รู้จัก Agentic AI เอไอเจนใหม่ที่ “คิดและลงมือทำเองได้” สิ่งนี้จะเปลี่ยนโลกธุรกิจอย่างไร? เตรียมรับมือยังไง?

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

หลายคนอาจเคยจินตนาการถึงผู้ช่วย AI อัจฉริยะแบบ “จาร์วิส” ในภาพยนตร์ Iron Man หรือแม้กระทั่ง AI ที่พัฒนาความคิดเองได้อย่าง “Ultron” ซึ่งเคยเป็นเพียงเรื่องในโลกภาพยนตร์ แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยี AI ได้ก้าวหน้าไปถึงจุดที่เริ่มมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง AI ประเภทนี้เรียกว่า “Agentic AI” (อะเจนติก เอไอ) ซึ่งกำลังกลายเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองและอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าย่อมมาพร้อมความท้าทายใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โดย ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AIGC) จึงได้จัดเวที ETDA Live รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในวงการ AI ทั้งผู้พัฒนาและผู้ใช้งานจากองค์กรชั้นนำ เช่น KBTG, Coraline, Guardian AI Lab และตัวแทนจาก AIGC เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการรับมือกับ Agentic AI ในงาน AI Governance Webinar 2025 EP2 ‘เมื่อ AI ตัดสินใจแทนมนุษย์ ใครคือผู้ควบคุม?’ ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับ AI เจนใหม่นี้

Agentic AI คืออะไร?

AI ที่เราคุ้นเคยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เช่น ChatGPT หรือ AI สร้างภาพ ยังทำงานภายใต้ “คำสั่ง” ของมนุษย์เป็นหลัก เปรียบเสมือนเครื่องมือประสิทธิภาพสูงที่รอรับคำสั่งเพื่อทำงานเฉพาะอย่างแต่ Agentic AI นั้นมีความสามารถที่เหนือกว่า คือไม่ได้เป็นเพียงผู้รอรับคำสั่ง แต่มีความสามารถในการ “ดำเนินการอัตโนมัติ (Autonomy)” มีความสามารถหลักๆก็คือการ

  • วิเคราะห์เป้าหมาย: ทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ผู้ใช้ต้องการ
  • วางแผนการทำงาน: กำหนดขั้นตอนและวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
  • ตัดสินใจเลือก: ประเมินและเลือกแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
  • ลงมือปฏิบัติ: ดำเนินการตามแผนที่วางไว้จนสำเร็จ

อาจเปรียบเทียบได้กับการมีผู้ช่วยที่สามารถรับมอบหมายงานที่ซับซ้อนได้ เช่น หากต้องการ “วางแผนการเดินทางไปญี่ปุ่น 7 วัน ภายใต้งบประมาณที่กำหนด” Agentic AI อาจสามารถค้นหาข้อมูลเที่ยวบิน ที่พัก วางแผนการเดินทาง และดำเนินการจองเบื้องต้น ก่อนนำเสนอผลลัพธ์ให้ผู้ใช้ โดยลดขั้นตอนการสั่งงานย่อยๆ ลงไปได้มาก

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญได้แบ่งระดับความสามารถของ AI ออกเป็น 4 Stage ก็คือ

  • Stage 1: Logic-based AI: ทำงานตามตรรกะหรือเงื่อนไขที่ตั้งไว้อย่างตายตัว (เช่น กด 1 ไปหน้า A กด 2 ไปหน้า B) ไม่สามารถเรียนรู้หรือปรับตัวได้
  • Stage 2: Limited Resource AI: ต้องใช้ข้อมูลในการฝึกฝน สามารถเรียนรู้และทำงานเฉพาะด้านได้ดี (เช่น AI วิเคราะห์ข้อมูล, Machine Learning, หรือ Generative AI อย่างที่เราใช้กัน) แต่ยังคิดหรือตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องอิงตามข้อมูลที่มี
  • Stage 3: Theory of Mind AI: เริ่มเข้าใจความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ของมนุษย์ได้ มีความคิดสร้างสรรค์และใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น
  • Stage 4: Self-awareness AI: มีความตระหนักรู้ในตนเอง เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม พัฒนาบุคลิกและความคิดของตัวเองได้ เหมือนในหนัง Sci-Fi

ปัจจุบัน Agentic AI ถือว่าอยู่ในช่วง ปลายของ Stage 2 และกำลังก้าวเข้าสู่ Stage 3 ซึ่งหมายความว่ามันเริ่มมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ใช่ระดับที่มีตัวตนหรือความคิดเป็นของตัวเองอย่างสมบูรณ์

Agentic AI จะส่งผลต่อโลกการทำงานและธุรกิจอย่างไร?

การมาถึงของ AI ที่มีความสามารถในการคิดและทำได้เอง ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆแน่นอนถ้าพูดถึงเรื่อง “ประโยชน์” แน่นอน Agentic AI ก็จะมีหลายอย่างเช่น “เพิ่มประสิทธิภาพ” เพราะ Agentic AI จะเข้ามาลดขั้นตอนการทำงานซ้ำซ้อน ทำให้มนุษย์สามารถมุ่งเน้นไปที่งานที่ต้องการการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์หรือความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

นอกจากนียังช่วย “เพิ่มความแม่นยำ” ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำขึ้น ช่วย “ลดต้นทุน” ลดภาระงานและอาจทดแทนกระบวนการบางอย่าง ทำให้บริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น รวมถึง “สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่” ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโมเดลธุรกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่ในแง่ของผลกระทบก็ยอมมีด้วยเช่นกันเช่นเรื่องของ “การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน” งานที่มีลักษณะเป็นกิจวัตรหรืองานที่ไม่ซับซ้อน อาจถูกทดแทนด้วย AI มากขึ้น ทำให้แรงงานจำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่ซับซ้อนและทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับ AI

“ภาคธุรกิจ” เองก็ต้องปรับตัวเช่นกันเพราะธุรกิจที่ไม่สามารถนำ AI มาปรับใช้ อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รูปแบบการดำเนินธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้นใหม่นี้

ปัจจุบัน เริ่มมีการนำ Agentic AI มาประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรมแล้ว เช่น “ภาคการเงิน” ใช้วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อพิจารณาสินเชื่อ หรือประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ “ภาคธุรกิจค้าปลีก” ช่วยคาดการณ์ยอดขาย วางแผนการตลาด และบริหารจัดการสต็อกสินค้าแบบอัตโนมัติส่วนของอุตสาหกรรม “เทคโนโลยี” ก็มีการใช้พัฒนาเป็นผู้ช่วยเขียนโปรแกรม (Coding Assistant) ที่สามารถวางโครงสร้าง เขียนโค้ด ทดสอบ และรันระบบได้ในขั้นตอนเดียว

การประยุกต์ใช้เหล่านี้ล้วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เร่งกระบวนการตัดสินใจ ลดภาระงาน และเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ใช้เวลากับงานที่สำคัญกว่าและต้องใช้การตัดสินใจซึ่ง AI ยังทำแทนไม่ได้แทน

ความท้าทายของการใช้ Agentic AI

จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในการเสวนา พบว่า Agentic AI มีความเสี่ยงและประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอยู่หลายอย่างเช่นกันไม่ว่าจะเป็น “ความเสี่ยงจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด” หากข้อมูลที่ใช้ฝึกฝน AI มีความเอนเอียง (Bias) ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด และอาจติดตามสาเหตุได้ยาก

นอกจากนี้ยังมี “ความเสี่ยงจากการพึ่งพามากเกินไป” (Over-reliance) หมายความว่าความสามารถที่สูงของ AI อาจทำให้ผู้ใช้ไว้วางใจมากเกินไปโดยขาดการตรวจสอบ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายหาก AI ทำงานผิดพลาดได้เป็นต้น ความเสี่ยงจาก “ความซับซ้อนในการตรวจสอบ” เพราะการทำงานร่วมกันของ Agentic AI หลายระบบ อาจทำให้การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) หรือการอธิบายเหตุผลการตัดสินใจ (Explainability) ทำได้ยากเมื่อเกิดปัญหา

และสุดท้ายคือ “ประเด็นด้านกฎหมายและจริยธรรม” การให้ AI ตัดสินใจในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เช่น การดูแลผู้ป่วย หรือการควบคุมระบบสำคัญ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ (Unacceptable Risk) และอาจขัดต่อกฎหมายหรือหลักจริยธรรม หากขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสม

แล้วจะกำกับดูแลกันอย่างไร?

ด้วยความสามารถและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมี “AI Governance” หรือ กรอบธรรมาภิบาล AI เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาและใช้งาน AI ให้มีความเหมาะสม ปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน การทำความเข้าใจแหล่งข้อมูลและโมเดล การประเมินผล การจัดการความเสี่ยง และการสร้างความน่าเชื่อถือพร้อมกำหนดความรับผิดชอบที่ชัดเจน

สำหรับทิศทางการกำกับดูแลในประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญในงานเสวนาเสนอว่า กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องควรมีความ “ยืดหยุ่น” เพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมี “ความรัดกุม” เพียงพอที่จะป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิดและควบคุมความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้องเตรียมรับมืออย่างไร

Agentic AI ถูกมองว่ามีศักยภาพที่จะปฏิวัติระบบเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิต แต่ทิศทางจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นหรือก่อให้เกิดปัญหาที่ควบคุมไม่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางที่เหมาะสม โดยมีสิ่งที่ควรพิจารณาถึงโอกาสและควรทำก็คือ ต้อง “ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ” สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับศักยภาพและข้อจำกัดของ Agentic AI ให้มากขึ้น

และเพื่อให้มนุษย์อย่างเราๆเตรียมความพร้อมก็ต้อง “พัฒนาทักษะที่จำเป็น” เน้นทักษะที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการทำงานร่วมกับ AI (Human-AI Collaboration)

อีกเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญในงานสัมนาแนะนำไว้ก็คือการ “สนับสนุนการเป็นผู้สร้าง” (Creator): ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโซลูชัน AI ภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ และที่สำคัญก็คือต้อง “สร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวย” พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดหาแพลตฟอร์มกลาง หรือพื้นที่ทดสอบ (AI Sandbox) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและทดลองใช้งาน AI

ท้ายที่สุด แม้เทคโนโลยี AI จะพัฒนาไปไกลเพียงใด มนุษย์ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะ “ผู้ควบคุม” และผู้กำหนดทิศทางการพัฒนา เพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีที่ทรงพลังนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยรวม


  •  
  •  
  •  
  •  
  •