วิกฤต “Food Waste” ปัญหาระดับโลก แต่ทำไมคนยังมองข้าม!

  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

ดูเหมือนกระแส “รักษ์โลก” จะกลายเป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย ทุกอุตสาหกรรมให้ความสำคัญอย่างจริงจังและหวังสร้าง “ความยั่งยืน” แก่สังคมโดยไม่ได้เป็นเพียงเทรนด์หรือแคมเปญระยะสั้นอีกต่อไป

แต่คงต้องบอกโดยปราศจากอคติว่า กิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการให้ความรู้และแคมเปญรณรงค์ให้ลดใช้พลาสติกประเภทต่างๆ ที่บรรดาห้าง ร้าน และหน่วยงานต่างๆ พยายามเร่งสร้างการรับรู้แก่คนไทยในช่วงนี้ เป็นเพียงหนึ่งในปัญหาขยะหลายประเภท

คุณเคยรู้หรือไม่ ว่า…?

– ประเทศไทยมีปริมาณขยะ มากถึง 5,000-6,000 ตันต่อวัน

– ขยะมีหลายประเภท แต่ขยะอาหาร (Food Waste) จากอาหารที่กินเหลือในระดับครัวเรือน เศษอาหารและวัตถุดิบเหลือใช้จากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร หรือแม้แต่อาหารที่เหลือจากการจำหน่ายตามห้างร้าน กลับมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าขยะประเภทอื่น

– ในปี 2573 ไทยกำหนดเป้าหมายลดขยะอาหารให้ได้ 50% ตามนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 12.3 ของสหประชาชาติ (UNSDG Target 12.3)

ประเด็นข้อมูลดังกล่าว แน่นอนว่าหน่วยงานต้นทางอย่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างรู้ดีและพยายามสร้างแนวทางที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ต้องยอมรับว่า…ไม่ใช่เรื่องง่าย!

“ปัญหาระดับโลก” กับ “ความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา”

จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่แค่ไทย หรือประเทศที่ได้ชื่อเป็นครัวโลกเท่านั้น ที่ต้องเผชิญสถานการณ์ขยะอาหารปริมาณมหาศาล แต่อีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็อยู่ในสภาวะเช่นเดียวกัน เนื่องจาก “ประชากรไม่ให้ความสำคัญกับการบริโภคอย่างรับผิดชอบ” และเมื่อปัญหานี้ยังไม่มีทางออกที่แก้ไขได้อย่างจริงจังตั้งแต่ต้นน้ำ จึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะมี “ต้นแบบ” ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพในการจัดวางแนวทางหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

เพราะความ “อุดมสมบูรณ์” มีวันหมด! และไทยยังมีคนอดอยาก

“เทสโก้ โลตัส” ถือเป็นผู้ประกอบการรายแรก ๆ ที่กล้าลุกขึ้นมาเปิดเผยข้อมูล Food Waste ในธุรกิจของตนเอง พร้อมวางแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการอย่างยั่งยืนแก่สังคม และเป็นรายแรกของกลุ่มห้างค้าปลีกในไทยที่ลุกขึ้นมาบุกเบิกหาหนทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มต้นจาก 2 ปีก่อนหน้าด้วยโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังกินได้ให้กับผู้ยากไร้ไม่ปล่อยให้ทรัพยากรต้องเสียเปล่า เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารการกินมากเพียงใด ยิ่งทำให้ผู้คนหลงลืมว่าอาหารที่กินเหลือทิ้งอย่างไม่เสียดายนั้น ยังมีผู้คนอีกมากที่ต้องการ แถมขยะอาหารกองใหญ่เท่าภูเขาที่เกิดขึ้นทุกวี่วันยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน

“สร้างการรับรู้ – ดำเนินงานเป็นระบบ” ตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ

หลังจากดำเนินงานโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันเมื่อปี 2560 เมื่อกันยายนปีนี้ เทสโก้ โลตัส ยังได้เริ่มต้นวัดผลและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหารภายในธุรกิจของตนเองเป็นรายแรกในประเทศอีกด้วย พร้อมกับการสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันสร้างการตระหนักถึงปัญหาจากขยะอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบตั้งแต่ผู้ปลูก ผู้ค้า ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค กระทั่งเกิดเป็นงาน “2019 Thailand’s Annual Conference on Food Waste” งานประชุมระดับชาติ ที่เทสโก้ โลตัส จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่าง “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” และ “หอการค้าไทย” รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ภาคเอกชน และนักวิชาการ เพื่อร่วมกันกระตุ้นสังคมให้เกิดความตื่นตัวและเข้าใจปัญหาขยะอาหารอย่างถูกต้อง รวมทั้งแสดงเจตนารมย์ต่อการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และสร้างความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายระดับนานาชาติ

เดินหน้าด้วย “Target – Measure – Act” เอาจริง “Food Waste”

เรื่องนี้ นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่า นอกจากการตระหนักในบทบาทผู้ประกอบการค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารปริมาณมาก บริษัทยังต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบในการลดขยะอาหารภายในธุรกิจของเราด้วย และเทสโก้ โลตัสได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจของเราเองลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573

แนวคิดที่เทสโก้ โลตัส ใช้เป็นหมากกระดานแรก คือ กรอบการทำแบบ Target” การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและประกาศให้เป็นสาธารณะ, “Measure” การวัดผลอย่างต่อเนื่องและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และAct” การลงมือทำเพื่อลดปริมาณขยะอาหารให้ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยแนวทางทั้ง 3 กระบวนการนี้ ยังถูกใช้เป็นแนวทางงานประชุมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ด้วย เพื่อปลูกฝังแนวคิดแก้ไขปัญหาขยะอาหารให้เริ่มต้นจากเรื่องพื้นฐาน การทำงานอย่างเป็นระบบ และทีมงานเครือข่ายที่มีประสบการณ์ซึ่งพร้อมช่วยกันแบ่งปันแนวทาง ความคิด และความสำเร็จ พร้อมกับตอกย้ำว่าขยะอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นความรับผิดชอบของทุกคน

อย่างที่บอกไปแล้วว่าเทสโก้ โลตัส ได้เปิดเผยข้อมูลขยะอาหารที่เกิดขึ้นในธุรกิจของตนเองสู่สาธารณะ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นมาตรฐานที่เรียกว่า EU Fusions Methodology” จากการวัดผลทั้ง 2,000 สาขาและศูนย์กระจายสินค้าหลัก 6 แห่งของบริษัท ภายใน 1 ปีงบประมาณ เทสโก้ โลตัส มียอดจำหน่ายอาหารมากกว่า 2 ล้านตัน ในปริมาณนี้ มีอาหารที่จำหน่ายไม่หมด (surplus) กว่า 10,000 ตัน ในปริมาณนี้ เทสโก้ โลตัส ได้คัดเลือกอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้เพื่อบริจาคให้แก่องค์กรการกุศลไปราว 400,000 มื้อ ส่วนที่ทานไม่ได้แล้ว ถูกนำไปเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ยต่อไป

“ตำราบทใหม่” กับการจัดการขยะเริ่มที่เราทุกคน

ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนนั้นยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างแนวทางใหม่ให้การกำจัดขยะ ซึ่ง “การปลูกฝัง” ให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาด้วยการไม่ก่อให้เกิดปัญหาคงจะให้ผลดีมากกว่าการกระตุ้นเตือนหรือการรณรงค์ด้วยกิจกรรม โครงการต่าง ๆ ซึ่งให้ผลระยะสั้น

ดังนั้น “ตำราบทใหม่” ของปัญหาขยะอาหารนี้พวกเราต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน และต้องเริ่มจากตนเองในการตระหนักถึงปัญหาที่ไม่ได้หยุดเพียงแค่การทิ้งอาหารที่กินไม่หมด แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่มนุษย์ทุกคนมีความรับผิดชอบในการแก้ไขเท่าๆกัน และแผ่ขยายสู่ระดับครอบครัว องค์กร และประชาชน เพื่อสร้างแนวทางแก้ปัญหาให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน


  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •