“รักลูก” เผย “6 เทรนด์แม่ GEN M” แม่ยุคใหม่ใจกว้าง ไม่ติดกรอบ

  • 58
  •  
  •  
  •  
  •  

ppt-trend-of-thai-millennial-moms-page-001-700

“รักลูก” จัดงาน Trend of Thai Millennial Moms  เข้าถึง เข้าใจ ไทยมิลเลนเนียลมัม โดยได้มีการสรุปผลวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมเรื่องการเลี้ยงลูกจากแม่ทั่วประเทศจำนวนกว่า 2,000 ราย ที่มีอายุอยู่ในช่วง  21 – 35 ปี โดยเป็นกลุ่มที่เรียกว่า Millennial Generation (Gen M) เพื่อรู้จักตัวตนของแม่ GEN M อย่างเข้าใจ และพูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มและทิศทางของแม่ GEN M ในด้านต่างๆ อาทิ พฤติกรรมการใช้สื่อ รวมไปถึงวิธีการเลี้ยงลูก เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจและสามารถตอบสนองความต้องการของแม่ยุคใหม่ได้อย่างตรงใจ

ppt-trend-of-thai-millennial-moms-page-004

ภายในงานได้มีการนำเสนอผลการวิจัยแม่ GEN M หรือ Millennial MOM  ที่มีอายุระหว่าง 21 -35 ปี  (คนเจนเอ็ม คือผู้ที่เกิดระหว่างปีค.ศ. 1980 – 1999 *U.S. chamber of commerce)  โดยคุณพิมพ์ฐณัช ภฐณวาณิชกุล  ผู้จัดการศูนย์วิจัย สถาบันอาร์แอลจี ได้นำเสนอ 6 เทรนด์ต้องห้ามพลาด ของแม่ GEN M  ที่สรุปได้จากการทำวิจัยแม่ไทยทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2,000 คน  โดยวิธีการสำรวจทัศนคติเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากช่องทางออนไลน์  “เราพบว่าแม่ GEN M มีทัศนคติต่อการเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันที่น่าสนใจ และสามารถสรุปเป็นเทรนด์ได้  6 เรื่องคือ

1. WOMOM Phenomenon จะเป็น”ผู้หญิง” หรือเป็น “แม่” ฉันก็ยังคงเป็นตัวเองนี่แหละ

ppt-trend-of-thai-millennial-moms-page-008

เมื่อก่อนเราเชื่อว่าผู้หญิงจะเป็นเด็กสาว เป็นแฟน เป็นภรรยา และเป็นแม่ โดยผลัดกันไปทีละช่วงชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเป็นแม่แล้ว หลายคนอาจละทิ้งตัวตน ความคิดความฝันของตัวเองไปอยู่ที่ลูกเกือบทั้งหมด แต่ ณ ตอนนี้ เป็นยุคที่ผู้หญิงผสมผสานความเป็นแม่ และ การเป็นตัวของตัวเองไว้ด้วยกัน โดยไม่ต้องแยกกันเหมือนเป็นคนละคน เราจึงเห็นแม่ยุคใหม่ คือผู้หญิงที่มีลูก โดยที่เธอยังไม่สูญเสียจุดยืนของตนเอง เธอยังมีความคิด ความต้องการ และใช้ชีวิตอย่างที่ผู้หญิงทั่วไปต้องการเหมือนสมัยก่อนจะมีลูก คุณจึงพบคุณแม่หุ่นดี ออกกำลังกายเต็มที่ (รับประ) ทานอาหารออร์แกนิก อาหารมังสวิรัติ ท่องเที่ยวเปิดโลกแม้ท้องโต หรือมีรถเข็นเบบี๋ไปด้วย ใส่ชุดแฟชั่นแทนชุดแม่ท้องเชยๆ แต่งหน้าสวยเบาๆ แม้จะเข้าห้องคลอด ฯลฯ โดยไม่รู้สึกว่าทำอะไรผิดแปลก และมีความสุขกับสิ่งที่เธอทำ

ทั้งหมดนี้ เพราะคุณแม่ Gen M ภูมิใจในตัวเองพร้อมๆ ไปกับภูมิใจในความเป็นแม่นั่นเอง

WOMOM Phenomenon

แม่ยุคปัจจุบัน ไม่ได้มองว่า คนท้องคือคนป่วย แค่มีลูกและยังสามารถทำอะไรต่ออะไรที่เคยทำได้ แม้แต่การออกกำลังกาย ถ้าหากมีท่าทางที่เหมาะสมและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็สามารถที่จะทำได้ (77%) อีกทั้งการดูแลตนเองอาทิ การดูแลน้ำหนัก รูปร่าง ( 72%) การแต่งตัวสวยงามตามแฟชั่น (91%) ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะหากแม่มีความสุข ลูกในครรภ์ก็จะมีความสุขด้วย

ถ้าพูดถึงสินค้าออร์แกนิก แม่ 69% บอกว่ายอมจ่ายเพื่อสุขภาพที่ดีกว่าของตนองและลูก แม้ว่าส่วนใหญ่สินค้าจะราคาสูง ในขณะที่ 29% ทราบดีว่าสินค้าออร์แกนิกดีอย่างไร แต่เพราะราคาสูงจึงไม่ได้ซื้อ นอกจากนี้เมื่อพูดถึงสินค้าออร์แกนิก แม่ 98% ตอบว่าคำนึงถึง “สุขภาพ” เป็นเรื่องหลัก ในขณะที่อีก 58% คำนึงถึงทั้งเรื่อง สุขภาพ และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นทาง www.rakluke.com ว่าคุณแม่เข้าใจคำว่าออร์แกนิกดีแค่ไหน แม่ 82% มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ออร์แกนิกคือ ต้องมีส่วนประกอบทุกอย่างจากธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีใดๆเลย และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในกระบวนการผลิต

2. 7 to 7 GRAN(nan) NY Hours เรื่องเลี้ยงลูกไว้ใจ ปู่ย่าตายายที่สุด

ppt-trend-of-thai-millennial-moms-page-015

กลุ่มแม่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงทำงาน ดังนั้นชีวิตของเธอจะพัวพันระหว่างเวลาทำงาน (Office Hours) และเวลาของความเป็นแม่ ( Mother Hours) โดยเธอจะได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเองก่อนเวลาเข้างานและเวลากลับบ้านเท่านั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นผู้หญิงยุคนี้เป็น Drive Thru Mom คือ จอดรถส่งลูกสู่มือคนเลี้ยงในเช้าตรู่และแวะรับก่อนกลับบ้าน โดยคุณแม่กลุ่มนี้จะฝากลูกให้คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจเป็นผู้เลี้ยงดู โดยเฉพาะปู่ย่าตายาย ซึ่งใกล้ชิดสนิทสนมที่สุด รองลงมาจึงเป็น ญาติมิตร สถานรับเลี้ยงเด็ก ไปจนถึง พี่เลี้ยงเด็ก จนอาจเรียกได้ว่า 7 โมงเช้า ถึง หนึ่งทุ่ม เป็น 7 to 7 GRAN(nan) NY Hours เวลาของปู่ย่าตายายเช่นเดียวกัน

7 to 7 GRAN(nan)NY Hours

แม้ว่า แม่ส่วนใหญ่จะเลี้ยงลูกด้วยตนเอง (45.23%) หรือมีคนช่วยเลี้ยงบ้าง (20.93%) แต่ถ้าถามถึงคนที่ไว้ใจให้ดูแลลูก แม่ร้อยละ 82.08 ตอบว่า ปู่ย่าตายาย ซึ่งแสดงถึงการเห็นความสำคัญของผู้เป็นปู่ย่าตายาย ที่มีความหมายถึง ความปลอดภัยอุ่นใจเมื่อลูกอยู่กับปู่ย่า มากกว่าญาติคนอื่นๆ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังบอกว่า แม่ไทยไม่ใช้พี่เลี้ยงเด็ก (85.47%) สาเหตุหลักเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย 69.79% รองลงมาคือ เรื่องของการสิ้นเปลืองค่าใช่จ่าย 35.83%

แต่หากต้องหาคนมาช่วยเลี้ยงลูกแล้ว แม่จะพิจารณาเรื่องของ ความไว้ใจ เชื่อใจมาเป็นอันดับแรก(33.08%) รองลงมาคือ มีประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงดู 28.52% และ ความเป็นมืออาชีพที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีเรื่องการเลี้ยงเด็ก 23.31% ซึ่งการเลือกปู่ย่ามาเป็นผู้ช่วยเลี้ยงลูก แสดงให้เห็นถึงระบบสายสัมพันธ์แบบไทยที่ยังมีความหมายอยู่ ไม่ว่าสังคมจะมีบริบทแบบครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยายก็ตาม

