เปิดอาณาจักร ‘Himalaya’ ทำไมติดเป็น Top 5 ในอินเดีย กับวิสัยทัศน์ตลอดกาล ‘ศาสตร์เก่าแก่สู่สังคมใหม่’

  • 872
  •  
  •  
  •  
  •  

Credit : Himalaya

 

ถ้าลองถามคนไทยเกี่ยวกับแบรนด์ Himalaya เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จักแน่ๆ เพราะมีสินค้าหลายตัวที่ค่อนข้างติดตลาดไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะนึกถึง ‘ครีมทาใต้ตา’ หรือไม่ก็ ‘Lip Balm’ ถ้าพูดถึงแบรนด์นี้ของอินเดีย

แต่ความเลอค่าของแบรนด์นี้ไม่ได้มีดีแค่ครีมทาใต้ตา หรือลิปมันหลอดจิ๋วเท่านั้น ภาพจำของคนอินเดียและในหลายประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับ ‘Himalaya’ ก็คือเป็นแบรนด์ที่คิดค้นและเชี่ยวชาญในการพัฒนา ‘ศาสตร์อายุรเวช’ และติดเป็น Top 5 ของแบรนด์เครื่องสำอางในอินเดียติดต่อกันหลายปีซ้อน

 

Credit : www.owler.com

 

ส่วนประวัติของแบรนด์นี้เรียกว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน แถมยังก่อตั้งมาแล้วถึง 90 ปี เก่าแก่ใช่เล่น ด้วยจุดยืน ณ ปัจจุบันที่อยู่อย่างมั่นคงยิ่งทำให้เราอยากรู้ที่มาที่ไปของแบรนด์มากขึ้นว่า มีกลยุทธ์หมัดเด็ดอะไรถึงทำให้ยัง strong มากบนสมรภูมิอุตสาหกรรมสกินแคร์และเครื่องสำอางได้อย่างทุกวันนี้

 

 

 

จุดเริ่มต้นแบรนด์เกิดจาก ความบังเอิญ

ย้อนไปก่อนปี 1930 ใครจะเชื่อว่าจุดกำเนิดของแบรนด์ที่ชื่อว่า Himalaya จะเกิดจาก ‘ความบังเอิญ’ ของ Mr.Mohammed Manalชายชาวอินเดีย และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งในระหว่างที่เขาเดินทางไปประเทศเมียนมา และได้ไปเจอกับช้างตกมันที่กำลังหัวเสีย แต่มันเริ่มสงบลงหลังจากที่ชาวบ้านแถวๆ นั้นให้มันกินสมุนไพรชนิดหนึ่งเข้าไป ซึ่งสมุนไพรตัวนั้นก็คือ Rauwolfia Serpentina หรือ ระย่อมน้อย

ความอยากรู้อยากเห็นที่เกิดจากจุดเล็กๆ ของเขา เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขารักในการค้นคว้า วิจัย ทดลองพืชชนิดนี้ จนในที่สุดได้ก่อตั้งบริษัทขึ้น ชื่อว่า The Himalaya Drug Company ในปี 1930 และต่อมาได้เปิดตัว ‘ยาลดความดันโลหิตจากธรรมชาติ 100%’ หรือยา Serpina เป็นตัวแรกของโลกในปี 1934

นอกจากนี้ ยังมียา LIV 52 ที่มีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคตับซึ่งติดเป็น best seller หลายปีในสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และอีกหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งพูดได้ว่า จุดเริ่มต้นจากความสงสัยเล็กๆ น้อยๆ บวกกับความมุ่งมั่นและทำต่อ ทำให้ในปัจจุบันแบรนด์ Himalaya จำหน่ายสินค้าไปทั่วโลกกว่า 90 ประเทศแล้ว

 

 

 

คติของ ‘Himalaya’ ความรู้วิทยาศาตร์ + ธรรมชาติเสมอ!

เราจะเห็นว่าช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในวงการเครื่องสำอางหรือสกินแคร์ต่างๆ เริ่มมุ่งมั่นไปที่ความเป็น ‘ออร์แกนิก’ มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยนักวิจัยของ Grand View Research ได้ประเมินภาพรวมของธุรกิจเครื่องสำอางและสกินแคร์ไว้ว่า จะเป็นยุคของออร์แกนิคทุกอย่างเป็นส่วนผสมของธรรมชาติเกือบทั้งหมด หรือ 100%

โดยมองว่าภายในปี 2027 สินค้าหมวดบิวตี้ที่เป็นออร์แกนิคจะแตะระดับ 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จาก 15,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020)

แต่สำหรับ Himalaya brand จุดยืนความเป็นออร์แกนิค เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัท โดย Manal จะย้ำคำๆ นี้เสมอว่า “วิทยาศาสตร์อายุรเวทของอินเดีย หรือศาสตร์ที่เก่าแก่จะต้องถูกนำไปใช้ในสังคมสมัยใหม่ และสินค้าของ Himalaya จะต้องมาจากธรรมชาติ 100% เท่านั้น แต่เราจะนำเสนอความเป็นธรรมชาติด้วยรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ผ่านความคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรองมาก่อนแล้ว”

ขณะที่ในปัจจุบันโปรดักซ์ของ Himalaya รวมหมวดหมู่ทั้งหมดมีประมาณ 300 ประเภททั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค ไปจนถึง สินค้าสำหรับผู้สูงวัย เด็ก ไปจนถึง สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

 

Credit : ugustine Bin Jumat/Shutterstock

 

ทั้งนี้ มาร์เก็ตแชร์ประมาณ 42% ของสินค้า Himalaya ที่ครองตลาดทั่วโลกส่วนใหญ่เป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลริมฝีปาก-ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้า เป็นต้น

 

 

 

Himalaya ทำงานกับ แพทย์พาร์ทเนอร์’ – ตั้งศูนย์ R&D ต่างแดน

วิธีการรักษาคุณภาพและพัฒนาโปรดักซ์ของ Himalaya ไม่ได้หยุดอยู่ตรงที่ในเขตดินแดนของอินเดียเท่านั้น แต่ตลอดที่ดำเนินธุรกิจจนถึง 90 ปีนี้ Himalaya ได้จับมือกับพาร์ทเนอร์ในวงการแพทย์กว่า 400,000 คนทั่วโลกเพื่อร่วมการันตีสินค้า ทำแบบนี้อยู่หลายสิบปี

นอกจากนี้ กลยุทธ์ทางการตลาด Himalaya ที่ผ่านมาจะเน้นไปที่ ‘touch & feel’ สื่อสารโดยตรงไปถึงผู้บริโภค รับฟังเสียงของผู้บริโภค และเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า และที่สำคัญ Himalaya ใช้วิธีเปิดพื้นที่ส่วนกลางในเว็บไซต์หลักของ Himalaya เพื่อให้ผู้ใช้สินค้าสามารถแนะนำได้โดยตรง รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับแนะนำ และให้เกล็ดความรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานร่วมกับ Himalaya

ที่จริงยังมีอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางธุรกิจในด้านการรักษาคุณภาพให้คงระดับเดิม นั่นก็คือ การเปิดศูนย์วิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศ อย่างล่าสุดที่ Himalaya ได้เปิดศูนย์ R&D ในดูไบ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 5 ของ Himalaya (สหรัฐฯ, ยุโรป, สิงคโปร์, อเมริกาใต้, ดูไบ) และมีออฟฟิศในอีกหลายประเทศ รวมๆ แล้วกว่า 106 ประเทศทั่วโลก

 

 

สร้าง Branding ด้วยการตลาดแบบ 4Ps

ทางบริษัท Himalaya เปิดเผยว่า 4 กลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้มาตลอด 90 ปี นั่นก็คือ 4Ps ซึ่งย่อมาจาก Price – Product –  Promotion – Place

Credit : www.dsim.in.com

 

โดยกลยุทธ์ง่ายๆ ใน 4 รูปแบบนี้สามารถครอบคลุมการตลาดในทุกยุคทุกสมัยแล้ว แต่อาจต้องปรับเปลี่ยนหรืออัพเกรดให้ทันสมัยขึ้นบ้าง ตัวอย่างเช่น ‘Place’ ช่องทางสำหรับการสร้างแบรนด์ดิ้ง หรือการโฆษณาว่าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เพียงพอแล้วหรือไม่ จากที่แบรนด์อาจจะเคยโปรโมตสินค้าหรือโปรโมชั่นต่างๆ ทางรายการโทรทัศน์ หนือหนังสือพิมพ์เท่านั้น พอยุคสมัยเปลี่ยนไปการกระจายการรับรู้ของแบรนด์อาจเบนไปทางช่องทางอื่นร่วมด้วย เช่น ทางออนไลน์

หรือแม้แต่ ‘การตั้งราคา’ (Pricing) ซึ่งทาง Himalaya แบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘ราคาย่อมเยาว์’ ไม่แพงจนเกินเหตุ มีราคาสมเหตุสมผลมากที่สุดอีกแบรนด์หนึ่งในโลก ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้งบริษัทเคยพูดเอาไว้ว่า “ทุกสิ่งที่ล้วนมาจากธรรมชาติจะมีราคาที่สมเหตุสมผลของมัน แต่ก็ไม่ใช่ความแพงเกินเหตุ จนคนรู้สึกว่าเอื้อมไม่ถึง”

นอกจากนี้ ขั้นตอนในการชำระเงินก็สำคัญไม่น้อย เพราะในแต่ละประเทศความพร้อมในการใช้ระบบดิจิทัลไม่เหมือนกัน รูปแบบการจ่ายเงินก็ต่างกัน ดังนั้น ขั้นตอนการจ่ายเงินก็ต้องสอดคล้องและให้ความสะดวกสบายกับพฤติกรรมคนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ด้วย จึงจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แบรนด์สามารถนั่งอยู่ในใจผู้บริโภคได้ “รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวกับลูกค้า เราต้องใส่ใจให้มาก ไม่ละเลย”

 

 

‘Social Media Marketing’ แบรนด์จะขาดไม่ได้!

อย่างที่รู้ๆ กันว่า ลมหายใจเข้าออกของผู้บริโภคในตอนนี้ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับโลกดิจิทัลด้วย อย่าง Himalaya ก็มีช่องทางให้ติดตามที่หลากหลายไม่ต่างกับแบรนด์อื่นๆ ไม่ใช่แค่ในเว็บไซต์เท่านั้น แต่ทั้ง facebook, Twitter, Youtube และในแพลตฟอร์ม microsites อื่นๆ ด้วย

แต่สิ่งสำคัญก็คือ ‘relation’ กับลูกค้าที่ต้องมีความต่อเนื่อง ลองจินตนาการดูว่า ถ้าหากเรามีพื้นที่ให้ลูกค้าแสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนะได้ แต่กลับไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้ใดๆ ‘มันก็ไม่ work’

อย่างเคสของ Himalaya ที่นำ pain point ของลูกค้า ศึกษาและนำมาพัฒนาเป็นโปรดักซ์ใหม่ ‘HimalayaForHim’ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้ครบทุกกลุ่ม ซึ่งหลังจากที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์ก็มีกระแสพูดถึงในโซเชียลมีเดียไม่น้อย พูดได้ว่า ‘Social Listening’ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือพัฒนาโปรดักซ์ที่ต้องมีในยุคนี้จริงๆ

 

Credit : www.dsim.in.com

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2015 จะเห็นว่า รายได้ของ Himalaya เกิน 50% มาจากลูกค้าที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ขณะเดียวกัน สินค้าหลายๆ ตัวของ Himalaya เริ่มติดเป็น best seller และเป็นที่พูดถึงในสื่อโซเชียลในหลายประเทศ โดยเฉพาะในตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่แบรนด์นี้ปักธงเอาไว้

จะว่าไปในตลาดไทยก็บูมมาสักพักแล้วนะ โดยเฉพาะครีมทาใต้ตา กับลิปมัน หลายคนยกให้เป็น best of the best product กันเลย

 

 

 

ที่มา : dsim, marketing91, wikipedia, formulabotanica, businesswire, himalayawellness


  • 872
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม