ส่องมุมมอง IMF กับเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงถดถอยและก้าวสู่จุดต่ำสุด

  • 266
  •  
  •  
  •  
  •  

ถ้าเป็นคำไทยสมัยโบราญต้องบอกว่า “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” หมายถึงยังไม่ทันจบปัญหานี้ อีกปัญหาก็ตามต่อเข้ามาอีก ซึ่งบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่าง เพราะยังไม่ทันจะฟื้นตัวจากปัญหาโรคระบาดที่ผ่านมา ปัญหาเศรษฐกิจก็เข้ามากระทบไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาสงครามจนส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจทั่วโลก

ซึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีในชื่อ IMF ก็มีมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกผ่านสายตาของ Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะลดลงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 149 ล้านล้านบาทจนถึงปี 2026 นอกจากนี้ยังมองว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียได้เปลี่ยนมุมมองของ IMF ต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

สงครามในยูเครนได้ผลักดันราคาอาหารและพลังงานทั่วโลก ในบางประเทศเข้าขั้นวิกฤติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ด้านพลังงานและปุ๋ยในระดับโลก นั่นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารและพลังงานทั่วโลก ขณะที่ผลกระทบจากโรคระบาดก่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น และสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จนเกิดวิกฤติระดับหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ

IMF ประมาณการว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะเห็นการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกันในช่วงปีนี้หรือไม่ก็ปีหน้า และยังเสริมว่า IMF ยังได้ปรับลดประมาณการเติบโตทั่วโลกไปแล้ว 3 ครั้ง โดยคาดว่าจะมีการเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ที่ 3.2% ในปี 2022 และจะลดลงเหลือเพียง 2.9% ในปี 2023

การคาดการณ์ของ IMF เกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มประกาศนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคาดหวังว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะสามารถช่วยลดความต้องการ (Demand) ของผู้บริโภค และช่วยบรรเทาปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ใช้นโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือลดอัตราเงินเฟ้อ และเป็นการส่งสัญญาณไปยังธนาคารกลางทั่วโลกในการใช้นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดย IMF มองว่า การออกนโยบายการเงินดังกล่าว ทำให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากเกินไปและเร็วเกินไป ยิ่งเมื่อหลายประเทศเริ่มดำเนินมาตรการเช่นเดียวกันในหลากหลายประเทศทุกภูมิภาค อาจผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ยืดเยื้อ และนโยบายดังกล่าวอาจผลักดันเศรษฐกิจโลกให้หดตัวโดยไม่จำเป็น

หลายประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากการทำสงคราม โดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) คาดการณ์ว่า เฉพาะภาวะสงครามที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวทำเศรษฐกิจโลกสูญเสียรายได้กว่า 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัญฯ หรือราว 100 ล้านล้านบาทในปี 2023 การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกลุ่มพันธมิตร OPEC+ ที่มีรัสเซียเป็นสมาชิกหลักประกาศตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเพื่อรองรับราคาน้ำมันที่ตกต่ำ และเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจโลกต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นในช่วงปีนี้และปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในความเสี่ยงที่จะต้องประสบปัญหาถดถอย ประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่มีรายได้ต่ำกำลังกลายเป็นที่จับตาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

Source: APLA Times


  • 266
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา
CLOSE
CLOSE