การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ความนิยมใช้จักรยานเพิ่มขึ้น กระตุ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับจักรยานให้เฟื่องฟูในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในฝั่งตะวันตก ที่หลายเมืองมีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สาเหตุที่ความนิยมใช้จักรยานเพิ่มขึ้น
การใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นมาจากเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ประการแรก จากความต้องการของประชาชนที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงขนส่งสาธารณะที่แออัด และเสี่ยงติดเชื้อมากกว่า ประการที่สอง มาตรการล็อกดาวน์ทำให้ถนนโล่งขึ้น คุณภาพอากาศดีขึ้น ทำให้การปั่นจักรยานสะดวก ประการที่สาม จากนโยบายของรัฐบาลหลายประเทศที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้จักรยานเพิ่มขึ้น ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการรับมือ COVID-19
สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า การปั่นจักรยานหรือเดินเป็นวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมในสถานการณ์ล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 ระบาด
ตัวอย่างเมืองที่มีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น มิลาน เบอร์ลิน ปารีส และ บรัสเซลล์ หลายเมืองถึงกับต้องทำเลนจักรยานเพิ่ม เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้นของประชาชน เลนเหล่านี้บางคนเรียกมันว่า Corona Cycleway นอกจากนี้รัฐยังสนับสนุนบริการซ่อมจักรยานฟรีให้แก่ประชาชน และสอนขี่จักรยานด้วย
การมาของ COVID-19 ส่งผลต่อระบบขนส่งสาธารณะโดยตรง เพราะโดยปกติ การใช้ขนส่งสาธารณะทั้งรถเมล์ รถไฟลอยฟ้า รถไฟใต้ดิน มีผู้ใช้ร่วมกันจำนวนมาก แออัด ผู้ใช้ยากจะเว้นระยะทางสังคมหรือ Social Distancing กับผู้อื่น การใช้ขนส่งสาธารณะในมุมผู้บริโภค จึงเสี่ยงติดโรคง่าย ดังนั้นตราบใดที่ไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษา COVID-19 คนจึงหลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะโดยไม่จำเป็น เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ส่วนตัว ขี่จักรยาน หรือเดินแทน
ตัวอย่างงานสำรวจในประเทศอังกฤษถึงผลกระทบของ COVID-19 ต่อการโดยสารรถสาธารณะในประชาชน 1,500 คน พบว่า 20% มีความคิดจะโดยสารรถเมล์ลดลงแม้รัฐบาลจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ขณะที่ 57% ของผู้ใช้ประจำจะลดจำนวนการใช้ลงเพราะกลัวได้รับเชื้อโรค
ตัวอย่างความนิยมใช้จักรยานในต่างประเทศช่วง COVID-19 และบทบาทรัฐในการส่งเสริม
ตัวอย่างการส่งเสริมการใช้จักรยานในต่างประเทศ เช่น รัฐบาลฝรั่งเศสให้งบประชาชนคนละ 50 ยูโรสำหรับซ่อมจักรยานจากร้านต่างๆ ในเมือง ทั้งเปิดสอนขี่จักรยานฟรี และเพิ่มจุดจอดสำหรับจักรยาน ขณะเดียวกันรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งดำเนินการเพิ่มเลนจักรยานให้มากขึ้น รวมถึงมีแผนกำหนดบางพื้นที่ให้เป็นเขตใช้งานได้เฉพาะรถจักรยานหรือเดินเท่านั้น
สำหรับประเทศที่คนนิยมใช้จักรยานอยู่แล้ว อย่างเนเธอร์แลนด์ นครอัมสเตอร์ดัมถึงกับมีแผนจะเปลี่ยนเลนจักรยานให้เป็นทางเท้าสำหรับคนเดิน และให้ผู้ขี่จักรยานใช้ถนนร่วมกับรถปกติแทน โดยปรับความเร็วสูงสุดสำหรับรถยนต์จาก 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับผู้ใช้จักรยาน
ในเยอรมนี หลายเมืองขยายเลนจักรยานชั่วคราวโดยใช้เทปสีมาคาดพื้นผิวถนน เพื่อให้ผู้ขี่จักรยานลดความแออัดระหว่างกัน ขณะเดียวกันแม้ในช่วงล็อกดาวน์ ร้านซ่อมจักรยานก็ยังเปิดให้บริการอยู่
ขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรอนุมัติงบประมาณจำนวน 250 ล้านปอนด์ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการเดินทาง เพิ่มเลนจักรยาน ขยายทางเท้า เอื้อผู้ใช้จักรยานและคนเดินเท้ามากขึ้น
ทั้งนี้ สาเหตุที่รัฐบาลต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือถนนสำหรับขี่จักรยาน เพราะจากการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกการขี่จักรยานไม่ปลอดภัย เช่น ประชาชนในสหราชอาณาจักรมากกว่า 60% ให้ข้อมูลว่าที่ไม่ขี่จักรยาน เพราะตนรู้สึกไม่ปลอดภัย การสร้างความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่จักรยานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จูงใจให้ประชาชนขี่จักรยานเพิ่มขึ้น
ตัวเลขยอดขายและการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นทั่วโลก
