นาทีนี้ไม่มีซีรีส์ไหน ฮือฮาได้เท่ากับ สงครามส่งด่วน Mad Unicorn (2025) ซีรีส์ไทยที่ออกฉายทาง Netflix และเพียงสัปดาห์แรกก็ขึ้นอันดับ 1 ในประเทศไทยแล้ว
สิ่งที่ทำให้ซีรีส์น่าสนใจ ไม่เพียงแต่เนื้อเรื่องทางธุรกิจที่ดุเดือด การแสดงที่เข้มข้นสมจริงของ “ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์” ที่บอกว่าเขาอินกับบทบาทตัวละครตัวนี้มากจนถึงขนาดลองใช้ชีวิตด้วยเงินหลักพันตามประวัติของ “คมสันต์ ลี” หรือ “คมสันต์ แซ่ลี” นักธุรกิจและซีอีโอ Flash Express ยูนิคอร์นแห่งแรกของไทย ที่ว่ากันว่าเป็นแรงบันดาลใจของตัวละคร “สันติ แซ่ลี” ด้วย Based of true story ประมาณหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้ ยิ่งเสริมทำให้เรื่องราว “คมสันต์ ลี” อดีตเด็กดอยวาวี คนนี้น่าสนใจมากขึ้น มากไปกว่านั้น เขายังมีหลักคิด การวางแผนกลยุทธ์ ทางธุรกิจที่น่าสนใจมากทีเดียว เราลองรวบตึงหลายแง่มุมให้คุณได้อ่านกัน
จุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนใคร
คมสันต์ ลี เกิดและเติบโตที่ดอยวาวี จังหวัดเชียงราย ในครอบครัวที่มีสายเลือดจีน พ่อเป็นนักธุรกิจ แม่เป็นอาจารย์สอนภาษาจีน เขาเป็นลูกชายคนโตและมีน้องอีก 2 คน
จุดเปลี่ยนแรกของการก้าวสู่การทำธุรกิจ เพราะถึงแม้จะไม่ได้มีฐานะที่ดีนัก แต่เขาได้เรียนรู้การทำธุรกิจตั้งแต่เด็กจากการตามพ่อแม่ไปทำงาน โดยธุรกิจแรกที่เขาเปิดเป็นเพียงร้านขายของหน้า ราชภัฏลำปาง โดยเน้นขายของกินอาหารให้เด็กนักเรียนจีนที่มาแลกเปลี่ยน เพราะด้วยความสามารถพิเศษที่เขา สื่อสารภาษาจีนได้ยิ่งส่งเสริมทำให้ธุรกิจนี้ไปได้ดีทีเดียว

การก่อตั้ง Flash Express ยูนิคอร์นตัวแรกของไทย จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่
ในปีปี 2560 “คมสันต์” ก่อตั้ง Flash Express ตอนอายุเพียง 26 ปี ซึ่งเป็นช่วงยุคแรกๆ เริ่มที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญของเหตุการณ์ Pandemic โควิดระบาดนั่นเอง และสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเขามีเหนือคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ได้ในช่วงนั้นแม้จะเป็นผู้เล่นที่มาทีหลังคือ “การเปลี่ยนจุดอ่อนของคู่แข่งให้เป็นจุดแข็งของตัวเอง”
ความท้าทายในช่วงแรก แน่นอนว่าคือการต้องสู้กับเจ้าตลาดเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ไปรษณีย์ไทย หรือ Kerry Express ดังนั้น สิ่งที่เขาสร้างในช่วงแรกนอกเหนือจากการสร้างการรับรู้ในแบรนด์ใหม่แล้ว เรื่องสำคัญอีกประการก็คือ “การสร้างความน่าเชื่อถือในฐานะบริษัทใหม่”

Milestone ความสำเร็จ
- ปี 2562 – ส่งพัสดุไปแล้วกว่า 100 ล้านชิ้น
- ปี 2563 – ช่วงโควิด-19 โอกาสทองสำหรับธุรกิจขนส่ง ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด
- ปี 2564 – ปีแห่งการสร้างประวัติศาสตร์ Flash Express กลายเป็น ยูนิคอร์นตัวแรกของไทย มูลค่าบริษัททะลุ 30,000 ล้านบาท “คมสันต์” อายุเพียง 29 ปี เมื่อบรรลุความสำเร็จนี้
ปรัชญาการทำธุรกิจ
“ผิดให้มากที่สุด และแก้ไขให้เร็วที่สุด” – เพราะเขามีความเชื่อในการเรียนรู้จากความผิดพลาด และมองว่า ความรวดเร็วในการปรับตัวเป็นกุญแจสำคัญในการทำงาน
