ยุคดิจิทัล PR ต้องปรับตัวอย่างไรไม่ให้ถูกดิสรัพชั่น ค้นหาคำตอบจาก MD, Agate Communications ผู้คร่ำหวอดในวงการกว่า 20 ปี

  • 2.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ไม่ใช่แค่องค์กรที่มองหา “ทางรอด” เพื่อทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ แต่ทุกสายอาชีพต่างพยายาม “ท้าทาย” และหาทางออกสำหรับการเดินทางเพื่อฝ่าฟันกระแสดิสรัพชั่นไปให้ถึงปลายทาง รวมถึงแวดวง PR นักประชาสัมพันธ์เองก็ต้องปรับตัว เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแลนด์สเคปของสื่อเปลี่ยนไป Traditional Media ยังมีอยู่ ขณะที่บทบาทของ Digital Media ก็สำคัญมากขึ้น แล้วยังไม่นับการเกิดใหม่ของกลุ่ม KOL  บล็อกเกอร์ และ อินฟลูเอ็นเซอร์ ต่างๆ มากมายที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของอาชีพ PR ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ให้ทันรับการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น เพื่อเป็นความรู้แก่คนทำธุรกิจประชาสัมพันธ์ เราได้โอกาสจาก คุณผึ้ง-อัญญาพร ธรรมติกานนท์ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท อเกต คอมมิวนิเคชั่น จำกัด กับประสบการณ์ในสายอาชีพ PR มากว่า 20 ปี ตั้งแต่ยุคแอนะล็อกจนทรานส์ฟอร์มสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งเป็นยุคที่ทุกอย่างยืนบนตัวเลขและ สแตท ทว่า งาน PR บางอย่างไม่อาจวัดผลออกมาเป็นตัวเลขได้ เพราะการทำ PR ก็เหมือนการสร้างแบรนด์ มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ดังนั้น จะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้องค์กรเห็นความสำคัญของงาน PR อยู่ ขณะเดียวกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรได้เช่นกันว่าเมื่อทำ PR ไปแล้วสิ่งที่เทิร์นกลับมาคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไป ดังนั้น “คุณผึ้ง” จะมาไขความลับการสร้างงาน PR ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับเพิ่มแวลูให้กับสายอาชีพนี้ให้มากขึ้นอย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปกับเรา

 

 

เมื่อ Media Landscape และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง

คุณผึ้ง กล่าวถึงภาพรวมของสื่อที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันว่า แน่นอนว่าสื่อดั้งเดิมมีจำนวนลดลง ขณะที่สื่อออนไลน์มีเยอะขึ้น ซึ่งความเยอะนี้ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับคำว่า Niche ด้วย คือมีรูปแบบความเฉพาะด้านเฉพาะทางมากขึ้น นอกจากนี้ พฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน มีการเลือกรับเฉพาะข่าวสารที่เขาสนใจเท่านั้นด้วย แถมยังมีกลุ่มที่เรียกว่า อินฟลูเอ็นเซอร์ ขึ้นมาอีก ทั้งกลุ่มที่แบบมีคนติดตามเยอะและกลุ่มที่มีคนติดตามไม่มากแต่ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน

ดังนั้น เมื่อทุกอย่างเปลี่ยน PR ก็ต้องปรับตัวตาม การทำงานก็จะต้องละเอียดมากขึ้น และคอนเทนต์ก็ต้องแข็งแรงมากขึ้นด้วย มีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมให้เป็นไปตามสื่อนั้นๆ รูปแบบการส่งข่าวนอกเหนือจาก Press Release ที่ยังต้องมีอยู่ แต่บางทีก็ปรับไปเหลือเพียงแค่ไม่กี่บรรทัดเพื่อลงผ่าน Instagram แบบนี้ก็มี คือต้องปรับไปตามรูปแบบของสื่อที่เราส่งไป

 

