ถอดวิธีคิดการทำ Showbiz ให้เป็น Top of Mind Brand แบบทีม GMM Show

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

รายชื่อมิวสิคอีเวนต์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Big Mountain Music Festival, Grammy RS Concert, Nanglen Music Festival, Scream Fest, Water War, ตัน Fight ตัน, Rock Mountain, เชียงใหญ่เฟส, เฉียงเหนือเฟส, พุ่งใต้เฟส ฯลฯ คือตัวอย่างงานที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่จดจำภายใต้การสร้างสรรค์ของ GMM Show ซึ่งหากนับรวมทุกงานของบริษัทมียอดขายบัตรหลักพันล้านบาท 

GMM Show แบ่งเป็น 4 ทีมย่อย ได้แก่ GayRay (เน้นความ Creative), Idea Fact (แนว Lifestyle/ International), Gfest (ตัวจริง/Quality) และ All Area (เข้าถึงทุกพื้นที่) ภายใต้กลยุทธ์ครอบคลุมทุกกลุ่ม เข้าถึงทุกพื้นที่ และให้ความสำคัญอันดับหนึ่งกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดของผู้ชม เพื่อการเป็น Top of Mind Brand 

ต่อไปนี้คือวิธีคิดบางส่วนของทีม GMM Show ในการทำแบรนด์ Showbiz ให้ปังและมีอัตลักษณ์ จากวงสนทนาที่นำทีมโดย ‘ป๋าเต็ด’ ยุทธนา บุญอ้อม ผู้บริหารของ GMM Show รวมถึง 4 Promoter จากทั้ง 4 ทีม ได้แก่ ป่าน-ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ (GayRay), ป๊อป-ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์ (Idea Fact), น้ำ-ฝากฝัน ศรีสันติสุข (Gfest) และ ตูน-พนมกร พันธุ์ชนะ (All Area)   

‘ป๋าเต็ด’ ยุทธนา บุญอ้อม Senior Executive Vice President-Showbiz GMM Show

1. GMM Show แบ่งเป็น 4 ทีมใหญ่เพราะ Showbiz มีหลาย Category เช่น คอนเสิร์ตแต่ละศิลปินก็ต้องการลายมือที่แตกต่าง ถ้ามีลายมือเดียวหรือวิธีคิดแบบเดียว อาจจะทำให้เกิดความซ้ำซากได้ เพราะปีหนึ่งโดยเฉลี่ย GMM Show ทำ 20 งาน ค่อนไปทางบวกมากกว่าลบ การมี 4 ทีมทำให้แต่ละทีมสามารถสร้าง Identity ในแบบของตัวเองให้เป็นที่จดจำได้

2. แต่ก็ไม่ถึงขนาดว่าต่างกันโดยสิ้นเชิง จะมีจุดร่วมกัน เช่น การสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับคนที่มาร่วมงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ GMM Show ให้ความสำคัญที่สุด ทุกงานมีการเก็บข้อมูล มีการสำรวจความคิดเห็นหลังงาน ถามละเอียด ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยากให้ปรับปรุงอะไร บวกกับปริมาณงานที่ทำทุกปี ทำให้ได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูกมาเยอะ เจอปัญหาและปรับปรุงมาแล้วทุกรูปแบบ จนค่อนข้างมั่นใจในเรื่องของการจัดการของทีมว่าผู้ชมจะได้รับการบริการที่ดีที่สุด

3. บางเดือนมีงานทุกสัปดาห์ เพราะฉะนั้นอีกส่วนหนึ่งของการต้องมี 4 ทีมก็คือเพื่อทำงานให้ทันด้วย เพราะว่าบางทีต้องเตรียมงานพร้อมกัน เช่น ครึ่งปีหลังของปี 2024 มี 12 งาน ซึ่งต้องเตรียมงานพร้อมกันหมดเลย

