วิชัย เบญจรงคกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เบญจจินดาโฮลดิ้ง ให้ความเห็นต่อการพัฒนาของ e- Learning ของประเทศไทย ว่า e-Learning ในเมืองไทยเติบโตช้า เนื่องจากการสนับสนุนการใช้ e-Learning ก็ยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก อีกทั้งการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์สำหรับอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ เราต้องยอมรับว่าผู้ที่มีความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ต หรือผู้ที่ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ Content ยังมีจำนวนที่จำกัดอยู่ เพราะผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศเรามีจำนวนน้อยมาก
อีกทั้งสถานศึกษา หรือสถานที่ราชการที่ให้ความรู้ มีเครื่องมือการเรียนการสอน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และบุคลากรก็มีจำนวนจำกัด รวมถึงขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งประเทศเรายังติดการเรียนรู้ในรูปแบบเดิมๆ ขณะเดียวกันบุคลากรที่เป็นครูหรืออาจารย์ผู้สอนก็มีเวลาไม่มากพอในการที่จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการเรียนแบบ e-Learning เพราะอาจารย์ผู้สอนในประเทศเรามีกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องทำหลายหน้าที่ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องหากิจกรรมอื่นทำเพิ่ม เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ e-Learning ในเมืองไทยเดินไปข้างหน้าได้ช้ามาก ผิดกับในต่างประเทศที่เราทราบว่า อาจารย์ผู้สอนของเขาจะมีหน้าที่ในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเดียว โดยที่ไม่ต้องมาสนใจหน้าที่อื่นที่นอกเหนืองานสอน จึงทำให้การเรียนการสอนพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีภาคเอกชนหลายค่ายให้ความสำคัญกับเรื่อง e-Learning อยู่บ้างพอสมควร โดยการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ e-Learning ขึ้นมา แต่ก็ยังอยู่ในวงแคบ เรื่องดังกล่าวนี้ประเทศเราก็มีการวาดโครงการไว้อย่างใหญ่โต แต่พอเข้าไปดูจริงแล้ว จะพบว่าเรื่องดังกล่าวยังต้องการการพัฒนาอยู่มากพอสมควร