ธอมัสไอเดีย ชี้ ความแรงหลังแอ๊ปเปิ้ลเปิดตัว “ไอโฟน6 – สมาร์ท วอทช์” ตอกย้ำกระแส “สมาร์ทดีไวซ์” พร้อมดันนวัตกรรมกลุ่ม “Home” และ “Health” แพร่หลาย โดยเฉพาะ “แอ๊ปเปิ้ล วอทช์“ ที่เป็นมากกว่าอุปกรณ์ติดตัวด้วยการทำงานร่วมอุปกรณ์อื่น ดึงผู้บริโภคเข้าใกล้เทคโนโลยี ดันเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นจุดแข็งของแอ๊ปเปิ้ลที่ใช้กลยุทธ์ “Ecosystem” สร้างพันธมิตร ดึงนักพัฒนา ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ร่วมใช้แพลตฟอร์มเดียวกันดังนั้น นักการตลาด เจ้าของแบรนด์สินค้าไทยควรเตรียมพร้อมใช้กลยุทธ์ดิจิทัลผ่านช่องทางสมาร์ทดีไวซ์เข้าถึงผู้บริโภคยุค “อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์”
นางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอธอมัสไอเดีย ดิจิทัลเอเยนซี่เครือ WPPกล่าวว่า หลังการประกาศจำนวนยอดจองไอโฟน 6 ที่ล้นหลาม เป็นการตอกย้ำจุดเด่นที่แอ๊ปเปิ้ลท้าทายนักธุรกิจทั่วโลก คือ การที่แอ๊ปเปิ้ลสามารถสร้างสรรค์อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ใช้งานได้ง่ายและทันสมัย การออกแบบที่สวยและมีสไตล์เป็นแฟชั่น ดึงดูดให้สินค้าแอ๊ปเปิ้ลเป็นเทรนด์ที่ขาดไม่ได้ของคนทั่วโลก
“การที่แอ๊ปเปิ้ลเปิดตัว ไอโฟน 6 และ แอ๊ปเปิ้ลวอทช์ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่อง Health และ Home” นางสาวอุไรพรกล่าว
เทคโนโลยีที่ซ่อนอยู่
หลังจากที่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่แอ๊ปเปิ้ลได้เปิดตัว Health Kit และ Home Kit สำหรับนักพัฒนาทั่วโลก ได้ศึกษาและพัฒนาแอพพลิเคชั่นหลากหลายรูปแบบต่อยอด ไอโอเอส (iOS) และดีไวซ์ที่มีอยู่ รวมถึงไอโฟน 6 และ แอ๊ปเปิ้ลวอทช์ในวันนี้ ที่แอพและข้อมูลในแอ๊ปเปิ้ลวอทช์สามารถทำงานได้ควบคู่ไปกับไอโฟน 6
ความง่ายที่เกิดขึ้นแม้แต่การป้อนคำสั่งของ แอ๊ปเปิ้ลวอทช์ ด้วยการกดและสัมผัสบนหน้าจอ เป็นสิ่งที่นักพัฒนาต่างทึ่งในความคิดสร้างสรรค์และความพยายามของทีมแอ๊ปเปิ้ล เพราะต้องอาศัยคุณภาพของเซ็นเซอร์ที่ล้ำหน้ามากๆ ในส่วนประกอบกลไกอัจฉริยะครั้งนี้ โดยผู้ใช้งานสามารถวัดการเคลื่อนไหวในแนวดิ่งผ่าน Barometer ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งมากับไอโฟน 6 หรือ แอ๊ปเปิ้ลวอทช์ ที่เชื่อมถึงกันได้ นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลสุขภาพบนข้อมืออย่างเดียว
“แอ๊ปเปิ้ลวอทช์แตกต่างจาก wearable device ทั่วไป เพราะเป็นการรุก เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้หากได้รับอนุญาตสามารถส่งต่อไปยังระบบและแอพต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับEcosystem ของแอ๊ปเปิ้ล ส่งผลให้ข้อมูลเหล่านี้สามารถถูกวิเคราะห์ ถูกจัดเก็บข้อมูล หรือถูกส่งต่อไปยังระบบการแพทย์ เพื่อเป็นการติดตามและแจ้งเตือนถึงสุขภาพผู้ใช้ไปยังแพทย์ผู้ดูแลเป็นการป้องกัน”นางสาวอุไรพรกล่าว
และแอพใหม่อย่างApple Pay ในไอโฟน 6 ที่ใช้วิธี Touch ID เข้ามา ทำให้การจ่ายเงินผ่านมือถือสะดวกมาก เกิดจากการที่ทีมงานแอ๊ปเปิ้ลทำงานร่วมกับเครดิตรายใหญ่ระดับโลกทั้งหลาย เช่น Visa, Master Card, Amex เพื่อให้การชำระเงินจาก Touch ID เพื่อปลอดล๊อกด้านการตรวจสอบข้อมูลโดยวิธีเดิมเพิ่มความสะดวกปลอดภัยในขั้นตอนเดียว
“สำหรับนักธุรกิจไทยควรต้องจัดเตรียมระบบเพื่อเชื่อมต่อกับการชำระเงินรูปแบบใหม่และพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถตอบโจทย์ขององค์กรให้ทัน” นางสาวอุไรพรกล่าวเสริม
หรือแม้แต่การขยายผลต่อยอดสู่ “สมาร์ทโฮม” แอ๊ปเปิ้ลได้จับมือร่วมกับ Honeywell ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารและระบบควบคุมในอาคาร เพื่อพัฒนาแอพต่อยอดHome Kit และเชื่อว่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่สำหรับอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ ภายในบ้านหรืออาคาร
แอ๊ปเปิ้ล ชู Ecosystem สร้างพันธมิตร
แอ๊ปเปิ้ลได้สร้างEcosystem ขึ้นมาให้นักพัฒนาพันธมิตรและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของแอ๊ปเปิ้ลทั่วโลกได้เข้ามาใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน เกิดเป็นธุรกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองได้ นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกและการใช้งานที่ง่ายแล้ว แอ๊ปเปิ้ลได้พัฒนาสินค้าด้วยการอินทริเกรตเข้ากับระบบปฏิบัติการและแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์
ทั้งนี้ นางสาวอุไรพรกล่าวเสริมถึงความสำเร็จของแอ๊ปเปิ้ลว่า “เสน่ห์ของแอ๊ปเปิ้ลในการเป็นผู้สร้างเทรนด์ในเรื่องความสะดวก เรียบง่าย ทันสมัยมีไลฟ์สไตล์ จะช่วยให้ Wearable Device อย่างแอ๊ปเปิ้ลวอชท์กลายเป็นเทรนด์สินค้าใหม่ที่แบรนด์อื่นๆ ไม่สามารถทำได้สำเร็จ และยังต่อยอดการใช้งานออกไปถึงความเป็น Smart Device ที่มากกว่าอุปกรณ์ติดตัว ด้วยการเพิ่มศักยภาพของสินค้าทุกอย่างให้ทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้อีก ผ่านการใช้งานที่เรียบหรูมีรูปลักษณ์สวยงาม ดูปลอดภัยและเชื่อถือได้ ทำให้คนไม่กังวล หรือ ไม่ลังเลที่จะลองไลฟสไตล์แบบใหม่ๆจากแอ๊ปเปิ้ลถ้าย้อนดูประวัติ แอ๊ปเปิ้ลสร้าง ไอทูนส์ สโตร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางของสินค้าที่คนจับจ่ายผ่านแอพได้อย่างง่ายดาย เป็นการสร้างไลฟ์สไตล์ในคนทั่วโลกให้คุ้นชินกับอีคอมเมิร์ซโดยไม่รู้ตัว
ผลิตภัณฑ์ของแอ๊ปเปิ้ลต่อจากนี้ น่าจะเป็นการขยับและเตรียมผู้บริโภคทั่วโลกให้พร้อมเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) สิ่งที่มากกว่าความสะดวกสบาย คือ การดำรงชีวิตประจำวันร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเรียบง่ายและมีความสุขมากขึ้นนั่นเอง”
การ์ทเนอร์ ประมาณการว่า ภายใน ปี 2017 แอพพลิเคชั่นมากกว่า 50% จะเป็นแอพสำหรับ wearable technology พร้อมทั้งประเมินว่า กลุ่มสุขภาพ และ ฟิตเนส จะเป็นกลุ่มหลักที่ดันความนิยมของ wearable technology และรายได้จากแอพของตลาดเฉพาะกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ ไอดีซี ประเมินว่าในปีนี้ ตลาด wearable devices จะอยู่ที่19.2 ล้านเครื่อง และจะมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยไอดีซีคาดการณ์ว่าในปี 2018 จะพุ่งไปที่ 111.9 ล้านเครื่อง
นางสาวอุไรพรกล่าวว่า “ก้าวต่อไปนี้ คงต้องรอดูผลงานของแอ๊ปเปิ้ลผ่านสมาร์ทดีไวซ์ชิ้นใหม่ที่ทำให้ผู้คนหันมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนทำให้เรื่องอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ เป็นเรื่องใกล้ตัวจริงๆ และเป็นโจทย์ที่สะท้อนกลับมาที่นักออกแบบและนักธุรกิจไทย ว่าจะอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีต่อยอดสินค้าและบริการที่มีอยู่ ผ่านช่องทางดิจิทัลที่มีผู้บริโภคทั่วโลกอยู่ปลายทางอย่างไร”