PR จะต้องเป็น Communicator ที่ดี และการ Upskill Reskill สำคัญ

แต่มากไปกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่างๆ สิ่งที่คุณผึ้งย้ำด้วยก็คือความชัดเจนในหลักการทำงาน PR ก็คือ เราต้องรู้ก่อนว่า PR ต้องทำอะไร Philosophy ของ PR ของคุณต้องชัดก่อน เราทำหน้าที่เป็น Communicator เป็นนักสื่อสาร ไม่ใช่แค่คนส่งข่าวซึ่งถ้าคุณมองตัวเองแค่นั้นอาชีพมันจะแคบลงเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าเราตั้งหลักมองตัวเองเป็น Communicator ทุกๆ อย่างที่เราทำออกมามันจะกระจายไปหมด ไม่ใช่แค่นักข่าว ไม่ใช่แค่บล็อกเกอร์ แต่มันจะสปินออฟไปสู่อีเว้นท์ สู่การทำคอนเทนต์ และสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย

เหมือนมองย้อนกลับไปสู่ยุคหนึ่งที่เราเรียกกว่าการทำ IMC (Integrated Marketing Communications) คือการเบลนทุกอย่างมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็น มาร์เก็ตติ้ง เซลล์ ซีอาร์เอ็ม หรืองาน PR ซึ่งตอนนี้มันกลับไปสู่ยุคนั้นแล้ว และข้อสำคัญคือ PR จะต้อง Connect the Dot ให้ได้ เอาทุกอย่างมารวมกันแล้วสื่อสารออกไปให้ชัดเจนมากที่สุด จะแยกกันทำงานเป็นส่วนๆ ไม่ได้แล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญหากจะให้แนะนำว่าวงการ PR ต้องปรับตัวอย่างไรในยุคนี้ก็คือ ปรัชญาการทำงาน PR คุณต้องชัด แล้วก็เบลอทุกอย่างเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะหา Intersection ตรงกลางออกมาให้ได้มากที่สุด

รวมไปถึงการทำคอนเทนต์ก็ต้องสตรองมากขึ้น ดังนั้น เราต้องรู้จักที่จะ Upskill  Reskill  ตัวเอง เพราะดิจิทัลมันมาเร็วไปเร็ว องค์ความรู้ต่างๆ มันเร็วไปหมด ดังนั้น PR เองก็ต้องรู้ เข้าใจในการทำคอนเทนต์ การทำข่าวของลูกค้า เพราะว่าเราต้องสื่อสารมันออกไป ไม่ใช่แค่ส่งข่าว เราควรเป็น Interpreter แทนลูกค้าได้ด้วย

“มันไม่ใช่แค่ Media Relations อย่างเดียว ตอนนี้มองว่ามันคือ Communicator Relations เพราะว่าถ้าเป็นแค่Media Relations ซึ่งหมายถึงการที่เราต้องมีรีเลชั่นชิพที่ดีกับทุกคนที่เป็นนักสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น สื่อดั้งเดิม สื่อดิจิทัล หรือว่าบล็อกเกอร์ ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คุณจะต้องขยายแอเรียของตัวคุณเองออกไปให้กรอบไอเดียมันไม่ได้อยู่แค่นักข่าว อันนี้ PR จะต้องมองเห็นและต้องปรับตัว”

 

เมื่อวงการ PR ถูก Devalue ในยุคดิจิทัล ตัวพีอาร์ก็ต้องเร่งปรับตัว Strategic PR

อย่างไรก็ตาม คุณผึ้งเองก็มองเห็น pain point ของวงการ PR ในปัจจุบันเช่นกัน ที่มักจะถูก devalue มองไม่เห็นถึงความสำคัญ ซึ่งคุณผึ้งมองว่า ถึงกระนั้นคน PR เองก็ต้องย้อนกลับมามองที่ตัวเองเช่นกันว่าเราทำอะไรที่ทำให้เขามองไม่เห็นความสำคัญหรือเปล่า โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างมันมาเร็ว ทุกอย่างวัดค่าออกมาเป็นสแตทเป็นตัวเลขได้ แต่เราไปไม่ทันตรงนั้นหรือไม่ เราก็ต้องแก้ไขที่ตัวเราเองด้วย

ถ้า PR ยังตอบในเชิงอัตนัย เป็น Subjective เช่น “รู้สึกว่า…” ซึ่งมันก็วัดผลได้ยาก แต่โลกดิจิทัลทำอย่างนี้ไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ ยังทำงานในรูปแบบคอยซัพพอร์ตอยู่ เช่น ซัพพอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ซัพพอร์ตเซลล์ แต่ไม่ได้ทำงานเชิงกลยุทธ์ในการวางแผนการสื่อสารคู่กันไปกับส่วนงานอื่นๆ มันก็เลยทำให้องค์กรมองไม่เห็นความสำคัญของงาน PR พอยิ่งเป็นแบบนี้งาน PR จึงถูก devalue ลงเรื่อยๆ

ดังนั้น PR เราต้องทำหน้าที่ในการเป็น Strategic PR ให้ได้ ถึงจะมีแวลู ไม่เช่นนั้นเราจะทำได้เป็นแค่คนส่งข่าว เราจะต้องหาทางวาง Strategy  ให้ได้ว่ามุมมองการส่งสารจะต้องออกไปในทิศทางไหน

“แต่สำหรับพี่ ไม่ค่อยยอมรับอะไรในการเป็น follower พี่อยากจะเป็นคนที่มีบทบาท เพราะฉะนั้นเวลาที่ทำ PR จะมองหาว่าช่องทางไหนที่จะมีบทบาท ที่จะคู่กับ มาร์เก็ตติ้ง หรือแผนกอื่นๆ ไปได้ เพราะแวลูของ PR มันมีเยอะ เรามีรีเลชั่นชิพที่ดีกับนักข่าวและบล็อกเกอร์มากมาย ดังนั้น ต้องดึงแวลูดึงศักยภาพที่ตัวเองมี สร้างแวลูให้กับอาชีพ แล้วก็สร้างแวลูให้เพื่อนร่วมงานเห็นความสำคัญของเรา และสุดท้ายก็เพื่อให้องค์กรได้เห็นความสำคัญของเราด้วย ซึ่งก็ค่อนข้างที่จะใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม มันคือมิสชั่นส่วนตัวที่พี่จะต้องทำให้ได้ คือทำอย่างไรให้อาชีพ PR มันถูก Recognized นั่นเอง

3 เซอร์วิสจาก Agate สร้างความเข้มแข็งให้องค์กร

จากประสบการณ์ส่วนตัวในการทำงานบนเส้นทาง PR มาหลายปี ให้กับหลายองค์กรและหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่เป็น PR จูเนียร์จนถึงซีเนียร์ ในที่สุดก็ตัดสินใจที่จะเปิดธุรกิจของตัวอง ภายใต้ชื่อบริษัท อเกต คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (Agate Communications Co.,Ltd.) ซึ่งปัจจุบันก็กำลังก้าวสู่ปีที่ 10 ในปี 2565 แล้ว คุณผึ้งบอกว่า ปัจจุบันลูกค้า Agate ส่วนใหญ่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เกิน 60% ที่เหลือก็จะมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสาย Tech Startup สายการศึกษา สายสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีการสปินขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง อย่างกลุ่ม Hospitality ก็เริ่มเข้ามาบ้างเช่นกัน ซึ่งการขยายขอบเขตขยายโอกาสงานของ PR ก็มาจากการที่กลุ่มธุรกิจนั้นๆ เติบโตด้วย

สำหรับการให้บริการในการดูแลลูกค้าหลักๆ มีอยู่  3 เซอร์วิสด้วยกัน อันแรกคือ Full Service PR คือการทำงานประชาสัมพันธ์ทั้งการวางแผนกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ การเขียนข่าวและการส่งข่าวประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการวาง Strategy แผนการประชาสัมพันธ์ และการ News Monitoring ให้กับลูกค้าด้วย บริการที่ 2 คือ บริการที่เราเรียกว่า Agate Nano ที่เราทำงานร่วมกับกลุ่มผู้สื่อข่าวท้องถิ่น เพราะจากการที่ Media Landscape เปลี่ยนแปลงไปและเน้นการเสพข่าวเฉพาะแอเรียตัวเอง การทำธุรกิจเองก็มีความเน้นเฉพาะพื้นที่ ดังนั้น Media Local จึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น และจากการที่เรามีเครือข่ายพันธมิตรสื่อท้องถิ่นที่เหนียวแน่น โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่ง EEC (Eastern Economic Corridor) ไม่ว่าจะเป็น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นต้น เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค ทำให้เรามีบริการสื่อสารกับมีเดียภูมิภาคด้วย ซึ่งจะเหมาะกับลูกค้าที่ต้องการเจาะจงในแต่ะภูมิภาค หรือจะทำทั้งส่วนกลางและภูมิภาคไปพร้อมกันก็ได้ บริการที่ 3 เป็น Media Buying คือการซื้อเพื่อผลิตคอนเทนต์ เช่น การทำAdvertorial การทำ Press Release แต่อาจจะไม่ใช่การซื้อแบนเนอร์ขนาดนั้น

และนอกเหนือจากบริการทั้ง 3 แล้ว ด้วยประสบการณ์เกือบ 10 ปี ก็สามารถดูแลในส่วนของ Crisis Management ให้ด้วย คุณผึ้งเล่าถึงงานในส่วนนี้ว่า ในยุคนี้ที่ข่าวสารโลกออนไลน์ไปเร็วมาก ดังนั้น รูปแบบจึงต้องการทำงานที่ว่องไวไม่แพ้กัน อย่างเช่นในช่วงโควิดแรกๆ เมื่อปีที่ผ่านมา เราทำ Chart War Room ขึ้นมาให้ลูกค้าเลย เพื่อไว้ดูว่าเมื่อเกิดเหตุ crisis จะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น จะต้องโทรหาใครเป็นลำดับขั้น โทนของ Statement เมสเสจ หรือการสื่อสารจะต้องออกมาแบบไหนให้เป็นไปทิศทางเดียวกัน เพราะเมื่อมันเป็นโลกออนไลน์ก็ค่อนข้างที่จะแฮนเดิ้ลด้วยความท้าทายอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ก็จะต้องมีเอกสารชุดเดียวกันในการทำงาน รวมไปถึงการประสานงานร่วมกับแผนกกฎหมายของลูกค้าด้วย

 

จุดสตรองมัดใจลูกค้า ยืนข้างเคียงทุกโอกาสในฐานะ TRUE PARTNER

เมื่อถามว่าปัจจุบันธุรกิจงาน PR แข่งขันกันด้านไหนมากที่สุด คุณผึ้งตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า แข่งกันเรื่องราคา คือตอนนี้ยอมรับว่าทั้งฟรีแลนซ์ทั้งเอเจนซี่น้อยใหญ่มีคู่แข่งเต็มไปหมด ซึ่งหลายๆ คนก็มีฝีมือ มีจุดเด่นของตัวเองแตกต่างกันไป แล้วก็มีการดิสรัพท์ราคากันเองบ้าง ซึ่งส่วนตัวก็มองว่าเป็นเรื่องปกติของทุกวงการ แต่ของ Agate เราจะไม่คิดที่จะลงไปเล่นกับ่ Price War  เพราะว่าเรามี Strong Point ของตัวเองที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการเป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญให้กับลูกค้า ซึ่งตรงกับ Motto ของเราที่ว่า “Not an agency, we are your TRUE PARTNER” คือการคอนซัลท์ให้คำปรึกษาที่ดีกับลูกค้า ไม่ว่าจะต้องการหรือมีปัญหาอะไร ซึ่งหลักๆ ตอนนี้ Agate เราแบ่งเป็นทีม Strategic แล้วก็ทีม Media Relations โดยทีม Strategic มีหน้าที่ที่จะคุยกับลูกค้าเพื่อขุดประเด็น เขียนคอนเทนต์ ที่น่าสนใจออกมาให้ได้ ส่วนทีม Media Relations ก็จะมีหน้าที่ที่จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของเราทั้งนักข่าวและบล็อกเกอร์ หรือแม้กระทั่งเขาเองก็ต้องกลับมาพูดกับลูกค้าด้วยว่าตอนนี้มีเดียแลนด์สเคปมันเปลี่ยน เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจถึงวงการสื่อในปัจจุบันว่าตอนนี้สื่อต้องการอะไรและเราควรทำงานอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ เรียกว่าอยู่ด้วยกับลูกค้าอย่างเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกัน และแก้ปัญหาไปพร้อมกันตลอดเวลา

“จริงๆ Motto อันนี้ก็มาจากลูกค้า Pico (Thailand) ซึ่งน่ารักกับเรามากทำงานด้วยกันมานานจนรู้ใจ จนมาวันหนึ่งท่านผู้บริหารของ Pico ก็ได้บอกกับพี่ว่า คุณผึ้งไม่ใช่ PR หรอกนะ คุณน่ะเป็น Partner ของผมนะ เพราะผมสามารถคุยกับคุณได้หลายๆ เรื่องเลย มันเป็นอะไรที่พี่ใจฟูมากๆ เพราะว่าเขามองเห็นความสำคัญกับเรา จึงเป็นที่มาของการที่พี่คิด Motto อันนี้ออกมา”

 

Digital Communications อนาคตก้าวเดินของ Agate

สำหรับทิศทางในอนาคตที่วางไว้ให้กับ Agate คุณผึ้งกล่าวว่า คือ ยังคงเป็นบริษัทประชาสัมพันธ์ที่มีหมุดหมายที่ขยายขึ้น คือ การขยายสู่ การเป็น Digital Communications   เพราะเราต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น เราหยุดไม่ได้ เราจะต้องสร้างแวลูให้ตัวเองเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะไม่ได้สปินไปถึงขนาดเป็น Digital PR เพราะหลายๆ อย่างที่ไม่ใช่ดิจิทัลก็ยังมีเสน่ห์ของมันอยู่ โดยเรานำเอาดิจิทัลเข้ามาเสริมทัพเพื่อให้วัดผลได้มากขึ้น การทำงานที่เข้าในกับโลกของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้การทำงานสนุกมากขึ้น

“เป็นความภูมิใจที่วันนี้เราก้าวและเติบโตมาได้ถึงวันนี้ เมื่อก่อนเราอาจจะไม่ได้คิดถึงว่าจะมีคนมากมายหรือเติบโตไปอย่างไร เพราะวันแรกๆ ที่พี่เปิดบริษัทคือตั้งเป้าแค่บริษัทเล็กๆ และได้มีเวลาดูแลครอบครัวเท่านั้น แต่พอวันหนึ่งลืมตามาอีกที ก็มีทีมงานหลายคนเพิ่มขึ้นมา เราเริ่มทำงานไปพร้อมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเมื่อวันที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทเราก็ต้องเปลี่ยนแปลง แต่จุดแข็งเราก็คือการ Communications ดังนั้น สิ่งที่เราทำก็คือ Learning by Doing กันไป เพราะทุกอย่างมันใหม่หมด แต่มาถึงจุดนี้แล้วเราก็มั่นใจ่ว่าจะก้าวต่อไปบนทิศทางที่ชัดเจน” 

 

คำแนะนำสำหรับ PR รุ่นใหม่ ต้องเป็นนักกลยุทธ์และ Interpreter ที่ดี

สำหรับ PR รุ่นใหม่หรือคนที่สนใจในอาชีพ PR สิ่งที่คุณผึ้งมองว่าสำคัญและต้องปรับตัวให้ได้ในยุคนี้ ก็คือการปรับทัศนคติของตัวเองด้วย

“อย่างแรกทลายกำแพงตัวเองก่อน ไม่ใช่เอาแต่ส่งข่าว หรือชั้นมีหน้าที่ส่งข่าว อันนี้มันปิดกั้นตัวเองมากไป หากจะคิดให้เป็นกลยุทธ์และสนุก คือ  เนื้อหาข่าวที่ส่งไปนั้นแข็งแรงพอหรือไม่ ใครคือบุคลลในข่าว ส่งไปให้ใคร ไทม์ไลน์การส่งข่าวเป็นอย่างไร มันต้องรู้ทั้งลึกและกว้าง”

ทั้งนี้ ทักษะที่จำเป็นสำหรับ PR ยุคใหม่คือ ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ และต้องเป็นนักกลยุทธ์ด้วย ดังนั้น ต้องวางแผนให้ดีๆ ว่าคอนเทนต์มันจะออกช่วงจังหวะไหน ถ้าตอนนี้คอนเทนต์มันออกไปดิสรัพท์หรือออกไปขัดกับสิ่งที่เรากำลังทำบางอย่างอยู่ มันก็อาจจะไม่ปัง เพราะฉะนั้นต้องวางแผนให้ดี รวมไปถึงต้องรอบรู้ด้วย ต้องเข้าใจในคอนเทนต์และธรรมชาติของสื่อแต่ละที่ สื่อ บล็อกเกอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่เราสื่อสารหรือส่งให้เขาย่อมไม่เหมือนกัน เราต้องเข้าใจงานของเราและงานของสื่อไปพร้อมกันด้วย

ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็น เป็น Interpreter ที่ดี ต้องแปลสิ่งที่องค์กรหรือแบรนด์ต้องการจะสื่ออกมาให้ภายนอกองค์กรเข้าใจ เรื่องบางเรื่องอาจจะดูซับซ้อน แต่คีย์ทอล์กกิ้งพ้อยท์คืออะไร หมัดฮุคคืออะไร ถ้า PR เองยังไม่เข้าใจแล้วจะไปสื่อสารข้างนอกได้อย่างไร จะไปทำให้นักข่าว หรือ บล็อกเกอร์ เข้าใจได้อย่างไร นักข่าวคงไม่อยากจะเจอข่าวแค่ Who What When Where แค่นั้นน่ะ มันจะต้องลึกไปกว่านั้น ชาเลนจ์ไปกว่านั้น เพราะฉะนั้น ต้องเป็น Interpreter ที่ดีด้วย

 

หัวใจสำคัญของการทำงาน PR

ท้ายที่สุดสิ่งที่คุณผึ้งมองว่าหัวใจสำคัญในสายอาชีพ PR จะต้องทำอย่างไรให้รอดพ้นจากการดิสรัพท์ และสร้างแวลูให้อาชีพได้ ประกอบด้วย 3 อย่างสำคัญ ได้แก่ สตรองด้วยคอนเทนต์ ที่เข้าใจทั้งสื่อและธุรกิจของลูกค้า รีเลชั่นชิพที่ดีกับสื่อ ซึ่งต้องใช้ศิลปะในการสื่อสารที่ต้องสวยงามมาก และสุดท้ายคือ ความเข้าใจในตัวธุรกิจของลูกค้า เข้าใจนักข่าว และเข้าใจตัวเอง เพื่อให้ทั้งหมดไปด้วยกันได้ และต้องไม่ลืมที่จะต้องวางแผนกลยุทธ์ให้เป็น ต้องบริหารรีเลชั่นชิพให้ได้ ซึ่งอย่างที่บอกเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่จะต้องรู้จักผสมผสานให้สวยงาม

“PR คือลูกกลมๆ จับวางตรงไหนก็ต้องกลิ้งไปได้ให้มัน อันนี้คือเสน่ห์ของ PR จริงๆ ที่เราจะต้องไปให้ได้ อยู่ตรงนี้เราก็ต้องทำให้ได้ คอนเทนต์แบบนี้มาเราก็ต้องแฮนเดิ้ลออกไปให้ได้ แม้ว่ามันจะเผชิญกับความท้าทายระดับไหนก็ตาม ความเครียด ไม่ใช่ Solution หัวใจสำคัญเลยคือ ต้องเป็นนักวางแผน นักกลยุทธ์ที่ดี”

เชื่อว่าแง่คิดทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตของคุณผึ้ง สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกอาชีพ ไม่เฉพาะสาย PR เพียงอย่างเดียว เพราะทั้งหมดนั้นสุดท้ายแล้วมันก็คือการที่คุณรักและเคารพอาชีพของตัวเองมากแค่ไหน และสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างไร ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ในโพสิชั่นไหน ถ้าคุณคิดจะลุยกับมันอย่างเต็มที่คำว่าสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล.

 


  • 2.5K
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE