Personal Branding ผ่าน Social Media…คมนอกฝัก

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

โดย ดร. ภิเษก ชัยนิรันดร์ www.facebook.com/DoctorPisek
 เจ้าของผลงานหนังสือ “ปั้นแบรนด์ให้รวยด้วย Facebook” และ  “การตลาดแนวใหม่ผ่าน Social Media

วันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังเล่น Facebook อยู่นั้น ก็มีชายหนุ่มคนหนึ่งมาทักและแนะนำตัว พร้อมขอคำแนะนำว่า ตนเองอยากเป็นนักพูดเรื่อง Social Media แต่จะทำอย่างไรถึงให้มีคนรู้จักและเชิญ ผมนิ่งไปสักครู่ และตอบกลับไปสั้นๆว่าให้เปิด Blog แล้วเขียนบทความด้านนี้ เพื่อบอกให้ชาวโลกเขารู้ว่า เรามีความชำนาญในเรื่องใด ชายหนุ่มคนนั้น ขอบคุณสำหรับคำแนะนำและจากไป

ผมไปเปิดดูข้อมูลของเขาใน Facebook และพบว่าจบปริญญาโทด้าน e-Commerce จากมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ ซึ่งผมก็เชื่อแน่ว่าศักยภาพส่วนตัวของเขาก็น่าจะสามารถพูดเรื่อง Social Media ได้อย่างไม่ยากนัก

แต่สำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะชื่อเสียงให้คนเชิญเขาเกิดความเชื่อถือ และไม่ใช่เรื่องยากในการสร้าง Personal Branding ของตนเองขึ้นมา โดยเฉพาะในยุคของการเปิดกว้างของสื่ออย่าง Social Media

ยุคนี้ไม่ใช่เรื่องของคนที่คมในฝัก แต่ต้องชักคมออกมาให้เห็นนอกฝักให้คนอื่นได้ชื่นชม???

แต่เดิมการที่ใครสักคนจะมีชื่อเสียงขึ้นมา จะต้องอาศัยฐานของสื่อเดิม (Traditional Media) อย่างพวก โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุในการเผยแพร่ความสามารถของตนให้ประจักษ์ หลายๆคนที่มีความสามารถแต่ไม่มีโอกาสออกสื่อ ก็ยากที่จะมีชื่อเสียงไปในวงกว้าง ขณะที่บางคนอาจจะมีความสามารถอาจด้อยกว่า แต่บุญพาวาสนาส่งให้ได้อวดผลงานผ่านสื่อ ก็ส่งให้มีชื่อเสียงขจรขจายได้

ไม่มีสื่อเดิมหนุน ก็ยากที่จะได้เกิด…

แต่โอกาสมาเปิดกว้างและทลายอุปสรรคของสื่อเดิมลง ผ่านทาง Social Media ที่ใครใคร่อยากแสดงผลงานก็สามารถแสดง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของบทความผ่าน Blog การแสดงหรือทำรายการต่างๆผ่าน YouTube แสดงความคิดเห็นเด็ดๆผ่าน Twitter หรือแชร์รูปภาพต่างๆผ่าน Flickr เป็นต้น

ลองคิดตามสิครับ หากไม่มี YouTube อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือ เชพหมี แห่ง “ครัวกากๆ” ก็คงไม่มีโอกาสได้เกิด ลองคิดดูสิครับ หน้าตาอย่างพ่อเชพหมีเราเดินๆดุ่มๆไปขอออกรายการทำกับข้าวผ่านจอทีวี คงยากที่จะมีใครให้ออก ต้องอย่าง “ครัวแล้วแต่คริต” นั้นแหละที่จะได้แสดงฝีไม้ลายมือเพราะดำเนินรายการโดยนักแสดงชื่อดัง

