“โรงพยาบาลรวมใจรักษ์” เปิด 3 เสาหลัก New Premium – Personalization – Precision สู่ความร่วมมือ 3 พันธมิตรทางธุรกิจ Healthcare

  • 518
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เทรนด์สุขภาพอาจไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น แต่เป็นเทรนด์ที่หลายคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อโลกผ่านวิกฤตการณ์โรคระบาด ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของทุกคน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันบีบบังคับให้สินค้าและบริการหลายๆ อย่างปรับตัวสูงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลที่นับวันค่าบริการจะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่า หากต้องการรับการบริการรักษาที่ดีอาจต้องเลือกโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมี่ยม แต่นั่นหมายถึงเงินที่ต้องจ่ายหนักมากขึ้นตามคุณภาพการให้บริการ นั่นจึงทำให้เกิด “โรงพยาบาลแนวคิดใหม่ในการดูแลสุขภาพ” ที่มอบคุณภาพการให้บริการในระดับพรีเมี่ยมแต่ราคาสามารถจับต้องได้ ซึ่งเป็นการรวมแนวคิดของ 3 พันธมิตรที่มาจากธุรกิจที่แตกต่างกัน

 

 

โดยได้รับเกียรติจาก คุณอภิรักษ์ อภิสารธนรักษ์ กรรมการบริหาร บริษัท ประกิต โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), พญ.จันทรตรี ดารกานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) และคุณณัฐพล เดชวิทักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในการผนึกกำลังสู่การสร้าง “โรงพยาบาลรวมใจรักษ์” สุขุมวิท 62 โรงพยาบาลแนวคิดใหม่ในการดูแลสุขภาพ

 

จุดเริ่มต้นของการรวมตัว 3 ธุรกิจ

ในส่วนของ บริษัท ประกิต โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มองเห็นการเติบโตของกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income) ที่จะกลายเป็นประชากรกลุ่มหลักโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีสัดส่วนประมาณ 72% ของประชากร กทม. นอกจากนี้ในกรุงเทพฯ ยังมีกลุ่มผู้ที่รายได้ปานกลางค่อนไปทางรายได้สูง (Upper Middle Income) ซึ่งอาจจะน้อยกว่า 72% แต่ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มดังกล่าวมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 32%

 

 

“นอกจากประเทศไทยแล้ว เทรนด์ของการเติบโตของกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income) ก็เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย ซึ่งหลายประเทศในแถบนี้มีกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income) เพิ่มจำนวนมากขึ้น”

นอกจากนี้สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ อย่างที่ทราบผู้สูงอายุคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรหรือประมาณ 25% ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30% และไทยจะเข้าสู่ Aging Society อย่างเต็มตัว หมายถึงคนต้องพึ่งระบบ Healthcare มากขึ้น โดยคนในอายุ 45-50 จะเห็นสัญญาณบางอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงสุขภาพที่เริ่มถดถอยลง

“กลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income) ถือเป็นกลุ่มที่มีเงินและใส่ใจดูแลตัวเองเพื่อให้ยังคงสนุกกับการใช้ชีวิต ทำให้โอกาสของตลาด Healthcare น่าจะโตมากยิ่งขึ้น อีกสิ่งของแนวคิดการทำโรงพยาบาลในมุมมองของประกิตโฮลดิ้งส์ เรามองว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม”

ด้าน บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) มีพื้นฐานมาจากอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ช่วงหลังเริ่มผันตัวเข้ามาสู่ธุรกิจบริการมากขึ้น ซึ่งตัวผู้บริหารเองก็มีความสนใจในธุรกิจโรงพยาบาล ปัจจุบันชาว กทม.มีอายุที่ยาวขึ้น ปัจจุบันคนอายุ 80-90 ปียังมีสุขภาพแข็งแรง และแม้จะไม่แข็งแรงแต่ Healthcare ก็ช่วยประคับประคองจนอายุยืนยาวได้ ในอนาคตผู้คนอาจจะมีอายุเฉลี่ย 90-100 ปีได้ ซึ่งอายุที่ยืนยาวขึ้นจะต้องมีการใช้บริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น

 

 

“สหยูเนี่ยนมองว่า การเข้าถึง Healthcare ด้วยราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เป็นแนวคิดที่ทั้ง 3 บริษัทคุยกันแล้วและเห็นร่วมกัน ส่วนหนึ่งคือการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเราว่าเทคโนโลยีจะมีส่วนเข้ามาช่วยได้มาก ตลอดระยะเวลา 10 ปีมานี้ เทคโนโลยีมีวิวัฒนาการที่เร็วมาก เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีทางการแพทย์จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับชาว กทม.”

สำหรับ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เป็นที่ทราบกันว่าอยู่กับผู้บริโภคมายาวนาน โดยจะเป็นเรื่องของสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ในด้านธุรกิจโรงพยาบาลถือเป็นอีกมุมหนึ่งในการดูแลผู้บริโภคและดูแลคนไทยในเรื่องของสุขภาพ เหนือสิ่งอื่นใดการรวมกลุ่มพันธมิตรขึ้นทั้ง 3 บริษัทเกิดจากวิสัยทัศน์ที่เห็นว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพแต่ในราคาที่มีเหตุมีผล เป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นจริง

 

 

“ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาเร็วมากในทุกวงการ รวมถึงวงการสุขภาพด้วย จึงต้องมีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ หรือการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาในการรักษาผู้ป่วยและการบริหารจัดการ ซึ่งเราคิดว่าเราจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลโรงพยาบาล การดูแลคนไข้ รวมถึงเรื่องการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine

และการสร้างเครือข่ายกับโรงพยาบาลในต่างจังหวัดผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งเป็นงานในอนาคตที่เรามองไว้”

 

 

จุดเด่นและความแตกต่างของโรงพยาบาล

สำหรับจุดเด่นของ “โรงพยาบาลรวมใจรักษ์” คุณอภิรักษ์ มองว่า การรักษายังคงเป็นหัวใจหลักของโรงพยาบาล นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีหมอเฉพาะทาง โดยมีการพูดคุยทาบทามกว่า 300 ท่าน ซึ่งเทคโนโลยีหรือเครื่องมือเฉพาะทางต่างๆ ต้องมีพร้อมสำหรับคุณหมอเฉพาะทาง ดังนั้นการออกแบบทุกอย่างในโรงพยาบาลคำนึงถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย โดยเน้นการให้บริการในระดับ 5 ดาวที่ราคาเข้าถึงได้

 

 

“การจะทำให้เกิดโรงพยาบาลแนวคิดใหม่ในการดูแลสุขภาพได้ แบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก โดยเสาหลักแรกคือการเป็น New Premium Hospital หรือโรงพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ในระดับพรีเมี่ยม แต่ราคาที่กลุ่ม Middle Income เข้าถึงได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายในการดูแลรักษา เสาหลักที่ 2 คือ การมีหมอเฉพาะทางในหลายๆ ด้าน ซึ่งเรามีแผนเปิดถึง 22 ศูนย์การรักษาภายในโรงพยาบาลและจะรักษาในรูปแบบ Personalization โดยยึดคนไข้มากกว่าตัวโรค และเสาหลักที่ 3 จะเป็นเรื่อง Precision หรือความแม่นยำในการรักษา โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่าง AI ในการประมวลผล ช่วยลดความผิดพลาด (Human Error) ก่อให้เกิดการรักษาที่แม่นยำมากขึ้น”

 

 

ขณะที่ พญ.จันทรตรี อธิบายเพิ่มเติมว่า Personalization คือการที่แพทย์จะดูแลคนไข้แบบส่วนตัว ในรูปแบบของการเป็นที่ปรึกษาการแพทย์ (Co-ordinating doctor) ซึ่งแพทย์เจ้าของไข้ จะคอยดูแลประสานงานเป็นตัวกลางให้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีการส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางท่านอื่นๆ ฉะนั้นข้อมูลของคนไข้จะถูกเชื่อมต่อระหว่างหมอได้อย่างไร้รอยต่อ (Seamless) ช่วยให้เกิดการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

“เราตั้งใจจะให้หมอเป็น Family Doctor หรือเป็นคุณหมอประจำครอบครัว ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอเข้าใจในตัวคนไข้มากยิ่งขึ้น ไม่ต้องหาหมอคนนี้ตรวจแล้วเมื่อส่งตัวไปให้หมออีกคนต้องมีการตรวจซ้ำแบบเดิม ช่วยลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนซ้ำซาก ยุ่งยาก และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายของลูกค้าลงได้”

 

เปิดแผนกลยุทธ์ In & Out

คุณอภิรักษ์ ยังชี้ให้เห็นว่า จากการศึกษาในบริเวณที่ตั้งของโรงพยาบาลรวมใจรักษ์โดยรอบ 5 กิโลเมตร จะพบว่า มีความหลากหลายของประชากร ทั้งในแง่ที่พักอาศัยแบบบ้านแนวราบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่มาเก่าก่อน และที่อยู่อาศัยในแนวสูงซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะต้องเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองด้วยรถไฟฟ้า และเพราะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านทำให้เกิดออฟฟิศจำนวนมากอีกด้วย

“ประชากรแถวนี้ยังมีความหลากหลายในแง่ของอายุ โดยพบว่า ประชากรกลุ่มหลักที่อยู่ในพื้นที่นี้จะเป็นกลุ่มอายุ 25-45 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก Middle Income ขณะที่อีกกลุ่มจะเป็นกลุ่มAging มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จากข้อมูลจำนวนประชากรในพื้นที่รอบโรงพยาบาลที่ได้สำรวจมาจะอยู่ที่ 1.2 ล้านคน”

โดยกลุ่มหลักจะเป็นคนวัยทำงาน ซึ่งจะเป็นโรคทั่วไปที่เกิดขึ้นตามออฟฟิศ เช่น ไข้หวัด ปวดหัว หรือแม้กระทั่งโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น ออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น ขณะที่อีกกลุ่มจะเป็นกลุ่ม Aging จะมีปัญหาเรื่องความดัน เบาหวาน สายตา โดยโรคจะมาเป็นชุด ดังนั้นจึงต้องมีการจัดเตรียมบุคลากรและศูนย์ต่างๆ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดถึง 22 ศูนย์ในโรงพยาบาล

ส่วน คุณณัฐพล เห็นว่า โรงพยาบาลไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถพูดเชิญชวนได้เต็มที่ ซึ่งการสื่อสารในเรื่องของโรงพยาบาลมีกฎระเบียบที่กำหนดและมีความอ่อนไหวค่อนข้างสูง ดังนั้นโรงพยาบาลรวมใจรักษ์จะเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและนำไปสู่การบอกต่อ (Word of Mouth) โดยเฉพาะชุมชนรอบโรงพยาบาลที่มีอะไรก็นึกถึงโรงพยาบาลรวมใจรักษ์แบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง นี่คือสิ่งที่อยากจะสื่อสารออกไป

“แน่นอนว่าการสื่อสารกับผู้คนในวงกว้างจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น Online Marketing ภายใต้กฎระเบียบที่กำหนดไว้ โดยอาจจะพูดถึงความใหม่ของโรงพยาบาล เครื่องมือที่ทันสมัย มีแพทย์เฉพาะทาง โดยจะเริ่มจากการสื่อสารกับผู้คนในพื้นที่เป็นหลักด้วยกิจกรรมต่างๆ ก่อนจะสื่อสารผ่านรูปแบบออนไลน์เพื่อให้ครอบคลุมผู้คนในทุกพื้นที่”

 