3. No Rule is New Rule. แม่ไม่ได้แหกกฎ แค่เปลี่ยนบริบทของคำว่า “ดีที่สุด”

ppt-trend-of-thai-millennial-moms-page-020

บนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย นิยามของความเป็นแม่ได้ถูกบัญญัติใหม่ด้วยเงื่อนไขความเป็นจริงมากขึ้น อีกทั้งเปิดกว้างขึ้นตามวิสัยทัศน์ มุมมอง และความเชื่อที่กว้างไกลและหลากหลายจากเดิม ความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่วิถีแห่งศรัทธา พิธีกรรม หรือ กุศโลบายทางคติชุมชนต่าง จึงทำให้ผู้หญิงยุคนี้ อาจมีวิธีปฏิบัติต่อตัวเองในฐานะแม่และลูกๆ ของเธอต่างจากยุคคุณแม่ คุณยาย คุณทวด ของเธอมาก

เด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงก็ใส่สีชมพูได้เหมือนกัน กางเกงไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กชาย แม่ไม่อายที่จะให้นมลูกในที่สาธารณะ เด็กๆ อาจไม่ต้องเข้าโรงเรียนแต่ได้อยู่โฮมสคูล หรือเด็กพิเศษไม่ต้องถูกเก็บซ่อนไว้ในบ้าน…

แต่อย่างไรก็ตาม แม่ในทุกยุคทุกสมัยก็ยังคงตั้งมั่นในการเฟ้นหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกของเธอ ดังนั้นสิ่งที่เธอทำไม่ใช่การแหกกฎเก่าๆ แต่เธอแค่เปลี่ยนบริบทของคำว่า “ดีที่สุด” ไปจากเดิมเท่านั้นเอง

No Rule is New Rule.

แม่ GEN M มองโลกอย่างเข้าใจ และยอมรับความเป็นไปของโลก เข้าใจถึงความแตกต่างของคนแต่ละคน ทำให้แม่เข้าใจว่า การเป็นแม่ไม่ได้หมายถึงความสมบูรณ์แบบเสมอไป อีกทั้งโลกปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น ยอมรับในสิ่งที่แม่ทำ และแม่เป็น โดยผลการสำรวจได้ถามถึงทัศนคติที่แม่มีต่อเรื่องการเลี้ยงลูก ผลที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ การเปิดกว้าง ยอมรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆมากขึ้น อาทิ

• มีความรู้สึกเฉยๆไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกเมื่อเห็นเด็กผู้ชายเล่นตุ๊กตา และเด็กผู้หญิงเล่นหุ่นยนต์ (77.11%)

• หากลูกต้องเรียนร่วมกับเด็กพิเศษ แม่ร้อยละ 71.80 จะอธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องความแตกต่าง รองลงมาร้อยละ 69.52 ตอบว่าสนับสนุนให้ลุกช่วยเหลือเพื่อนเท่าที่ทำได้

• แม่จะรอให้ลูกโตถึงวัยอนุบาลก่อนจึงจะหาโรงเรียนให้ลูก (69.31%) และแม่จะเลือกโรงเรียนคุณภาพดีปานกลาง ชื่อเสียงไม่ต้องมาก แต่ใกล้บ้านให้ลูก (51.84%) ใกล้เคียงกับคนที่ให้ความสำคัญทั้งชื่อเสียงของโรงเรียนกับการเดินทางไปกลับของลูก 42.84% แสดงให้เห็นถึงค่านิยมที่เปลี่ยนไปจากสมัยก่อน ที่ลูกจะต้องเรียนโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียงที่สุดเท่านั้นถ้าเป็นไปได้ และในยุคก่อนแม่จะรีบหาโรงเรียนและจองที่นั่งของลูกตั้งแต่ยังเล็ก

• แม่ส่วนใหญ่ (90.13%) คิดว่าการคลอดลูกไม่ว่าจะคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด คนเป็นแม่ก็รักและผูกพันกับลูกมากเท่าๆ กัน และไม่ได้มีผลกับความภูมิใจในความเป็นแม่

• แม่ Gen M มากกว่าครึ่ง (52.60%) ไม่ได้คิดกังวลมากนักว่าเธอต้องเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบเสมอไป แต่ในขณะที่แม่อีกเกือบครึ่ง (47 %) คิดว่าคนเป็นแม่ต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบเสมอ

• สำหรับการให้นมลูกในที่สาธารณะ แม่เกือบทั้งหมด 98% เห็นว่าถ้ามีผ้าคลุมให้นมลูก ก็ไม่น่าเกลียดหรือน่าอาย เพราะเป็นการเลี้ยงดูลูก และหากถามถึงความคิดเห็นของผู้อื่นในการมองเรื่องนี้ แม่ 54% คิดว่าคนส่วนใหญ่มองเป็นเรื่องธรรมดาของการเลี้ยงลูก ในขณะที่แม่อีก 24% ตอบว่าคนส่วนใหญ่มองว่ายังน่าอาย ต้องทำในที่ส่วนตัว ซึ่งใกล้เคียงกับแม่อีก 23% ที่ยังลังเลไม่แน่ใจว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไรกันแน่

4. TAKE IT EASY theory แม่สายชิลล์ สบาย…สบาย เพราะได้ตัวช่วยเพียบ

ppt-trend-of-thai-millennial-moms-page-028

คุณแม่กลุ่มนี้เติบโตมาในยุคที่มีวิวัฒนาการของอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่สะดวกสบาย และลดปัญหาต่างๆ ในชีวิตลงจากแม่รุ่นก่อนนี้มาก … เบิกถอนเงินผ่าน ATM ไม่ต้องไปแบงค์ เดินทางด้วยรถไฟฟ้าไม่ต้องโหนรถเมล์ ใช้คอมพิวเตอร์แทนพิมพ์ดีดมานานแล้ว จำวิธีใช้บัตรโทรศัพท์ไม่ได้เพราะมีโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เด็ก… ซึ่งเป็นปัจจัยให้เธอมีความ “ชิลล์” ในการใช้ชีวิตมากกว่าคนรุ่นแม่อย่างเห็นได้ชัด เรื่องความชิลล์นี้ หมายรวมไปถึงการเลี้ยงดูลูกของเธอด้วย จนมีคนบัญญัติศัพท์ว่าพวกเธอนั้นเลี้ยงลูกแบบ Third Child Style คือเลี้ยงลูกสบายๆ เหมือนมีลูกมาแล้วหลายคน

…ลูกล้มไม่โอ๋/ ลงโทษลูกแบบ Time-out ไม่ต้องตี/ เก้าอี้หัดเดินไม่ต้องใช้ ซื้อคอกเด็กให้แทน/ ลูกกับหมาอยู่ด้วยกันได้/ จับลูกแบเบาะโยนลงสระน้ำ… เรื่องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้คนรุ่นย่ายายแทบเป็นลม อีกปัจจัยที่ทำให้พวกเธอไม่เครียดในการเลี้ยงลูกคือ เธอเชื่อว่าหากมีปัญหาเมื่อใด Google ช่วยเธอหา Solution ได้เมื่อนั้น จึงไม่เห็นจะต้องรีบร้อนกังวลไปทำไม!?

TAKE IT EASY theory

• แม่สมัยใหม่ ใช้วิธีเลี้ยงลูกแบบที่ลูกไม่รู้สึกว่าถูกจับผิด หรือควบคุมจนลูกอึดอัด(77%)
• แนวทางการเลี้ยงลูกของแม่ยุคนี้ เน้นการให้อิสระตามความเหมาะสมกับวัยและสภาพแวดล้อม ไม่ควบคุมเข้มงวดมากเกินไป 65% และยังเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเองถึง 60%
• นอกจากนี้แม่ยังหมั่นติดตามข่าวสารและหาความรู้ต่างๆเพื่อนำมาปรับใช้ในการเลี้ยงลูก (61%)