ก็นะ…เพราะเชพหมีทำรายการอาหารที่แหกกรอบขนบ ประเภทที่หาของเหลือๆในตู้เย็นมาทำอาหาร หรือการแต่งกายที่รู้ได้เลยว่าพึ่งตื่น หรือแม้แต่คงยังไม่ได้แปรงฟัน บรรดาเจ้าของช่องทีวีต่างๆคงยากจะยอมรับ

แต่โอกาสของเชพหมีไม่ได้ถูกปิด เขาก็ให้เพื่อนใช้กล้องธรรมดาๆถ่ายรายการแบบบ้านๆแล้วนำไปลงใน YouTube ผลปรากฏว่า มีคนสนอกสนใจแห่ดูกัน เท่าที่ผมตรวจสอบในคลิป “ครัวกากๆ” ตอนแรกมีคนดูเป็นล้านกว่าๆ และตอนต่อๆมาก็มีคนดูเป็นจำนวนไม่แพ้กัน

คนดูอาจจะมากกว่ารายการของพ่อ ชาคริต แย้มนาม ในแต่ละตอนเสียอีก…

มาถึงตรงนี้ผมอยากจะยกกรณีศึกษาของชายหนุ่ม 2 คน ซึ่งผมรู้จักเป็นการส่วนตัวผ่านทาง Twitter ที่สามารถสร้างตัวตนบนโลก Social Media จนมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง และด้วยชื่อเสียงเหล่านี้ก็สามารถต่อยอดไปสู่โอกาสในอาชีพการงานอื่นๆ

อาจารย์บอม (@Ajbomb)…แบรนด์ “ชายหนุ่มอารมณ์ดีผ่าน #คำรัก”

ผมรู้จัก ธวัชชัย เกิดประดับ (อาจารย์บอม) หรือ @Ajbomb มาประมาณ 2 ปีได้ผ่านโลก Twitter และจากข้อความที่ทวิตของเขา ทำให้รู้สึกได้ว่าชายคนนี้เป็นคนอบอุ่นและอารมณ์ดี จำนวน Follower ของเขามากกว่า 7,000 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนธรรมดาๆคนหนึ่งจะมีคนติดตามเขามากมายขนาดนี้

จากอาจารย์พิเศษที่สอนด้านวิชาไอทีและ e-Marketing ตามมหาวิทยาลัยต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีคนรู้จักอยู่บ้างผ่านกิจกรรมไอทีเพื่อสังคมที่เผยแพร่ความรู้ด้านไอทีให้แก่บรรดานักศึกษาและหน่วยงานต่างๆ แต่ก็เป็นการรู้จักในวงแคบๆแถวจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง

แต่เมื่อสองปีที่แล้ว อาจารย์บอมได้ฟังท่านวิทยากรท่านหนึ่งได้หยิบยกเรื่องของ Twitter มาบรรยายให้ฟังผ่านงานสัมมนาที่ชมรมไอทีเพื่อสังคมเป็นคนจัด อาจารย์บอมได้ทดลองเล่น ซึ่งในตอนแรกถึงกับยอมรับว่า “เล่นไปมึนไป แบบงงๆ”

จากนั้นด้วยความสนุกสนาน กอรปกับอาจารย์คิดสนุก จึงหันมาทวิตข้อความพวก คำรัก คำคมที่อาจารย์แต่งเล่นๆขึ้นมาเอง ปรากฏว่ามีคนชื่นชอบเป็นจำนวนมาก (รวมถึงผมเอง) ทำให้เกิดการบอกต่อหรือ Retweet เป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง #คำรัก เป็นแบรนด์ประจำตัวของอาจารย์บอมไป อีกทั้งตัวอาจารย์เองเป็นคนอารมณ์ดี ซึ่งสามารถสัมผัสได้ผ่านข้อความที่เขาทวิต นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ Facebook Page ขึ้นมา คือ www.facebook.com/comeruck คู่ขนานไปกับ #คำรักใน Twitter

ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง อาจารย์บอมก็ทวิตแนวการเมืองออกมาแต่ยังแฝงแนวหยิกแกมหยอก แต่ด้วยความกังวลว่าจะทำให้แบรนด์ การเมือง และคำรักดูขัดแย้งกัน จึงเปิดบัญชี Twitter ขึ้นมาอีกหนึ่งบัญชี คือ @BombPoetry เพื่อใช้ในการทวิต #คำรักแทน ปรากฏว่าจำนวน Follower ก็เพิ่มขึ้นไล่ๆ @Ajbomb มาติดๆ

เมื่อแบรนด์ของอาจารย์บอมเกิดขึ้นที่ Twitter รวมไปถึงความรู้ด้านไอที, e-Marketing รวมไปถึงความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่มีอยู่ ทำให้ได้โอกาสในการเขียนหนังสือและตีพิมพ์ออกมาแล้ว 3 เล่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “Marketing on Twitter” และด้วยความมีชื่อเสียงจาก Twitter ทำให้รู้จักคนในวงกว้างมากขึ้น รวมไปถึงหนังสือที่เขียน ทำให้เปิดโอกาสได้เป็นวิทยากรบรรยายหรือไปร่วมกิจกรรมต่างๆที่เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเข้ามา

อย่างไรก็ตาม อาจารย์บอมแถมทิ้งท้ายว่า “เพื่อนและมิตรภาพนี่เป็นอะไรที่สำคัญมากๆเพราะจะเป็นประโยชน์กับเราในระยะยาวมากกว่า”

คงไม่เกินเลยไปที่จะสรุปว่า แบรนด์ “อาจารย์บอม: ชายหนุ่มอารมณ์ดี” จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเขาไม่มาเล่น Twitter เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

กาฝาก(@Kafaak)…แบรนด์ “ผู้รอบรู้เรื่องมือถือ”

หากจะถามผมว่า อยากจะซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง ถามใครดี ผมคงจะบอกเขาอย่างไม่ลังเลเลยว่าให้ปรึกษากับ นายกาฝาก @Kafaak ที่เขามักจะเรียกตัวเองว่า ไอทีต๊อกต๋อย แต่สำหรับผมแล้ว เขาคือตัวจริงในวงการโทรศัพท์มือถือ

เขาคือตัวแทนของ Marketing Influencer ในโลกยุคใหม่ที่คำแนะนำของเขามีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง ซึ่งไม่ต่างจากป้ายเชลล์ชวนชิมหรือป้ายแม่ช้อยนางรำที่แนะนำร้านอาหารอร่อย ซึ่งเป็น Influencer ผ่านสื่อเดิม (Traditional Media)

ทำไมคนธรรมดาๆคนหนึ่งอย่างเขา ถึงเป็น Marketing Influencer ได้…นั่นก็เพราะ กาฝาก หรือ คงเดช กี่สุขพันธ์ เจ้าหน้าที่ด้านไอทีของโรงเรียนนานาชาติใหม่แห่งประเทศไทย ฝากบทความรีวิวโทรศัพท์มือถือรวมไปถึง Gadget อื่นๆจำนวนมากมายผ่าน Blog ของเขา คือ kafaak.wordpress.com ด้วยการวิจารณ์ที่ลุ่มลึกบอกให้เรารู้ได้ว่าคนเขียนคนนี้ไม่ธรรมดา

จริงๆแล้วกาฝากเข้ามาใน Social Media นานมากแล้วในรูปแบบของ ไดอารีที่ฮิตเขียนกันในช่วงต้นทศวรรษ 2540 โดยเขียนติดต่อกันมาเกือบ 3 ปี จากนั้นก็อำลาวงการไปประมาณ 6 ปี เพราะไปทำงานโรงงานไม่ได้นั่งดูหน้าคอมพิวเตอร์

ด้วยความที่กาฝากต้องการที่จะส่ง SMS ฟรี ผ่านทาง Twitter จึงหันมาใช้ Social Media ตัวนี้เป็นตัวแรกๆในการหวนคืนสู่วงการในปี 2551 แต่ปรากฏว่าทาง Twitter กลับปิดบริการนี้ไป แต่เอาละไม่ด้วยสาเหตุใด กาฝากก็เริ่มมีตัวตนใน Twitter ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือในเวลาต่อมา