เทคโนโลยีสู่การเป็น รพ.แนวคิดใหม่

สำหรับเรื่องของเทคโนโลยี คุณณัฐพล ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องของ Telemedicine ที่จะช่วยดูแลคนไข้ในระยะไกล รวมถึงการเชื่อมต่อกับคุณหมอในระยะไกล ซึ่ง โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ มีห้องที่เตรียมไว้และอุปกรณ์สื่อสารครบครันในการที่จะสื่อสารกับคนไข้ทางบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูอาการเบื้องต้น การให้คำปรึกษาเบื้องต้น และหากจำเป็นจะมีการนัดเข้ามาโรงพยาบาล หรือเป็นการติดตามหลังการรักษา

 

 

“ในส่วนของการเชื่อมต่อคุณหมอในภูมิภาคไกลกับหมอของเรา จากการสำรวจพบข้อมูลว่า อัตราส่วนหมอต่อประชากรในประเทศไทย เฉพาะในกรุงเทพฯ หมอหนึ่งคนต่อประชากรราว 600 คน แต่ในบางจังหวัด หมอหนึ่งคนต่อประชากรราว 3,000 กว่าคน มันต่างกันเยอะมาก จังหวัดที่อยู่ไกลๆ หมอจะมีน้อย หมอเฉพาะทางจะยิ่งน้อยลงไป เราสามารถช่วยเหลือหมอที่อยู่ในที่ห่างไกลเป็นการให้บริการแบบDoctor to Doctor ผ่านระบบการสื่อสารของเรา ซึ่งเราคิดว่ามันน่าจะเกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศด้วย รวมถึงการดูแลลูกค้าของเราที่ต้องไปอยู่ในต่างจังหวัด”

ด้าน คุณอภิรักษ์ ยังอธิบายว่า เทคโนโลยียังช่วยให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น โดยลูกค้าที่ใช้บริการครั้งแรกจะมีการจัดเก็บข้อมูลตามมาตรฐาน แต่กรณีที่โรงพยาบาลมีข้อมูลลูกค้าอยู่แล้ว จะช่วยให้ศูนย์ต่างๆ ในโรงพยาบาลกว่า 22 ศูนย์ฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้เพื่อเชื่อมต่อการรักษา

“ในอนาคตเรามีแผนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งแอปฯ นี้ลูกค้าที่จะมาใช้บริการสามารถลงทะเบียนผ่านแอปฯ ได้ก่อนมาโรงพยาบาล เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็จะมีข้อมูลพร้อมเรียบร้อย ช่วยลดระยะเวลาการได้พบหมอ นอกจากนี้ยังมี Wristband ที่จะเข้ามาช่วยลดการใช้กระดาษ (Paperless) สามารถตรวจสอบขั้นตอนการรักษา สามารถสแกนที่ Wristband เพื่อรับยาหรือชำระเงินได้ ช่วยลดระยะเวลาอยู่ในโรงพยาบาลได้”

 

 

สำหรับในเรื่องข้อมูล พญ.จันทรตรี ชี้ว่า ระบบภายในของโรงพยาบาลจะเป็นระบบ HIS – Hospital Information System ซึ่งระบบต่างๆ จะทำการเชื่อมโยงข้อมูลในทุกๆ ด้านของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ที่มาตรวจสุขภาพหรือคนเจ็บป่วย ข้อมูลทุกอย่างก็จะถูกจัดเก็บอยู่ในระบบดังกล่าว รวมไปถึงข้อมูลที่ได้รับจากการให้บริการผ่านเทคโนโลยี เช่น Telemedicine 

“การใช้เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันในโรงพยาบาล จะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถลดการใช้กระดาษ (Paperless) โดยจะมีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล และจะไม่มีการนำข้อมูลไปจัดเก็บในรูปแบบของเอกสาร (Paper) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาด สูญหายหรือเกิดการทำซ้ำ”

 

เป้า 5 ปีสู่การให้บริการแนวคิดใหม่

สำหรับการให้บริการในอีก 5 ปีของโรงพยาบาลรวมใจรักษ์ ในความคิดของ คุณณัฐพล คือ การพยายามเดินตามวิสัยทัศน์การเป็นโรงพยาบาลแนวคิดใหม่ในการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะต้องมีการปรับรูปแบบการทำงานและพัฒนาองค์ความรู้ให้ร่วมสมัยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างเช่น โควิด หรือ ฝีดาษลิง ฯลฯ

 

 

“อีกโรคใหม่ที่จะเห็นได้ คือ โรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมคน ทั้งจากการทำงาน วิถีชีวิต การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ด้วยความที่เราเป็นโรงพยาบาลแนวคิดใหม่ในการดูแลสุขภาพ เราจึงต้องหาวิธี หาเทคโนโลยี หาองค์ความรู้ใหม่เข้ามาช่วยในการรักษาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายในเชิงนโยบายการดูแลรักษา”

 

 

ขณะที่ คุณอภิรักษ์ อยากให้เป็นโรงพยาบาลที่เข้าถึงง่าย แบบไม่มีพิธีรีตองมากในการใช้บริการ ค่าใช้จ่ายก็ไม่ต้องกังวล โดยเฉพาะการพยายามทำให้โรงพยาบาลใกล้ชิดผู้คนมากที่สุด ยิ่งหลังการเปิดตัวโรงพยาบาลไปแล้ว ต้องพยายามเชื่อมต่อกับชุมชมโดยรอบ 5 กม. บริเวณซอยสุขุมวิท 62 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล ให้เป็นส่วนหนึ่งกับโรงพยาบาล ด้วยการจัดกิจกรรมที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนรู้สึกใกล้ชิดโรงพยาบาล

“เราอยากให้ชุมชนรู้สึกเหมือนกับมีเพื่อนคอยปรึกษาที่เป็นคนใกล้ชิด สามารถเข้ามาคุยเข้ามาปรึกษาอะไรก็ได้ เดี๋ยวนี้จะเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นจุดที่ทุกคนต้องการปรึกษาและจะมีคนตอบมา เราอยากให้เกิดความรู้สึกแบบนั้นกับโรงพยาบาล แต่ยังคงความเป็นโรงพยาบาลที่มีหมอเฉพาะทาง มีความสามารถ และมีความน่าเชื่อถือ”

 

 

ส่วน พญ.จันทรตรี เชื่อว่า หมอยังคงเป็นเรื่องหลักของโรงพยาบาล การหาหมอที่มีความเชี่ยวชาญในราคาที่เข้าถึงได้น่าจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ความต้องการ ยิ่งการรักษาในรูปแบบ Personalization น่าจะเป็นประโยชน์กับคนไข้ที่จะช่วยให้หมอเข้าใจคนไข้มากยิ่งขึ้น

“สิ่งสำคัญที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นคือการคุยกันระหว่างคนไข้กับหมอ เป็นการสื่อสารที่ไม่ใช่เหมือนหมอกับคนไข้อย่างในอดีต แต่ต้องเป็นเหมือนคนในครอบครัวที่ดูแลมีความเป็นห่วงซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกอบอุ่นที่จะพูดคุยกัน นั่นคือความรู้สึกที่เราอยากให้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลรวมใจรักษ์ โรงพยาบาลแนวคิดใหม่ในการดูแลสุขภาพ”

คุณอภิรักษ์ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ สุขุมวิท 62 มุ่งมั่นที่จะเป็นโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยมในราคาค่ารักษาที่เข้าถึงได้ ที่มีความพร้อมในด้านศูนย์การรักษาอย่างครบถ้วน รวมถึงศูนย์การรักษาที่โดดเด่นของเราทั้ง 4 ศูนย์ คือ ศูนย์โรคหัวใจ (Heart center), แผนกบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ER), ศูนย์การตรวจสุขภาพ(Health Check-up Center), ศูนย์การผ่าตัดส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery (MIS)

 

ติดต่อโรงพยาบาลรวมใจรักษ์ https://bit.ly/3rkaRbn

 


  • 518
  •  
  •  
  •  
  •