เข้าใจ Gen Z Stare สายตาที่ว่างเปล่า-ไม่รับโทรศัพท์-รับแล้วไม่พูด พฤติกรรมคน Gen Z ที่รุ่นพี่ไม่เข้าใจ

  • 25
  •  
  •  
  •  
  •  

คุณเคยพยายามชวนพนักงานหรือเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องคุย แต่กลับได้รับสายตาที่ว่างเปล่าและความเงียบเป็นการตอบกลับรึเปล่า? หรือเมื่อคุณกล่าวขอบคุณพนักงานเด็กๆในร้านค้า แต่กลับได้รับสายตาจ้องมองกลับมาแบบนิ่งๆ โดยไม่พูดอะไรสักคำ? หรือบางครั้ง คุณโทรไปหาคน Gen Z แล้วคุณเจอแต่ความเงียบไม่มีแม้แต่คำว่า “ฮัลโหล” หรือมารู้ทีหลังว่า การโทรไปหาคน Gen Z กลับกลายเป็นการเสียมารยาทในมุมคน Gen Z ซะอย่างนั้น

ถ้าใช่ คุณไม่ได้เผชิญสถานการณ์นี้คนเดียว เพราะเรื่องเหล่านี้กำลังถูกพูดถึงและบางเรื่องกำลังเป็นไวรัลใน TikTok ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่อง Gen Z Stareสายตาว่างเปล่าของคน Gen Z นอกจากนี้ยังมีเรื่องการไม่พูด “ฮัลโหล” เวลารับโทรศัพท์ที่ทำเอารุ่นพี่ๆงง รวมไปถึงการโทรหาคน Gen Z ที่เป็นการเสียมารยาท ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจกันในบทความนี้

Gen Z Stare คืออะไร

“Gen Z Stare” หรือ สายตาว่างเปล่าจากชาว Gen Z ที่อาจเป็นพนักงานในงานบริการ หรือชาว Gen Z ที่เป็นเพื่อนรวมงาน สิ่งนี้เป็นประเด็นที่ชาวมิลเลนเนียลส์และคนรุ่นก่อนหน้าต่างพากันงุนงงจนต้องออกมาอัดคลิปแชร์กันในโลกออนไลน์ซึ่งก็กลายไวรัลใน TikTok โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

บน TikTok มีแฮชแท็ก #Genzstare ถูกแชร์ไปมากกว่า 4,000 โพสต์แล้ว โดยเฉพาะคนกลุ่ม Millennials ต่างออกมาเล่าถึงประสบการณ์นี้ว่า เวลาที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานรุ่นใหม่ๆ มักจะเจอกับปฏิกิริยาตอบกลับจากชาว Gen Z แบบว่างเปล่าแบบนี้ เป็นประสบการณ์ที่หลายๆคนเจอมาเหมือนๆกัน

ชาว Millennials ที่เคยเจอเหตุการณ์ Gen Z Stare ต่างโพสต์คลิปเล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองเจอ หรือบางคนก็ Cover เหตุการณ์อธิบายสถานการณ์ที่ว่านี้ผ่าน TikTok ซึ่งแต่ละคลิปก็จะมีคนแชร์และคอมเมนท์แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

มุมมองของคนรุ่นก่อนกับ Gen Z Stare

ในไวรัลนี้สำหรับชาว Millennials และคนรุ่นก่อนหน้า “Gen Z Stare” ถูกมองว่าเป็นสัญญาณของความอึดอัดในที่ทำงาน หรือการขาดทักษะทางสังคม (Soft Skills) อย่างการสื่อสาร

ชาว Millennials หลายๆคนแชร์ประสบการณ์ผ่าน TikTok ว่าเคยเจอสายตาแบบนี้ในร้านอาหาร คาเฟ่ รวมถึงในร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า เช่นชาวเน็ตรายหนึ่งเล่าว่า “เจอกับสายตาแบบ Gen Z ทุกครั้งที่บอกขอบคุณที่พวกเขาช่วยใส่ของลงถุง พวกเขาแค่จ้องฉันด้วยสายตาเรียบเฉย และฉันก็ยังไม่เข้าใจเลยจนกระทั่งตอนนี้”

บางคนถึงกับเปรียบเทียบการเจอกับ Gen Z Stare ว่ามันเหมือนกับกำลังยืนดู “หน้าจอที่กำลังโหลดข้อมูลไม่เสร็จ” หรือเป็นเหมือน “NPC จากเกมที่ออกมาอยู่ในชีวิตจริง” เลยทีเดียว

คำอธิบายจาก Gen Z ไม่ได้ไร้มารยาท แค่กำลังประมวลผล

ในขณะที่คนรุ่นก่อนออกมาบ่นคน Gen Z ที่ทำ Gen Z Stare แต่กลุ่ม Gen Z เองที่อาจเคยทำ Gen Z Stare กับคนอื่นก็ได้ออกมาตอบโต้เรื่องนี้ผ่าน TikTok ด้วยว่า “สายตา” ที่ว่านั้นบางทีก็มีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง

พนักงานบริการลูกค้าที่เป็น Gen Z หลายคนออกมาอธิบายว่า สายตาแบบนี้บางครั้งก็ใช้จ้องมองเมื่อเจอกับคำขอหรือคำถามที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น สถานการณ์ที่ลูกค้าถามว่า “สมูทตี้สตรอว์เบอร์รีกล้วยมีกล้วยผสมอยู่ไหม” พร้อมกับอธิบายว่า” Gen Z Stare ก็แค่การที่เรากำลังประมวลกับคำถามโง่ๆอยู่” เท่านั้น

นอกจากนี้ บางคนยังให้เหตุผลว่าการนิ่งเฉยไปนั้นเป็นเพราะความวิตกกังวลทางสังคม (Social Anxiety) หรือแค่เหนื่อยเกินกว่าจะต้องฝืนยิ้มและพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ (Small Talk) ที่พวกเขาไม่ได้รู้สึกอินไปด้วยเท่านั้น

โทรมา = เสียมารยาท? มุมมองที่แตกต่าง

นอกเหนือจากเรื่องสายตาแล้ว อีกหนึ่งพฤติกรรมที่สร้างความงุนงงไม่แพ้กันคือเรื่องการใช้โทรศัพท์เพราะในมุมของ Gen Z การโทรศัพท์หาโดยไม่นัดล่วงหน้า ถือเป็นการกระทำที่ไม่มีมารยาทและเป็นการบุกรุกเวลาส่วนตัว

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความรู้สึก แต่มีข้อมูลสนับสนุนจากผลสำรวจของ Uswitch ในกลุ่มคนอายุ 18-34 ปี ที่พบว่า เกือบ 70% ชอบการส่งข้อความมากกว่าการโทร และ 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้ไม่เคยรับโทรศัพท์เลย

แน่นอนว่าสิ่งนี้มีเหตุผลในมุมชาว Gen Z เรื่องแรกก็คือสายที่โทรเข้าโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยมักมาพร้อมกับความกังวล โดยผลสำรวจพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนรุ่นใหม่ยอมรับว่า การมีสายโทรศัพท์ที่ไม่คาดคิดเข้ามาทำให้พวกเขานึกถึงข่าวร้าย ทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลทันที

นอกจากนี้คน Gen Z ยังคุ้นเคยกับการแชทมากกว่าเพราะเติบโตมาในยุคที่การสื่อสารผ่านแชทเป็นเรื่องปกติ วิธีการสื่อสารด้วยการแชทมีข้อดีก็คือสามารถเลือกเวลาที่จะตอบได้ สามารถคิดได้ก่อนตอบ ดังนั้นการโทรศัพท์จึงถูกมองว่าเป็นการกดดัน บังคับให้ต้องหยุดทุกอย่างที่ทำอยู่เพื่อมาคุยด้วยทันที

สิ่งนี้ขัดแย้งกับมุมของคนรุ่นก่อนที่มองว่าการยกหูโทรศัพท์กลับมีความหมายที่ลึกซึ้งและเป็นเหตุเป็นผลมากกว่านั้นเช่น การโทรคือความใส่ใจและจริงใจการสละเวลาโทรหาคือการแสดงความเคารพและให้ความสำคัญกับคู่สนทนา เป็นการสื่อสารที่จริงใจกว่าการพิมพ์ตัวอักษรไร้ความรู้สึก

นอกจากนี้การโทรยังมีความชัดเจนและแก้ปัญหาได้ทันที เพราะบางเรื่องไม่สามารถรอการตอบแชทที่อาจช้าหรือไม่ต่อเนื่องได้ การโทรคุยทำให้เข้าใจตรงกันได้ทันที รับรู้น้ำเสียงและอารมณ์ของอีกฝ่าย ช่วยให้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนหรือเรื่องด่วนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่า

รับโทรศัพท์แล้วไม่พูด “ฮัลโหล” 

พฤติกรรมที่ต่อเนื่องมาจากการไม่ชอบให้คนโทรหา คือเมื่อพวกเขารับสาย (ซึ่งอาจจะรับโดยไม่เต็มใจ) ก็มักจะรอให้ผู้ที่โทรมาเป็นฝ่ายเริ่มบทสนทนาก่อน โดยไม่มีคำทักทายอย่าง “ฮัลโหล” หลุดออกมา

ปรากฏการณ์ “Dead Air” หรือความเงียบตอนต้นนี้ สร้างความสับสนให้คนรุ่นก่อนที่คาดหวังว่าจะมีการทักทายหรือคำว่า “ฮัลโหล” เพื่อยืนยันว่ามีคนอยู่ปลายสาย แต่สำหรับ Gen Z นี่คือกลยุทธ์ที่มีเหตุผลอยู่เช่นกัน

เรื่องแรกคือนี่คือกลยุทธ์สู้กับ “สแปมและมิจฉาชีพ” เพราะนี่คือยุคของมิจฉาชีพ Call Center  และสายขายของอัตโนมัติหรือเทเลมาร์เก็ตติ้ง ที่มักถูกตั้งโปรแกรมให้เริ่มทำงานหรือเล่นเสียงที่อัดไว้หลังจากตรวจจับเสียงมนุษย์ได้ เช่น คำว่า “ฮัลโหล”  การเงียบก็เลยเป็นการหลอกระบบว่าปลายทางอาจเป็นสายที่ไม่ทำงานหรือเครื่องตอบรับอัตโนมัติ ทำให้ระบบวางสายไปเอง

นอกจากจะสามารถป้องกันตัวจาก Call Center และโทรศัพท์ขายของแล้วยังเป็นการป้องกันมิจฉาชีพทำ Voice Cloning นำเสียงเราไป Gen เอไอหลอกลวงคนอื่นต่อได้ด้วย

แน่นอนว่านี่ก็เป็นความเข้าใจเรื่องมารยาทที่เปลี่ยนไปด้วยเพราะคน Gen Z ที่โตมากับการสื่อสารที่รู้ตัวตนของคู่สนทนาเสมอผ่านการแชทเป็นหลัก คนกลุ่มนี้มองว่าเมื่อรับสายก็ถือว่าเป็นการยอมรับการติดต่อแล้ว ภาระในการเริ่มบทสนทนาจึงควรตกเป็นของผู้ที่โทรเข้ามา ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีธุระ การเงียบจึงเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณว่า “ฉันรับสายคุณแล้ว เชิญพูดธุระของคุณมาได้เลย” นั่นเอง

ปรากฏการณ์ “Gen Z Stare” และพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของคนรุ่นใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ในการสื่อสารที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี สิ่งสำคัญนี่ไม่ใช่การตัดสินว่าพฤติกรรมว่าของคนกลุ่มไหนถูกหรือผิด แต่คือการพยายามทำความเข้าใจที่มาที่ไปของคนในแต่ละรุ่นต่างหาก

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะสำหรับคนทำงานในองค์กร การเปิดใจเรียนรู้และสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับและปรับตัวลดความแตกต่างระหว่างกัน จะเป็นสิ่งที่ช่วยลดความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น และทำให้คนทุก generation สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

ที่มา BBC, Business Insider,


  • 25
  •  
  •  
  •  
  •