Case Study ใครว่าข่าวไม่มีลิขสิทธิ์ อ่านได้ วิเคราะห์ได้ แต่ Copy มีโดน!!!

  • 109
  •  
  •  
  •  
  •  

กลายเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเมื่อมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตัดสินให้บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ชนะคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้อินโฟเควสท์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดโดยการทำซ้ำงานและเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกได้ว่าเป็นบรรทัดฐานให้กับงานข่าวของสื่อในไทย

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ความเร็วกลายเป็นเรื่องสำคัญจนบางครั้งก็เกิดสถานการณ์ที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาตามมาทีหลัง โดยเฉพาะในแวดวงสื่อสารมวลชนที่ปัจจุบันช่องทางอินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางหลักในการรับข่าวสาร ทำให้ทั้งสื่อใหญ่ สื่อเล็ก สื่อเกิดใหม่ต่างมุ่งเป้าในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต

ภายใต้ “ความเร็ว” ในการนำเสนอจนถึงขนาดที่มีบางคนกล่าวไว้ว่า “ใครที่นำเสนอข่าวได้เร็วที่สุด มีโอกาสสร้าง Engagement ได้สูงกว่า” นั่นทำให้หลายสื่อต่างพยายามสร้าง Engagement ผ่านการนำเสนอที่รวดเร็วบางสื่อนำเสนอแบบ Real Time กันไปเลย แต่ก็มีหลายสื่อที่มีข้อจำกัดในการทำข่าว แต่ต้องการสร้าง Engagement จึงหันมาใช้วิธีคัดลอกหรือเรามักเรียกว่า Copy ข่าวที่จากสื่ออื่นมาใส่สื่อตนเอง ทั้งคัดลอกจากเว็บไซต์มาลงเว็บไซต์ และจากเว็บไซต์มาลงโซเชียล

Copy

ในอดีตการ Copy ทำได้ยากเนื่องจากขั้นตอนกระบวนการพิมพ์มีความยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งเรื่องของการ Copy เมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่าจริง มักจะมีการยอมความในช่วงของการประนีประนอมก่อนขึ้นพิจารณาคดีความของศาลชั้นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะจบลงด้วยการชดใช้ค่าละเมิด แสดงการขอโทษผ่านสื่อใหญ่ เป็นต้น

ในกรณีของบริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ถือเป็นคดีความละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในศาลฎีกาครั้งแรก โดยทาง ชาลทอง ปัทมพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ชี้ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562 ในคดีหมายเลขดำที่ ทป.58/2558 คดีหมายเลขแดงที่ ทป.72/2559 ซึ่งอินโฟเควสท์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท บิสนิวส์ เอเอฟอี (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการบริษัทฯ เป็นคดีละเมิดลิขสิทธิ์โดยมีการนำงานข่าวของอินโฟเควสท์ไปทำซ้ำและเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวน 135 ชิ้นงาน

 

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า งานทั้ง 135 ชิ้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารที่นำเสนอเพียงข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงเท่านั้น

แต่เป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยมีการศึกษา รวบรวมและคัดเลือกข้อมูลข่าว มีการจัดทำบทสัมภาษณ์ และผ่านกระบวนการวิเคราะห์ขึ้นด้วยความสามารถของผู้สร้างสรรค์เอง และงานนั้นมีการใช้ความวิริยะ อุตสาหะ สติปัญญา และแรงงานในระดับที่เหมาะสม ตลอดจนมีการใช้วิจารณญาณจากประสบการณ์ในการวิเคราะห์ด้วยความคิดริเริ่มของผู้สร้างสรรค์เอง

ศาลจึงวินิจฉัยให้งานข่าวของอินโฟเควสท์จำนวน 135 ชิ้นดังกล่าวเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

Court Judgement

สำหรับรูปแบบการ Copy งานในลักษณะวรรณกรรมข่าวที่มักจะพบกันบ่อยๆ มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ก๊อปงานเผา หรือคือการนำบทความมาทั้งดุ้นแบบไม่ดัดแปลง แก้ไข เพิ่มเติมส่วนหนึ่งส่วนใด ก๊อปเนียนๆ หรือคือการนำบทความมาแก้ไขในส่วนของ Headline หรือพาดหัว โดยเนื้อหาบทความมีการแก้ไขเล็กน้อย ก๊อปขั้นเทพ หรือคือการนำบทความมาดัดแปลงใหม่เกือบทั้งหมด บางครั้งมักจะเรียกว่าการ Apply งานเขียน

ทั้งนี้ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่างาน Copy ลักษณะที่กล่าวมานั้นถือเป็นการละเมิดลิขสิทธ์ หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมีโทษอย่างไร แต่ที่นี่แน่ๆ เคสของ อินโฟเควสท์ วันนี้ทำให้ทราบได้ว่า หากเจ้าของเว็บไม่ยอมก็สามารถฟ้องเป็นคดีได้เลย

 

ที่มา: RYT9


  • 109
  •  
  •  
  •  
  •