ย้อนเส้นทาง 62 ปี “ตั้งฮั่วเส็ง” จากร้านห้องแถวย่านบางลำพู สู่ตำนานห้างฯ ฝั่งธน

  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ในอดีตห้างฯ “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” ถือเป็นแหล่งรวมสินค้าขนาดใหญ่ จนถึงวันนี้ที่ไปเดินแล้วรู้สึกถึงความแตกต่างไปจากเดิม สินค้าต่างๆ เริ่มหายไป รวมถึงร้านค้าทั้งขนาดเล็กและใหญ่เริ่มทยอยหายไป แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีเคยสร้างตำนานในการเป็นห้างฯ ใหญ่ในฝั่งธน

 

นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดตั้งฮั่วเส็ง

สมัยเด็กๆ เคยมีโอกาสเดินห้างฯ ย่านบางลำพูที่มารู้ในภายหลังว่านั้นคือห้าง “ตั้งฮั่วเส็ง” ต้องบอกว่าอยู่ในทำเลที่ดีมาก เพราะบางลำพูขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและอุปกรณ์งานฝีมือ โดยเฉพาะงานเย็บปักถักร้อย ชนิดที่เรียกว่า หากอยากได้เข็มดีๆ สักเล่มต้องมาที่บางลำพู หรือหากอยากจะได้เสื้อผ้าแฟชั่นดีๆ สักชุดที่บางลำพูก็มีให้เลือกมากมาย หลากหลายรูปแบบ

Credit Photo: www.tanghuaseng.com

โดย ตั้งฮั่วเส็ง ก่อตั้งขึ้นในปี 2505 เป็นร้านค้าขนาดเล็กห้องแถวของ “ตระกูลจุนประทีปทอง” และอย่างที่ทราบธุรกิจสมัยก่อนจะเป็นธุรกิจแบบครอบครัวเป็นหลัก ช่วงเริ่มธุรกิจร้านตั้งฮั่วเส็งจะจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย เครื่องสำอาง ผ้าแฟชั่นและอุปกรณ์ตัดเย็บต่างๆ โดยธุรกิจค่อยๆ เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2524 มีขยายธุรกิจสู่ก้ารเป็นห้างตั้งฮั่วเส็ง บางลำพู ในนามบริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด

Credit Photo: www.tanghuaseng.com

และมีการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเป็นแผนกต่างๆ ในรูปแบบห้างฯ ไม่ว่าจะเป็น แผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกเครื่องไฟฟ้า แผนกเครื่องเขียน แผนกเครื่องแต่งกายบุรุษ-สตรี โดยยังคงเน้นแผนกเย็บปักถักร้อยเป็นหลัก และถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของห้างฯ ตั้งฮั่วเส็ง โดยปัจจุบันห้างตั้งฮั่วเส็ง บางลำพู ยังคงเปิดให้บริการอยู่และเป็นห้างเดียวที่ยังยืนหยัดอยู่ในพื้นที่ ขณะที่คู่แข่งในย่านนั้นทั้ง ห้างบางลำพู ห้างแก้วฟ้าและห้างนิวเวิลด์ต่างล้มหายตายจากไปหมด

 

จากห้องแถวสู่ตำนานห้างขนาดใหญ่ฝั่งธน

ด้วยพื้นที่บางลำพูที่มีอยู่อย่างจำกัดและด้วยข้อกฎหมายผังเมืองที่เป็นอุปสรรคการขยายตัว ส่งผลให้ “ตั้งฮั่วเส็ง” ต้องมองหาพื้นที่แห่งใหม่ในการขยายธุรกิจ ซึ่งในตอนนั้นเมืองกำลังขยายตัวไปสู่พื้นที่ฝั่งธนบุรี ทำให้ฝั่งธนกลายเป็นทำเลทองของหลายธุรกิจ และเนื่องจากพื้นที่ฝั่งธนบุรีในเวลานั้นมีห้างขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวนั่นคือห้าง “พาต้า” ทำให้การแข่งขันน้อยและมีโอกาสมากในการบุกตลาดของตั้งฮั่วเส็ง

โดยช่วงปลายปี 2534 ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ได้เปิดบริการในรูปแบบห้างขนาดใหญ่ด้วยพื้นที่ประมาณ 30,000 ตารางเมตร พร้อมที่จอดรถมากกว่า 800 คัน เป็นอาคารแบบ 10 ชั้นและเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าตั้งแต่ชั้นใต้ดินจนถึงชั้น 5 ตั้งอยู่บนถนนสิรินธรย่านบางพลัด ซึ่งหากมองด้วยสายตาจะมีขนาดใหญ่กว่าห้างพาต้า 2-3 เท่า และเป็นห้างที่มีการจำหน่ายสินค้าครบทุกแผนกที่มีในช่วงเวลานั้น เสริมด้วยร้านค้าแบรนด์ต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก

ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี มีการปรับตรัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับให้มีร้านอาหารในรูปแบบ QSR (Quick Service Restaurant) รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คน ที่สำคัญใครที่ตามสินค้าหายากสามารถหาได้ที่ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี จนหลายคนในเวลานั้นมองว่าเป็นแหล่งรวมของ Rare Item ส่งผลให้ห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีกลายเป็นห้างที่คนฝั่งธนนิยมไปช้อปปิ้งในช่วงเวลานั้น และเป็นห้างที่ 3 ที่เป็นห้างใหญ่ฝั่งธนบุรีก่อนปี 2538 ประกอบด้วย

  1. ห้างพาต้า ปิ่นเกล้า เปิดให้บริการเมื่อปี 2525
  2. ห้างเมอร์รี่คิงส์ วงเวียนใหญ่ เปิดให้บริการเมื่อปี 2529
  3. ห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี เปิดให้บริการเมื่อปี 2534
  4. ห้างเมอร์รี่คิงส์ ปิ่นเกล้า เปิดให้บริการเมื่อปี 2531
  5. ห้างเดอะมอลล์ ท่าพระ เปิดให้บริการเมื่อปี 2532
  6. ห้างฟิวเจอร์พาร์ค บางแค เปิดให้บริการเมื่อปี 2536
  7. ห้างเดอะมอลล์ บางแค เปิดให้บริการเมื่อปี 2537

การแข่งขันเริ่มรุนแรงเมื่อคู่แข่งรายใหญ่ปรากฏตัว

แม้ว่าจะมีคู่แข่งอยู่ละแวกใกล้อย่างห้างพาต้าและมีจุดเด่นที่มีสวนสัตว์อยู่ด้านบน แต่ก็ยังไม่ถือว่าการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีเองก็มีจุดเด่นทั้งการเป็นศูนย์รวมสินค้าเย็บปักถักร้อยและความหลากหลายของสินค้าและบริการ แต่การแข่งขันจริงๆ เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2538 เมื่อ ห้างเซ็นทรัล เปิดสาขาใหม่ที่ปิ่นเกล้า ด้วยชื่อชั้นความหรูหราและความหลากหลายของสินค้า ทำให้การแข่งขันเริ่มขึ้น

แน่นอนว่า ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี แม้จะเป็นหนึ่งในห้างใหญ่ในช่วงเวลานั้น แต่ก็เป็นห้างที่มีทุนไม่ได้มากมาย แตกต่างจากเซ้นทรัลที่เป้นห้างขนาดใหญ่และมีทุนมากมาย แถมด้วยความสดใหม่ของห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าในช่วงเวลานั้น จึงไม่แปลกที่หลายคนเลือกที่จะไปช้อปปิ้งที่ห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้ามากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นเซ็นทรัลยังเป็นห้างที่มีไลฟ์สไตล์ครบวงจร นอกจากสินค้าที่มีความหลากหลายแล้ว ยังมีร้านอาหารแบรนด์ดังพร้อมด้วยโรงภาพยนตร์บนห้าง

