3 Trends แห่งการแก้แค้น ‘Revenge Travel – Revenge Spending – Revenge Bedtime’ พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่หลังโควิด

  • 112
  •  
  •  
  •  
  •  

 

หลังการระบาดของโควิดที่กินเวลาราว 3 ปี ระยะเวลาอันสั้นแต่ก็สร้างพฤติกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นทั้งโลก พร้อมกับการเกิดเทรนด์พฤิตกรรมผู้บริโภคใหม่ที่น่าสนใจขึ้นมากมายด้วย

ทั้งนี้ เราขอเลือก 3 เทรนด์สำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ Revenge Travel  Revenge Shopping  Revenge Bedtime เพราะทั้ง 3 คำนี้ นอกจากมีความเชื่อมโยงด้วยคำว่า Revenge = การแก้แค้น เหมือนกันแล้ว ยังเป็นกระแส Big Trends สำคัญในช่วงนี้ด้วย

Revenge Travel

Revenge Travel = เที่ยวล้างแค้น

เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวในช่วง Post Pandemic หลังจากที่โรคระบาดทำให้เราต้องเก็บตัวไปไหนไม่ได้ เดินทางไปไม่ได้ตั้งแต่นอกบ้าน ในห้าง โดยไม่ต้องพูดถึงการเดินทางข้ามประเทศ ในช่วงนั้นหลายสายการบินก็ถูกระงับ ตั๋วเดินทางก็แคนเซิลกันวุ่นวาย แต่หลังจากที่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย พร้อมๆ กับที่วัคซีนเริ่มเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ได้ ทำให้การระบาดและการติดเชื่อไม่รุนแรงมากนัก หลังจากนั้น เราก็เห็นว่าการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาหนาตาอีกครั้ง จนกลายเป็น Big Trend ที่เรียกว่า Revenge Travel นั่นเอง

สำหรับข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 11,153.026 คน และเร็วๆ นี้ยังมีข่าวเกี่ยวกับการที่เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเริ่มทยอยเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วด้วย ซึ่งยังไม่นับที่ว่ามีการท่องเที่ยวเกิดขึ้นในประเทศจำนวนมากในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา

ดังนั้น Revenge Travel ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีในเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการ Revenge Travel กลุ่มแรกคือนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง (Luxury Travel) ตามมาด้วยระดับรายได้ชั้นกลางที่มีเห็นชัดเจนช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างกรณีประเทศอินเดีย ที่ตัวเลขทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตติดอันดับโลก แต่หลังจากที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายพร้อมทั้งการปลดล็อกมาตรการต่างๆ ชาวอินเดียก็เริ่มออกเดินทางเพื่อคลายความเครียดเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอินเดียก็คือประเทศไทย ซึ่งทำให้มีตัวเลขแซงหน้าขึ้นเป็นกลุ่มที่เดินทางมาเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 1 ในปี 2565 ที่ผ่านมา

Revenge Spending

Revenge Spending = ช้อปล้างแค้น

Revenge Spending หรือ Revenge Shopping เป็นอีกหนึ่งในเทรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วง Post Pandemic เช่นกัน ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่ผู้บริโภคโหยหาการช้อปปิ้งเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความผ่อนคลายและระบายความอัดอั้น ผลักดันให้ อีคอมเมิร์ซ และสินค้าหลายชนิดเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้แต่สินค้าประเภทกลุ่มลักชัวรี่ ด้วย

ทั้งนี้ The 1 Insight เปิดเผยว่า 4 กลุ่มสินค้าที่มียอดขายสูงขึ้นจากเทรนด์ Revenge Spending ได้แก่ 1) อุปโภคบริโภค พบยอดขายเติบโตขึ้นถึง 51% ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อความเพลิดเพลินใจ ในขณะที่ยอดขายวัตถุดิบเพื่อการประกอบอาหารและเบเกอรี่ลดลง 14% สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ทำอาหารที่บ้านน้อยลง 2) ร้านอาหาร ยอดขายร้านอาหารเติบโตสูงขึ้น 15% โดดเด่นในกลุ่มร้านอาหารชาบู/ปิ้งย่างที่นิยมทานเป็นกลุ่ม และอาหารญี่ปุ่น/เกาหลี ที่มีราคาสูง บ่งชี้ถึงการมอบรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ตนเองเพื่อสร้างความผ่อนคลาย 3) ความงาม ยอดขายเครื่องสำอางและน้ำหอมกลับมาเติบโตกว่า 20%  เห็นได้ชัดว่าตัวเลขเติบโตสัมพันธ์กับการที่ผู้บริโภคสามารถออกจากบ้านและพบปะผู้คนได้มากขึ้น อย่างการแต่งหน้า-ฉีดน้ำหอม และ 4) การออกกำลังกาย ยอดขายสปอร์ตแวร์ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 25% ส่วนยอดขายอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เติบโตในช่วงโควิดกลับปรับตัวลดลง 22%

นอกจากนี้ ยังพบว่าเทรนด์นี้ยังส่งผลต่อสินค้า “กลุ่มลักชัวรี่” อีกด้วย โดยแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton, Hermes, Gucci, Prada ฯลฯ มียอดขายที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศจีน

Revenge Bedtime

Revenge Bedtime = อดนอนล้างแค้น

Revenge Bedtime หรือ Revenge Bedtime Procrastination เป็นเทรนด์ในช่วงหลังที่คนยอมที่จะนอนน้อยลงเพื่อให้มีเวลาในการใช้ชีวิตที่มากขึ้น ซึ่งรูปแบบการนอนอย่างนี้กลายเป็นนิยมใหม่ของกลุ่มมิลเลนเนียลส์ส่วนใหญ่ไปแล้ว โดย ดร.Rajkumar Dasgupta จากมหาวิทยาลัย Southern California พูดว่า อาการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอาการทางจิตวิทยา เรียกกันว่า Revenge Bedtime Procrastination หรือ การแก้แค้นก่อนนอน (สละเวลาพักผ่อนเพื่อความบันเทิง)

เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง Post Pandemic อีกเช่นกัน โดยกลุ่มคนที่มีอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่ทำงานหนักมากเกินไป (overworked) จนทำให้เส้นสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับพื้นที่ส่วนตัว หรือเวลาพักผ่อนทับซ้อนกัน ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาจะทำก็คือ เลื่อนเวลานอนออกไป หรือสละเวลาพักผ่อนออกไปเพื่อเล่นมือถือ, ดูหนัง, เล่นเกม ฯลฯ สิ่งความบันเทิงทั้งหลายเพื่อบรรเทาความเครียดของตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือ ล้างแค้นชดเชยเวลาที่หมดไปกับการทำงานที่มากจนไม่มีเวลาพักเพียงพอเท่าที่ต้องการ (อ่านบทความเพิ่มเติม) ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายรวมไปถึงต่อประสิทธิภาพการทำงานด้วย เพราะทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม แล้วเทรนด์นี้จะสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างไร? เราพบว่ามีโอกาสมากทีเดียว โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับ Health and Wellness ซึ่งกำลังเติบโตมากทีเดียว อาทิ ธุรกิจการทำ Sleep test เช็กสุขภาพการนอน บริการจิตบำบัดเพราะนอนไม่หลับ หรือแม้แต่การเขียนโปรแกรมออกมาเป็นแอปฯ เพื่อการนอนหลับหรือการนั่งสมาธิ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หรือสินค้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อการนอนหลับก็เติบโตเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น หมอนสุขภาพ เครื่องกำจัดไรฝุ่น ฯลฯ หรือกลุ่มวิตามินอาหารเสริมเพื่อการนอน ก็เติบโตในระยะหลัง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการสร้างธุรกิจที่เกิดจาก Pain Point ของผู้บริโภคในปัจจุบันตอบโจทย์ดีทีเดียว

ทั้งหมดนี้เป็น 3 เทรนด์ที่น่าจับตาในปีนี้ต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ที่น่าสนใจในยุค Post Pandemic โดยที่ธุรกิจและนักการตลาดจะต้องทำความเข้าใจให้ดีเพื่อที่จะสร้างเป็นโอกาสในการทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

 

 

 


  • 112
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!