Move On: เรียนวิชา “เรียบง่ายอัศจรรย์” กับแคมเปญ Uniqlo กวาดยอดขาย 3 วันเพิ่มหมื่นล้านเยน!

  • 766
  •  
  •  
  •  
  •  

uniqlo

หลายครั้งดิจิตอลมาร์เกตเตอร์อาจพบว่าแคมเปญที่ดีและดังเปรี้ยงปร้างนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มอบของรางวัลใหญ่ยักษ์ หรือต้องลงทุนมหาศาล จุดร่วมสำคัญของแคมเปญที่ “เปรี้ยง” อยู่ที่การทำให้ผู้ร่วมสนุกไปกับแคมเปญของเราโดยไม่คิดถึงตรรกะ เหตุผล หรือความคุ้มค่าใดๆ

เร็วๆ นี้ Uniqlo ของญี่ปุ่นปล่อยแคมเปญ Uniqlo Check-In Chance ซึ่งมองเผินๆ ก็เป็นแคมเปญที่ไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมากนัก เพียงกระตุ้นให้ผู้ซื้อสินค้าเช็คอินตัวเองในร้านสาขากว่า 62 สาขารอบกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อโชว์การเช็คอินให้พนักงานดูก็ได้ส่วนลดคูปองมูลค่า 100 เยนเพื่อซื้อสินค้าเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเอเจนซี Dentsu กลับสามารถใช้แคมเปญบน Facebook ตัวนี้สร้างยอดขายร่วม 1 หมื่นล้านเยน (ราว 3.1 พันล้านบาท) ภายในเวลาเพียง 3 วัน! อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของแคมเปญนี้ เราตามไปดูกันดีกว่า

ความเป็นมา

แคมเปญนี้แม้ดูเรียบง่าย แต่กลับเป็นแคมเปญสำหรับเทศกาลเซลล์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปีของ Uniqlo ญี่ปุ่น เป้าหมายคือการดึงลูกค้าของแบรนด์ที่นั่งอยู่หลังหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เดินออกมาซื้อของที่ร้านสาขาของ Uniqlo ให้จงได้ เพราะที่ผ่านมาฝ่ายการตลาดพบว่าคนส่วนใหญ่ชื่นชอบแบรนด์ Uniqlo ชอบเปิดดูคอลเลคชั่น แต่กลับไม่ค่อยก้าวเท้าออกจากห้องมาซื้อสินค้าไปซะที นอกจากนี้การแจกคูปองโดยมีเงื่อนไขแค่ขอให้เช็คอินก็น่าจะทำให้คนญี่ปุ่นซึ่งเป็นคนขี้เกรงใจยอมซื้อสินค้าติดไม้ติดมือไปด้วยสักตัวสองตัว

uniqlo2

ความพิเศษของแคมเปญ

ทีเด็ดที่น่าศึกษาของแคมเปญนี้คือการใช้เทคนิค Visualize ที่ทำให้การเช็คอินธรรมดาแสนน่าเบื่อกลายเป็นเรื่องสนุก โดยแบรนด์จ้างศิลปิน Tarout ซึ่งเป็นนักวาดรูปการ์ตูนสำหรับโปรโมทร้านต่างๆ มีผลงานวาดการ์ตูนโปรโมทให้แก่ Starbuck, Dior, ELLE และอื่นๆ อีกหลายแบรนด์ มาเปลี่ยนร้านสาขาแต่ล่ะร้านให้กลายเป็นภาพการ์ตูน Interactive จากนั้นเมื่อเรากดเช็คอินที่ร้านสาขา รูปการ์ตูนจะมีสัญลักษณ์การเช็คอินตกลงมาพร้อมแสดงชื่อและรูปโปรไฟล์ของผู้เช็คอินให้ทุกคนเห็นแบบเรียลไทม์ จากธรรมดาเมื่อเราเช็คอินใน Facebook จะมีเพียงเพื่อนๆ ของเราที่เห็น แต่ครั้งนี้ไม่ว่าใครเช็คอินทุกคนก็มีสิทธิเห็นได้หมดผ่านเว็บไซต์ของ Uniqlo

เทคนิคนี้ทำให้ลูกค้าทุกคนตื่นเต้นที่เห็นเพื่อนๆ ญาติสนิทมิตรสหาย หรือแม้แต่คนแปลกหน้าเข้ามาในร้านค้าเดียวกับตัวเองในช่วงเวลาเดียวกัน ในทางกลับกัน พวกเขาก็อยากประกาศให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมาอยู่ที่นี่ด้วยแล้วเหมือนกัน ค่าที่แบรนด์ Uniqlo เป็นที่รักของคนญี่ปุ่นอยู่แล้วทำให้ทุกคนอยากมีส่วนร่วมกับแบรนด์

นอกจากนี้เมื่อมีการใช้ส่วนลด รูปคูปองก็จะหล่นลงเช่นกันแสดงให้เห็นว่าเกิดการซื้อขายและใช้ส่วนลดไปเรียนร้อยแล้ว จุดนี้ก็เหมือนโชว์บนโลกเสมือนที่ทำให้เห็นว่าสินค้าของ Uniqlo เป็นที่นิยมมากและจูงใจให้คนอื่นๆ เข้ามาซื้อสินค้าตาม

httpv://youtu.be/fVlcIiBES98

วีดีโอแคมเปญ

ผลสำเร็จของแคมเปญ

การเปลี่ยนการมองเห็นให้กลายเป็นเรื่องน่าสนุกนี้ทำให้หนุ่มสาวชาวเมืองที่รู้สึกแปลกแยกกับคนอื่น และไม่ค่อยสนิทใจกับคนรอบตัวมากนักรู้สึกกลับมารวมตัวกันบนสังคมเสมือนอีกครั้ง ซึ่งนี่ตอบโจทย์ลักษณะพื้นฐานของคนญี่ปุ่นที่ชอบอยู่รวมกลุ่ม ชอบทำตามขนบของกลุ่ม ไม่ชอบถูกมองแตกต่าง นอกจากนี้ แคมเปญเรียบง่ายไม่หวือหวานี้ก็ยังเปิดกว้างให้คนญี่ปุ่นที่ขี้อายกล้าเข้ามาร่วมกิจกรรมและรักแบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบอยู่แล้วให้มากเข้าไปอีก

ที่น่าสนใจคือผู้ร่วมแคมเปญส่วนใหญ่ลืมส่วนลด 100 เยนไปเสียสนิท เพราะพวกเขากำลังสนุกกับกิจกรรมตรงหน้าโดยไม่คิดถึงเหตุผลว่า “เราทำไปทำไมนะ” และนี่คือความสำเร็จยิ่งใหญ่ของ Uniqlo ในช่วงเวลา 3 วันแรกของแคมเปญ

– มีผู้ร่วมเช็คอินกว่า 202,479 คน

– เว็บเพจมีผู้กดไลค์เพิ่มกว่า 1 หมื่นไลค์

–  ยอดขายทะยานขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านเยนในช่วยสามวันแรกของแคมเปญ

–  จำนวนลูกค้าในร้านและจำนวนซื้อเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติมาก

uniqlo3

ภาพร้านที่แปลงเป็นการ์ตูน

เรียนรู้จาก Uniqlo: 3 เทคนิคที่เราเรียนรู้จากพวกเขา

1.เปลี่ยนสิ่งคุ้นเคยให้แปลกตา

Uniqlo เริ่มต้นจากการนำหน้าร้านที่มีอยู่เดิมและคนในพื้นที่ต้องเคยเห็นอยู่แล้วมาแปลงโฉมเป็นการ์ตูน ผู้คนรอบๆ ร้านแม้จะเคยเดินผ่านแต่ก็ไม่ได้สังเกตรายละเอียดอันเป็นเอกลักษณ์ของร้าน พวกเขาจึงอยากรีบไปดูให้เห็นกับตาว่าที่ปรากฏอยู่ในภาพการ์ตูนมันอยู่บนส่วนไหนของร้านกันแน่ ความสงสัยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ลูกค้าหน้าใหม่หลั่งไหลเข้ามาหาแบรนด์ นอกจากนั้นนักวาดการ์ตูนยังวาดรายละเอียดเพิ่มเติมที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่รอบๆ นั้น สร้างสีสันของกิจกรรมขึ้นไปอีก

2.ความเรียบง่ายที่เข้าถึง

แคมเปญนี้เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ได้ใช้งบประมาณมหาศาลหรือเทคโนโลยีสุดล้ำเลย พวกเขาแค่ดัดแปลงฟีเจอร์ที่มีอยู่เดิมของ Facebook ให้เจ๋งขึ้นก็แค่นั้น และนั้นเป็นจุดแข็งมากๆ เพราะเมื่อพูดถึง Check-in บน Facebook แล้วไม่มีคนญี่ปุ่นคนไหนไม่รู้จัก พวกเขาจึงไม่กลัวอันตราย ไม่กลัวการใช้งานเทคโนโลยี และรู้ว่าการ Check-in ไม่ได้มีขั้นตอนยากเย็นอะไรเลย การร่วมแคมเปญสนุกๆ ด้วยปลายนิ้วแล้วได้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เห็นเสียหายอะไรนี่

3.พื้นที่แห่งการแสดงตัวตน

สังคมญี่ปุ่นโดยเฉพาะสังคมเมืองหลวงอย่างโตเกียว คนทุกคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีความสำคัญ เป็นแค่มดงานตัวเล็กๆ ของระบบเศรษฐกิจ ตื่น ทำงาน และนอน มีชีวิตวนลูปไปแบบนี้จนอายุ 40-50 ปี ดังนั้นพวกเขาจึงต้องพื้นที่เล็กๆ ที่จะแสดงตัวตนแม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงแว็บเดียว และยังได้ “เพื่อน” บนโลกเสมือนอีกเพียบเพื่อให้รู้ว่าตัวเองไม่ได้อยู่เดียวดาย ที่สำคัญ คนญี่ปุ่นไม่ชอบแปลกแยกจากกลุ่มดังนั้นเมื่อรู้ว่าคนอื่นก็กำลังซื้อของและร่วมกิจกรรม

 อ้างอิง

Uniqlo Facebook Page


  • 766
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง