ภูมิคุ้มกันหมู่ ทางออกในการป้องเด็กเล็กจาก COVID-19

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในระลอกนี้ รุนแรงมากขึ้นกว่าระลอกที่ผ่านมา และเริ่มมีเด็กติดเชื้อไวรัสนี้กันมากขึ้น ถึงแม้ขณะนี้จะมีวัคซีนป้องกันโควิดเข้ามาแล้ว แต่วัคซีนที่มีในประเทศไทยขณะนี้ไม่สามารถใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ เพราะฉะนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในผู้ใหญ่ จึงเป็นอีกแนวทางในการปกป้องเด็ก ๆ จากการป่วยเป็นโรค COVID-19

แพทย์หญิงรติ ดิวิทยา กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในเด็กที่พบมากขึ้นในประเทศไทย ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการระบาดครั้งนี้ เป็นการแพร่ระบาดภายในประเทศ ดังนั้น ความเสี่ยงที่พ่อแม่ หรือคนในบ้านติดมาจากนอกบ้านโดยไม่รู้ตัว แล้วกลับมาแพร่เชื้อสู่เด็กจึงมีมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นก็สามารถติดเชื้อได้ จากการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน

เมื่อเด็กมีการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ว่าเด็กเล็ก หรือเด็กโต ลักษณะอาการที่เกิดขึ้น มีลักษณะเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เพราะสามารถเกิดอาการในระบบทางเดินหายใจ อาการในระบบทางเดินอาหาร อาการทางผิวหนัง หรืออาจไม่มีอาการก็ได้ และอาจมีแนวโน้มอาการรุนแรงขึ้นได้เช่นกัน หากเด็กมีโรคประจำตัว เช่น ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคไต โรคหัวใจ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น หรือเป็นการติดเชื้อในเด็กทารก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่ดี

ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง แต่วัคซีนที่มีใช้ในประเทศไทย ได้แก่ Sinovac และ Astrazenecaยังไม่สามารถฉีดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพความปลอดภัยมากพอในการนำมาฉีดให้กับเด็ก ส่วนวัคซีนของบริษัท Pfizer สามารถฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่มีในประเทศไทย ดังนั้น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี และมีเด็กอยู่ในบ้าน ควรรีบไปรับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคม ลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสสู่เด็ก

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิดไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100 % แต่จะช่วยลดโอกาสป่วยเป็นโรคและช่วยลดความรุนแรงของโรค หากมีการติดเชื้อแล้ว ยังมีโอกาสแพร่ต่อให้คนอื่น ๆ ได้ พ่อแม่จึงควรดูแลเรื่องสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องเด็กจากการติดเชื้อไวรัส ได้แก่

  1. ไม่ไปในที่ชุมชน หรือพื้นที่แออัด โดยไม่จำเป็น
  2. เมื่อกลับมาถึงบ้าน ควรล้างมือ อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนอุ้มหรือเล่นกับเด็ก
  3. ล้างมืออย่างถูกต้องเป็นประจำ และใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกไปนอกบ้าน
  4. พ่อแม่ควรสังเกตอาการของตนและลูก หากเริ่มไม่สบาย ควรรีบมาตรวจให้แน่ใจ
  5. หากมีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในระหว่างที่รอผลตรวจ ควรแยกตัวออกจากผู้อื่น ไม่ไปในที่ชุมชน
  6. สมาชิกทุกคนในครอบครัว ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี และเด็กควรรับวัคซีนต่าง ๆ ตามกำหนดที่แพทย์นัด

อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองติดเชื้อ COVID-19 ผู้ที่จะมาดูแลเด็กแทน จะต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี แข็งแรง ไม่ควรให้ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวมาดูแลแทน เพราะหากคนกลุ่มนี้ป่วยเป็นโรค COVID-19 จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงถึงชีวิตได้มากกว่าผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี

“ เชื้อไวรัส COVID-19 มีโอกาสระบาดในระยะยาว ซึ่งเด็กเป็นกลุ่มที่สามารถติดเชื้อได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ในอนาคต เมื่อมีข้อมูลของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนแล้ว เด็กก็ควรได้รับวัคซีนเช่นกัน แต่ในระหว่างนี้เด็ก ๆ ควรได้รับการดูแลด้านสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ และพ่อแม่ หรือคนในบ้าน ควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ” แพทย์หญิงรติกล่าว

แพทย์หญิงรติ ดิวิทยา
กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •