หลาย 10 ปีที่ผ่านมาเรามักจะเห็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบของหุ่นยนต์ (Robot) กันมากขึ้น ไม่ว่าจะหุ่นยนต์พนักงานทำความสะอาด, หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร, หุ่นยนต์ตำรวจ, หุ่นยนต์พนักงานยกกระเป๋าในโรงแรม ฯลฯ หลากหลายอาชีพที่เกิดขึ้นโดยหุ่นยนต์ ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การเสริมจุดอ่อนบางจุดให้แข็งขึ้น อย่างเช่น ในประเทศที่ขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำ เป็นต้น
แต่ล่าสุด Cobionix บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติแคนาดา ที่ประกาศผลงานใหม่โดยเคลมว่าเป็น “หุ่นยนต์วัคซีนตัวแรกของโลก” โดยหุ่นยนต์ตัวนี้ชื่อว่า Cobi ซึ่งหลายคนคงเคยเห็นวิธีการทำงานของ Cobi ในแพลตฟอร์ม YouTube มาบ้างแล้ว
ความน่าสนใจของ Cobi เป็นอย่างไร ทำไมหลายคนพูดว่าอาชีพพยาบาล หรือสถานพยาบาลอาจมีเสียวๆ กันบ้าง หากหุ่นยนต์ Cobi ออกสู่ตลาดได้จริงๆ ซึ่งตามกำหนดบริษัทคาดว่าน้อง Cobi น่าจะสมบูรณ์และจำหน่ายเทคโนโลยีนี้ได้ภายใน 2 ปีเป็นอย่างต่ำ
โดยสรุปสั้นๆ ความสามารถของน้อง Cobi และความน่าสนใจอื่นของหุ่นยนต์วัคซีนตัวนี้มีอะไรบ้าง
-
ฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องใช้เข็มฉีดยา (แต่ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงแทน)
-
แรงดันที่จะฉีดเข้าผิวหนังมนุษย์ความหนาจะประมาณ 1 เส้นผมของคนเราเท่านั้น ซึ่งเล็กกว่าเข็มมาก
-
ไม่ต้องมีผู้ช่วยเตรียมยา/วัคซีน เพราะสามารถบรรจุในน้อง Cobi ได้เลย
-
หุ่นยนต์ Cobi จะสามารถตรวจสแกนเอกสารประจำตัวของบุคคลที่รับวัคซีนได้เอง
-
Cobi จะทำการตรวจจับจุด/พื้นที่ที่ดีที่สุดสำหรับการรับวัคซีน
-
ระบบการทำงานของ Cobi จะเป็นแบบการมองเห็น AI และ 3D ทำงานไปพร้อมกัน
-
ในอนาคต Cobi อาจเปลี่ยนหน้าที่นอกเหนือจากวัคซีน เป็นอย่างอื่น เช่น อัลตราซาวนด์, เจาะเลือด, ตรวจชิ้นเนื้อ
Melody Butler ผู้อำนวยการบริหาร Nurses Who Vaccinate องค์กรไม่แสวงหากำไร ได้แสดงความคิดเห็นว่า หุ่นยนต์ Cobi อาจจะมีประโยชน์ในบางประเทศที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ หรือบางหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องการความแม่นยำสูง มากกว่ามนุษย์ เพราะบางเทคโนโลยีสามารถประเมินเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ หรือบางจุดได้ดีกว่าสายตามนุษย์
อย่างไรก็ตามก็เชื่อว่า หุ่นยนต์ไม่มีทางที่จะมาแทนที่อาชีพเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะแพทย์, พยาบาล เพราะการรักษาหรือการรับรู้ที่มาจากความเจ็บป่วยบางทียังต้องใช้มนุษย์สื่อสารกันเอง แต่ก็สามารถนำหุ่นยนต์มาแทนที่บางหน้าที่หรือมาช่วยได้เหมือนกัน เช่น การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย, การตอบคำถาม, ข้อกังวลต่างๆ, การตัดสินใจบางอย่างที่แม่นยำ (แต่ต้องตัดสินใจร่วมกับคนอยู่ดี) เป็นต้น
โดยรวมแล้วสำหรับ Melody Butler มองว่า มีความน่ากังวลมากกว่าหากใช้หุ่นยนต์ในการฉีดวัคซีน เพราะนั่นหมายถึงผู้รับวัคซีนต้องทำขั้นตอนต่างๆ เองด้วยตัวเอง ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างมาจากการรับวัคซีนแบบผิดๆ ไม่ว่าจะวิธีการฉีด, ระยะเวลาปล่อยตัวยา หรือแม้แต่ตำแหน่งแขนที่จะฉีดวัคซีนก็ตาม ดังนั้น บริษัทคงต้องศึกษาจุดข้อกังวลตรงนี้เพิ่มเติม
แต่สำหรับวิวัฒนาการของโลกเทคโนโลยีมองว่า เป็นโอกาสที่ดีและน่าจะมีประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่ง อย่างน้อยๆ ก็สามารถช่วยเสริมความมั่นใจ หรือความแม่นยำบางอย่างให้กับสถานพยาบาลได้ในอนาคต
ที่มา: fastcompany