4. ความเชื่อเก่าๆ ที่ว่า ทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ การไปจัดเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ จะวัดว่าไม่เกิน 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ เพราะว่าในที่สุดคนดูก็ยังเป็นคนกรุงเทพฯ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป โครงสร้างใหม่ของ GMM Show จะเริ่มต้นจากการทำ Marketing Research ก่อน คนในพื้นทีต้องการอะไร พฤติกรรมเป็นอย่างไร ออกแบบทุกอย่างเพื่อให้ตอบโจทย์เหล่านี้ ซึ่งประสบผลสำเร็จมาก และมีศักยภาพที่รออยู่ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบัน GMM Show นับเฉพาะเอาต์ดอร์เฟสติวัล ณ ปัจจุบันมี 12 งานทั่วประเทศ

ป่าน-ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ Vice President-Showbiz Promoter GayRay นิยาม: คิดต่างทำต่าง สร้างสรรค์ แปลกใหม่ ตัวอย่างผลงาน: Big Mountain, The Gentlemen Live, Grammy RS Concert, EveryBodyslam 2024

5. ภาพใหญ่ของนโยบายของ GMM Show ที่จะเดินต่อไปในอนาคตคือเรื่อง Tourism Economy ผนวกเรื่องของเอนเตอร์เทนเมนต์กับการท่องเที่ยวเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งมีทีม All Area ไปทำความรู้จักทำความเข้าใจพื้นที่หลักๆ ของการท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่

6. Big Mountain Music Festival คืองานหลักของทีม GayRay ยิ่งทำก็ยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะดีเอ็นเอของทีม GayRay คือความแปลก แต่ว่าปี 2024 เป็น BMMF ครั้งที่ 14 ก็ต้องแปลกเป็นครั้งที่ 14 บวกกับความใหญ่ของเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มีผู้ชมเฉลี่ยประมาณ 80,000 คนต่อวันในช่วง 2-3 ปีหลัง และความเก่าแก่ที่มีมาก่อน GMM Show BMMF 1 ครั้ง ใช้สตาฟฟ์ประมาณ 10,000 คน เพราะมีพื้นที่ที่ใหญ่ และเป็นงาน 48 ชั่วโมง

7. แผนระยะยาว การวางกลยุทธ์ให้ GMM Show สามารถยืนระยะได้นาน ป๋าเต็ดบอกว่า “ส่วนตัวผมไม่ชอบคิดงานใหม่ทุกปี มันเหนื่อย” ดังนั้นการสร้างแบรนด์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรจึงจะมีแบรนด์ที่เมื่อถึงวันหนึ่งประกาศว่าจะขายบัตรก็แทบไม่ต้องบอกเลยว่ามีใครมาเล่นบ้าง และคนพร้อมซื้อบัตร ซึ่งป๋าเต็ดเชื่อว่า ทั้ง 4 ทีมทำแบรนด์ขึ้นมา ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงสิ่งที่ตั้งไว้นั้นแล้ว นอกจากการสร้างทีม สร้างแบรนด์ ยังรวมถึงกลยุทธ์ที่จะครอบคลุมที่พื้นที่ที่มีศักยภาพ และเป็น Top of Mind ใน Category นั้นๆ

ป๊อป-ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์ Vice President-Showbiz Promoter Idea Fact นิยาม: สร้างสรรค์งานไลฟ์สไตล์สุดเก๋หลากหลายรูปแบบและพรีเมียม ตัวอย่างผลงาน: Nanglen Music Festival, Scream Fest, Water War, ตัน Fight ตัน, PALMY มิตร Universe Concert

8. ปัจจุบันการแข่งขันสูงมาก ปีหนึ่งมีมิวสิคอีเวนต์ประมาณ 600 กว่าอีเวนต์ ไม่รวมพวกงานฟรี งานในผับ เฉพาะมิวสิคเฟสติวัลอย่างเดียว 200 กว่างานต่อปี นี่คือตัวเลขจากปี 2023 ปีนี้เชื่อว่ามากกว่าปีที่แล้ว โดยเฉลี่ยคนไทยซื้อบัตรดูมิวสิคอีเวนต์ประมาณปีละ 2-3 ครั้ง ฉะนั้น 20 งานของ GMM Show ต้องเบียดขึ้นไปอยู่เป็น Top of Mind ให้กับคนไทย ให้เป็น 3 ตัวเลือกแรกจาก 600 กว่างานให้ได้ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ไปทุก Catergory ไปทุกพื้นที่

9. โซโลคอนเสิร์ตจะโฟกัสไปที่แฟนของศิลปินนั้นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานแฟนของศิลปินนั้นๆ ว่า สามารถทำในสเกลที่ใหญ่เล็กได้แค่ไหน แต่ถ้าเป็นแบบรวมศิลปิน หรือเรียกว่า ‘ธีม’ คือการจับศิลปินหลายๆ คนมารวมกัน แล้วสร้างเป็นธีมขึ้นมาแบบ ‘ตัน Fight ตัน’ หรือ ‘Grammy RS’ ทำให้แม้เป็นศิลปินเดิมๆ แต่ว่าพอจับมารวมกันแล้วกลายเป็นความน่าสนใจแบบใหม่ขึ้นมา กลายเป็นแบรนด์ในตัว อย่าง Grammy RS สามารถทำได้ปีละ 2-3 ครั้งไปเรื่อยๆ หรือ ‘ตัน Fight ตัน’ ก็เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งดีคนละแบบ โซโลคอนเสิร์ต ถ้าปีนั้นศิลปินไม่มีงานใหม่ ไม่มีเหตุผลที่จะทำคอนเสิร์ต ก็ทำไม่ได้ แต่ธีมทำได้เรื่อยๆ ด้วยการสร้างธีมขึ้นใหม่ๆ ขึ้นมา

10. GMM Show กดดันกันเองล่วงหน้า 1 ปี แต่ละปีจะทำ Year Plan ออกมา ทำ Budget ออกมา กดดันกันเอง หมายความว่า จะมีโจทย์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีคิดที่บริษัท Show biz อื่นๆ ในประเทศไทยอาจจะคิดไม่เหมือนที่นี่ คือตอนที่ทำ Budget ที่นี่ไม่เอาเรื่องของ Sponcership เข้ามาเกี่ยวข้องเลย ทุกๆ งานจะต้องอยู่รอดได้ด้วยการขายบัตรเท่านั้น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อกดดัน ข้อดีคือ แปลว่าทุกครั้งที่คิดงาน จะคิดถึงคนดูเป็นหลัก ทำยังไงคนดูถึงจะอยากซื้อบัตรงานนี้ เพราะถ้าคนไม่ซื้อบัตร การทำ Budget จะเป็นไปไม่ได้เลยทันที

น้ำ-ฝากฝัน ศรีสันติสุข Director-Showbiz Promoter Gfest นิยาม: Best Production สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับคนฟังดนตรี ตัวอย่างผลงาน: Marathon Concert Fest, Rock Mountain, Monster Music Festival

ส่วนอีกข้อหนึ่ง ความท้าทายเกิดขึ้นตรงที่ว่า ถ้าไม่สามารถดีไซน์งานให้น่าสนใจพอที่จะขายที่ประชุมบอร์ดให้ผ่าน ทีมก็จะไม่ได้ทำงานออกมาอย่างที่ฝัน เช่น ครีเอทงานออกมาแล้วที่ประชุมบอร์ดมองว่า งานนี้ไม่น่าขายได้ 30,000 อย่างที่ตั้งเป้าไว้ น่าจะขายได้สัก 25,000 แปลว่าทีมก็ต้องไปลดฝันลง ซึ่งถ้าทีมไม่อยากลดก็ต้องไปคิดเพิ่มและกลับมาพรีเซนต์ใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะขายได้ 30,000 ใบ และจะได้เวทีใหญ่แบบที่ฝันไว้เหมือนเดิม ซึ่งจะซัพพอร์ตด้วยอีกอันหนึ่ง คือทีมดาต้าที่แข็งแรง ที่เก็บข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Social Listening การทำ Post Servey จากคนดูทุกงาน ดังนั้นจึงทำให้คาดการณ์ได้ในระดับหนึ่งว่า ด้วยไลน์อัพแบบนี้ จัดช่วงเวลาแบบนี้ ราคาบัตรแบบนี้ ควรจะขายบัตรได้เท่าไหร่ ดังนั้นในความกดดันนั้น ไม่ได้เป็นความกัดดันแบบที่ไม่มีหลักให้ได้ยึด หรือไม่มีอาวุธซัพพอร์ต ดังนั้นพอถึงวันที่ Year Plan ถูกเคาะเรียบร้อยแล้ว และเริ่มต้นเอามาใช้จริงๆ โอกาสพลาดอาจยังมีอยู่ แต่ไม่เยอะมาก เพราะว่าทีมกดดันตัวเองเยอะมากหนึ่งปีล่วงหน้า

11. เอาต์ดอร์เฟสติวัล 200 กว่างานในไทย มีสเกลที่คนดูมากกว่า 20,000 คนอยู่แค่ 9 งาน ทั้ง 9 งานเป็นของ GMM Show ซึ่งจาก 12 งานของ GMM Show เป็นงานที่สเกลต่ำกว่า 20,000 แค่ 3 งาน ดังนั้นหมายความว่า GMM Show มุ่งไปที่งานสเกลใหญ่ และมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการทุกขนาดได้สร้างงานกันออกมา เพราะ GMM Show เชื่อว่า ไม่สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้ด้วยบริษัทเดียว ต้องช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน

12. ป๋าเต็ดเล่าว่าตัวเองจัด Big Mountain เป็นเอาต์ดอร์เฟสติวัลงานแรก ปีแรกมีรถรับส่งวิ่งจากเวทีหนึ่งไปเวทีหนึ่งในงาน ซึ่งไม่มีใครทำ เพราะมองว่าพฤติกรรมคนไทยยังไม่พร้อมที่จะต้องเดินครึ่งกิโลเพื่อย้ายเวที ต่อมาประมาณสักครั้งที่ 5-6 จึงตัดขาดการจราจรข้างในโดยสิ้นเชิง แม้กระทั่งทีมงานก็ต้องเดิน ปัจจุบัน GMM Show ทุกงาน ทีมงานเดินหมด เพราะได้สร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกคนถึงไลฟ์สไตล์การอยู่ในเฟสติวัลแล้ว ปัจจุบันป๋าเต็ดจึงมองว่าเฟสติวัลบ้านเราอยู่ในเวฟสอง เพราะว่าคนมีความเข้าใจ อย่างในคอมมูนิตี้ของแต่ละเฟสติวัล ถ้ามีคนเข้าไปถามว่า ไปครั้งแรกต้องเตรียมตัวอย่างไร คนที่มีประสบการณ์ก็พร้อมเข้าไปตอบ เช่น อย่าเอารองเท้าใหม่ไป จะมี Do-Don’t ที่แต่ละคนได้เรียนรู้กัน คนดูจึงเติบโตมาด้วยกัน ซึ่งจะตามมาด้วยความต้องการที่สูงขึ้น บัตรแพงไม่เป็นไรแต่จะได้อะไรบ้าง ป๋าเต็ดนึกถึงวันที่จัด Fat Fest เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวฟแรก (ส่วนเวฟ 3 ป๋าเต็ดมองว่าคืออินเตอร์เนชันแนลมิวสิคเฟสติวัล) เวทีไม่มีอะไรเลย ไปจัดในที่แอร์ก็ไม่มี ที่จอดรถก็ไม่มี แต่ไม่เป็นไร เพราะทำเจ้าแรก คนไม่มีข้อเปรียบเทียบ แต่ตอนนี้ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ GMM Show ให้ความสำคัญอันดับหนึ่งคือประสบการณ์ของคนดู จะย้ำเรื่องนี้เสมอ

ตูน-พนมกร พันธุ์ชนะ Director-Showbiz Promoter All Area นิยาม: บุกเบิกแบรนด์มิวสิคเฟสติวัลใหม่ทุกภูมิภาค ตัวอย่างผลงาน: เชียงใหญ่เฟส, เฉียงเหนือเฟส, พุ่งใต้เฟส