เรียนรู้การเติบโต จากอันธพาลสู่ Global Player
อย่างที่กล่าวว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผู้เล่นหน้าใหม่จะเกิดได้ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ ที่เจ้าใหญ่เริ่มต้นมานาน แต่ด้วยที่เป็นคนมีวิสัยทัศน์เขาเห็นโอกาสจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซไทย ที่โตแบบก้าวกระโดด ทำให้เห็นว่าธุรกิจขนส่งยังมีผู้เล่นที่เพิ่มได้อีกและมากไปกว่านั้น ยังมองเห็นจุดอ่อนต่างๆ มากมายของผู้เล่นรายเดิมที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ แล้วเขามองมันอย่างไร เราแกะรอยการเติบโตของเขาผ่านสูตรสำเร็จใน 3 ยุคกัน (รวบรวมข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ https://youtu.be/1RHjPRpJ7Xs?si=3rTbRYcVr14aGeX0)
“กลยุทธ์ 3 ยุค” ที่สะท้อนการเปลี่ยนผ่านอย่างทรงพลังจากสตาร์ทอัปหน้าใหม่ สู่ยูนิคอร์นด้านโลจิสติกส์ที่เตรียมโกอินเตอร์ใน CLMV

ยุคที่ 1: ยุคอันธพาล – เอาผลลัพธ์ก่อนระบบ
ในช่วงเริ่มต้น Flash Express ใช้กลยุทธ์กองโจร “ทุกอย่างเพื่อเอาลูกค้า” เช่น จ้างเซลล์ 200 คน ยืนหน้าสาขาคู่แข่งเพื่อปิดดีลแบบไม่เปิดเผยตัว
- ส่งฟรีถึงบ้าน 20 ชิ้นแรก
- วัด KPI รายวัน ใครไม่ผ่าน 1 สัปดาห์ เปลี่ยนคน
- แจกเงินล้านพาทีมเที่ยวญี่ปุ่น
- คอมมิชชันสูงสุดถึงวันละ 500 บาทต่อดีล
“เราไม่สนวิธี ขอแค่จับหนูได้” – คำพูดสะท้อนแนวคิดแบบ เติ้งเสี่ยวผิง ที่กลายเป็น DNA สำคัญในช่วงเริ่มต้น แต่ความหิวกระหายนี้ก็มาพร้อม “ด้านมืด” อย่างการคอร์รัปชันภายในที่สูงถึง 90% ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน
ยุคที่ 2: ยุคกฎระเบียบ – รอดแล้ว ต้องอยู่เป็น
เมื่อองค์กรเริ่มใหญ่ขึ้น พนักงานแตะ 5,000 คน Flash Express จำเป็นต้องเปลี่ยนจากวัฒนธรรม “สายลุย” มาเป็น “สายระบบ”
- วางระบบเบิกเงิน ตรวจสอบ กำหนดขั้นตอนทุกอย่าง
- ตั้งทีม “ติดตาม” ทุกโปรเจกต์
- พนักงานคนไหนแนะนำเพื่อนผ่านโปร = ได้คอมมิชชัน พร้อมหน้าที่ดูแล
แม้ต้องเสียคนเก่งยุคแรกที่ไม่ชอบกรอบ แต่ “ถ้าไม่เปลี่ยน เราจะตายใน 6 เดือน”
ยุคที่ 3: ยุคของ Culture – จากอยู่รอด สู่ยั่งยืน
คุณคมสันเชื่อว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ต้องเกิดจากประสบการณ์ร่วม ไม่ใช่แค่ประกาศ “คุณเปลี่ยนพนักงานไม่ได้ ด้วยคำพูดในปีเดียว แต่ถ้าเขาผ่านยุคกฎระเบียบมา เขาจะเข้าใจวัฒนธรรมร่วมกันได้”
เป้าหมายปีนี้คือปั้น Culture ให้ชัด เพราะ Flash กำลังจะขยายไปอีก 4 ประเทศ และ “Culture” คือสิ่งที่ต้องไปด้วยกันทุกที่
สรุปกลยุทธ์การบริหารที่เปลี่ยนตามยุค
- ยุคอันธพาล = บริหารด้วย “ความเชื่อ” ให้อำนาจเต็ม ลงโทษหนัก
- ยุคกฎระเบียบ = บริหารด้วย “การติดตาม” มีทีมบันทึก-ติดตามงาน
- ยุค Culture = บริหารด้วย “การแข่งขัน” ให้คนแข่งกันในงานเดียวกัน แล้วเลือกคนที่ทำได้จริง

การโตแบบ Burn เงินอย่างมีเป้าหมาย
Flash Express ยอมขาดทุนในช่วงเริ่มต้นเพื่อให้ transaction เพิ่ม แล้วค่อยลดต้นทุนในภายหลัง ด้วยแนวคิด