แม้ว่าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีจะมีแนวคิดปรับตัวใหม่เพื่อ Refresh แบรนด์ให้เป็นคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีเป็น T-Square รวมไปถึงการปรับพื้นที่ภายในห้างเป็น Hobby Zone ที่มีทั้งการเย็บปักถักร้อย การตกแต่งบ้าน กีฬา เครื่องใช้ไฟฟ้า และการพัฒนาชั้น 5 ให้กลายเป็นศูนย์อาหารและโรงเรียนสอนพิเศษ เพื่อรับมือการแข่งขันที่รุนแรง แต่หลายคนก็ยังติดชื่อ “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี”

 

เมื่อยุค Digital Disruption เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

ไม่เพียงแค่การเข้ามาของคู่แข่งรายใหญ่ แต่ห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีต้องเผชิญความท้าทายจาก Digital Disruption ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการของผู้บริโภคที่เฉพาะเจาะจงแบบ Customize ซึ่งจะทำให้ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีค่อนข้างสูง และหากดูผลประกอบการของห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า

  • ปี 2560 รายได้รวม 892,862,712.82 บาท ขาดทุนสุทธิ 122,467,060.21 บาท
  • ปี 2561 รายได้รวม 827,341,587.29 บาท ขาดทุนสุทธิ 28,885,196.66 บาท
  • ปี 2562 รายได้รวม 792,094,341.23 บาท ขาดทุนสุทธิ 93,525,460.42 บาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 613,578,453.31 บาท ขาดทุนสุทธิ 49,303,061.25 บาท
  • ปี 2564 รายได้รวม 409,744,106.37 บาท ขาดทุนสุทธิ 43,784,884.68 บาท

ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจของห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องและมีการขาดทุนจำนวนมาก ทำให้ตั้งฮั่วเส็ง  ธนบุรีไม่สามารถลงทุนด้านเทคโนโลยีได้ ในขณะที่คู่แข่งอย่างเซ็นทรัลปิ่นเกล้ามีเงินทุนที่มากพอในการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นี่จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี

 

e-Commerce คู่แข่งรายใหม่ที่น่ากลัวกว่าเดิม

หลังต้องประสบการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งทรงพลังและการ Disruption ของเทคโนโลยี ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีก็ต้องพบเจอกับความท้าทายครั้งใหม่ที่รุนแรงมากยิ่งกว่า นั่นคือสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและการเข้ามาของเทคโนโลยีจนทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (e-Commerce) ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายของทุกห้าง

โดยในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดทำให้ลดการเดินทางของผู้คน ห้างจึงกลายเป็นธุรกิจที่ประสบปัญหาแบบเต็มๆ แม้ก่อนหน้านี้ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีก็มีการปรับเพื่อให้เป็น Community ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมายรายสัปดาห์ แต่เมื่อผู้คนไม่ออกมาที่ห้างก็ทำให้รายได้ของตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีขาดทุนกว่า 90 ล้านบาท

จากสถานการณ์โรคระบาดทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งห้างใหญ่อย่างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าก็ปรับตัวสู่รูปแบบ O2O (Online to Offline) รวมไปถึงการปรับให้ห้างมีกิจกรรมไลฟ์สไตล์ต่างๆ มากมาย หลังสิ้นสุดสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่ได้มีแค่การช้อปปิ้งเพียงอย่างเดียว ทั้งเรื่องของร้านอาหารและการดูภาพยนตร์ ขณะที่ห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีไม่มีโรงภาพยนตร์ในห้าง

ในวันนี้ห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีกำลังเผชิญความท้าทายอย่างรุนแรงและอยู่ในการตัดสินใจถึงอนาคตของห้าง แม้จะยังเปิดให้บริการแต่ไฮไลท์ Hobby Zone ที่อยู่ชั้น 2 และศูนย์อาหารชั้น 5 มีการปิดบริการทั้งชั้น ขณะที่สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มร่อยหรอจนบางชั้นวางสินค้าถึงกับโล่ง ส่วนร้านค้าขนาดเล็กและร้านอาหารยังคงให้บริการอยู่ และยังคงมีหน่วยงานราชการที่ชั้น 6 ที่ยังเปิดให้บริการอยู่

เรียกว่าอนาคตของห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรีจะอยู่ต่อหรือร่วงโรย เป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป!!!


  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา