[PR] กรุงโซล คว้ารางวัลชนะเลิศ “เมืองยั่งยืนต้นแบบของโลก ปี 2015” จาก WWF

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

cats

กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ คว้ารางวัลชนะเลิศ “Global Earth Hour Capital” หรือ “เมืองยั่งยืนต้นแบบของโลก” จากโครงการ “Earth Hour City Challenge” หรือ “โครงการปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน” ประจำปี 2015 ของ WWF (กองทุนสัตว์ป่าโลก) โดยแนวทางการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมรอบด้าน และพันธสัญญาที่มุ่งมั่นในการเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนของกรุงโซลได้สร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศ โดยได้มีการประกาศผลและมอบรางวัล ณ การประชุม ICLEI World Congress 2015 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อค่ำของวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา

กรุงโซลมีวิธีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเป็นประวัติการณ์ ด้วยการจัดสรรงบประมาณที่สมจริงเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงโซล, การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งด้วยการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างเลนเฉพาะสำหรับรถโดยสารประจำทาง รวมไปถึงโครงการสนับสนุนให้คนใช้รถร่วมกัน ซึ่งนับได้ว่า กรุงโซล เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเมืองต่างๆ ที่กำลังเติบโตโดยเฉพาะในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเมืองต่างๆ รอบโลก ความริเริ่มที่ท้าทายของกรุงโซลที่มุ่งมั่นลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 10 ล้านตัน และการสร้างให้เมืองสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2020 นั้นได้รับการชื่นชมอย่างยิ่งจากคณะกรรมการฯ

“เรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ เมืองต่างๆ ทั่วโลกมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดแนวทางของโลกให้พัฒนาอย่างยั่งยืนอันจะเกิดขึ้นจากการใช้พลังงานหมุนเวียน และกรุงโซล คือ เมืองที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายๆ เมืองในความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้” มาร์โค แลมเบอร์ทีนี ผู้อำนวยการใหญ่, WWF-International กล่าว

กรุงโซลได้รับการยอมรับและกล่าวถึงเป็นพิเศษในโครงการ Earth Hour City Challenge ในปีก่อนหน้านี้ และในปีนี้ กรุงโซลได้ครองตำแหน่ง Global Earth Hour Capital ต่อจากเมืองที่ชนะเลิศในปีที่ผ่านมา คือ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา (ปี 2013) และ
เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ (ปี 2014)

การขยายขอบเขตการดำเนินงานของกรุงโซลนั้นเน้นที่ศักยภาพและความสำคัญของการพัฒนาจากโปรเจคตัวอย่างไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับที่ใหญ่ขึ้น การพัฒนาที่เกิดขึ้นจากเมืองอย่างเช่นกรุงโซล เป็นตัวอย่างสำหรับผู้นำจากนานาประเทศที่กำลังจะเข้าร่วมการประชุมและการเจรจาต่อรองด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ การประชุม Paris Climat 2015 (COP21) ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ในเดือนธันวาคมนี้

โครงการ Earth Hour City Challenge 2015 ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดย WWF หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลก ที่ได้เชิญชวนให้เมืองต่างๆ รอบโลก ร่วมสร้างความยั่งยืนและช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณามาตรการต่าง ๆ รวมถึง พันธสัญญาของเมืองจากรายงานที่แต่ละเมืองจัดทำขึ้นและนวัตกรรมในการพัฒนาให้เมืองเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ โดยในปีนี้กว่า 163 เมืองจาก 16 ประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมโครงการนี้ คณะกรรมการโครงการฯ ได้พิจารณาให้กรุงโซลเป็น Global Earth Hour Capital จากบรรดาเมืองที่เข้ารอบและเมืองที่ชนะของแต่ละประเทศหรือ National Earth Hour Capital อันได้แก่ เมืองเบโลโอรีซอนชี ประเทศบราซิล,  เมืองกอร์โดบา ประเทศสเปน, เมืองเอวันส์ตัน สหรัฐอเมริกา, เมืองกอเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน, เทศบาลนครหาดใหญ่ ประเทศไทย, กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย, เมืองลาห์ตี ประเทศฟินแลนด์, เมืองมองเตเรีย ประเทศโคลอมเบีย, กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, เมืองเปตาลิงจายา ประเทศมาเลเซีย, เมืองพูอีบลา ประเทศเม็กซิโก, ประเทศสิงคโปร์, เมืองธาเน ประเทศอินเดีย, เมืองชวาเน่ ประเทศแอฟริกาใต้ และนครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

“กรุงโซล คู่ควรกับการได้รับรางวัล Global Earth Hour Capital ในฐานะที่เป็นมหานครในทวีปเอเชียที่กำลังเติบโตและได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในการปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง กรุงโซลได้จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กรุงโซลยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างโดดเด่นมาก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เมืองต่างๆ ทั่วโลก คือ ผู้ที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แท้จริง” จีโน แวน บีกิน เลขาธิการ ICLEI กล่าว

WWF ได้ดำเนินงานร่วมกับ ICLEI (Local Governments for Sustainability) อย่างใกล้ชิดในการเชิญชวนให้เมืองต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม “ปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน” โดยแต่ละเมืองจะจัดทำรายงานในมาตรฐานของ carbonn Climate Registry (cCR) ที่ICLEI จัดเตรียม และ
องค์กรล็อตตารีเพื่อการกุศลแห่งสวีเดน (The Swedish Postcode Lottery) คือพันธมิตรหลักในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการนี้

สำหรับผู้ชนะรางวัลขวัญใจมหาชน หรือ “The Most Loveable City for 2015” ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับการโหวตจากประชาชนมากที่สุด คือ เมืองบาลิก์ปาปัน ประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นเมืองจากทั้ง 47 เมืองที่เข้ารอบสุดท้ายและได้รับการโหวตผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยประชาชนกว่า 200,000 คนทั่วโลกได้เข้าร่วมแคมเปญการโหวตให้เมืองที่ตนรักเป็นเมืองที่ยั่งยืน กิจกรรมรณรงค์ “We Love Cities”  มีวัตถุประสงค์ในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วโลกให้แสดงออกถึงความรักที่มีต่อเมืองต่างๆ ผ่านการโหวต, การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพลงทวิตเตอร์, การโพสต์ภาพลงบนอินสตาแกรม และที่สำคัญคือ การเสนอแนะวิธีที่จะทำให้เมืองที่ตนรักเป็นเมืองที่ยั่งยืน โดยข้อเสนอแนะที่ได้รับจากกิจกรรมนี้จะถูกส่งต่อให้กับทุกเมืองที่ร่วมโครงการ

สำหรับประเทศไทยนั้น เทศบาลนครหาดใหญ่ คือ ผู้ชนะเลิศ “National Earth Hour Capital” หรือ “เมืองยั่งยืนต้นแบบระดับประเทศ” โดยดำเนินการอย่างเต็มที่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลุมฝังกลบ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนของเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ย และการผลิตน้ำมันดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว

นอกจากนี้ เทศบาลนครหาดใหญ่มีการรณรงค์ลดการใช้พลังงานในหน่วยงานของเทศบาล รวมทั้งดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในโครงการผลิตพลังงานจากของเสีย เช่น ขยะ และร่วมมือกับชุมชนและประชาชนในการปลูกผักสวนครัวเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนอีกด้วย


  •  
  •  
  •  
  •  
  •