Technogym พลิกนิยามสุขภาพยุคใหม่: เปิดมุมมองคุณสุรเชษฐ์ อมรรัตนเวช กับ Healthness ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ดีไซน์ และแพลตฟอร์มอัจฉริยะ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ในโลกที่ความลักชัวรีไม่ได้วัดจากราคาสินค้าอีกต่อไป แต่กลับสะท้อนผ่านวิธีที่เราดูแลตัวเอง เทคโนโลยี และสุขภาพ Technogym แบรนด์อุปกรณ์ออกกำลังกายระดับไฮเอนด์จากอิตาลี ได้กลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญของการทรานส์ฟอร์มจากเครื่องมือออกกำลังกาย สู่แพลตฟอร์มสุขภาพที่ล้ำลึกและแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อ AI และ Data เริ่มเข้ามาเชื่อมโยงความต้องการของผู้ใช้กับผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง

คุณสุรเชษฐ์ อมรรัตนเวช Vice President, Euro Creations & Managing Director, Technogym Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งใน Speaker ของงาน AssetWise presents Marketing Oops! Summit 2025 ที่ผ่านมา พาเราย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่เกิดขึ้นจากโรงรถเล็กๆ ในอิตาลี โดย Nerio Alessandri ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ที่เริ่มต้นจาก passion ด้านการออกแบบและกีฬา เขาเคยอยากทำงานกับแบรนด์แฟชั่นอย่าง Armani แต่เมื่อล้มเหลวในเส้นทางนั้น เขากลับพบโอกาสใหม่จากการเห็นเครื่องออกกำลังกายในยิมอเมริกันยุค 80 ที่ยังขาดเรื่อง safety, ergonomics และ emotional experience

“ตอนนั้นมันมีแต่เหล็กๆ ไม่มีดีไซน์ ไม่มีเรื่องของ safety หรือ biomechanics เลย มันเหมือนกับแค่ไปยกตู้เหล็กกันอย่างเดียว” คุณสุรเชษฐ์เล่าถึงอินไซต์แรกของการสร้างนวัตกรรม

ภาพจาก Instagram: technogym

วิวัฒนาการจาก Bodybuilding สู่ Healthness

จากวันนั้นถึงวันนี้ Technogym ได้พัฒนาแนวคิดด้านสุขภาพผ่านหลายยุค ตั้งแต่ bodybuilding, fitness, wellness จนมาถึง healthness ซึ่งไม่ได้เน้นแค่ภาพลักษณ์ภายนอก แต่ลงลึกถึงข้อมูลสุขภาพแบบแม่นยำ โดยมีเป้าหมายเพื่อยืดอายุของ “health span” หรือช่วงเวลาที่ร่างกายยังทำงานได้ดี

“คุณอาจมีอายุถึงร้อยปี แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องนอนติดเตียงตอนอายุ 60 เราอยากให้คุณอายุ 90 แต่ยังฟังก์ชันได้เหมือนคนอายุ 60” คุณสุรเชษฐ์บอก

ยุค Healthness จึงไม่ใช่แค่ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (holistic) แต่เน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีช่วยประเมิน วิเคราะห์ และออกแบบการใช้ชีวิตให้เหมาะกับแต่ละคน ตั้งแต่การออกกำลังกายไปจนถึงโภชนาการ โดย Technogym มี MyWellness Platform ที่ทำหน้าที่คล้ายระบบปฏิบัติการ (Operating System) สำหรับการดูแลสุขภาพ

โดยระบบนี้จะวิเคราะห์ทุกอย่างตั้งแต่ VO2 Max, Heart Rate, Recovery, Sleep ไปจนถึงระดับความเครียด แล้วแนะนำแผนการออกกำลังกายที่ “ใช่” สำหรับร่างกายของแต่ละคน ไม่ใช่แค่โปรแกรมกล้ามหรือคาร์ดิโอแบบทั่วไป

“เราพัฒนาแพลตฟอร์มเหมือนกับ Apple มี iOS นั่นแหละครับ ลูกค้าอาจจะมีแอปในมือถือที่เชื่อมกับอุปกรณ์อื่น เช่น Smartwatch หรือ Oura Ring แล้วทั้งหมดจะ sync เข้ากับระบบของเรา เพื่อให้ได้คำแนะนำที่แม่นยำที่สุด”  คุณสุรเชษฐ์อธิบาย 

Hardware อย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็น Platform ที่เข้าใจผู้ใช้

Technogym ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ hardware มานานแล้ว เพราะในมุมมองของคุณสุรเชษฐ์ การออกแบบประสบการณ์ (experience) ที่เหมาะกับบริบทของผู้ใช้แต่ละรายต่างหากที่เป็นหัวใจ

“เวลาลูกค้าเดินเข้ามาแต่ละคน ไม่มีใครมีเป้าหมายเหมือนกัน บางคนอยากลดน้ำหนัก บางคนมีปัญหาสุขภาพ บางคนอยากเป็นนักกีฬา หน้าที่ของเราคือเลือกเครื่องมือและดีไซน์ journey ให้ตรงกับเขาที่สุด” เขาเน้น