แต่สำหรับผม…Blog คือตัวสร้างชื่อเสียงของเขา แต่ใช้ Twitter เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และสร้างเครือข่ายคนรู้จัก ในยุคที่ Know How ไม่สำคัญเท่ากับ Know Who อย่างไรก็ตาม กาฝากบอกว่า “ทั้งหมดเริ่มจาก Twitter และแท็ก #thainosniff ที่เกิดขึ้นเป็นกระแสต่อต้านการนำ Sniffer มาใช้เพื่อตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ผมได้ทวิตความคิดเห็นต่างๆ จนกระทั่ง คุณ กำพล ศรธนรัตน์ (@skumpol) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ชวนไปเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับ e-Commerce ชื่อ e-Commerce 4 Comment ในนิตยสาร EWorld”

จากนั้น กาฝากเริ่มใช้ Twitter ทวิตความรู้เกี่ยวกับข่าวด้านไอที และติดแท็ก #ittwit จนกระทั่งเป็นแท็กมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป

จริงๆแล้ว กาฝากนอกจากจะมี Blog ด้านเกี่ยวกับการรีวิวโทรศัพท์มือถือแล้ว เขายังมี Blog อีกสองแห่งที่แตกออกไปในการนำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างกัน คือ mioptu.wordpress.com เสนอเรื่องของจิตวิทยาอุตสาหกรรม ที่เขากำลังร่ำเรียน ปริญญาโทด้านนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ funtwt.wordpress.com ที่เป็น Blog สำหรับการระบายอารมณ์และเขียนเรื่อยเปื่อย

นอกจากนี้ยังมีการใช้ YouTube เพื่อทำการอัพโหลดวิดีโอรีวิว เป็นส่วนเสริมข้อมูลใน Blog อีกทั้งยังมีช่องทางเผยแพร่ข่าวสารไอทีให้คนทั่วไปทราบทาง www.youtube.com/user/kafaak รายการ “กาฝากน้อย ย่อยข่าว” 

กลับมาที่การรีวิวบรรดา Gadget ต่างๆ เขาได้ให้หลักการในการเขียนของเขาว่า “เน้นการนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน คือ ด้านบวกและด้านลบ เพราะเชื่อว่าการนำเสนอข้อมูลแบบตรงไปตรงมานี้แหละที่จะไม่ทำให้เกิดความคาดหวังที่ผิดๆแก่ตัวผู้ใช้สินค้าหรือบริการ และเมื่อพวกเขาได้ตัดสินใจซื้อหลังจากทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว เสียงบ่นก็จะน้อยกว่า”

และด้วยแบรนด์ “กาฝาก: ผู้รอบรู้เรื่องมือถือ” ทำให้เขาได้มีงานบรรยายในหัวข้อเทคโนโลยีต่างๆ อุปกรณ์พกพา รวมไปถึง Social Media โดยไปบรรยายทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน และเห็นไปเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆมาแล้วมากมาย และด้วยความเป็นคนช่างพูด จึงมีโอกาสได้เป็นพิธีกรในหลายๆงานด้วย

ผมถามกาฝากด้วยความอยากรู้ว่า Social Media ทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นในรูปแบบใดบ้าง เขาตอบผมว่า “มีรายได้จากผู้สนับสนุนใน Blog รวมไปถึง Advertorial Ad รายได้จากบทความที่นิตยสารนำไปตีพิมพ์ รายได้จากการเป็น Influencer ให้กับแบรนด์ต่างๆและรายได้จากการบรรยาย”

และเช่นกัน Social Media ทำให้กาฝากจากไอทีต๊อกต๊อยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือระดับประเทศได้ อย่างที่เขาเองอาจจะไม่ได้คิดถึง


  •  
  •  
  •  
  •  
  •