อยากทำ Podcast ต้องรู้! แบรนด์ก็ต้องเข้าใจ! แจ้งเกิดคอนเทนต์ “ความเชื่อ – เรื่องลึกลับ” อย่างไรในยุคนี้

  • 95
  •  
  •  
  •  
  •  

ghost-faith-and-thai-culture-content-in-digital-era-01-cover

ถ้าหยิบประเด็นคอนเทนต์ขึ้นมาถก…แน่นอนว่าคอนเทนต์เสียงแห่งยุคอย่าง Podcast” ต้องติดเทรนด์แน่นอน ในงาน iCreator Conference 2020 ที่ผ่านมา จึงมีการพูดถึงเทรนด์และทิศทางของ Podcast รวมถึงเสน่ห์ของคอนเทนต์เสียงกว้างขวางหลากหลายประเด็น รวมถึงเรื่องราว “คอนเทนต์ผี ความเชื่อ และวัฒนธรรมไทยในยุคดิจิทัล” จากนักเล่าเรื่องลี้ลับอย่าง กพล ทองพลับ Founder The Shock ร่วมด้วย ธัญวัฒน์ อิพภูดม และ ยชญ์ บรรพพงศ์ 2 Podcaster จาก Untitled Case ว่า…ทำไมคอนเทนต์แนวลึกลับจึงมีฐานผู้ฟังเหนียวแน่น และเป็นหนึ่งในคอนเทนต์หมวดที่ “ได้รับความสนใจจากแบรนด์”

คนไทยชอบ “คอนเทนต์ผี – ลึกลับ” จริงหรือ ?

กพล ทองพลับ หรือ ป๋อง The Shock เล่าประสบการณ์ว่า กว่า 30 ปีในการจัดรายการเกี่ยวกับเรื่องลึกลับ ความเชื่อ มองว่าคอนเทนต์ประเภทนี้ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าได้การยอมรับ แม้ว่าคนไทยจะคุ้นเคยกับคอนเทนต์ผี ๆ และความเชื่อมาจากละคร ภาพยนตร์ วิทยุ และรายการออนไลน์ในปัจจุบัน

“เมื่อก่อนรายการผีอาจถูกมองว่างมงาย ไร้สาระ แบรนด์ก็ลังเลที่จะสนับสนุนหรือโฆษณา เพราะไม่มั่นใจว่าจะเอ่ยถึงแบรนด์ในรายการผีดีหรือเปล่า แต่จากประสบการณ์ได้เห็นว่าในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นช่วงที่บูมที่สุดของรายการผีก็ว่าได้”

กพล ทองพลับ The Shock
กพล ทองพลับ The Shock

ยชญ์ บรรพพงศ์ Podcaster จาก Untitled Case มองว่า คอนเทนต์ประเภทระทึกใจมีฐานแฟน ที่ชื่นชอบและรอฟังอยู่พอสมควร

ธัญวัฒน์ อิพภูดม Podcaster จาก Untitled Case แสดงความเห็นว่า Podcast ที่คนไทยชอบฟัง ก็มีรายการสยองขวัญ เรื่องผี พอสมควร สะท้อนได้ว่าคนไทยผูกพันกับเรื่องผี เรื่องระทึกขวัญ การสืบสวนสอบสวนสไตล์ต่างประเทศ ตลาดนี้ถือว่า Mass พอสมควร

ต้อง “เล่า – เรียงเรื่อง” อย่างไร เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้คอนเทนต์

กพล : คอนเทนต์ต้องน่าสนใจจึงมีคนอยากฟัง ประสบการณ์จัดรายการวิทยุตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้รู้ว่าคนรุ่นใหม่เก่งมากแค่ไหน เราต้องพัฒนาตัวเองให้ทันยุคทันสมัยเช่นกัน ส่วนตัวมองว่าความสามารถในการดำเนินเรื่องให้ลื่นไหลเป็นทักษะสำคัญของคนเล่าคอนเทนต์ ส่วนสำคัญในการเล่าเรื่องผีอยู่ที่น้ำเสียงที่ต้องสื่ออารมณ์ไปถึงคนฟัง เพราะถ้าเราอยู่ในบทบาทผู้เล่า ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่นำมาเล่า ก็ต้องเล่าให้คนฟังรู้สึกสนุกให้ได้

ยชญ์ บรรพพงศ์ Podcaster Untitled Case
ยชญ์ บรรพพงศ์ Untitled Case

ยชญ์ : ในฐานะคนเล่าเรื่อง เราต้องวิเคราะห์ว่าคนฟังอยากฟังเรื่องราวประเภทไหน จุดเด่นของ Podcast คือ การนำเสนอความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด เช่น Untitled Case ที่มีจุดเด่นในการนำแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมกับความลี้ลับ ซึ่งต้องใช้ทักษะในการขยี้เรื่องราวให้ง่ายต่อการเข้าใจ

“ที่บอกว่าต้องมีน้ำเสียงชวนฟังถึงจัดรายการวิทยุ หรือ Podcast ได้ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ เพราะเราเปลี่ยนน้ำเสียงไม่ได้ แต่เราสร้างคาแรกเตอร์ให้น่าสนใจได้ เช่น คาแรกเตอร์ในการเรียบเรียงเรื่อง หรือการเลือกเรื่องมาเล่า เทคนิคเหล่านี้สำคัญกว่าน้ำเสียง”

ธัญวัฒน์ : ส่วนตัวใช้การเลือกจากความเห็นส่วนตัว คือ เลือกสิ่งที่ใกล้ชิดผู้ฟังมากที่สุด เพราะเสน่ห์ที่เห็นได้ชัดเจนคือผู้ฟังจะอินกับเรื่องจริงที่อยู่ใกล้ตัว และอีกเสน่ห์ที่สำคัญไม่แพ้กันคืออารมณ์ร่วมของผู้เล่าซึ่งจะทำให้เรื่องราวเข้าถึงผู้ฟังได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ก็เป็นรายละเอียดของ Podcast ที่ต้องเลือกและเรียง คอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ผู้ฟังได้หลากหลายช่วงเวลา เพราะผู้ฟัง Podcast ไม่ได้เปิดฟังแค่ช่วงก่อนนอน

“การลำดับเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่าง จุด A ที่เป็นการเริ่มต้นเรื่อง ก็ต้องขึ้นต้นให้ดึงดูดคนฟัง และเชื่อมไปถึงจุดสำคัญอื่น ๆ ให้เร็ว ไม่ช้า ไม่ดึงไปเก็บไว้ช่วงท้าย เพราะถ้าระหว่างทางน่าเบื่อ คนอาจเลิกฟังไปก่อนที่จะถึงจุดสำคัญของเรื่องก็ได้”

ธัญวัฒน์ อิพภูดม Podcaster จาก Untitled Case
ธัญวัฒน์ อิพภูดม Untitled Case

ทำคอนเทนต์ยังไง ให้มีทั้ง “แฟนคลับ” และ “รายได้”

กพล : คนฟังคอนเทนต์ผีมีหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่ที่ฟังจากรายการวิทยุ กลายเป็นรายการออนไลน์ที่ฟังสดหรือย้อนหลังได้ และเป็น Podcast ในยุคนี้ ทำให้ฐานคนฟังมีตั้งแต่วัยพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่เด็กรุ่นใหม่

ส่วนการสร้างรายได้เพื่อให้รายการอยู่รอด ต้องยอมรับว่าในอดีตรายการเป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยม แต่ไม่ทำรายได้ก็มี ส่วนตัวจึงเริ่มจากความจริงใจ บอกกับผู้ฟังอย่างตรงไปตรงมาว่ารายการอาจต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีรายได้ จึงมีการเปิดรับบริจาคเพื่อหาทุนสนับสนุนการทำรายการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เรารู้ว่ามีแฟน ๆ จำนวนไม่น้อย มีการช่วยเหลือเป็นเงิน สปอนเซอร์เริ่มเข้ามา กระทั่งเริ่มมีแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาโฆษณา จึงมีรายได้

“ถ้าพูดถึงสปอนเซอร์รายการผี ในอดีตต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบัน แบรนด์เปิดกว้างและยอมรับมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีงบประมาณสำหรับสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นมา รวมถึงการวัดความนิยมรายการ ซึ่งสมัยก่อนต้องเป็นรายการที่ติดหูคนฟังเท่านั้นจึงได้การยอมรับ แต่ตอนนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนคนดูและการทำรายการให้มีความแตกต่าง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการยอมรับ”

ghost-faith-and-thai-culture-content-in-digital-era-02

ยชญ์ : อาจเป็นความตั้งใจอยากเล่าเรื่อง…ที่ทำให้ได้รับโอกาส เพราะเสน่ห์ของ Podcast คือ การเล่า ซึ่งเรานำไปใช้กับการโฆษณาด้วย คือ ให้ความสำคัญกับวิธีการเล่าเรื่อง แน่นอนว่าต้องสนุกสนาน เราไม่ได้แค่เล่าแล้วจบแต่ต่อยอดสู่คอมมูนิตี้ให้พวกเขาได้รวมตัวกัน จากการฟังส่งต่อสู่การเป็นเพื่อน สามารถแลกเปลี่ยนหรือแนะนำคอนเทนต์ดี ๆ ให้กันได้ เพราะแม้จะเป็นคนเล่าเรื่องแต่เราก็ไม่สามารถเสพคอนเทนต์ทั้งโลกได้หมด ดังนั้น คนฟังก็สามารถแนะนำคอนเทนต์ดี ๆ ที่พวกเขาสนใจมาสู่เราได้ เรียกว่าเป็นการสร้าง Branded เพื่อนำไปสู่ Brand Love

ธัญวัฒน์ : มุมมองคนเล่าเรื่อง คนทำคอนเทนต์ ที่สำคัญที่สุดคืออย่ามองว่าตัวเองเก่งที่สุดในโลก ต้องไม่ทำให้คนฟังรู้สึกแง่ลบ ซึ่ง Untitled Case ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้พอสมควร รูปแบบรายการและคอมมูนิตี้ของเราจึงเป็นเหมือนมาฟังเพื่อน ๆ คุย และเปิดโอกาสให้คนฟังช่วยส่งต่อคอนเทนต์มาให้เรา หรือแม้แต่ส่งต่อไปถึงลูกค้าที่จะเข้ามา เพราะแนวคิดเช่นนี้ทำให้แบรนด์มองเห็นตัวตนและเอกลักษณ์ของรายการเราได้มากที่สุด และเชื่อมโยงไปยังภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ว่าแบรนด์วางภาพลักษณ์ไว้อย่างไร เหมาะกับการทำโฆษณาผ่านรายการลึกลับ เล่าเรื่องผีหรือไม่


  • 95
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน