พรรณี ชัยกุล”พรรณี ชัยกุล” แนะนักการตลาดอย่าเพิ่งด่วนตัดงบเพราะตื่นตูมวิกฤติการเงินโลก พร้อมย้ำหากยิ่งอยู่เฉยไม่ทำอะไร จะยิ่งส่งผลร้ายในระยะยาว พร้อมยกแบรนด์ดังระดับโลก อย่างไมโครซอฟท์, ฮาเก้นดาส ก็ยังแจ้งเกิดท่ามกลางวิกฤติ สำคัญที่การหาโอกาสและฉลาดหาวิธี
นางพรรณี ชัยกุล จาก โอกิลวี่ ประเทศไทยเปิดเผยถึงวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยเมื่อเทียบกับวิกฤติการเงินยุคปี 1997 ว่าแตกต่างกันตรงที่ในครั้งก่อนเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเอง โดยเม็ดเงินจากต่างประเทศยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน ประเทศไทยจึงยังอยู่รอดได้ด้วยเงินจากการส่งออก
แต่สำหรับวิกฤติการเงินรอบนี้ น่าเป็นห่วงตรงที่เป็นวิกฤติการเงินระดับโลกซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและส่งออกอย่างมาก การปรับตัวให้อยู่รอดของธุรกิจนับจากนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก
หากธุรกิจไหนไม่ปรับตัว ก็ยากที่จะอยู่รอด และยิ่งหากไม่ทำอะไรเลย ก็จะยิ่งอยู่ได้ยากสำหรับระยะยาว เพราะไม่สามารถกลับมาเติบโตได้ทันในช่วงที่เศรษฐกิจดีขึ้น
“เป็นธรรมชาติของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทีไร งบการตลาดก็มักจะถูกตัดออกเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งสำหรับบางบริษัทถือเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากมีปัญหากระแสเงินสด แต่ก็มีอีกหลายบริษัทที่สั่งตัดงบโฆษณาการตลาดทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทบอะไรมาก”
นางพรรณี เผยว่าการสั่งตัดงบโดยไม่ได้จำเป็นนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม โดยวิธีการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ควรทำ อันดับแรก คือการสำรวจผลงานในองค์กรเสียก่อน ว่ากลยุทธ์ต่างๆ ที่เคยทำมานั้นได้ผลดีหรือไม่ และมีจุดไหนที่ยังปรับแก้ไขเพิ่มเติมได้อีกบ้าง
ข้อเสนอของผู้บริหารโอกิลวี่ คือ แทนที่จะลดต้นทุนด้วยการตัดงบลง ทำไมนักการตลาดไม่คิดที่จะฉวยโอกาสกลับมารุกตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่คู่แข่งถอย หรือ ดึงงบกลับ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารที่ทำออกไปเสียงดังกว่าเดิม เนื่องจากไม่มีคู่แข่งใช้งบโฆษณา
อีกทั้ง ในวิกฤติการเงินเมื่อปี 1997 ก็ยังพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายังมีแบรนด์ใหม่ๆ แจ้งเกิดขึ้นมาได้ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ
อาทิ ลูกค้าของโอกิลวี่ฯ เอง อย่างเคเอฟซี ซึ่งฉวยจังหวะที่คู่แข่งชะลอสปีดลง เปิดตัวเมนูใหม่ และ โหมทำการตลาดอย่างหนัก จนสามารถเติบโตได้เป็นเท่าตัวและไต่ขึ้นมายึดตำแหน่งเบอร์หนึ่งไปได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ส่วน ลูกค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง อย่างเอลก้า, เอสเต้ ลอเดอร์ และ คลินิกข์ ที่จับพฤติกรรมนักช้อปที่ลดการใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวในต่างประเทศลงด้วยการเปิดธุรกิจเครื่องสำอางเคานท์เตอร์แบรนด์จนบูมขึ้นในเมืองไทยในปัจจุบัน
หรือย่างกรณีของในต่างประเทศนั้น ก็มีแบรนด์ที่แจ้งเกิดได้ในยุควิกฤติเศรษฐกิจด้วย อาทิ ไมโครซอฟท์, ฮาเก้นดาส ธุรกิจจัดส่งอาหารถึงบ้าน และ สินค้าตกแต่งบ้าน ก็เติบโตสูงมาก เนื่องจากคนถึงแม้จะเงินน้อยลง แต่ก็ยังอยากจะหาสิ่งบันเทิงเข้าช่วยสร้างสีสันให้กับชีวิต
Source: กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์