Innovative Idea: ราโชมอนเอฟเฟคกับกรณี ‘เนติวิทย์และดราม่าพิธีถวายสัตย์ 2560’

  • 2.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

rashomon effect

ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook: ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

เวลานี้จะมีดราม่าไหนร้อนแรงเท่าเหตุวุ่นวายในพิธีถวายสัตย์ของนิสิตใหม่จุฬาฯ ประจำปี 2560 ในช่วงบ่ายของวันที่ 3 ส.ค. ซึ่งภายหลังจบพิธี เกิดวอร์ระหว่าง ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ ประธานสภานิสิตจุฬาฯ กับ ‘รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์’ รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาฯ ที่ต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่ทำตามสิ่งที่ตกลงกันไว้ พร้อมกับมีคลิปอาจารย์จุฬาฯ ท่านหนึ่งเข้าล็อกคอผู้ชายผมยาวคนหนึ่งหลุดไปบนโลกออนไลน์

การให้ความเห็นไปคนละทิศทางของทั้งสองฝ่ายทั้งๆ ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายโกหกหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงกันแน่ และส่งผลให้เพจดังบางเพจ เช่น The Matter ตั้งข้อสังเกตว่าหรือนี่จะเป็นผลของ “ราโชมอนเอฟเฟค”อันทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้

แล้วอะไรคือราโชมอนเอฟเฟคกัน? วันนี้เราจะพาท่านไปรู้จักกับแนวคิดนี้พร้อมบทเรียนในฐานะมาร์เกตเตอร์ว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คุณจะจัดการกับสถานการณ์อย่างไรดี

อะไรคือราโชมอนเอฟเฟค

ราโชมอนเอฟเฟค (Rashomon effect) อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันอธิบายเหตุการณ์ตรงหน้าออกมาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งก่อให้เกิดคำถามว่ามีใครสักคนโกหกหรือเปล่า หรือทั้งหมดล้วนโกหก หรือแท้จริงมีอคติบางอย่างบังตาให้พวกเขาอธิบายเหตุการณ์ออกมาเช่นนั้น

อิทธิพลจากภาพยนตร์ดังของญี่ปุ่น

ชื่อ ราโชมอน เอฟเฟคต์ ได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์คลาสลิกของญี่ปุ่นเรื่อง Rashomon ของผู้กำกับ Akira Kurosawa เนื้อเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาวผู้ถูกข่มขื่นคนหนึ่งกับสามีที่ถูกฆาตกรรม/ฆ่าตัวตายปริศนาในป่าลึก ความโดดเด่นคือเนื้อเรื่องจะเล่าผ่านปากของภรรยา โจรป่า สามี (ผ่านร่างทรง) และประจักษ์พยานในเหตุการณ์ ซึ่งทั้ง 4 เหตุการณ์ไม่มีเหตุการณ์ใดเหมือนกันเลย แถมยังตรงข้ามกันได้อย่างน่ากลัว แต่ก็กลับดูน่าเชื่อถือและจูงใจผู้ฟังได้ดีทุกเรื่อง ภาพยนตร์นี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิชาการตั้งคำถามกับการตีความอันหลากหลายของมนุษย์ ส่งผลให้มีการเรียนสถานการณ์เฉพาะเช่นนี้ว่า ราโชมอน เอฟเฟคต์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แล้วราโชมอน เอฟเฟคพูดถึงเรื่องอะไร

อย่างที่กล่าวข้างต้น ความคิดเรื่องนี้เน้นหนักในการเผยให้เห็นว่ามนุษย์อาจมีการตีความต่อเหตุการณ์ตรงหน้าไม่เหมือนกัน แต่ที่เด็ดที่สุดคือการเผยให้เห็นธรรมชาติการเล่าเรื่องว่ามนุษย์ไม่ได้มีเจตนาที่จะโกหกหรือบิดเบือนเหตุการณ์ แต่เป็นเพราะมนุษย์ตีความเหตุการณ์ตรงหน้าตามประสบการณ์ ความคาดหวัง ความจำและการรับรู้ของตนเอง ดังนั้นเรื่องเล่าทุกเรื่องของมนุษย์จึงตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงแต่อาจมีอคติและความเห็นเจือปนเข้ามา ทีท้ายที่สุดสำหรับผู้วิเคราะห์คือการแยกแยะ “ความจริง” ออกจากเรื่องเล่าเหล่านั้นให้ได้

ปัจจุบัน ความคิดเรื่องราโชมอนเอฟเฟคมักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างในกระบวนการยุติธรรมทั้งในการสืบสวนของตำรวจ การพิจารณาคดีของศาลเพื่อยืนยันว่าผู้ต้องหา/จำเลย หรือผู้ร้อง/โจทก์ มิได้มีเจตนาจะให้ความเท็จ แต่เป็นมุมมองและการตีความที่แตกต่างกัน

เราคิดอย่างไรกับกรณี ‘เนติวิทย์และดราม่าถวายบังคม 2560’

หากนำความคิดเรื่องราโชมอนเอฟเฟคมาปรับใช้กับกรณีนี้ เราจะเห็นว่าปัจจุบันมี “ตัวละคร” 3 ตัวที่ออกมาเล่าเรื่องราวจากมุมมองของตัวเอง หนึ่ง นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล โพสต์ภาพ 3 ภาพและเขียนบรรยายเรื่องราว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Netiwit Chotiphatphaisal รวมถึงคลิปในเพจของของผู้สื่อข่าว Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว สอง รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต สาม ผศ.ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราเชื่อตามราโชมอนเอฟเฟค ตัวละครทั้งสามตัวล้วนแล้วแต่ไม่ได้โกหกหรือบิดเบือนข้อมูล แต่พวกเขา “พูดความจริงในส่วนที่ตัวเองเห็น” ตามจุดประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดของตัวเอง ดังนั้นหน้าที่ของเราซึ่งเป็นคนผู้สังเกตการณ์คือการสกัดเอาความจริงจากเรื่องเล่าของทั้งสามคนออกมา แล้วค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์เรื่องราวให้แจ่มแจ้ง เมื่อนั้นคุณจะได้ข้อสรุปของตัวเองที่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การจูงใจของใคร

นอกจากนั้น ภายใต้การถกเถียงอันแสนวุ่นวายสิ่งที่คุณควรทำมากที่สุดคือการหาเอกสารและหลักฐานซึ่งถือเป็นประจักษ์พยานอันชัดเจน เอกสารเหล่านั้นควรมีความเป็นทางการ มีผู้รับผิดชอบ และมีเนื้อหาชัดเจน สิ่งนี้จะเป็นอาวุธไม้ตายของคุณในการยุติดราม่าและการถกเถียงทั้งหมด

ดังนั้น หากคุณต้องการแสดงความเห็นหรือเป็นผู้ตกอยู่ในวงจร วิธีการหยุดยั้งดราม่าที่ดีที่สุดคือการนำเสนอหลักฐานอันเป็นรูปธรรม เป็นทางการ จากนั้นจึงค่อยๆ อธิบายมุมมองของตัวเองโดยตัดอารมณ์ส่วนตัวออกไปให้ได้มากที่สุด อธิบายให้น้อยที่สุดแต่ตรงประเด็นที่สุด เมื่อได้คำตอบอันเป็นข้อเท็จจริงให้แก่ทุกข้อสงสัย ดราม่าเหล่านั้นจะสลายตัวไปเอง 

Source

Phychologenie

 


  • 2.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง