องค์กรไทยติดกับดัก Transformation! ผลวิจัยชี้ แห่วางแผนทุ่มทุนให้ระบบความปลอดภัย ป้องกันภัยไซเบอร์

  • 70
  •  
  •  
  •  
  •  

Abstract Double exposure of Business man touching an imaginary s

เทรนด์ดิจิทัลไม่ได้ฮอตฮิตอยู่แค่มุมผู้บริโภค แต่ภาคธุรกิจก็มองและปรับรับเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน เรื่องนี้ยืนยันได้ด้วยผลการสำรวจ หัวข้อดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัล หรือ Dell Technology Digital Transformation Index (DT Index) ที่ร่วมกับ อินเทล ในการจัดเก็บข้อมูลจากผู้บริหารองค์กรใน 42 ครอบคลุมธุรกิจ 4,600 แห่ง รวมถึงองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ในประเทศไทย 100 แห่ง ซึ่งการคำนวณของ DT Index อ้างอิงตามศักยภาพองค์กรธุรกิจประเด็นต่างๆ อาทิ คุณลักษณะสำคัญของธุรกิจดิจิทัล กลยุทธ์ด้านไอทีที่มีอยู่เดิม กลยุทธ์การปฏิรูปคนทำงาน และแผนงานด้านการลงทุน

องค์กรไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำดิจิทัลเพียง 7%

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่ามีเพียง 7% ขององค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่อยู่ในฐานะผู้นำด้านดิจิทัล ขณะที่องค์กรกว่า 71% เชื่อว่าองค์กรของตนต้องพยายามอย่างมากเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าภายในระยะเวลา 5 ปี และมีกว่า 33% ที่กังวลว่าองค์กรของตนเองจะถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง

นอกจากนี้ 40% ขององค์กรธุรกิจในไทย ได้รับการจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มผู้ที่เริ่มก้าวสู่ดิจิทัล (Digital Adopters) ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีแผนงานและนวัตกรรมล้ำหน้าในองค์กรเพื่อช่วยขับเคลื่อนไปสู่การ Transformation ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจยังเปิดเผยว่า 1 ใน 4 ของบริษัทยังคงอยู่ในกลุ่มผู้ตามในเรื่องดิจิทัลและผู้ที่ถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังดิจิทัล สะท้อนถึงการก้าวไปอย่างช้าๆ หรือไร้แผนงานด้านดิจิทัลเลย

1

ธุรกิจไทยไปไม่ถึงฝัน Transformation

คุณนพดล ปัญญาธิปัตย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ อีเอ็มซี (ประเทศไทย) ขยายความให้เห็นภาพว่า 96% ของธุรกิจไทยในแบบสำรวจครั้งนี้ ระบุว่ากำลังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญที่กีดขวางการ Digital Transformation ซึ่งอุปสรรคสำคัญมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์, วัฒนธรรมด้านดิจิทัลที่ยังไม่แข็งแรงพอ ขาดความสอดคล้อง และการประสานความร่วมมือภายในบริษัท, ขาดวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกัน, ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำงานให้ทันต่อธุรกิจ, ขาดทักษะและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมในองค์กร

“อุปสรรคเหล่านี้เป็นปัจจัยขัดขวางความพยายามในการปฏิรูปสู่ดิจิทัล ตัวอย่างเช่น 90% ของผู้นำธุรกิจในไทย เชื่อว่าการปฏิรูปสู่ดิจิทัลควรแพร่หลายและครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรได้มากกว่านี้ ในขณะที่ 61% เห็นว่าองค์กรของตนควรจะปฏิรูปเองมากกว่ารอให้ถูกปฏิรูปภายใน 5 ปี ดังนั้น องค์กรจึงควรประเมินศักยภาพของตนเองว่าจะอยู่ส่วนไหนของกลุ่มธุรกิจดิจิทัล”

แนะ 4 แนวทาง เอาชนะความท้าทายธุรกิจปรับตัว

ทั้งนี้ ผลการวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจกำลังเดินหน้าเพื่อที่จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับการคุกคามจากผู้เล่นที่ไวกว่าและมีนวัตกรรมเหนือกว่า โดย 69% ของธุรกิจในไทยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเร่งสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่, 68% ของธุรกิจสร้างระบบรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวไว้ในทุกอุปกรณ์ แอปพลิเคชัน และอัลกอริธึม, 65% กำลังพยายามอย่างหนักในการพัฒนาทักษะรวมถึงความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมในองค์กร, 52% แบ่งปันความรู้ในทุกฟังก์ชันงาน ด้วยการเตรียมพร้อมให้ผู้นำด้านไอที มีทักษะทางธุรกิจ และให้ผู้นำธุรกิจมีทักษะไอทีในขณะเดียวกัน ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการที่บริษัทต่างๆ กำลังหันมาหาเทคโนโลยีเกิดใหม่และระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถสำหรับการ Digital Transformation

2 3 4

“ซิเคียวริตี้” นำโด่ง! ภาคธุรกิจวางแผนลงทุน

สำหรับแผนการลงทุนในด้านต่างๆ ที่องค์กรธุรกิจวางแผนไว้ภายใน 1-3 ปีข้างหน้า ได้แก่ การลงทุนด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ (73%), ลงทุนด้านมัลติ-คลาวด์ (63%), การออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้แนวทางมุ่งเน้นที่การประมวลผลเป็นหลัก รวมถึงศักยภาพและการดำเนินการที่เหมาะสมและคุ้มค่าในเรื่องของเวิร์กโหลด (61%), ปัญญาประดิษฐ์ (56%), ด้านเทคโนโลยี IoT (55%)

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจจำนวนมากกำลังวางแผนกระทั่งว่าจะทดลองใช้เทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มเกิด โดย 55 เปอร์เซ็นต์ กำลังจะลงทุนด้าน blockchain ในขณะที่อีก 44 เปอร์เซ็นต์ จะลงทุนในระบบที่มีกระบวนการรับรู้ได้เอง (cognitive systems) และ 40 เปอร์เซ็นต์จะลงทุนใน VR/AR

 


  • 70
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน