที่ลงทุนอย่างมหาศาลไปก็ไร้ค่า รวมถึงความคุ้มค่าในเม็ดเงินที่ลงทุนไปว่าจะมีกำไรกลับคืนมามากน้อยแค่ไหน ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก กว่าจะคุ้มทุนหรือไม่

นอกจากนี้ควรจะมองไกลถึงแผนการในอนาคตด้วยว่า จะมีประเทศอื่นที่จะขยายฐานการลงทุน หรือรับช่วงต่อหรือไม่ โดยประเมินจากนักลงทุนที่จะมารับไม้ต่อ หากคิดที่จะขยายฐานการลงทุนขึ้นไปอีกระดับ

Jeffery_panel5

สุดท้ายเราควรวิเคราะห์บริษัทนั้นว่า มีแนวโน้มที่จะสามารถ exist จากการลงทุนในรูปแบบใด ทั้งในเรื่องการเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดลักทรัพย์ไทย หรือในที่อื่นๆ รวมถึงการคาดการณ์ว่าจะมีบริษัทที่เข้ามาซื้อหุ้นต่อหรือไม่

นอกจากนี้ บริษัทจะยังคงให้น้ำหนักในการลงทุน แบบ Seed และ Series A ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 250,000 – 2 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อหนึ่งบริษัท  ส่วนในปีนี้ น้ำหนักการลงทุนจะขยับไปทางธุรกิจที่เป็นตลาดคอนซูเมอร์ (B2C) ธุรกิจด้านการแพทย์สาธารณสุข การศึกษา  ธุรกิจสื่อและบันเทิง จากเดิมที่ให้น้ำหนักกับธุรกิจโมบายเปย์เม้นท์ อินชัวร์เทค และฟินเทค

สำหรับประเทศไทยเอง เราได้ลงทุนไปแล้วถึงหกบริษัทซึ่งมีมูลค่าสูงถึงสี่ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีสองบริษัทลงทุนในสตาร์ทอัพของ dtac accelerate เช่น เคลมดิ โดยที่ผ่านมาได้ exist การขายหุ้นที่ถือใน นูนสวูน จำกัด ผู้พัฒนา noonswoon แอพจัดหาคู่ของไทยไปแล้ว

ส่วนเรื่องระดับของความน่าลงทุนนั้น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ ที่เหลือจะใกล้เคียงกัน ทั้งไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม  อย่างไรก็ตาม ด้านกฎระเบียบของทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และ มาเลเซีย ต่างเอื้ออำนวยและดึงดูดให้เกิดการลงทุนได้มากกว่า ตามมาด้วยไทย ซึ่งให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีจุดใหญ่ใจความอีกหลายประเด็นที่เติมเต็มได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการ ทั้งการทยอยให้สิทธิ (vesting) ให้สินทรัพย์ หุ้น หรือสิทธิประโยชน์ตามช่วงเวลาที่กำหนด การให้สิทธิซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด หรือ Employee Stock Option Planing (ESOP) การให้หุ้นกู้แปลงสภาพ หรือแม้แต่การยกเว้นภาษีให้กับการขายหุ้น (capital gain tax)

Jeffery_panel4

เจฟฟรี่ ปิดท้ายว่า เงินลงทุนจะยังคงไหลบ่าเข้ามาในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปีนี้ จาก 1.7 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว จะเห็นได้จากดีลใหญ่ที่อะลีบาบาเพิ่งเพิ่มเงินลงทุนในลาซาด้า พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ และแกรบที่ได้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกสองพันล้านเหรียญดอลล่าร์

เมื่อคิดจะฝันให้ใหญ่ก็ต้องมีความทะเยอทะยาน แต่ก็ต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยสติ มองให้รอบด้านพร้อมๆ กับการมีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ออกสู่ตลาดในจังหวะเวลาที่เหมาะสม


  • 80
  •  
  •  
  •  
  •