Chatapp กลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการติดต่อสื่อสาร ไม่ว่าใช้ติดต่อกับเพื่อน คนรัก ครอบครัว รักษาความสัมพันธ์ ใช้สื่อสารเวลาทำงาน หรือรับรู้ข่าวสาร แน่นอนว่าเป็นเครื่องมือที่สะดวก (เวลาที่พื้นที่นั้นมีสัญญานอินเตอร์เน็ตคุณภาพดี) มันช่วยสร้างความไว้วางใจได้ดีขึ้น สนิทกันมากขึ้น ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ส่วนในแง่การทำงานในที่ทำงาน Chatapp มักจะมีบทบาทในการพูดคุยหาจุดยืนและเป้าหมายในการทำงานได้ดี หรือแม้กระทั่งเปลื่ยนวัฒนธรรมองค์กรได้เลย ถ้าเราติดต่อกันไม่มากหรือน้อยเกินไป การใช้ Chatapp ก็ทำให้ทั้งความสัมพันธ์และประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าเราเสพย์ติดการติดต่อสื่อสารมากเกินไป Chatapp ที่เคยให้คุณมาตลอด ก็ให้โทษเช่นกัน
ความสะดวกในการสื่อสารแลกกับพื้นที่ส่วนตัวที่น้อยลง
เมื่อ Chatapp กลายเป็นช่องทางการสื่อสารหลักมากกว่า Social Network คนไทยมีสมาร์ทดีไวซ์เฉลี่ยมากกว่าหนึ่งเครื่อง ทำให้เราออนไลน์กันเกือบตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อคอยว่ามีข้อความอะไรใหม่ๆเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะบางอาชีพที่ต้องยิ่งเช็คข้อความบ่อยๆเพื่ออัพเดทงานจนต้องตอบกลับไปเรื่อยๆ บอกข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรามากขึ้นจนพื้นที่ส่วนตัวเริ่มน้อยลง ทำให้ Chatapp ที่เคยให้ประโยชน์กลับให้โทษกับคนในที่ทำงานแทน มีบทความของ ดร. Darl G. Kolb จากมหาวิทยาลัยโอ็คแลนด์ ระบุว่าเมื่อแชทคุยติดต่อกันมากจนเกินไป จะทำให้เกิดกฎระเบียบหรือข้อตกลงมากขึ้นตามจนสร้างความกดดันในการทำงานในกลุ่ม การที่ต้องตื่นตัวกับข้อความที่จะได้รับทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง เหนื่อยล้ามากขึ้นด้วย
อย่างบางบริษัทที่ผู้นำธุรกิจต้องการสื่อสารกับลูกทีมอยู่ตลอดเวลา ก็อาจทำให้ลูกทีมบางคนต้อง Active ตลอด 24 ชั่วโมง ใครที่ไม่ Active ก็อาจถูกเชิญออกจากกลุ่มการสื่อสารนั้นออกไป ไม่ว่าจะ Active หรือไม่ คนทำงานก็ต้องรู้สึกเครียดทั้งคนส่งข้อความและคนอ่าน ส่วนหนึ่งเพราะฟังก์ชั่น Instant Message คือ “อ่านแล้วต้องตอบทันที” ที่ทำให้คนรับข้อความ ถ้าอ่านแล้วก็ต้องรู้สึกเครียดว่าต้องตอบทันที คนส่งข้อความ ถ้าไม่ได้รับข้อความตอบกลับก็หงุดหงิดอีก
ยิ่งเป็นการพูดคุยกันในกลุ่มแชทที่หลายๆครั้ง เวลาเราส่งข้อความแล้ว กลับไม่มีใครตอบ นอกจากจะทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดแล้ว การสื่อสารยังไม่มีประสิทธิภาพด้วย
สุขภาพจิตของคนใช้ Chatapp เมื่อพบว่าอีกฝ่ายอ่านข้อความของตัวเองแล้ว “แต่ไม่ตอบ”
คนที่ Active ในการติดต่อสื่อสารผ่านสมาร์ทดีไวซ์มากจนเกินไป ไม่ได้มีปัญหาแค่ในแง่ของการทำงาน แต่กระทบกับชีวิตส่วนตัวเต็มๆ
อย่างเมื่อเร็วๆนี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมสื่อดิจิทัลและการสื่อสารของศาสตราจารย์ Tony D. Sampson จากมหาวิทยาลัย East London ระบุว่าพวก Chatapp ต่างๆมีผลต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้มากเมื่อข้อความขึ้นว่า อ่านแล้ว(read) แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ ไม่ว่าจะทำให้เกิดความกังวล ความรู้สึกผิด และถามตัวเองในข้อความที่พิมพ์ส่งไปว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ จนบางครั้งถึงขนาดต้องบอกให้กับอีกฝ่ายรู้ว่าเราไม่พอใจที่ไม่ได้รับข้อความตอบกลับด้วยซ้ำ
ผู้ให้บริการ Chatapp รับมือพฤติกรรมคนติดแชทมากเกินไปอย่างไร?
คนใช้ Chatapp สามารถปิด Notification ที่ตัวแอปฯบน Lock Screen ปิดเสียง ตั้งค่า Airplane Mode แม้แต่ซ่อนหรือลบแอปฯ หลากหลายวิธีที่ไม่ต้องการให้ข้อความจาก Chatapp รบกวนพื้นที่ส่วนตัวของเราได้บ้าง แต่หากมองในมุมมองของของฝั่งผู้ให้บริการ Chatapp แล้วฟังก์ชั่น “อ่านแล้ว” ยังมีประโยชน์กับตัวผู้ให้บริการอยู่ เพราะต้องการวัดข้อความที่คนใช้ส่งหากันในแต่ละวัน เอาข้อมูลไปสร้างรายได้ต่อยอดให้กับโฆษณาและธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะ Facebook ที่มีทั้งตัว New Feed และ Messenger ทำให้คนใช้งานเล่น Facebook ให้นานที่สุดเพื่อเก็บข้อมูล
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ให้บริการจะละเลยความรู้สึกของผู้ใช้ Chatapp ไปทั้งหมด อย่าง Facebook Messenger ที่อัพเดทฟังก์ชั่นที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้นโดยเพิ่มแถบอิโมจิเล็กๆไว้กดตอบข้อความของอีกฝ่าย Skype และ Wechat ที่ไม่มีฟังก์ชั่น “อ่านแล้ว” ให้เราได้เห็น หรือ Whatsapp ที่สามารถซ่อน Read Receipt ได้ Chatapp ส่วนใหญ่จึงแค่บรรเทาพฤติกรรมคนติดแชทมากเกินไปได้บ้าง เหลือแต่ Line ที่ไม่ได้มีฟังก์ชั่นแก้ปัญหาความรู้สึกเครียดหากข้อความที่ตัวเองส่งแล้วไม่ได้รับการตอบกลับ
Chatbot คือทางออกของการติดต่อในยุคนี้หรือไม่?
เราคงได้ยินว่า Chatbot จะมาช่วยในการค้าขายออนไลน์ เมื่อมีใครเกิดสนใจสินค้าหรือบริการและส่งคำถามมาทาง Inbox ก็จะมี Chatbot คอยตอบคำถามให้ทันที หรือคอยเสนอโปรโมชั่น รับออเดอร์ ไม่ต้องรอคนจริงๆเข้ามาตอบเอง ประหยัดต้นทุนในการจ้างคนมาตอบ แถมช่วยปิดการขายด้วย ตรงนี้สะท้อนว่าพฤติกรรมของคนใช้ Chatapp เดี๋ยวนี้ “รอไม่ได้” อยากรู้อะไรก็ต้องได้รู้เดี๋ยวนี้ และ Chatbot ก็จะมาตอบโจทย์พฤติกรรมรอไม่ได้ของคนในยุคนี้ได้ดี
สุดท้ายแล้ว Chatapp ที่จะได้รับความนิยมมากที่สุดไม่ใช่เพราะตัวแบรนด์ สติกเกอร์หรือลูกเล่น แต่เป็นฟังก์ชั่นที่ถ้าไม่ตอบทันที อย่างน้อยก็มีปฎิกิริยากับข้อความที่ส่งไปบ้าง เป็นมิตรกับสุขภาพจิตของคนใช้ Chatapp
Copyright © MarketingOops.com