- “ลดต้นทุนโดยการขาดทุน” เพื่อ scale ให้เร็ว
- ลงทุนด้านเทคโนโลยีเดือนละ 60 ล้าน มีทีม Dev กว่า 300 คน
- ลงทุนคลังสินค้าอัตโนมัติกว่า 300 ล้านต่อแห่ง
ในการเติบโตนี้ เขามีความเชื่อที่ว่า “ถ้าผู้ลงทุนไม่เชื่อใน Vision เรา เราไม่เอาเค้าเข้าบ้าน” รวมไปถึงมุมมองที่ว่า ไม่มีใครเข้าใจธุรกิจเราดีไปกว่าเราที่เป็นคนสร้างมันมา
เหว่ยเจี๋ย (WEIJIE) มือขวาคนสำคัญ และมีตัวตนจริง
อีกหนึ่งตัวละครที่โดดเด่น และอาจเป็นตัวขโมยซีนในซีรีส์ก็คือ “เหว่ยเจี๋ย (WEIJIE)” ตัวพ่อที่ด่าแซ่บถึงขนาดมีคลิปตัดมัดรวมเครื่องจักรด่าของเขาในหนึ่งคลิปเลย แต่อย่างที่คนดูซีรีส์ทราบดี และหรือคนที่ทำงานกับ “คมสันต์” ทราบดีว่า นี่แหละคือคีย์แมนคนสำคัญคือลมใต้ปีกที่ช่วยค้ำยัน Flash อีกหนึ่งคน
ล่าสุด “คมสันต์” ยังเปิดหน้าจริง “เหว่ยเจี๋ย” ให้โลกได้รู้จักเขา พร้อมโพสต์อวยด้วยว่า “ผู้ชายสุดสำคัญคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสันติ คือ WEIJIE!!! ตัวจริงด่าเก่งกว่าในหนังแน่นอน1000% !!!” (คลิก เปิดโพสต์)
นอกจากนี้ ว่ากันว่าคาแร็คเตอร์ของ “เหว่ยเจี๋ย” ตรงกับตัวตนของ “วิชัย มาตกุล แห่ง Salmon House” แถมเจ้าตัวยังโพสต์ด้วยว่าแท้จริงบทนี้เขาชวนให้ไปแคสต์เป็นนักแสดงอีกด้วย แต่พอรู้ว่าเล่นบทแซ่บได้แบบนี้รู้สึกเสียดายเลยที่ปฏิเสธไป (คลิก เปิดโพสต์)
ไม่เพียงแค่นั้น ความโดดเด่นของ “เหว่ยเจี๋ย” ยังถูกกล่าวถึงใน Facebook เขียนไว้ให้เธอ โดย “โจ้ ธนา” ซึ่งมองว่า ผู้นำหรือนักธุรกิจทุกคนควรจะมี “เหว่ยเจี๋ย” ไว้ในชีวิตจริงสักคน โดยเล่าว่า เหว่ยเจี๋ยมาเติมในสิ่งที่คมสันต์ไม่มี อย่างสมบูรณ์ เอาประสบการณ์จากเมืองจีนมาช่วยพิจารณานักลงทุน ประสบการณ์จากบริษัทใหญ่มาช่วยวางระบบ ทำงานหนักแบบบ้าคลั่งถึงกับเอาเต็นท์มานอนที่บริษัทไม่กลับบ้านเป็นเวลาหลายเดือน ปัจจุบันก็ยังทำแบบนั้นอยู่ เป็นมือขวา เป็นลมใต้ปีก เป็นแม่บ้าน เป็นในส่วนที่คมสันไม่มีทางทำได้ถ้าไม่มีเหว่ยเจี๋ย – (คลิก เปิดโพสต์)
บทสรุป
ทั้งหมดนี้ “คมสันต์ ลี” มองเห็น Flash Express ไม่ใช่แค่บริษัทขนส่ง แต่เป็น ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย “เราคือสตาร์ทอัพไทย ไม่ใช่จีน” – คำประกาศที่แสดงถึงความภาคภูมิใจในรากเหง้าและวิสัยทัศน์ในการสร้างแบรนด์ไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับโลกเรื่องราวของคมสันต์ ลี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า “ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นจากจุดไหน หากมีความมุ่งมั่น กล้าคิดกล้าทำ และไม่ยอมแพ้ เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้” จากเด็กดอยวาวีที่เคยไม่มีรองเท้าใส่ สู่การเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จที่สุดของไทย ในวัยเพียง 32 ปี
ความสำเร็จในปัจจุบัน “คมสันต์ ลี” ในวัย 32 ปี เป็น ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจ Flash ขยายธุรกิจเป็น Flash Group ให้บริการแบบครบวงจร ก้าวสู่ Top 3 ในสงครามโลจิสติกส์ไทย พร้อมกับเป็นแรงบันดาลใจให้สตาร์ทอัพไทย และนี่อาจเป็นที่มาของการสร้างซีรีส์ดังเรื่องนี้ก็ได้