ด้วยความสามารถในการเป็นทั้ง hardware, software, CRM และบริการหลังบ้าน Technogym จึงทำหน้าที่ได้มากกว่าแค่ผู้ขายเครื่อง แต่เป็น partner ที่ร่วมออกแบบระบบสุขภาพให้กับธุรกิจประเภทต่างๆ ตั้งแต่โรงแรม รีสอร์ท โรงพยาบาล ไปจนถึงโรงเรียน

“วันนี้บางโรงแรมไม่ได้เข้ามาสั่งแค่ลู่วิ่ง 3 เครื่อง แต่เข้ามาคุยกับเราตั้งแต่ตอนดีไซน์ว่าแขกจะพัก 3 วัน 5 วัน แล้วสุขภาพดีขึ้นยังไง ออกกำลัง กินอะไร นอนยังไง พวกนี้คือ holistic journey ที่เราออกแบบร่วมกัน”

ภาพจาก Instagram: technogym

ตลาดไทย: จาก B2B สู่ B2C และขึ้นเป็น Top 5 ของโลก

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลก ยอดขาย Technogym ยังอยู่ในฝั่ง B2B เป็นหลัก แต่ประเทศไทยกลับกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ B2C เติบโตแซงหน้าและขึ้นเป็น Top 5 ของโลก

“เราเริ่มทำในไทยจริงจังตั้งแต่ปลายปี 2018 แล้วเจอจังหวะโควิดพอดี พฤติกรรมคนเปลี่ยน การมีเครื่องออกกำลังกายในบ้านไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือยอีกต่อไป แต่กลายเป็นการลงทุนกับสุขภาพตัวเอง”  คุณสุรเชษฐ์เล่า

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดไทยตอบรับ Technogym อย่างรวดเร็ว คือ ความเข้าใจในไลฟ์สไตล์ของคนไทย พื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับการมีเครื่องออกกำลังกาย และการให้ความสำคัญกับสุขภาพโดยรวมของครอบครัว

ความหรูหราในนิยามใหม่: Emotional + Functional = Luxury Health

Technogym มีชื่อเสียงด้านการ Collaborate กับแบรนด์ Hi-End อย่าง DIOR หรือโรงแรมระดับโลก ดีไซน์ของ Technogym ไม่เคยเป็นเพียงแค่รูปลักษณ์ แต่ถูกฝังอยู่ในฟังก์ชันและคุณภาพที่สัมผัสได้จริง 

“ก่อนจะร่วมงานกับ DIOR ถ้าคุณเอาเครื่อง Technogym มาวางเรียงกันโดยไม่ติดโลโก้ คนก็ดูออกว่าอันไหนเป็นของเรา นี่คือ power ของดีไซน์”

การร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง DIOR คือการประกาศจุดยืนว่า Technogym ไม่ใช่แค่แบรนด์สาย health แต่เป็น lifestyle brand ที่สะท้อนตัวตนของผู้ใช้

“เราพยายามสร้าง emotional connection โดยไม่ต้องยัดเยียด เราแค่ต้องเล่าให้ชัดว่าเราเป็นใคร ยืนอยู่ตรงไหน แล้วให้คนรู้สึกกับมันเอง”

ภาพจาก Instagram: technogym

บทเรียนจาก Technogym: ถ้าจะไปไกล ต้องเริ่มจาก Vision ที่ชัด

เมื่อถามถึงคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยที่อยากสร้างแบรนด์ยั่งยืนแบบ Technogym คุณสุรเชษฐ์ย้ำชัดเจนว่า vision ต้องมาก่อน เช่นเดียวกับ Technogym ที่ไม่เคยหลุดจาก 3 แกนหลัก: Movement is Medicine, Design is Function, Wellness is for All

“เราไม่จำเป็นต้องคิดสิ่งใหม่ก่อนใครตลอดเวลา แต่เราต้องชัดมากว่าเราจะไปไหน แล้วใส่ R&D ใส่ innovation ลงไปเรื่อยๆ แม้วันนี้ตลาดยังไม่พร้อม”

หลายผลิตภัณฑ์ของ Technogym เปิดตัวมาก่อนที่ตลาดจะเข้าใจหรือพร้อมใช้ด้วยซ้ำ แต่เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้แบรนด์กล้ายืนหยัดและลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการเปลี่ยนจากการขายอุปกรณ์ เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสุขภาพแบบครบวงจร

Technogym กับคำจำกัดความใหม่ของคำว่า “สุขภาพดี”

สุขภาพในมุมมองของ Technogym ไม่ใช่เรื่องของกล้ามหรือเลขบนตาชั่งอีกต่อไป แต่มันคือการมีชีวิตที่ active อย่างยั่งยืน มีระบบที่ช่วยให้แต่ละคนรู้ว่าควรทำอะไร กินอะไร และใช้ชีวิตอย่างไรให้เหมาะกับร่างกายของตัวเอง

และทั้งหมดนี้ เริ่มต้นจากแพลตฟอร์มที่ผสมผสาน AI, Data, Design และความเข้าใจมนุษย์เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

เพราะสุขภาพดี อาจกลายเป็นความหรูหรารูปแบบใหม่ ที่ใครๆ ก็อยากครอบครอง


  •  
  •  
  •  
  •  
  •