ปัจจุบันด้วย Know-how ของทีมจะรู้เลยว่า จำนวนคนดู 50,000 คน ต้องมีห้องน้ำกี่ห้อง ต้องมีร้านค้ากี่ร้าน ทางเข้าต้องมีกี่แถว ต้องมีพื้นที่เท่าไหร่ถึงจะระบายคนได้เร็วที่สุด และค่อนข้างมั่นใจระบบเคลียร์คนเข้างานหน้างานตอนนี้เป็นอันดับหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับคนดู เพราะคนดูจะเรียกร้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

13. สิ่งที่ GMM Show มุ่งมั่นว่าจะทำแน่ๆ คือ International Music Festival เพราะเชื่อว่าโครงสร้างที่วางไว้ในประเทศไทยค่อนข้างจะสมบูรณ์แล้ว ตลาดต่อไปที่ปัจจุบันยังแตะน้อยมากคืออินเตอร์เนชั่นแนล เพราะต้องยอมรับว่าการแข่งขันสูงมาก ไม่ว่าจะฝั่งตะวันตกหรือเอเชีย ซึ่ง GMM Show ตั้งใจว่าเน้นการสร้าง IP ของตัวเองขึ้นมา

14. ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว รวมถึงพลังความคิดและประสบการณ์ของผู้ประกอบการไทย ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบมาก สิ่งที่ต้องการจากรัฐบาลคือเรื่องการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการได้เฉิดฉาย เช่น เรื่องภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำได้แบบที่ถ้าทำสำเร็จแล้ว ได้รับผลประโยชน์ทั้งวงการเลยทันที ทำอย่างไรให้อุปกรณ์บางอย่างมีค่าเช่าที่ถูกลง หรือมีพื้นที่ที่ทำให้ผู้ประกอบการที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น

15. เสน่ห์ของ Showbiz คือเป็นสิ่งที่แทนด้วยอย่างอื่นไม่ได้ เรื่องกิน ไม่ได้กินร้านอร่อยก็ยังกินอย่างอื่นแทนได้ เสื้อผ้าก็มีตัวเลือกเยอะ แต่ว่าไม่ได้ดูคอนเสิร์ตปาล์มมี่ แทนด้วยอะไร? ต่อให้ดูออนไลน์ก็ไม่เหมือนไปนั่งดูจริงๆ หรืออย่างมิวสิคเฟสติวัล คนไม่เข้าใจจะบอกว่า ไลน์อัพคล้ายๆ กันหมด แต่จริงๆ ไม่เหมือนกันด้วยบรรยากาศ หรือต่อไปให้ไปงานเดียวกัน ไปกับกลุ่มพื่อน กับไปกับแฟนก็ได้รับประสบการณ์ที่ต่างกัน นี่คือสิ่งที่ทีมค่อนข้างมั่นใจและเอาจริงเอาจังกับเรื่องการทำ Showbiz เพราะว่านี่คือธุรกิจที่เติบโตแน่ๆ อนาคตสดใสมาก เพราะมัน Digitize ไม่ได้

16. เป้าหมายอีกอันหนึ่งของทีมคือ อยากทำให้ GMM Show เป็นสถาบันที่สร้างคนเก่งๆ ให้กับวงการ Showbiz ของไทย อยากให้เด็กๆ ที่อยากทำงานด้านนี้แย่งกันเข้ามาทำงาน และสร้างงานใหม่ๆ ออกมาอีก เพราะว่าทุกปีก็มีการออกไปเล็กเชอร์กับน้องๆ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือมีน้องๆ มาฝึกงาน และหลายๆ คนก็เติบโตมาเป็นทีมงานของที่นี่ รวมถึงในแผนก Showbiz ของที่อื่นๆ หลายคนก็ผ่านการฝึกงานมาจากที่นี่


  •  
  •  
  •  
  •  
  •