ความต้องการมากมายในกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย แล้วอะไรคือสิ่งที่แบรนด์และธุรกิจควรต้องโฟกัสเพื่อมัดใจและเข้าถึงความซับซ้อนของลูกค้าในปัจจุบัน
คุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ (Neil Mavichak) – Managing Partner – Marketing & Development และ คุณแพน จรุงธนาภิบาล (Pan Jroongtanapibarn) – Director-Marketing & Development จาก WPP Media เล่าถึงอินไซต์ผู้บริโภคชาวไทยที่น่าสนใจเอาไว้บนเวที Growth Stage ใน Session “Consumers Untold 2025” ในงาน Asset Wise presents Marketing Oops! Summit 2025 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา
Insight แตกกระจาย
ผู้บริหารทั้งสอง จาก WPP Media ร่วมบอกเล่าถึง Landscape ในตลาดสินค้า บริการ และภาคธุรกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในวันนี้ พร้อมกับตั้งคำถามว่า เมื่อโลกเปลี่ยนแล้วผู้บริโภคต้องการอะไรกันแน่
เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่อัปเดตที่สุด WPP MEDIA ได้ส่งทีมเข้าไปทำการสำรวจแบบฝังตัวเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจำนวน 2,600 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ และเก็บข้อมูลเชิงลึกจาก 250 ตัวอย่างจาก 22 จังหวัดในประเทศไทย กับความท้าทายธุรกิจในปัจจุบัน คือ ความหลากหลายของเจนเนอเรชันที่มาพร้อมกับหลากหลายความต้องการที่นำไปสู่ความสุขที่แท้จริง
แรงบันดาลใจปี 2025
ด้วยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เรียกว่าชะลอตัวซบเซาขั้นสุด แต่ “ความสุข” ของคนไทยระหว่างคนเมืองกับสังคมชนบท ก็ยังมีความต่างกันแต่มีจุดร่วมเดียวกันในเวลานี้ คือ
คนเมืองยังไม่กล้าใช้เงินเพื่อความสุข ยังต้องรอขอเก็บเงินไว้ก่อน เพื่อความหวังในอนาคต คุณแพนกล่าวปี
- ปี 2022 หลังการแพร่ระบาดจบ เราได้เห็นทั้งผู้คนตกงาน และกลับถิ่นฐานบ้านเกิด
- ปี 2023 ผู้คนมีความหวังจากเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งใหม่ และนักท่องเที่ยวกลับมา
- ปี 2024 หลายคนบอกว่า เป็นปีแห่ง “คุณหลอกดาว” หลายอย่างไม่เป็นไปดังที่คิด
- ปี 2025 หลายๆ คนเชื่อว่าต้องพึ่งพาตัวเองเพื่อให้มีชีวิตรอดไปต่อ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของผู้คนในปีนี้
แต่ในวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ว่าคนเมืองหรือคนชนบท ต่างมีชีวิตส่วนหนึ่งในโซเชียลออนไลน์ ที่ยังต้องแบ่งปันเรื่องราว แสดงความสวยงามในการใช้ชีวิต แต่เมื่อนำวิถีเหล่านี้มาวิเคราะห์ร่วมกับอินไซต์ข้างต้น พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ
ชาบู-หมูกระทะคือความสุข
คนไทยยอมใช้ชีวิตแบบประหยัด เพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่สวยงาม จากความต้องการเชิงลึกนี้ สะท้อนกลับไปยัง คำเดียว คือเป็น “ความสุข” ในการใช้ชีวิต จากดาต้าชุดนี้ WPP ได้นำกลับมาทำงานร่วมกับแบรนด์ โดยใช้กลุ่มเป้าหมายแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้ชีวิตอย่างชัดเจน คือ
- กลุ่มวัยเรียน
- กลุ่มวัยเริ่มทำงาน
- กลุ่มครอบครัว
- กลุ่มคนไม่มีลูก
- กลุ่มเกษียณ
ด้วยแต่ละกลุ่ม ต่างมีความสุขในการใช้ชีวิตแตกต่างกันออกไป อย่าง “ความสุขหลังเลิกเรียน” หรือการทำงาน ด้วยการใช้เงิน 159 บาทต่อสัปดาห์ เพื่อไปกินชาบู หมูกระทะ ก็ถือเป็นความสุขของใครหลายๆ คน ที่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ มากกว่าการต้องไปคาเฟ่ที่อาจต้องมีพิธีการมากกว่าในวันหยุดสุดสัปดาห์
ขณะที่ความสุขในกลุ่มคนชนบท มองว่าการได้ออกไปเที่ยวในงานอีเวนต์ท้องถิ่น หรืออย่างคอนเสิร์ตหมอลำในภาคอีสาน ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความสุขได้ง่ายๆ อีกทั้งยังมีคอนเทนต์ของท้องถิ่นที่สัมผัสและสร้างความใกล้ชิดกับผู้คนได้จริงอีกด้วย
ส่วนกลุ่มครอบครัว/วัยเกษียณ จะให้คุณค่ากับสมาชิกในครอบครัวที่ต้องมาก่อน ที่กลุ่มนี้ยังขยายต่อไปถึงการมีสัตว์เลี้ยงร่วมเป็นสมาชิกในครอบครัวด้วยเช่นกัน
ความสุขเท่ากับความมั่งคั่ง
จากอินไซต์ในครั้งนี้ อาจสรุปได้ว่าสุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มคนเมืองและชนบท ต่างมองหา “ความสุขเท่ากับความมั่งคั่ง” ที่มาสร้างคุณค่าให้กับจิตใจในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวแบบนี้
ขณะที่แนวทางของแบรนด์ภายใต้ภาวะการณ์แบบนี้ ยิ่งต้องเข้าใจ Journey ผู้บริโภคที่แม้ว่ายังต้องการความสุขแต่อยู่บนความประหยัด ตามเส้นทางการได้มาของรายได้
อย่างต้นเดือน ผู้บริโภคจะเลือกเข้าห้างร้านค้าเพื่อซื้อสินค้าจำนวนมากเก็บไว้ และเมื่อล่วงกลางเดือน พวกเขาจะเลือกเข้าร้านเล็ก เพื่อซื้อสินค้าขนาดย่อมเยา หรือแบบซองพกพาในราคาที่ประหยัดลงมากขึ้น
ก่อนจบใน Session นี้ ผู้บริหารจาก WPP ทั้งสองคนทิ้งท้ายในทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2025 การทำตลาดของแบรนด์ยังมีอยู่โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ด้วยผู้บริโภคยุคนี้จะไม่เสี่ยงกับการใช้เงิน ซึ่งก็จะไม่จ่ายเงินให้กับสินค้าราคาถูกแต่ไม่ได้ผลลัพธ์ดีจริงด้วยเพราะเท่ากับว่าพวกเขาต้องเสียเงินก้อนนั้นทิ้งไปเลย