วนกลับมาอีกครั้งกับ #วันชานมไข่มุกแห่งชาติ (National Bubble Tea Day) ในทุกๆ วันที่ 30 เม.ย.ของทุกปี (ซึ่งเฉลิมฉลองครั้งแรกในปี 2018 อย่างเป็นทางการ)
แต่วันนี้เราคงไม่ได้มาเล่าย้อนประวัติให้อ่านกันอีกรอบ (แค่เล่าสรุปง่ายๆ) เพราะหลายคนอาจจะพอรู้บ้างอยู่แล้ว แต่อยากจะพาไปอัพเดทกันหน่อยว่า ปรากฏการณ์คนคลั่งเจ้าชานมไข่มุกเป็นอย่างไรบ้าง เพราะไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย หรือประเทศในเอเชียเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นไปทั่วโลก
ขณะที่คนทั้งโลกก็รู้ดีอยู่แล้วว่า #ชานมไข่มุก เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของ #ไต้หวัน เพราะคนที่จุดประกายความอร่อยนี้ขึ้นมา ตั้งแต่ 41 ปีก่อน ก็คือ Liu Han-Chieh หญิงชาวไต้หวัน ซึ่งเกิดเป็นไอเดียในระหว่างทริปในญี่ปุ่น เธอเห็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่โน่นเป็น #ชาเย็น ที่ใครๆ ก็ถือแก้วดื่มกันไปมา
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ |
ย้อนประวัติศาสตร์ ‘ชานมไข่มุก’ ก่อนจะดังเป็นพลุแตก จนกลายเป็นเครื่องดื่มแห่งชีวิต! |
จึงหยิบไอเดียนี้กลับมาบ้านผุดเป็นร้านชาเย็น ชื่อว่า Chun Shui Tang Teahouse ในเมืองไทจง ก่อนจะลองประดิษฐ์ความคิดนิดหน่อย ด้วยการใส่ขนม Fen Yuan (ขนมโมจิของญี่ปุ่น) ผลคือ รสชาติเครื่องดื่มออกมาดีมาก จนเธอเพิ่มเข้าไปในเมนูร้านของเธอ แล้วเกิดเป็นเครื่องดื่ม #ชานมไข่มุก ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1987 (เมื่อ 33 ปีที่ผ่านมา)
#ลัทธิชานมไข่มุก กระจายตัวไปทั่วโลก
เราคงไม่ต้องย้อน time machine ไปยังประเทศต่างๆ ว่าตอนนี้มีเครื่องดื่มประเภทนี้ไปกี่ประเทศกันแล้ว แต่ข้อมูลของ Worldwide Bubble Tea Industry ชี้ไปที่คาดการณ์การเติบโตระหว่างปี 2020 ถึง 2025 ว่ามี 7 ประเทศทั่วโลกที่คาดว่าอัตราการเติบโตในเชิงการบริโภคจะมากขึ้นไปอีก คือ
- สหรัฐอเมริกา
- ยุโรป
- จีน
- ญี่ปุ่น
- เกาหลีใต้
- อเมริกาเหนือ
- อินเดีย
ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาร้านชานมไข่มุกหลากหลายแบรนด์ที่เกิดขึ้นมา จะเพิ่มตัวเลือกรสชาติเครื่องดื่มใหม่ๆ เช่น ชารสผลไม้, ชารสเผือก, ชารสช็อกโกแลต ฯลฯ แต่รู้หรือไม่ว่า รสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือ #ชานมไข่มุกแบบดั้งเดิม ซึ่งครองสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ทั่วโลกไปถึง 44.14% ในปี 2019 แต่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งยังมีการประเมินตัวเลขของตลาด #ชานมไข่มุก ว่าในปี 2025 น่าจะแตะที่ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั่วโลก (ราว 343,751 ล้านบาท) และจะเติบโตขึ้นเป็นเลขเกือบ 2 หลัก คือ 9.3% ต่อปี ไปจนถึงปี 2025
ส่วนข้อมูลของ fortune business insights เคยระบุว่า ในปี 2019 อัตราการเติบโตเฉลี่ยใน SEA (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) สูงขึ้นเรื่อยๆ และชานมไข่มุกมีมูลค่าตลาดถึง 823 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 25,669 ล้านบาท)

ขณะเดียวกันข้อมูลของ GrabFood (2018) ระบุว่า มีอยู่ 5 ประเทศใน SEA ที่มีอัตราการเติบโตของชานมไข่มุกสูงสุด คือ
- อินโดนีเซีย
- ฟิลิปปินส์
- ไทย
- เวียดนาม
- สิงคโปร์
ทั้งนี้ คาดการณ์ทั้งหมดนี้นักการตลาดประเมินว่า ตัวเลขการเติบโตอาจจะมากกว่านี้เล็กน้อย เพราะช่วงที่มีการระบาด COVID-19 พบว่า ยอดการสั่งซื้อ #ชานมไข่มุก ยังเติบโตได้สวย และในบางประเทศยิ่งเติบโตกว่าปีก่อนหน้านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะว่า การที่คนอยู่แต่ในบ้าน, Work From Home, กักตัว ฯลฯ ทำให้เกิดความเครียดและความกังวลขึ้นมากมาย
ขณะเดียวกัน หากประเมินจากเหตุผลของหลายๆ กลุ่มที่เคยทำการสำรวจออนไลน์ในหลายประเทศ เช่น จีน, มาเลเซีย, สหรัฐฯ พบว่า คนชอบสั่งชานมไข่มุกเพื่อคลายเครียด ซึ่งเป็นหนึ่งในออเดอร์ทั้งหมดที่สั่งแบบเดลิเวอรี่
นี่คือเหตุผลส่วนใหญ่ที่ได้จากการสำรวจ
-
ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย (เวลาเคี้ยวเจ้าเม็ดไข่มุก ยิ่งทำให้สนุก)
-
ทำให้รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
-
รู้สึกถึงรสชาติเครื่องดื่มที่เป็น Asian pop culture จริงๆ
-
ช่วยเตือนให้มีความคิดสร้างสรรค์ (เพราะชานมไข่มุกเกิดจากความบังเอิญ)
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ในข้อมูลของเว็บไซต์ World Tea News ได้จัดอันดับ Top 10 #ผู้เล่นหลัก (Key-players) ในตลาดเครื่องดื่มชานมไข่มุก ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลก คือ
-
Sharetea (ก่อตั้งปี 1992, ไต้หวัน)
-
Cha Time (ก่อตั้งปี 2005, ไต้หวัน)
-
CoCo Fresh (ก่อตั้งปี 1997, ไต้หวัน)
-
Quickly (ก่อตั้งปี 2008, ไต้หวัน)
-
Ten Ren’s Tea (ก่อตั้งปี 1953, ไต้หวัน)
-
DaBoba (ก่อตั้งปี 2018, มาเลเซีย)
-
Happy Lemon Bubble Tea (ก่อตั้งปี 2006, จีน)
-
Tiger Sugar (ก่อตั้งปี 2017, ไต้หวัน)
-
Gong Cha (ก่อตั้งปี 2006, ไต้หวัน)
-
YiFang Bubble Tea (ไต้หวัน)
ถึงแม้ว่าบางแบรนด์อาจจะยังไม่เข้ามาในตลาดไทย ซึ่งเราก็มีบางแบรนด์ที่เป็นของคนไทยแท้ๆ และได้รับความนิยมเช่นกัน ดังนั้นสาวกชานมไข่มุกคงต้องจัดสักแก้วแล้ว เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันเกิดให้น้อง!
ที่มา: wrde, nationaltoday, worldteanews, fortunebusinessinsights