BBC รายงานว่า ตั้งแต่ COVID-19 ระบาด จำนวนผู้ขี่จักรยานไปทำงานในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 200% ส่งผลให้ยอดขายจักรยานเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา หลังการระบาดของ COVID-19 ผู้ใช้จักรยานมีจำนวนมากขึ้น ผลสำรวจของ Trek ร่วมกับ Engine Insights ถึงพฤติกรรมการขี่จักรยานในคนอเมริกัน 1,004 คน พบว่า 21% ของผู้มีจักรยาน ใช้จักรยานเพิ่มขึ้นในสถานการณ์ COVID-19 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความต้องการหลีกเลี่ยงขนส่งสาธารณะที่แออัด และความต้องการผ่อนคลาย โดย 63% ของคนมีจักรยานให้เหตุผลว่าการขี่จักรยานช่วยคลายเครียด และครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันวางแผนใช้จักรยานมากขึ้นแม้การระบาดของ COVID-19 สงบลง
ผลสำรวจอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น 85% ของคนอเมริกันเห็นว่า การขี่จักรยานปลอดภัยกว่าการโดยสารขนส่งสาธารณะ โดยมี 14% ที่เลือกปั่นจักรยานแทนการใช้ขนส่งสาธารณะ
นอกจากนี้ถ้าต้องเดินทางในระยะ 5 ไมล์ จักรยานเป็นทางเลือก 1 ใน 3 ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้มากสุด
ในแง่เพื่อการออกกำลังกาย 38% ของคนอเมริกันที่มีจักรยาน ใช้การปั่นจักรยานเพื่อการออกกำลังกายในช่วง COVID-19
ความนิยมใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาช่วงล็อกดาวน์ ส่งผลให้ช่วง มี.ค. ที่ผ่านมา จักรยานหลายประเภทขายดีขึ้น ทั้งจักรยานที่มีราคาสูง จักรยานไฟฟ้า จักรยานเด็ก โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่ต่ำกว่า 50% ทั้งนี้ไม่ใช่แค่จักรยานที่ขายดีขึ้น บริการที่เกี่ยวข้องกับจักรยาน เช่น ซ่อมจักรยาน ก็มียอดใช้บริการเพิ่มขึ้น 20%
เช่นเดียวกับ Lectric eBikes ผู้จำหน่ายจักรยานไฟฟ้าออนไลน์ในสหรัฐฯ ที่ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่หลายรัฐใช้มาตรการล็อคดาวน์ ยอดขายเพิ่มขึ้น 140%
สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัท VanMoof ผู้ผลิตรถจักรยานไฟฟ้ารายใหญ่ ที่แจ้งว่ายอดขายในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 80%
ประโยชน์ทางอ้อมคือ คุณภาพอากาศดีขึ้น
ผลจาก COVID-19 ที่ทำให้การใช้รถยนต์ลดลง การใช้จักรยานและเดินเท้าของประชาชนเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้อากาศในเกือบทุกประเทศมีคุณภาพดีขึ้น จากการประเมินโดย Centre for Research on Energy and Clean Air คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ช่วยลดจำนวนการเสียชีวิตของคนยุโรปจากมลพิษทางอากาศในช่วงเดือนเม.ย. ปีนี้ได้อย่างน้อย 11,000 คน คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น นับเป็นประโยชน์ทางอ้อมของการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น
นอกจากยอดขายจักรยานหลายประเภทจะเพิ่มขึ้น ความนิยมใช้จักรยานที่เพิ่ม ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ขยายตัว เช่นธุรกิจรับซ่อมจักรยาน หรือธุรกิจให้เช่าจักรยาน ตัวอย่างรายที่เติบโตเช่น Swapfiets ซึ่งก่อตั้งในเนเธอร์แลนด์ เปิดบริการให้เช่าจักรยาน เอกลักษณ์คือล้อจักรยานสีฟ้า ที่หลายท่านหากไปยุโรปอาจเคยเห็น คิดค่าบริการเดือนละ 20 ยูโร ปัจจุบัน Swapfiets ได้รับความนิยมในหลายเมืองของยุโรปเช่น ในเมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ลูกค้า Swapfiets ช่วง มี.ค.และ เม.ย. เติบโตก้าวกระโดด ขณะนี้เฉพาะในโคโลญจน์เมืองเดียว มีจักรยาน Swapfiets ถึง 3,500 คันถูกใช้บริการอยู่
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับจักรยานได้ประโยชน์
เช่นเดียวกับในจีน จากข้อมูลของ Hellobike แอปพลิเคชันแพลทฟอร์มให้ใช้จักรยานร่วมกันในจีน พบว่า หลังเกิด COVID-19 จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น เช่น ที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด จำนวนผู้ขี่จักรยานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเภทระยะไกลกว่า 3 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว
ในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ ท่ามกลาง COVID-19 ที่การค้าและเศรษฐกิจซบเชา ขนส่งสาธารณะมีความเสี่ยง จักรยานกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เอื้อประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพ ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และสิ่งแวดล้อม เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจให้ประเทศไทยสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนครับ
แหล่งที่มา
weforum, systra, uk.reuters, lavanguardia, BBC, outsideonline, statista, globaltimes