เราพูดถึง Startup กันมาไม่น้อย จนทำให้รู้ว่า…บริการส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาบางเรื่องบางอย่างที่พวกเขาได้พบเจอ เช่นเดียวกับเจ้าของไอเดีย Ricult (รีคัลท์) ที่เราจะพูดถึงในครั้งนี้ เขาเป็นอีกคนที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้คนไทย แต่สิ่งที่เขามองเห็นและลงมือทำ…ไม่ได้มุ่งเป้าไปยังผู้ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่เป็นการนำข้อมูลจากดาวเทียมผสานกับเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกของเกษตรกร
อะไรทำให้เขากล้าคิดกล้าทำ โดยเลือกที่จะมองข้ามข้อจำกัดในการใช้งานเทคโนโลยีซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทย…?
“อุกฤษ อุณหเลขกะ” เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียและฝีมือระดับหัวกะทิของประเทศ ด้วยวัย 28 ปี กับความชื่นชอบในเทคโนโลยี สนใจเรื่องราว Startup ประกอบกับความฝัน…ที่ต้องการพลิกภาพลักษณ์เกษตรกร ให้เป็นอาชีพที่สามารถสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไม่แพ้อาชีพอื่นในสังคม ทำให้เขาเกิดไอเดียทำ Social Enterprise (โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์) หรือกิจการเพื่อสังคม ในชื่อ Ricult เพื่อเกษตรกรไทย
“คำว่า Ricult มาจากพยางค์กลางของคำว่า Agriculture ที่แปลว่าเกษตรกรรม เราใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งและภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยเกษตรกรไทยในขั้นตอนการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มและพัฒนาคุณภาพผลผลิต รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกรผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ” อุกฤษ Co-Founder ของ Ricult ได้อธิบายถึงแนวคิดของ Ricult และเล่ารายละเอียดอื่นๆ ให้เรารู้จัก Ricult มากขึ้น ว่า…
“ครอบครัว” คือจุดเริ่มต้นความฝัน
อุกฤษ เล่าให้ฟังว่า ผมเกิดในครอบครัวเกษตรกรรม มีสวนยูคาลิปตัส ทุเรียน ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมฝันอยากจะใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย และทำให้ตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมและบริหารจัดการที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ประกอบกับช่วงที่เรียนมีโอกาสได้นำเสนอไอเดียว่าต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลผลิตและคุณภาพชีวิตเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตน้อย ไม่ได้คุณภาพ และปัญหาการเข้าถึงผู้ซื้อได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งตรงกับแนวคิดของกลุ่มเพื่อนที่มหาวิทยาลัยฯ อีก 4 คนในขณะนั้นซึ่งเป็นชาวปากีสถานและชาวอเมริกัน โดยทุกคนมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ ต้องการทำโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์
เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นแรงกระตุ้น!
เมื่อได้ไอเดียดังนั้น ในปีที่ผ่านมาเราจึงเริ่มต้นขายปุ๋ยออนไลน์เพื่อเกษตรกรด้วยชื่อ Ricult แต่ปัญหาคือไม่มีลูกค้า! เพราะเกษตรกรไม่รู้จะซื้อสินค้าเราอย่างไรและพวกเขามีเงินทุนไม่มากทำให้ตัดสินใจซื้อยาก
“พอเรารู้ถึงปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกร เรารู้เลยว่าต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากการที่เขาต้องจ่ายเงินซื้อปุ๋ยซื้อสินค้ากับเรา ก็กลายเป็นช่วยหาหนทางเพิ่มรายได้ให้พวกเขาด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม”
ไอเดียระดับโลก กวาดรางวัลเพียบ!
Ricult เป็นหนึ่งใน Startup ที่ร่วมโครงการ dtac Accelerate (ดีแทค แอคเซอเลอเรท) ซึ่งได้รับรางวัล TechCrunch Disrupt ที่เมืองซานฟรานซิสโก จากบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมีรางวัลอื่นๆ อาทิ รางวัลกิจการเพื่อสังคมที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย จากการแข่งขันในรายการ โกลบอล โซเชียล เวนเจอร์ , รางวัลชนะเลิศ ฟินเทค ดิสรัพ ชาเลนจ์ ที่จัดโดยมูลนิธิ บิล เกตต์ และยังได้รับการยกย่องเป็นนวัตกรรมยอดเยี่ยมด้านธุรกิจเพื่อการเกษตร จากองค์การสหประชาชาติ
ก้าวแรก : ประเดิมพลิกผืนดิน 2,000 ไร่
ปัจจุบัน Ricult มีช่องทางให้บริการข้อมูลแก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็น 3 แพลทฟอร์ม คือ แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และบริการ LINE@ หากผู้ใดสนใจรับข้อมูลจาก Ricult จะต้องติดต่อเพื่อขอเข้าร่วมโครงการ โดยเบื้องต้นเราร่วมมือกับ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ทดลองให้บริการและคำแนะนำแก่เกษตรกรกว่า 200 ราย ในพื้นที่อำเภอวังม่วง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรเพื่อการปลูกข้าวโพด รวมกว่า 2,000 ไร่
ใช้ข้อมูลดาวเทียมช่วยการเพาะปลูก
ในการเพาะปลูก…ส่วนใหญ่เกษตรกรจะต้องติดตามข้อมูลจากทางอำเภอหรือจังหวัดเป็นผู้ประกาศ ซึ่งอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้เนื่องจากเป็นข้อมูลในภาพรวม แต่ข้อมูลจากดาวเทียมที่ Ricult ส่งให้เกษตรกรผ่านช่องทางต่างๆ นั้น ประกอบด้วย สภาพอากาศ ซึ่งจัดส่งให้ทุกวันและสามารถบอกได้ละเอียดเป็นพื้นที่ 9×9 กิโลเมตร , อุณหภูมิ , ความชื้นในอากาศ , ความเร็วลม เพื่อประกอบการตัดสินใจฉีดปุ๋ย , ความเข้มของแสงแดด เพื่อคำนวณความถี่ในการรดน้ำ เป็นต้น
“Ricult ไม่ได้มีแค่บริการข้อมูลจากดาวเทียม เรายังมีบริการทดสอบสภาพดินทำให้รู้ว่าผืนดินบริเวณดังกล่าวมีสภาพอย่างไร เหมาะแก่การเพาะปลูกหรือต้องทำการบำรุง มีตลาดการเกษตรออนไลน์ที่นำเสนอสินค้าราคาต่ำกว่าตลาดและจัดส่งให้ถึงสวน มีช่องทางขายผลผลิตถึงมือผู้ซื้อโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือแม้แต่บริการสินเชื่อราคายุติธรรม ซึ่งทุกบริการของเราถูกออกแบบให้เข้าใจง่าย ทั้งยังมีการติดตามผลและประเมินสภาพพื้นที่ให้ทุกๆ สัปดาห์ นอกจากนี้ก็มีเป้าหมายอีกอย่าง คือ ต้องการสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ ให้เกษตรกร เราอยากเห็นภาพที่ทุกคนตื่นเช้าแล้วต้องเช็คข้อมูลผ่าน Ricult ให้เหมือนกับคนในสังคมเมืองที่ยกมือถือคอยเช็คโซเชียลมีเดียจนชิน”
ครบวงจรการเกษตร…สู่โครงการระดับชาติ
เราดำเนินงานผ่านการขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐ โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานเกษตร รวมถึงองค์กรไม่แสวงหากำไร แต่จะเน้นที่องค์กรภาครัฐและโรงงานรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก เพื่อสร้างการตื่นตัวและต่อยอดสู่การผลักดันเป็นโครงการระดับชาติ ซึ่งสร้างผลกระทบได้มากกว่าการดำเนินงานรูปแบบอื่น
นอกจากนี้ เรายังวางแผนขยายบริการ Ricult โดยอาจกลับมาสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง คือ การจำหน่ายปุ๋ยราคาต่ำให้เกษตรกร เนื่องจากราคาปุ๋ยในปัจจุบันค่อนข้างสูงเพราะผ่านการขนส่งและผู้ค้าหลายขั้นตอน ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการสานต่อการนำเสนอข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก สู่การสร้างวงจรการเกษตรที่ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว และการจำหน่าย
ความสำเร็จ คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร
“เป้าหมายที่แท้จริงของ Ricult ยังเป็นการช่วยเกษตรกรไทย ทั้งการเพิ่มรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถลดต้นทุนการเพาะปลูกได้ไม่ต่ำกว่า 10% หรือเพิ่มกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งตอนนี้เราเห็นความสำเร็จนี้จากกลุ่มตัวอย่างแล้ว เป้าหมายถัดไปคือตัวเลขที่เพิ่มขึ้น กำไรต้องมากกว่านี้ จำนวนผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว รวมถึงการขยายไปยังกลุ่มพืชเศรษฐกิจ การขยายผลผลิตประเภทต่างๆ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งเราหวังไว้ว่าภายในระยะ 5 ปี Ricult จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจทุกประเภทของประเทศไทยได้”
อย่ามองแค่ธุรกิจที่ทำเงิน…!
อยากแนะนำผู้ที่สนใจจะสร้างธุรกิจหรือบริการแบบ Startup อย่ามองจากสิ่งที่คุณคิดว่านั่นคือปัญหาที่ลูกค้าต้องการให้แก้ไข แต่คุณต้องเข้าไปคลุกคลีกับพวกเขาเพื่อรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อการพัฒนาหรือหาโซลูชั่นที่ง่ายต่อการใช้งานและตอบโจทย์ปัญหาเหล่านั้นได้จริง ทั้งยังต้องเข้าใจว่าทุกเรื่องที่ทำจะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน…คุณต้องพร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์เหล่านั้น โดยเฉพาะการทำโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ อย่าพิจารณาจากเงินเป็นหลัก! ควรมองภาพรวมเป็นมุมกว้างเพื่อหาเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้ รวมถึงมุมมองที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วย.
Copyright © MarketingOops.com