5.INTERNET OF “mother” THINGS แม่ 4G เอาอยู่ทุกสถานการณ์

ppt-trend-of-thai-millennial-moms-page-031

ชั่วโมงนี้เป็นยุคของ Internet of things (IOT) ที่สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ มีสมองกล สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันและพูดจาคุยกันเองรู้เรื่องได้ จนของทุกอย่างในบ้านต้องมีคำว่า SMART กันเต็มไปหมด ไม่เว้นแม้แต่คุณแม่ ที่ได้กลายร่างเป็น SMART MOM เช่นกัน โดยสามารถใช้อุปกรณ์และเครือข่ายอัจฉริยะในมือ ดูแลจัดการชีวิต ครอบครัว ไปจนถึงลูกน้อย ด้วยความสะดวกง่ายดาย ช่วยลดปัญหาในการเลี้ยงดู เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย มี APP เตือนทุกวันของอายุครรภ์ ว่าวันนี้ควรทำอะไร / ไลน์ถามคุณหมอทันทีเมื่อมีปัญหาสุขภาพเจ้าตัวเล็ก/ Facetime กับคุณยายก่อนนอน/ จับสัญญาณ GPS จากนาฬิกาของลูกรักว่ารถโรงเรียนไปส่งหรือยัง…

ทั้งหมดนี้ถ้าอินเทอร์เน็ตไม่ล่ม WIFI ยังต่อติด 4G สัญญาณเต็ม มือถือแบตไม่หมด … คุณแม่ยุค IOT ก็ยังสบายและ “เอาอยู่” ทุกสถานการณ์

INTERNET OF “mother” THINGS

แม่ยุค 4G สร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับตัวเองผ่านเทคโนโลยี เพื่อช่วยลดภาระบางอย่าง และเพิ่มความสะดวกสบายรวมไปถึงเวลาให้กับตัวเองและครอบครัว
• 1 ใน 4 ของแม่บอกว่าอยากจะลองซื้อของใช้ทางอินเทอร์เน็ต เพราะประหยัดเวลาเดินทางไปร้าน (62%)
• แม่อีกจำนวนหนึ่ง (41%) บอกว่าการมีค่าใช้จ่ายบ้างไม่เป็นปัญหา ถ้าทำให้มีเวลาดูแลพูดคุยกับลูกมากขึ้น พอๆกับแม่ 40% ที่ยอมจ้างคนมาช่วยทำความสะอาดบางโอกาสเพื่อให้มีเวลาพักผ่อนบ้าง
• ยุคนี้เป็นยุคของ แอปพลิเคชั่น โดยเฉพาะประเภทผู้ช่วยมืออาชีพในด้านต่างๆ ซึ่งแม่ 63% ยินดีที่จะใช้บริการถ้าคุ้มค่ากับคุณภาพในการบริการ ส่วนอีก 24% มองในแง่ความสะดวกสบายถ้าหากจะเลือกใช้ แต่ก็ยังมีแม่ที่ไม่เลือกใช้เพราะไม่ไว้วางใจในความปลอดภัย 25%
ถ้าพูดถึงการดูแลลูกแล้ว แม่สมัยใหม่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการติดตามดูแลลูกในหลายรูปแบบ แม่ถึง 73% ยินดีจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์และศึกษาการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยในการดูแลลูกให้ปลอดภัย แต่ก็ยังมีแม่อีกจำนวนหนึ่ง (27%)ที่มองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง
“ไลน์”(Line) แอปพลิเคชั่นยอดนิยมของแม่และครูไทย
• แม่มากกว่าครึ่งที่ใช้ไลน์เพื่อคุยกับครูที่โรงเรียนลูก (58%)และคุยกับลูก(50%)
• นอกจากนี้แม่ยังมีไลน์ของพ่อแม่เพื่อนๆลูก และของเพื่อนๆลูกอีกด้วย (41%และ22%ตามลำดับ)
เฟซบุ๊ก (Facebook) อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสารของลูกและสังคมของลูกได้ดี
• แม่ 39% เลือกเป็นเพื่อนกับลูกทาง FB และยังเป็นเพื่อนกับครูของลูกอีกด้วย (36%)
• รองลงมาพ่อแม่เลือกการเพิ่มช่องทาง FB ในการเป็นเพื่อนกับพ่อแม่เพื่อนลูก 32% และเป็นเพื่อน FB กับเพื่อนลูก 22%

Gadget ชิคๆ หรืออุปกรณ์บางอย่างก็ช่วยได้

• มีแม่ 21% ที่เลือกใช้แอปพลิเคชันอื่นๆเพื่อติดตามดูแลลูก
• กล้องวงจรปิด(20%)หรือเบบี้มอนิเตอร์(11%) ยังเป็นสิ่งที่พ่อแม่เลือกใช้ในการดูแลลูกอยู่
• เด็กสมัยนี้ใส่นาฬิกาติดตามตัวกันหายไม่ใช่น้อย (14%)

6. TRANS-PARENT Culture สังคมแม่ยุคใหม่ไร้พรมแดน

ppt-trend-of-thai-millennial-moms-page-036

กำแพงกั้นขวางระหว่าง ‘คนรู้จัก’ และ ‘คนไม่รู้จัก’ ของคุณแม่Gen M หายไป เรื่องนอกบ้านและในบ้านนั้นห่างกันเพียงแค่นิ้วคลิก แม่ๆ ยินดีรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นยิ่งกว่ายุคไหนๆ การเรียนรู้จากการได้ลงมือทำหรือการได้ฟังผู้เชี่ยวชาญตัวจริง เป็นสิ่งสำคัญพอๆกับการเชื่อมต่อประสบการณ์จากพ่อแม่ออนไลน์คนอื่นๆ โลกของแม่เกิดการ seamless ง่ายขึ้นเพราะ SOCIAL NETWORKหรือ SOCIAL MEDIA กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของแม่ไปแล้ว

สังคมแม่ยุคใหม่ไม่มีพรมแดน สัมพันธภาพที่ดีเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา จะเป็นโลก Online หรือOn Ground แม่ก็ยินดีเปิดกว้างต้อนรับเสมอ เพราะแม่ให้ความสำคัญกับ Community เนื่องจากต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ปรารถนาที่จะมีเพื่อนคอเดียวกัน พบเจอแม่ที่มีประสบการณ์ร่วมแบบเดียวกัน เพื่อความเข้าใจในสิ่งที่พวกเธอเผชิญอยู่ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นแม่ Gen M ปลาบปลื้มกับยอดไลค์รูปลูกที่น่ารักน่าชัง แม่ทำคลิปอาหารเด็กง่ายๆขึ้น Youtube ถามอาการลูกไม่สบายกับกลุ่มแม่คลับต่างๆ เพื่อความอุ่นใจก่อนที่จะไปหาหมอ พอๆ กับการไปร่วมกิจกรรมเรื่องพัฒนาการลูก ไปเที่ยวนอกห้องเรียนกับกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนลูก หรือเข้าร่วมงานอีเวนท์ที่น่าสนใจมากมาย เพราะพวกเธอเชื่อว่า ไม่มีใครเข้าใจแม่ ดีกว่าคนเป็นแม่ด้วยกัน

TRANS-PARENT Culture

• แม่ 86% ชื่นชอบที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และปรึกษาปัญหากับแม่คนอื่นๆ
• 80% ของแม่ Gen M อ่านรีวิวความคิดเห็นจากแม่คนอื่นๆก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าสำหรับลูก ถ้าหากไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเมื่อปี 2015 โดย momypedia ที่พบว่าแม่มักหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตในเรื่องของใช้สำหรับแม่ตั้งครรภ์และหลังคลอด (41%) รวมไปถึงของเล่นเสริมพัฒนาการ (47%)และ Car Seat(45%) แต่ถ้าเป็นสินค้าสำหรับลูก หมวด Personal Care และ Personal Wash อาทิ แชมพู สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอ้อมเด็ก ฯลฯ แม่ยังคงให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลทางนิตยสาร ใกล้เคียงกับโฆษณาทางโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตามหากเป็นสินค้าประเภท นม อาหารเสริม ยาหรือสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ แม่จะยังปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือให้แพทย์แนะนำเป็นลำดับแรก (38%)

จากผลการวิจัยทั้งหมด เราพบว่า แม่ยุคนี้มีความคิดที่เปลี่ยนไป เป็นอิสระมากขึ้น มีความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ยึดติดกรอบการเลี้ยงดูลูกแบบเดิมๆ  แต่อย่างไรก็ตาม แม่ทุกยุคทุกสมัยก็ยังมีความกังวลใจอยู่บ้างเรื่องของการเลี้ยงลูก และแม่ต้องการตัวช่วยที่ไว้วางใจได้  จึงเป็นโอกาสของผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแม่ ในการทำตัวเป็นผู้ช่วยที่ดี ที่แม่ไว้วางใจ และจะดียิ่งขึ้นถ้าช่วยพวกเธอประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยเธอทำชีวิตให้ง่ายขึ้น และทำให้เธอรู้สึกว่าเธอเป็นคนดีเป็นแม่ที่ดี


  • 58
  •  
  •  
  •  
  •