[ข่าวประชาสัมพันธ์]
ผู้บริหารในแวดวงอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ตัวแทนจากแบรนด์ต่างๆ โรงงานปั่นด้าย โรงงานทอผ้า และโรงงาน ตัดเย็บ กว่า 200 คน เข้าร่วมงาน “คอตตอน เดย์” (Cotton Day) เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย และสนับสนุนการใช้เส้นใยฝ้ายที่ยั่งยืนจากสหรัฐอเมริกา โดยงาน “คอตตอน เดย์” ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Your Partner for Prosperity” โดยเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยน และเข้าใจประโยชน์ของการใช้ใยฝ้ายและผลิตภัณฑ์จากฝ้ายสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังนำเสนอโปรแกรมต่างๆจาก “คอตตอน ยูเอสเอ” ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม U.S. Cotton Trust Protocol® , COTTON USA SOLUTIONS™ และ COTTON USA™ Licensing Program
งาน “คอตตอน เดย์” ตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทยในการเป็นแหล่งเส้นใยฝ้ายที่ยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจด้านศักยภาพของการใช้เส้นใยฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อยอดธุรกิจให้กับบริษัทในประเทศไทย โดยในงาน สมาชิกโปรแกรม U.S. Cotton Trust Protocol® กว่า 20 รายซึ่งเป็นทั้งโรงงาน และผู้ผลิตได้นำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยเส้นใยฝ้ายจากสหรัฐอเมริกามาจัดแสดง ในฐานะสมาชิกของโปรแกรม U.S. Cotton Trust Protocol® ซึ่งโรงงานผู้ผลิตเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนที่มีความโปร่งใส และได้รับการยอมรับจากแบรนด์ต่างๆที่ต้องการแหล่งผลิตสินค้าจากเส้นใยฝ้ายสหรัฐอเมริกา
นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ในกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวว่า “สมาชิกของโปรแกรม U.S. Cotton Trust Protocol® ต่างก็เชื่อมั่นว่าเส้นใยฝ้ายที่หมุนเวียนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาได้ผ่านกระบวนการการปลูกอย่างยั่งยืนที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงต่อสังคม ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่มีเส้นใยฝ้ายที่ยั่งยืนและมีซัพพลายเชนที่มีความโปร่งใสต่อสมาชิกทุกราย”
โปรแกรม U.S. Cotton Trust Protocol® ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านการผลิตเส้นใยและผลิตภัณฑ์จากฝ้ายที่ยั่งยืน โดยมีหัวใจหลักที่มุ่งเน้นด้านความโปร่งใส และการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และนับเป็นโปรแกรมเพียงหนึ่งเดียวที่เน้นเป้าหมาย และการวัดผลเชิงปริมาณที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อพัฒนาความยั่งยืนทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ การใช้ที่ดิน ระดับคาร์บอนในดิน การจัดการน้ำ การสูญเสียดิน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ปัจจุบันโปรแกรม U.S. Cotton Trust Protocol® มีสมาชิกกว่า 30 แบรนด์และผู้ค้าปลีกชั้นนำ และอีกกว่า 1,000 โรงงานผู้ผลิตทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยมีสมาชิกที่เข้าร่วมโปรแกรม รวม 30 ราย โดยทั้งหมดเป็นสมาชิกฝั่งโรงงานผู้ผลิต
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีโมเดลที่เรียกว่า “จากเส้นใยสู่เครื่องนุ่งห่ม” ซึ่งเป็นซัพพลายเชนด้านสิ่งทอที่ครอบคลุมครบถ้วน ตั้งแต่การปั่นเส้นใยไปจนถึงการตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป เรามีการใช้ฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันมีการเลือกซื้อฝ้ายที่เกรดดีเป็นพิเศษอีกด้วย การที่อุตสาหกรรมฝ้ายสหรัฐอเมริกาได้เปิดตัวโครงการ U.S. Cotton Trust Protocol® ทำให้ซัพพลายเชนมีความโปร่งใส ซึ่งตลาดต้องการข้อมูลเหล่านี้ และผู้บริโภคก็ต้องการผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่แบรนด์ต่างๆ ก็ต้องการแหล่งผลิตที่ไว้วางใจได้ และมีความยืดหยุ่น ซึ่งผู้ผลิตของไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน”
นายไกรภพกล่าวทิ้งท้ายว่า มากกว่า 50% ของแบรนด์ที่เป็นคู่ค้าของ คอตตอน ยูเอสเอ มีความตั้งใจที่จะหันมาใช้ฝ้ายที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2568 “เนื่องจากแหล่งผลิตเส้นใยฝ้ายทั่วโลกมีจำนวนลดลง เราประเมินความต้องการซื้อฝ้ายที่ยั่งยืนไว้ที่ 3 ล้านเบล ซึ่งจำนวนดังกล่าวจะเข้าไปอยู่ในระบบ Trust Protocol PCMS ภายในปี พ.ศ. 2566 และอีกจำนวน 5 ล้านเบล ภายในปี พ.ศ. 2568″
[ข่าวประชาสัมพันธ์]