เปิดใจแม่ทัพ OR ก่อนส่งไม้ต่อ กับเบื้องหลังวิสัยทัศน์ใหม่พาองค์กรพุ่งทะยาน กับบทบาทในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

  • 345
  •  
  •  
  •  
  •  

 

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาคึกคักหลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์แพร่ระบาดระบาดของโควิด-19 ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากความร่วมแรงร่วมใจระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนไทยทุกคน ที่จะช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างแท้จริง ซึ่งหนึ่งในกำลังสำคัญก็คือ “ภาคเอกชน” ที่ไม่ได้มองการเติบโตของบริษัทเป็นหลักแต่เป็นการสร้างโอกาสการเติบโตไปพร้อมๆ กับผู้คนในสังคม

สิ่งนี้คือวิสัยทัศน์ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ที่คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโออาร์ ที่ทำงานมายาวนานและกำลังจะส่งไม้ต่อให้กับซีอีโอคนใหม่ พร้อมเล่าถึงเบื้องหลังของวิสัยทัศน์ที่ว่านี้ รวมไปถึงบทบาทของโออาร์ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม MICE หรือ การจัดประชุม อบรม สัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล การประชุมองค์กรหรือสมาคม การจัดงานแสดงสินค้า รวมถึงงานเมกะอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดรับกับแคมเปญ “ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ” ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ​หรือ ทีเส็บ หน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

 

 

เปลี่ยนเป้าจาก Profit สู่ People, Planet และ Performance

บริษัทโออาร์ ไม่ได้เพียงแยกตัวออกมาเป็นอิสระจากปตท.เท่านั้น แต่คุณจิราพรยังวางเป้าหมายให้ โออาร์ เป็นบริษัทที่พร้อมจะสร้างโอกาสและเติบโตไปพร้อมๆ กันกับสังคม ผ่านวิสัยทัศน์ โออาร์เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน” หรือ “Empowering All toward Inclusive Growth” ที่ใช้เวลาร่วมกันคิดและตกตะกอนเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ไปสู่การเปลี่ยนวิสัยทัศน์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่เรียกว่า Triple Bottom Line หรือ “3P”  นั่นก็คือ People, Planet และ Performance

คุณจิราพร ระบุว่าเรื่องของ People  นั้นโออาร์ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะทำธุรกิจให้กับสังคมและชุมชนในพื้นที่โดยรอบให้คนจำนวน 12 ล้านชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายในปี 2030 ในส่วนเป้าหมายด้าน Planet นั้นก็คือการทำธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมโดยตั้งเป้าเอาไว้ที่จะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ในปี 2030 และมุ่งสู่ Net Zero หรือปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2050 และสุดท้ายคือเรื่องของ Performance ซึ่ง คุณจิราพร ระบุว่าเป็นวิถีการทำธุรกิจของโออาร์ที่จะหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่จะร่วมกันเติบโตไปด้วยกันกับโออาร์ และตั้งเป้า EBIDA หรือกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าจัดจำหน่ายรวมกันที่ 40,000 ล้านบาทภายในปี 2030

 

 

“เรามี Partner มากขึ้นด้วยการซื้อหุ้นบริษัทขนาดเล็กหรือบริษัท Startup หรือจะบริษัทที่ร่วมทุนกัน เป็นลักษณะของการ Inclusive การทำแบบนี้และพาร์ทเนอร์ตั้งเป้าจะทำให้มี Performance ด้วย  EBITDA รวมกันแล้วราว 40,000 ล้านบาทภายในปี 2030” คุณจิราพร ระบุ

 

โออาร์เป็นลมใต้ปีกลดความเหลื่อมล้ำ

“โออาร์เท่ากับโอกาส” คือวลีที่เราพอจะเห็นผ่านโฆษณาหลากหลายช่องทาง และนั่นไม่ใช่เรื่องที่พูดเพื่อความสวยหรู แต่โออาร์หันมาเน้นการเติบโตแบบ Outside-In หรือการเติบโตโดยเข้าไปร่วมมือกับธุรกิจที่สร้างจากพันธมิตรภายนอก โดยวางตำแหน่งตัวเองเป็น Inclusive Growth Platform เดินหน้าสร้างโอกาสให้กับบรรดา Start Up หรือ SME ที่มาเป็นพาร์ทเนอร์ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนแล้วเป็นจำนวนมาก

คุณจิราพร เล่าว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โออาร์ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท Start Up แล้ว 9 แห่ง ผ่านกองทุน ORZON เพื่อเติมจุดแข็งซึ่งกันและกัน และเติบโตไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการลงทุนกับ SME อีก 7 ราย ซึ่งโออาร์พร้อมที่จะเป็นแพลทฟอร์มสำหรับขยายธุรกิจให้ได้เข้ามาทดลองสิ่งที่อยากทำไม่ว่าจะเป็น Physical Platform อย่าง PTT Station ที่มีอยู่  2,100 สาขา ที่มี Traffic วันละ 3.3 ล้านคน นอกจากนี้ยังมี คาเฟ่อเมซอน อีก 3,700 สาขา รวมถึงศูนย์ซ่อม Fit Auto อีกมาก ยังไม่นับแพลทฟอร์มในต่างประเทศอีก 10 ประเทศ นอกจากนี้ โออาร์ยังมี Digital Platform อย่างสมาชิก Blue Card อีกประมาณ 7.5 ล้านราย ที่พร้อมจะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจรายย่อย ที่นำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนต่อไป

 

Transform องค์กรและวิธีการทำงาน

แน่นอนว่าการ Spin off ออกมาของโออาร์ ดำเนินธุรกิจเป็นอิสระจากปตท. และมีวิสัยทัศน์ใหม่ที่ต้องปรับเปลี่ยน จำเป็นต้องใช้ “บุคลากร” ในการขับเคลื่อนซึ่งคุณจิราพรยอมรับว่ายากอยู่บ้างสำหรับคนขององค์กรที่อยู่มายาวนานกว่า 40 ปี ในขณะที่สินค้าและบริการต่างๆ ประสบความสำเร็จด้วย Market Share อันดับ 1 ทุกอย่าง ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางมาเป็นการแสวงหาและเปิดรับ Start Up หรือ SME ให้เข้ามาเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกันก็ต้องสื่อสารทำความเข้าใจผ่านการประชาสัมพันธ์ การประชุม หรือการประชุมใหญ่แบบ Town Hall Meeting ในการถ่ายทอดวิธีการทำงาน และแนวคิดจากผู้บริหารสู่พนักงาน นำไปสู่การสร้าง DNA ที่มีให้พนักงานมีนวัตกรรมใหม่ๆ มุ่งผลลัพธ์การทำงานที่ดี รวมไปถึงมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของธุรกิจ นอกจากนี้จะต้องมีความเชื่อถือได้ มีความเป็นมืออาชีพ คิดถึงผู้อื่นก่อนรวมถึงมีความ Down To Earth เข้าถึงและสัมผัสกับทุกคนทุกกลุ่มได้

นอกจากนี้คุณจิราพร ยังเล่าว่า โออาร์ยังมีการตั้ง “ทีมม้าเร็ว” ที่ประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนอย่างทีมที่ชื่อว่า Orion เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายพันธมิตรของโออาร์และขับเคลื่อนธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโออาร์ด้วย

 

ผลักดันวิสัยทัศน์ผ่านงาน Inclusive Growth Days

นอกจากจะมีแนวคิดและการดำเนินธุรกิจที่สร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับสังคมแล้ว  โออาร์ ยังเป็นบริษัทที่มีบทบาทในอุตสาหกรรม MICE ที่นอกจากจะสื่อสารแนวคิดและทิศทางของบริษัทออกสู่สาธารณะแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าด้วย โดยคุณจิราพรเล่าว่าเพิ่งจะจัดงาน Inclusive Growth Days empowered by OR ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคมที่ผ่านมาที่เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งประสบความสำเร็จไปด้วยดี

คุณจิราพร เล่าว่าวันนั้นมีการจัดเวที 3 ส่วนหลักด้วยกัน ส่วนแรกเป็นเวทีเสวนา และพูดคุยเกี่ยวกับธุรกิจและพันธมิตรแต่ละราย ภายใต้เป้า 3P และอยู่บน 4 พันธกิจหลักคือ

1. Seamless Mobility – กลยุทธ์ขับเคลื่อนแบบไม่มีรอยต่อ จากการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV   โดยคนใช้รถยนต์จะต้องไม่ได้รู้สึกถึงแรงเสียดทานในการก้าวไปสู่ EV ต่อไป

2. คือ All Life Style ตอบโจทย์ผู้คนทั้งอาหารการกินเฉพาะด้านอาหาร สุขภาพ และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเปลี่ยนไปแน่นอนหลังยุค COVID-19

3. คือ Global ไม่ใช่เรื่องของการที่เราจะไปตั้งบริษัทในต่างประเทศ แต่เราจะเปลี่ยนเป็นการนำพาธุรกิจในท้องถิ่นให้ออกไปกับเรา พาสินค้าของเขาออกไปพร้อมกับบริษัทเราด้วย

4. Innovation นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนโดยทีม ORZON เป็นหยี่ยวที่แสวงหา Start up และ SME เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ชุมชนดีขึ้นต่อไป

ธีมการจัดงานเป็นไปตาม 4 พันธกิจหลักนี้และยังมีเวทีเสวนาที่มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่ม Start Up ทั้งที่เป็นพาร์ทเนอร์และไม่ได้เป็นพาร์ทเนอร์กับโออาร์มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีการจัด Exhibition  รวมถึงมีมุมของ Business Matching ด้วย

“การจัดงานครั้งนั้นเป็นสิ่งที่อยากทำเป็นต้นแบบให้เห็นว่า Corporate ใหญ่ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะ รัฐวิสาหกิจอย่าง โออาร์ หรือ เอกชน ควรที่จะเลิกคิดในมุมของการสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง หรือสร้างกันแต่กลุ่มตัวเอง เพราะลักษณะนั้นมันทำให้คนอ่อนแอ และแทนที่จะทำให้เขาแข็งแรง” คุณจิราพรระบุ

 

 

กิจกรรม On-Site ยังสำคัญและจำเป็น

สำหรับมุมมองของการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาของบริษัทนั้น คุณจิราพร ยอมรับว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบออนไลน์หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่หลังการแพร่ระบาดเริ่มผ่อนคลายลงการจัดกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์และพบปะเห็นหน้ากันนั้นยังคงสำคัญและจำเป็นอยู่

คุณจิราพรเล่าว่าการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์กันนั้นได้ประโยชน์นอกเหนือจากเนื้องานสามารถแลกเปลี่ยนกันได้หลายมุมมากกว่า ขณะที่พฤติกรรมคนไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะมนุษย์ยังเป็นสัตว์สังคม ยังต้องการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  โดยเฉพาะหลังจากมีการทำงานแบบไม่ได้เห็นหน้ากันก็เริ่มมีปัญหาของความรู้สึกห่างเหินกัน ผลลัพธ์ของการทำงานมันไม่ราบรื่น ไม่มีความเอื้ออาทรกัน ไม่เห็นใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นเรื่องปฏิสัมพันธ์กันยังเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานเพื่อให้เกิดการทำงานที่เข้าใจกัน เป็นทีม

 

โออาร์ กับกิจกรรม MICE 60 ครั้งต่อปี

ด้วยความที่โออาร์ มีพนักงานมากถึง 1,700 คน มีปั๊มน้ำมันมากถึง 2,100 สาขา มีคาเฟ่อเมซอน อีก 3,700 สาขาส่งผลให้โออาร์ต้องจัดประชุมสัมมนาทั้งเป็นการภายใน และเป็นการสื่อสารสู่ภายนอกมากถึง 60 ครั้งต่อปี โดยคุณจิราพรระบุว่า ในส่วนของสถานีน้ำมัน และคาเฟ่อเมซอน นั้นจะมีการประชุมที่จัดเป็นรายเขต รายภาค รวมถึงการประชุมในระดับทั่วประเทศเพื่อรับ Feedback ของสินค้าและส่งต่อนโยบายให้กับดีลเลอร์และแฟรนไชส์ที่แต่ละครั้งจะมีคนมาร่วมงานมากถึง 8,000 คน  นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้โออาร์เข้มแข็ง ในส่วนของพนักงานนั้นจะมีการจัดสัมมนาแบบรวมทั้งบริษัท และมีกิจกรรมย่อยแยกกันไป 10 สายงาน และแต่ละสายงานก็จะมีกิจกรรมของแต่ละฝ่ายย่อยลงไปอีก

 

 

นอกจากนี้โออาร์ยังมีการจัดงานลักษณะของ Exhibition อีกมากมายเช่นการออกแคมเปญเพื่อสื่อสารถึง Product ใหม่ต่างๆ โดยสรุปก็จะมี 3 มุมทั้งมุมผลิตภัณฑ์ใหม่ มุมของบริษัทเองและในมุมลูกค้า ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดก็จะเป็นไปตามเนื้องานของธุรกิจ ซึ่งโดยรวมทั้ง  3 ด้านแล้วน่าจะถึง 60 ครั้งต่อปี ส่วนงานใหญ่ระดับ Inclusive Growth Day นั้นจะจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ซึ่งตอนนี้ก็กลับมาจัดตามปกติแล้วในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา

 

 

นอกจากความสำเร็จของการทำสัญญาเพื่อให้นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย เปิดคาเฟ่อเมซอน สาขาแรกที่ซาอุดีอาระเบียได้สำเร็จจากการดำเนินการภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ความสำเร็จดังกล่าวนอกจากจะเป็นช่องทางให้กับธุรกิจพาร์ทเนอร์ของโออาร์ ต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว ยังเป็นช่องทางดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทยด้วย ซึ่ง โออาร์เองก็จะมีการจัดงานประชุมหรือจัดแสดงสินค้าและบริการให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศมาสู่ประเทศไทยด้วย ซึ่งโออาร์จะดีลให้นักธุรกิจเข้ามาในไทยครั้งละ 60-70 คนต่อครั้ง

 

 

ทั้งหมดนี้คือแนวคิดของคุณจิราพร ซีอีโอของโออาร์ที่เปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ให้ทันกับยุคสมัยทำให้องค์กรเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยังแบ่งปันโอกาสกลับคืนสู่สังคม เป็นตัวอย่างขององค์กรที่มีวิสัยทัศน์เพื่อการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ขณะเดียวกัน โออาร์ก็ยังเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรม MICE ที่นอกจากจะมีกิจกรรมขับเคลื่อนองค์กรภายใน และการสื่อสารสู่ลูกค้าแล้วยังมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.businesseventsthailand.com

 

 


  • 345
  •  
  •  
  •  
  •