“ข้อมูล – เทคโนโลยี” คือเสรีภาพในการเข้าถึง! “Facebook” ใช้ “Chatbot” เคลียร์ Pain Point ให้ผู้พิการทางสายตา ครั้งแรกของไทย

  • 194
  •  
  •  
  •  
  •  

Chatbot

เราเริ่มเห็นแชทบอท (Chatbot) ถูกนำมาใช้งานตามเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียแพร่หลายขึ้นเรื่อย ๆ แม้ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อแนะนำ หรือให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ของธุรกิจ แต่ล่าสุด เทคโนโลยีดังกล่าวถูกขยายมาถึง “Messenger” ด้วยความร่วมมือระหว่าง Facebook ประเทศไทย ในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์ม, Read for the Blind ชุมชนช่วยเหลือผู้บกพร่องทางสายตา และ HBOT ผู้ให้บริการโซลูชันแชทบอท

ต้องบอกว่านี่เป็นครั้งแรกของ Facebook ประเทศไทย ที่ร่วมกับพาร์ทเนอร์นำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้พิการ นอกจากประเด็นการทำเพื่อสังคมแล้ว ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็น “ก้าวแรก” ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาเปิดโลกของผู้พิการผ่าน “Bot for Messenger” ตามวิสัยทัศน์ในการเชื่อมต่อและปฏิสัมพันธ์ของผู้คน รวมถึงผู้พิการ

– ประเทศไทยมีผู้บกพร่องทางสายตา ถึง 700,000 คน ซึ่งส่วนหนึ่งใช้งาน Facebook เช่นเดียวกับคนทั่วไป

– จากการสำรวจของ Facebook ใน 50 ประเทศ พบว่า 30% ของผู้ใช้งานระบุว่าพวกเขามีปัญหาด้านต่าง ๆ อย่างน้อยหนึ่งด้าน เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยิน การพูด การเดิน หรือการหยิบจับ

– ทั้งยังพบว่า 1 ใน 10 ของผู้คนใช้ฟังก์ชันขยายหน้าจอเมื่อใช้งานบราวเซอร์ของ Facebook ขณะที่ 20% ของผู้ใช้ Facebook ขยายอักษรบน iOS

Facebook Read for the Blind

แน่นอนว่า ไม่ใช่ผู้พิการทุกคนที่มีเครื่องมือหรือเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกได้ แต่สถิติจาก Facebook Global ระบุว่า…มีผู้พิการจำนวนหนึ่งใช้งาน Facebook แม้จะเปิดเผยตัวเลขไม่ได้อย่างชัดเจนแต่การเข้าถึงเครื่องมือ Accessibility ผ่านแอป Facebook ทั้งบน iOS และ Android ช่วยยืนยันได้ว่ามีผู้พิการใช้ฟีเจอร์ของโซเชียลมีเดียดังกล่าวจริง ๆ

โดย Facebook ยังถูกโหวตจากสมัชชาคนตาบอดแห่งประเทศ ให้เป็น “Top 5 แอปพลิเคชันที่เป็นมิตรและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแก่ผู้พิการทางสายตา” หรือ TAB Digital Inclusive Award ประเด็นนี้ยิ่งตอกย้ำว่า Facebook ให้ความสนใจกับการใช้งานของผู้พิการบนโลกออนไลน์อยู่ไม่น้อย

สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การนำเทคโนโลยี Chatbot ในชื่อ “Ready” (รีดดี้) เข้ามาช่วยเหลือเพจ Read for the Blind ผ่าน Messenger ซึ่งแอดมินเพจเป็นผู้พิการทางสายตาตอบคำถามและให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้ที่สนใจร่วมเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียงและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการทางสายตา อาทิ อยากเป็นอาสาสมัครต้องทำอย่างไร, อยากอ่านหนังสือเสียงต้องทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นคำถามเบื้องต้นที่มีผู้สอบถามเป็นจำนวนมาก และถูกถามซ้ำ ๆ

โดยบริการ Ready เป็นการพัฒนาของ HBOT (เฮ็ดบอท) ผู้ให้บริการโซลูชันแชทบอท ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการราว 2-3 เดือน ก่อนจะเริ่มให้บริการเป็นครั้งแรกในวันนี้

Bot for Messenger

 

เรื่องนี้ คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ และคุณชลทิพย์ ยิ้มย่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง Read for the Blind และกลุ่ม Help Us Read (ช่วยอ่านหน่อยนะ) เล่าถึงรายละเอียดว่า ปัจจุบันเพจ Read for the Blind มีผู้ติดตามราว 187,000 คน โดยเป็นทั้งอาสาสมัครและคนตาบอด (ให้บริการทั้งเพจบน Facebook แอปพลิเคชัน iOS และ Android) เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาการที่มีผู้สนใจเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียงและช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาแต่ไม่ต้องการเดินทางไปถึงห้องสมุดคนตาบอด ทั้งยังเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างอาสาสมัครและคนตาบอดว่าต้องการให้อ่านหนังสือประเภทใด ส่วนเพจ Help Us Read มีอาสาสมัครราว 13,000 คน เพื่อช่วยแปลงภาพเป็นเสียงแก่คนตาบอดที่ต้องการความช่วยเหลือ อาทิ เอกสารข้อมูลต่าง ๆ รายการอาหาร ฉลากยา เป็นต้น

นอกจากนี้ แอป Read for the Blind ยังมีการต่อยอดสู่ภาษาท้องถิ่นประเทศอื่น เช่น ภาษาซองคา ประเทศภูฏาน ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้ใช้งานภายในสิ้นปีนี้

ส่วน คุณชญานิษฐ์ ศรีนาคอ่อน CEO HBOT อธิบายว่า แม้การพัฒนาฟีเจอร์ Bot for Messenger บริษัทจะดำเนินการในฐานะพาร์ทเนอร์ B2B ร่วมกับ Facebook แต่เป้าหมายของบริษัทเชื่อว่าทุกคนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ รวมถึงเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทเปิดกว้างให้ผู้สนใจสามารถศึกษา ติดต่อ และใช้งานโซลูชัน HBOT ได้ฟรีด้วย ซึ่งนอกจากการให้ความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตาเป็นครั้งแรก แต่ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทก็เคยให้การสนับสนุนภาคการศึกษา และดำเนินการให้แก่ลูกค้ากลุ่มคอร์ปอเรทเช่นกัน

คุณแมทธิว คิง ผู้เชี่ยวชาญระบบช่วยเหลือผู้พิการและวิศวกรจาก Facebook ซึ่งเป็นผู้บกพร่องทางสายตาคนแรกของ Facebook ระบุว่า ชุมชนออนไลน์เป็นตัวเชื่อมผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งยังเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้จากการร่วมกันพัฒนา รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ซึ่ง Facebook มีฟีเจอร์ที่ช่วยเหลือผู้พิการหลากหลาย อาทิ การปรับสี ปรับคอนทราสต์ หรือปรับขนาดตัวอักษร สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา, การมีวิดีโอ สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน, การนำ AI ใช้เสียงช่วยบรรยายรายละเอียดของภาพแก่ผู้พิการทางสายตา,​ การใช้เทคโนโลยี Face Recognition จดจำใบหน้าเพื่อระบุตัวตน เป็นต้น เพราะ Facebook มองว่าการเปิดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลแก่ทุกคน ไม่ว่าจะมีสภาพร่างกายแบบใดก็ตาม และแต่ละวันก็มีผู้ใช้ Facebook อัพโหลดภาพกว่า 2,000 ล้านภาพต่อวัน

อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์อธิบายภาพด้วยเสียง หรือ Automatic alt-text ของ Facebook เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ด้วยการนำ AI เข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตาผ่านฟีเจอร์ต่าง ๆ เนื่องจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกมีประชากร 285 ล้านคนที่สูญเสียความสามารถด้านการมองเห็นอย่างรุนแรง เช่น มีระดับค่าสายตาเกินกว่าระยะ 20 ฟุต และต้องอาศัยเครื่องมือเพื่อช่วยขยายและอ่าน ในขณะที่ 39 ล้านคนเป็นผู้พิการทางสายตา (อาจต้องใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอเข้าช่วย) และราว 360 ล้านคนมีความผิดปกติด้านการได้ยินร่วมด้วยโดยอาจต้องอาศัยการบรรยายแทนเสียง


  • 194
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน