ดีแทคร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยการระดมความเห็น Jam Ideation พบ 3 ประเด็นคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ นำไปสู่การหยุดการกลั่นแกล้งออนไลน์ “มาตรฐานความงาม ความเท่าเทียมทางเพศ และการคุกคามทางเพศ” เรียกร้องสังคมร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ ผ่าน “สัญญาใจ” #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา
จากการที่ดีแทคได้เปิดแพลตฟอร์มระดมความเห็นในรูปแบบ Jam Ideation #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา เป็นเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 25-27 มิถุนายน 2564 พบว่ามี แพลตฟอร์มได้รับไอเดียเกี่ยวกับการหยุดไซเบอร์บูลลี่ทั้งหมด 782 ไอเดีย (unique ideas) สามารถเข้าถึง (reach) กลุ่มเป้าหมายกว่า 1.44 ล้านคน และมียอดการมีส่วนร่วม (Engagement) กับแคมเปญทั้งสิ้นราว 34,500 ครั้ง ประกอบด้วยการสนทนา ยอดไลค์และยอดแชร์ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการนำเทคโนโลยี crowdsourcing เข้ามาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างแท้จริง จากการระดมความคิดเห็น พบว่า 3 ประเด็นหลักที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ มาตรฐานความงามที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา (Body shaming) มีสัดส่วนสูงถึง 56% ตามด้วยการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) 23% และความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) 21%
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดำเนินงานวิจัย เปิดเผยว่า “จากความเห็นของคนออนไลน์รุ่นใหม่พบว่า สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยในมิติทางสังคม ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าว ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ ภาคเอกชน สื่อ และหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำหนดและกำกับนโยบาย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในมิติทางสังคม ร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมออนไลน์ชุดใหม่ให้สังคมก้าวไกล เทียบเท่านานาชาติ”
สำหรับประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาผู้อื่น คนออนไลน์ยุคใหม่ต้องการสร้างทัศนคติให้ทุกคนในสังคมตระหนักและเคารพเรื่อง “ความแตกต่างหลากหลาย” (Diversity) ในร่างกายมนุษย์ ไม่วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างและหน้าตาของผู้อื่น เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ว่าผู้พูดจะมีอาวุโสกว่าหรือเป็นเพื่อนกัน ควรสร้างโอกาสให้ทุกคนเท่ากันโดยไม่ตัดสินจากรูปร่างหน้าตาที่เหนือกว่าผู้อื่น (Beauty privilege) นอกจากนี้ ควรสร้างการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem)ให้มีในตัวเด็กทุกคน และให้คุณค่ากับความแตกต่างมากกว่าการสร้างมาตรฐานความงาม และที่สำคัญ ควรมีการกำหนดมาตรการลงโทษทางกฎหมายและกำหนดให้มีหน่วยงานราชการทำหน้าที่ในการช่วยเยียวยาเหยื่อจากไซเบอร์บูลลี่ เมื่อกระบวนการทางกฎหมายจบลง
ในประเด็นการคุกคามทางเพศนั้น คนรุ่นใหม่มองว่าควรมียกระดับและส่งเสริมการสร้างทัศนคติต่อต้านการคุกคามทางเพศ สอนให้เด็กรู้จักสิทธิส่วนบุคคลและเคารพในร่างกายของผู้อื่น ขณะเดียวกัน พ่อแม่ ครูและผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่แสดงพฤติกรรมที่ส่อไปในเชิงคุกคามทางเพศ นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังมองว่าไม่ควรส่งเสริมหรือสนับสนุนทัศนคติชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และสร้างทัศนคติต่อต้านไซเบอร์บูลลี่และการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในสื่อออนไลน์ ที่สำคัญ ควรมีการกำหนดมาตรการลงโทษผู้ก่อเหตุคุกคามทางเพศในโรงเรียนและแนวทางในการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิ โดยคำนึงถึงผู้ถูกละเมิดเป็นหลัก รวมถึงควรปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุมคามและการล่วงละเมิดทางเพศให้มีความทันสมัย
และในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เด็กรุ่นใหม่มองว่า ควรมีสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับตวามหลากหลายทางเพศ ลบล้างทัศนคติชายเป็นใหญ่และสร้างค่านิยมความเท่าเทียมทางเพศ ให้โอกาสทุกเพศและทุกคนอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้ทันสมัยและไม่สร้างภาระให้กับเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ
สัญญาใจวัย Gen Z
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ผลการศึกษาสามารถบ่งชี้ได้ว่าสังคมไทยมี “การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเชิงสังคม” ขนานใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ มาตรฐานความงาม ความเท่าเทียมทางเพศ และการคุกคามทางเพศทางออนไลน์ (Sexual harassment) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถบ่งชี้ถึงความต้องการของคนออนไลน์เจนใหม่ที่มีเจตคติในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมออนไลน์ชุดใหม่ขึ้นหรือที่เรียกได้ว่า “สัญญาใจวัย Gen Z” ซึ่งเด็กรุ่นใหม่พร้อมเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมผ่านค่านิยมชุดใหม่ ทั้งนี้ การเปลี่ยนทางดิจิทัลที่ผ่านมาล้วนมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ จนละเลยปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านในมิติทางสังคม ซึ่งปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาเช่นเดียวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
“ดีแทคในฐานะแบรนด์บุกเบิก (pioneering brand) ที่เปิดประเด็นด้านไซเบอร์บูลลี่มากว่า 5 ปี ตั้งแต่การสร้างการรับรู้ต่อปัญหา งานพัฒนาศักยภาพบุคลากร งานผลักดันนโยบายสาธารณะ งานสื่อสารสาธาณะและวิจัย ตลอดจนการหาทางออกและพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business)” นางอรอุมา กล่าว